20 ปีที่สูญเปล่า? สหรัฐกับสงครามต่อต้านก่อการร้าย/บทความต่างประเทศ

FILE PHOTO: Hijacked United Airlines Flight 175 flies toward the World Trade Center twin towers shortly before slamming into the South tower (L), as the North tower burns, following an earlier attack by a hijacked airliner in New York, U.S., September 11, 2001. REUTERS/Sean Adair/File Photo SEARCH "20TH ANNIVERSARY OF THE SEPTEMBER 11 ATTACKS" FOR THE PHOTOS

บทความต่างประเทศ

 

20 ปีที่สูญเปล่า?

สหรัฐกับสงครามต่อต้านก่อการร้าย

 

ปฏิบัติการอพยพผู้คนและถอนกำลังทหารชุดสุดท้ายของสหรัฐอเมริกาออกจากอัฟกานิสถานเสร็จสิ้นลงเป็นที่เรียบร้อยเมื่อเวลา 23.59 น.ของวันที่ 30 สิงหาคมตามเวลาท้องถิ่น ก่อนกำหนดที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐ ขีดเส้นตายไว้เพียงหนึ่งวัน

ถือเป็นการปิดฉากการทำสงครามอันยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ของสหรัฐที่ดำเนินมาถึง 20 ปีเต็มลงอย่างเป็นทางการ นับจากวันที่จอร์จ ดับเบิลยู. บุช ประธานาธิบดีสหรัฐในขณะนั้นประกาศกร้าวทำสงครามต่อต้านการก่อการร้าย หลังสหรัฐต้องเผชิญกับเหตุโจมตีสุดช็อกเมื่อวันที่ 11 กันยายนปี 2001 ซึ่งคร่าชีวิตผู้บริสุทธิ์บนแผ่นดินสหรัฐไปเกือบ 3,000 คน และทำให้ได้รับบาดเจ็บอีกหลายหมื่นคน

เหตุวินาศกรรมเขย่าขวัญชาวโลกครั้งนั้น สหรัฐฟันธงว่าเป็นฝีมือของเครือข่ายก่อการร้ายอัลเคด้าที่มีบิน ลาเดน หัวหน้าใหญ่เป็นจอมบงการ ซึ่งนั่งบัญชาการแผนการโจมตีมาจากอัฟกานิสถานที่ขณะนั้นอยู่ภายใต้อำนาจปกครองของกลุ่มทาลิบันที่ให้ที่กำบังภัยพักพิงแก่บิน ลาเดน และสาวกอัลเคด้า

การส่งกำลังทหารบุกอัฟกานิสถานของกองทัพสหรัฐเพื่อทำสงครามกวาดล้างกลุ่มก่อการร้ายเริ่มต้นขึ้นนับจากนั้น

 

ผ่านไป 20 ปีจนถึงวันนี้ในสายตาของเหล่านักวิเคราะห์ผู้เชี่ยวชาญหลายรายมองว่าสหรัฐ “ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง” ในการทำสงครามต่อต้านการก่อการร้าย ที่ปฏิเสธไม่ได้ว่ากลุ่มก่อการร้ายที่เป็นนักรบญิฮาดหรือผู้ต่อสู้ที่เชื่อว่านครรัฐอิสลามที่ปกครองชุมชนมุสลิมทั้งหมดจะต้องถูกสร้างขึ้น ไม่เพียงมีจำนวนสมาชิกเพิ่มมากขึ้น แต่ยังกระจายตัวเคลื่อนไหวแทรกซึมอยู่ทั่วโลก

นักวิเคราะห์หลายคนบอกว่า แม้การบุกโจมตีอัฟกานิสถานของกองทัพสหรัฐจะสามารถโค่นล้มระบอบอำนาจกดขี่ของกลุ่มทาลิบันและลดทอนขีดความสามารถในการเคลื่อนไหวก่อเหตุรุนแรงของกลุ่มอัลเคด้าลงได้หลังจากสหรัฐปลิดชีพบิน ลาเดน ได้สำเร็จก็ตาม

แต่นั่นไม่ได้เป็นการจัดการขจัดรากฐานความคิดรุนแรงของลัทธิหัวรุนแรงสุดโต่งที่เป็นรากเหง้าของปัญหาแต่อย่างใด

ผู้สัดทันกรณีอย่างอับดุล ซาอีด นักวิจัยด้านญิฮาดจากมหาวิทยาลัยลุนด์ในสวีเดนชี้ว่า สหรัฐจัดการสังหารบิน ลาเดน ได้ แต่หากเป้าหมายที่แท้จริงคือการยุติสงครามศักดิ์สิทธิ์ นี่ถือว่าเป็นความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง

โดยขณะนี้การก่อการร้ายของเหล่านักรบญิฮาดได้เปลี่ยนรูปกลายเป็นภัยคุกคามโลกที่น่าหวั่นกลัวมากขึ้นทั้งโดยจากกลุ่มก่อการร้ายต่างๆ ที่ยังมีการแตกตัวเป็นเครือข่ายสาขาย่อยกระจายตัวเคลื่อนไหวอยู่ทั่วโลก

และยังมีที่เป็นปัจเจกบุคคลซึ่งรับเอารากฐานความคิดรุนแรงเข้าร่วมเคลื่อนไหวในดินแดนต่างๆ ด้วย

