
ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 3 - 9 กันยายน 2564 |
---|---|
คอลัมน์ | ต่างประเทศ |
เผยแพร่ |
บทความต่างประเทศ
รู้จัก ‘ไอซิส-เค’
กองกำลังรัฐอิสลามแห่งโคราซาน
ท่ามกลางความโกลาหลจากประชาชนชาวอัฟกานิสถานจำนวนมากที่สนามบินฮามิดคาร์ไซ ในกรุงคาบูล ประเทศอัฟกานิสถาน คนเหล่านี้ดิ้นรนเพื่ออพยพออกจากประเทศที่อนาคตดูจะมืดมนภายใต้การปกครองของกลุ่มทาลิบัน
ขณะที่สหรัฐอเมริกากำลังปฏิบัติการอพยพอย่างเร่งด่วน ต้องประกาศให้ชาวอเมริกันหลีกเลี่ยงพื้นที่สนามบินหลังจากหน่วยข่าวกรองได้รับสัญญาณว่าอาจเกิดการโจมตีจากกลุ่มกองกำลังรัฐอิสลาม หรือไอซิสขึ้นได้
และในที่สุดเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม ก็เกิดโศกนาฏกรรมขึ้น เมื่อคนร้ายปลดชนวนระเบิดฆ่าตัวตาย ท่ามกลางฝูงชนใกล้สนามบิน ส่งผลให้มีชาวอัฟกันเสียชีวิตอย่างน้อย 170 ราย รวมถึงเจ้าหน้าที่ทหารชาวอเมริกันอีก 13 นาย
นับเป็นเหตุนองเลือดครั้งร้ายแรงที่สุดในรอบ 10 ปี
โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ระบุว่า การโจมตีดังกล่าวเป็นฝีมือของ “กลุ่มกองกำลังรัฐอิสลามแห่งโคราซาน” หรือ “ไอซิส-เค” (Isis-K) ก่อนที่ “ไอซิส-เค” ออกมายอมรับว่าอยู่เบื้องหลังเหุตการณ์ดังกล่าว
แน่นอนว่า เกิดคำถามตามมาว่า กลุ่ม “ไอซิส-เค” คือใคร และมีความเกี่ยวข้องกับกลุ่ม “ไอซิส” กลุ่มก่อการร้ายที่มีฐานปฏิบัติการในอิรักและซีเรีย ที่เป็นที่รู้จักไปทั่วโลกอย่างไร
กลุ่ม “ไอซิส-เค” เป็น “สาขาย่อย” ของกลุ่ม “ไอซิส” มีฐานปฏิบัติการในประเทศอัฟกานิสถานและปากีสถาน
ไอซิสสาขาย่อยในอัฟกานิสถาน ก่อตั้งขึ้น 1 ปีหลังจากกลุ่มไอซิสยึดครองพื้นที่ในอิรักและซีเรีย และสถาปนารัฐ ‘คาลิเฟต’ ได้ในปี 2014
สมาชิกกลุ่มไอซิส-เคส่วนใหญ่เป็นอดีตสมาชิกกลุ่ม ‘ทาลิบัน’ ในปากีสถาน ที่เดินทางไปปฏิบัติการในอัฟกานิสถานและประกาศความภักดีกับ “อาบู บัคร์ อัล-แบกดาดี” ผู้นำกลุ่มไอซิส ประกาศเป้าหมายเพื่อขยายพื้นที่รัฐคาลิเฟตออกไปทั่วโลก
ไอซิส-เคได้รับการรับรองจากไอซิสสาขาใหญ่ในอีก 1 ปีถัดมา หลังจากลงหลักปักฐานได้ในพื้นที่ตอนเหนือของอัฟกานิสถาน โดยเฉพาะในจังหวัดคูนาร์, นานกาฮาร์ และนูริสถาน
ข้อมูลจากผู้สังเกตการณ์ขององค์การสหประชาชาติ ระบุว่า ไอซิส-เคมีสมาชิกแทรกซึมอยู่ในหลายๆ พื้นที่ของปากีสถานและอัฟกานิสถาน รวมไปถึงในกรุงคาบูล เมืองหลวงของอัฟกานิสถาน นั่นจึงทำให้ไอซิส-เคสามารถเล็ดลอดด่านตรวจของกลุ่มทาลิบันเข้ามาก่อเหตุวางระเบิดครั้งล่าสุดได้
