จ๋าจ๊ะ วรรณคดี : ซ่อง / ญาดา อารัมภีร

ญาดา อารัมภีร
ภาพขุนแผน พลายงามไปทัพ จากจิตรกรรมฝาผนังเล่าเรื่องขุนช้างขุนแผน ที่ระเบียงคดรอบวิหารหลวงพ่อโต วัดป่าเลไลยก์ จังหวัดสุพรรณบุรี เขียนโดย เมืองสิงห์ จันทร์ฉาย เมื่อ พ.ศ.2548

 

 

ซ่อง

 

สมัยนี้ถ้าเอ่ยถึงคำว่า ‘ซ่อง’ ส่วนมากจะนึกไปถึงสถานที่ให้บริการทางเพศ ที่ชายไปใช้บริการจากหญิงโสเภณี เช่น ซ่องนางโลม ซ่องโสเภณี ซ่องกะหรี่

ส่วนน้อยอาจจะคิดถึงซ่องการพนัน (บ่อนการพนัน) และซ่องโจร สารพัด ‘ซ่อง’

ข้างต้นนี้ตรงกับความหมายของคำนามว่า ‘ซ่อง’ ใน “พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน”

“ซ่อง = ที่มั่วสุมชุมนุมกันลับๆ (มักใช้ในทางไม่ดี)”

อีกความหมายหนึ่งเป็นคำโบราณที่ใช้เป็นกริยา

“ซ่อง = ประชุม (= มารวมกันเพื่อประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่ง)”

ทั้งสองความหมายบอกให้รู้ว่า ‘ซ่อง’ มีความหมายทั้งร้ายและดี

ยังมีอีกความหมายหนึ่งใน “อักขราภิธานศรับท์” ของหมอบรัดเลย์ อธิบายคำว่า ‘ซ่อง’ และ ‘สุม’ ไว้ตรงกันว่า

“คือเปนชื่อที่เขาตั้งเกลี้ยกล่อมคนไม่ให้จรบาทไปบ้านอื่นเมืองอื่น, เหมือนอย่างบ้านซ่องในดงนั้น”

ความหมายสุดท้ายทำให้รู้ว่าสถานที่เรียกว่า ‘ซ่อง’ มีการโน้มน้าวชักชวนผู้คนให้อยู่รวมกันที่นี่แทนที่จะให้ไปอยู่ที่อื่น

ซึ่งน่าจะตรงกับ ‘ซ่อง’ ของหมื่นหาญ หรือนายเดช กระดูกดำ ในเสภาเรื่อง “ขุนช้างขุนแผน”

 

“จะกล่าวถึงนายเดชกระดูกดำ                             อยู่บ้านถ้ำตั้งกองเป็นซ่องใหญ่

ได้เป็นที่หมื่นหาญชาญไชย                                 เป็นหัวไม้มีฝีมือเลื่องลือชา”

 

หมื่นหาญมีครบเครื่องรางของขลัง คาถาอาคม ทำให้คงกระพันชาตรี ทั้งยัง “มีทหารตัวดียี่สิบคน ล้วนอยู่ยงคงทนทุกคนไป” กิตติศัพท์ความเป็นยอดนักเลง “มีฝีมือเลื่องลือชา” เป็นแม่เหล็กดึงดูดผู้คนมาขอพึ่งพา

ดังที่กวีบรรยายว่า

 

“โคกระบือช้างม้าทั้งข้าคน                                 ออกเกลื่อนกล่นพลุกพล่านในบ้านใหญ่

เหย้าเรือนหลายหลังคับคั่งไป                              เครื่องใช้โต๊ะตั้งดังต่างกรม

มีสาวสาวลาวไทยใช้สะพรั่ง                                ล้วนกำลังรุ่นรวยดูสวยสม

หอนั่งปูเสื่ออ่อนหมอนพรม                                เครื่องนากเงินทองถมทุกสิ่งมี”

 

‘ซ่อง’ ของหมื่นหาญตั้งอย่างเปิดเผย มีบ้านเรือนหลายหลัง เลี้ยงสัตว์และผู้คนจำนวนมาก หมื่นหาญใช้ข้าวของมีระดับดัง ‘ต่างกรม’ หรือ ‘เจ้าต่างกรม’ (= เรียกเจ้านายที่ได้รับพระราชทานอิสริยยศให้มีข้าคนหมู่หนึ่งจัดตั้งเป็นกรมในปกครองเพื่อช่วยราชการแผ่นดิน เจ้าที่ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ปกครองข้าในกรมของพระองค์ เรียกว่า เจ้านายต่างกรม-จากพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน)