นักวิเคราะห์ยังมองว่า แม้สหรัฐและชาติตะวันตกจะไม่ได้เห็นเหตุโจมตีที่มีความรุนแรงเลวร้ายในระดับเดียวกับเหตุวินาศกรรม 9/11 ในหลายปีหลังจากนั้นก็ตาม

แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าควรจะนำสิ่งนี้มากล่าวอ้างว่าเป็นผลพวงจากความสำเร็จในการทำสงครามต่อต้านการก่อการร้ายของสหรัฐ

 

อัสซาฟ โมกาดัม นักวิจัยอาวุโสประจำสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการต่อต้านการก่อการร้ายในอิสราเอล บอกว่า เป้าหมายที่กำหนดไว้โดยตัวมันเองยังไม่สำเร็จ ลัทธิก่อการร้ายยังไม่ได้ถูกปราบให้พ่ายแพ้ราบคาบ หากแต่ภัยคุกคามมันมีวิวัฒนาการมาอย่างต่อเนื่อง

ศูนย์ศึกษายุทธศาสตร์และนานาชาติ (ซีเอสไอเอส) ทำการประเมินไว้ในปี 2018 ว่ามีกลุ่มก่อการร้ายที่เคลื่อนไหวอยู่ทั่วโลกอยู่ประมาณ 67 กลุ่ม ซึ่งมากที่สุดนับจากทศวรรษ 1980

ขณะที่กำลังนักรบหรือสมาชิกกลุ่มก่อการร้ายมีจำนวนอยู่ระหว่าง 100,000-230,000 คน เพิ่มขึ้นจากที่มีการประเมินไว้ในปี 2001 ถึง 270 เท่า

การผงาดขึ้นของกลุ่มกองกำลังรัฐอิสลาม (ไอเอส) ในดินแดนอิรักและซีเรีย ที่มุ่งสถาปนานครรัฐอิสลามขึ้น ได้ก้าวเข้ามามีบทบาทสำคัญในการเคลื่อนไหวก่อภัยคุกคามรุนแรง แทนที่เครือข่ายก่อการร้ายอัลเคด้าที่อิทธิพลลดน้อยถอยลงหลังสิ้นบิน ลาเดน

ซึ่งโลกเราได้เห็นกับตาจากเหตุโจมตีรุนแรงที่เกิดขึ้นหลายต่อหลายครั้งจากไอเอส

นี่ยังเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของภัยคุกคามจากการก่อการร้ายในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

โดยยังมีเครือข่ายนักรบญิฮาดอีกหลายกลุ่มที่แตกกิ่งก้านสาขาออกไปที่ประกาศสวามิภักดิ์ต่อผู้นำไอเอส ไม่เพียงจำกัดวงอยู่ในตะวันออกกลาง แต่แผ่ขยายออกไปทั้งในแอฟริกา โลกอาหรับ ในเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่ายุทธศาสตร์ที่พึ่งการเผชิญหน้าโดยตรงโดยปราศจากการคำนึงถึงสิ่งบ่มเพาะรากฐานความคิดรุนแรงของกลุ่มญิฮาดที่มากเพียงพอ ไม่ว่าจะเป็นสงคราม ความสับสนวุ่นวาย หลักธรรมาภิบาลที่เลวร้าย ตลอดจนการทุจริตคอร์รัปชั่น ล้วนเป็นแรงผลักให้คนเหล่านั้นเปลี่ยนแปลงรากฐานความคิดสู่ความรุนแรงได้ในชั่วเวลาอันสั้น

โดยที่โลกภายนอกไม่สามารถทำอะไรได้

 

ในความเห็นของผู้เชี่ยวชาญอีกรายมองว่า หนึ่งในกลไกที่แข็งแกร่งที่สุดในการป้องกันผู้คนไหลเข้าสู่ลัทธิหัวรุนแรงสุดโต่งนั่นก็คือ การหาทางเลือกที่ดีกว่าให้กับผู้คนเหล่านั้น ส่วนการใช้อาวุธนั้นไม่ได้ช่วยอะไร

นักวิเคราะห์ยังชี้ว่า ไม่เพียงธรรมชาติของภัยคุกคามจากการก่อการร้ายที่เปลี่ยนไป หากชาติตะวันตกเองก็ยังเปลี่ยนไปด้วย โดยขณะที่ปี 2001 เป็นที่ประจักษ์ชัดเจนว่า ก่อการร้ายเป็นศัตรูหมายเลขหนึ่งของสหรัฐและชาติพันธมิตร แต่ระยะหลังบรรยากาศความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐ กับรัสเซีย อิหร่าน และที่สำคัญคือจีน ทวีความตึงเครียดมากขึ้น

ผู้เชี่ยวชาญอย่างเซธ โจนส์ บอกว่า นั่นทำให้สหรัฐลดทอนการให้ความสำคัญในการจัดการกับกลุ่มผู้ก่อการร้ายลงไปหรือไม่ และหันไปสาละวนตอบโต้จีน รัสเซีย และอิหร่าน ที่เป็นชาติคู่ปรับแทน

และนี่เป็นประเด็นหนึ่งที่มีการถกเถียงกันอยู่ในหน่วยงานด้านข่าวกรองของสหรัฐ ขณะที่โลกเรายังคงต้องเผชิญภัยคุกคามจากการก่อการร้ายต่อไป