ของใช้หรูหรามีตั้งแต่โต๊ะเก้าอี้ เสื่ออ่อนหมอนพรม เครื่องเงิน เครื่องทอง เครื่องนาก ฯลฯ แม้ใช้ของอย่างเจ้า หมื่นหาญก็เป็นแค่คนธรรมดา หาใช่เจ้าไม่

ทั้งยังมิได้รวบรวมผู้คนไว้เป็นโจรปล้นสะดมหรือทำการทุจริตใดๆ เพียงแต่มอบหมายบัวคลี่ ลูกสาว “ดูแลบ่าวข้าต่างตาใจ” และ “คุมคนทำไร่ไม่เว้นวัน”

 

อาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช กล่าวไว้ในหนังสือ “ขุนช้างขุนแผน ฉบับอ่านใหม่” ว่า

“นายเดช กระดูกดำ ผู้ซึ่งมีตำแหน่งเป็นหมื่นหาญ ซึ่งคงจะเป็นหมื่นประทวนเจ้าเมืองตั้งได้ แล้วก็จะต้องเข้าใจว่าหมื่นหาญคนนี้มิใช่โจร และขบวนการของหมื่นหาญทั้งหมดก็มิใช่ซ่องโจร หากแต่หมื่นหาญเป็นผู้มีอิทธิพลมากในท้องถิ่นนั้นจนถึงทางราชการต้องยอมรับ และตั้งให้เป็นหมื่นหาญมีลูกน้อง 20 คน ซึ่งล้วนแต่เป็นคนเก่ง อยู่ยงคงกระพันทั้งนั้น…บ้านของหมื่นหาญซึ่งเสภาขุนช้างขุนแผนเรียกว่า ‘ซ่อง’ จะแปลว่าซ่องโจรก็คงไม่ใช่ แปลว่า ซ่องนักเลงเห็นจะถูกกว่า”

อย่างไรก็ดี ‘ซ่อง’ ของหมื่นหาญนั้น ใช่ว่าใครจะเข้า-ออกได้ตามชอบใจ

 

“ถ้าแม้นแขกแปลกหน้าเข้ามาบ้าน                        พวกทหารจับจำไว้แข็งขัน

พอพลบค่ำแล้วก็พาไปป่าพลัน                            เอาไปฟันฝังดินให้สิ้นความ”

 

นอกจากจับตัวจองจำ ฆ่าและฝังกลบ หากเป็นคนที่หลบหนีเจ้าขุนมูลนายมา หรือเป็นพวกโจรขโมยช้างแล้วหนีเข้ามาในซ่องของหมื่นหาญ ถ้าอยากได้ตัวก็ต้องส่งคนมาเจรจาวางเงินไถ่ถอนก่อน

 

“คนที่หนีเจ้าเหล่าลักช้าง                                   ถ้าแหวกวางเข้าในซ่องที่ต้องห้าม

ถึงเจ้าของมองเห็นไม่หาญตาม                            ต้องหาล่ามถอนไถ่ไปเป็นชนวน”

 

เมื่อขุนแผนเดินทางมาถึง ‘ซ่องแห่งนี้’ ก็เผชิญหน้ากับ ‘อ้ายพวกซ่อง’ หรือบริวารผู้คนที่พำนักในซ่องของหมื่นหาญ

 

“อ้ายพวกซ่องมองเห็นเขม้นมา                           ก็คุกคามถามว่าจะไปไหน

ขุนแผนบอกออกพลันในทันใด                            นายเขาใช้เต็มทีก็หนีมา

หมายจะพึ่งอยู่ในซ่องของเจ้าคุณ                         ได้พึ่งบุญป้องกันไว้วันหน้า

อ้ายพวกซ่องว่าถ้าจริงดังเจรจา                           อยู่ศาลาอย่าเที่ยวซุกซนไป

แม้นเซอะเซ่อเร่อตรงเข้าวงบ้าน                           พวกทหารเขามาจับแล้วตับไหล

 

เราจะไปบอกกล่าวชาวข้างใน ให้เข้าไปเรียนท่านหมื่นหาญนาย”

 

‘อ้ายพวกซ่อง’ ก็เข้าไปเล่าเรื่องราวให้ทหารฟังว่า

“มีคนหลบลี้หนีมุลนาย             หมายจะมาพึ่งบุญเจ้าคุณเรา”

 

ทหารไต่ถามได้ความแล้วก็ไปรายงานหมื่นหาญอย่างนอบน้อม

 

“วิ่งเข้าไปประนมก้มเกล้า

ว่ามีชายหนีนายมานั่งเซา                     ฉันห้ามไว้มิให้เข้าในประตู

นายซ่องได้ฟังสั่งทหาร                        ไปเอาตัวมาบ้านกูดูหรู

ทหารรับจับหอกวิ่งออกพรู                   เข้าลากถูฉุดแขนขุนแผนมา”

 

‘นายซ่อง’ คือ ผู้เป็นใหญ่ หรือผู้เป็นหัวหน้าซ่อง ในที่นี้คือหมื่นหาญนั่นเอง หมื่นหาญซักไซ้ขุนแผน “เป็นข้าเจ้าบ่าวใครที่ไหนหวา” ชื่ออะไรถึงได้ “เซ่อซ่าซมซานมาบ้านเรา”

ขุนแผนแกล้งตอบไปว่า ตนเองชื่อแก้ว สังกัด ‘กองข้างหกเหล่า’ หรือ ‘กรมอาสาหกเหล่า’ งาน “ราชการด่านทางไม่บางเบา” งานหนักทนทำต่อไปไม่ไหว “เหนื่อยเข้าเต็มทีก็หนี” ตัวคนเดียวไม่มีครอบครัว

 

“จึงดื้อดั้นดงรามเพราะความจน                   กลัวจะหนีเขาไม่พ้นเที่ยวซนมา

หมายจะมาอยู่ในซ่องของเจ้าคุณ                ได้พึ่งบุญคุ้มกายไปภายหน้า

ถ้าเจ้าคุณปรานีมีเมตตา                            ฉันจะอยู่เป็นข้าจนบรรลัย”

 

นอกจาก ‘ซ่องของหมื่นหาญ’ ที่บ้านถ้ำ (ตำบลบ้านในอำเภอท่าม่วงติดต่อเขตจังหวัดสุพรรณบุรี ยังมี ‘บ้านซ่อง’ ในตำบลโพธิ์พระยา ชายเขตอำเภอเมืองต่อกับอำเภอศรีประจันต์ จังหวัดเดียวกัน) ได้ชื่อนี้เพราะเป็นสถานที่พำนักของคนหนีมูลนายมารวมกันตั้งเป็นบ้านเรือน ใครตามจับก็จะถูกรุมฆ่า เป็นที่หนักใจของทางราชการยิ่งนัก ดังที่สุนทรภู่บรรยายไว้ใน “โคลงนิราศสุพรรณ” ว่า

 

“บ้านซ่องช่องชวากเวิ้ง               เซิงหวาย

เหล่าที่หนีมูลนาย                     เนิ่นช้า

ซ่องสุมซุ่มเรือนราย                   ริมกับ เกรี่ยงแฮ

ใครจับกลับรุมข้า                      ขัดข้องซ่องหลวง”

 

“ซ่อง’ จึงเป็นสถานที่ต้องห้ามสำหรับตามตัวคนที่หลบหนีเข้าไป เนื่องจากมี ‘นายซ่อง’ ที่ใครๆ ยำเกรงอำนาจคอยควบคุมดูแล ‘ซ่อง’ ที่ว่ามีทั้งนอกเมืองและในเมือง แม้วังเจ้าหรือบ้านขุนนางก็เป็น ‘ซ่อง’ ได้

ดังจะเห็นได้จาก “พระราชกระแสเรื่องทาสลูกหนี้หนีนายเงินไปอาศัยวังเจ้าบ้านขุนนางแลในพระบรมมหาราชวัง” (ประชุมประกาศรัชกาลที่ 4)

“ทุกวันนี้มีที่หลายแห่ง คือวังเจ้าบ้านขุนนางใหญ่ๆ ที่คนเล่าลือเป็นที่ยำเยงเกรงขาม เมื่อผู้คนบ่าวไพร่ทาสลูกหนี้ของคนบรรดาศักดิ์น้อยแลราษฎรสามัญหนีเข้าไปแอบอิงอาศัยอยู่ เจ้าหมู่มูลนายถึงรู้จะไปติดตามไม่ได้ จะว่าเป็นดังซ่องที่เขาวงก์ก็คล้ายกัน”

เช่นเดียวกับ “ประกาศห้ามมิให้ทาสแลลูกหนี้หนีแอบแฝงในที่ผู้มีบุญจับกุมยาก” (ประชุมประกาศรัชกาลที่ 4)

“อ้ายอีผู้หนีไปแอบแฝงในที่ขัดขวางตามตัวหายากนั้น จะเอาไปประหารชีวิตเสีย เพราะมันเป็นผู้คิดอ่านก่อเยี่ยงอย่าง จะทำให้เกิดซ่องขึ้นในบ้านในเมือง อนึ่ง เพราะมันวิ่งเข้าไปเป็นผงติดใต้รองเท้าผู้ที่มีบุญไม่รู้ตัวแล้วจะเสี้ยมเขาควายให้ขวิดกัน”

‘ซ่อง’ อายุการใช้งานนานจริงๆ