ขณะที่คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ รายงานเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ประมานการจำนวนสมาชิกกลุ่มไอซิส-เคที่ปฏิบัติการอยู่ ว่าอาจมีจำนวนตั้งแต่หลักร้อย หรือหลักหลายพันคน
ขณะที่ตัวย่อ “เค” หรือ “โคราซาน” เป็นชื่อภูมิภาคโบราณที่หมายรวมถึงพื้นที่บางส่วนของปากีสถาน อิหร่าน อัฟกานิสถาน และเอเชียกลางในปัจจุบัน
ไอซิส-เคเปิดปฏิบัติการก่อการร้ายในอัฟกานิสถานอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยประกาศตัวเป็นศัตรูทั้งกับรัฐบาลอัฟกานิสถานที่ได้รับการสนับสนุนโดยสหรัฐ รวมไปถึงกับกลุ่มทาลิบันเองก็ตาม
กลุ่มไอเอส-เคตั้งเป้าโจมตีไปที่พลเรือน มัสยิด ศาสนสถาน ที่ชุมชน รวมไปถึงโรงพยาบาล โดยจะเน้นไปที่คนกลุ่มผู้นับถือศาสนาอิสลามนิกายชีอะห์ ซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ในกรุงคาบูล
เหตุก่อการร้ายที่สะเทือนขวัญคนทั้งโลกเกิดขึ้นเมื่อปี 2020 ที่ผ่านมาเมื่อมือปืนของกลุ่มไอซิส-เคก่อเหตุกราดยิงในแผนกแม่และเด็ก โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในกรุงคาบูล คร่าชีวิตแม่ชาวอัฟกันและหญิงตั้งครรภ์ไปถึง 16 ราย
อย่างไรก็ตาม แม้จะปฏิบัติการก่อการร้ายอย่างต่อเนื่อง แต่ไอเอส-เคก็ไม่สามารถยึดครองพื้นที่ในภูมิภาคได้เพราะต้องเจอปฏิบัติการโจมตีทางการทหารจากกลุ่มทาลิบัน และสหรัฐอเมริกา
จนต้องเปลี่ยนกลยุทธ์มาเป็นการแทรกซึมและก่อการร้ายแทนในช่วงหลัง
ไอเอส-โคราซาน และกลุ่มทาลิบัน แม้จะเป็นกองกำลังติดอาวุธอิสลามสุดโต่ง นิกายสุหนี่เหมือนกัน แต่ความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองกลุ่มเป็นไปในลักษณะของ “คู่แข่ง” ระหว่างกัน
ทั้งสองกลุ่มมีแนวคิดทางศาสนาและกลยุทธ์ทางการเมืองแตกต่างกันเล็กน้อย แต่ต่างฝ่ายก็อ้างว่ากลุ่มของตนเป็นผู้ถือธงนำในปฏิบัติการ “ญิฮาด” ต่อสู้กับศัตรูของศาสนาอิสลาม และนั่นนำไปสู่การปะทะนองเลือดในปี 2019 ซึ่งไอซิส-เคเป็นฝ่ายพ่ายแพ้จนไม่สามารถขยายพื้นที่ยึดครองได้เหมือน “ไอซิส” สาขาใหญ่ได้
ปัจจุบันผู้สันทัดกรณีเชื่อว่า ผู้นำไอซิส-เคนั้นอยู่ในมือของ “ชาฮับ อัล-มูฮาจีร์” อดีต “เครือข่ายฮัคคานี” กลุ่มกองกำลังอิสลามที่เป็นสาขาย่อยของทาลิบันอีกทอดหนึ่ง โดยอัล-มูฮาจีร์ มีประสบการณ์เกี่ยวกับการตั้งองค์กรก่อการร้าย มีความเชี่ยวชาญปฏิบัติการก่อการร้ายในเมือง และกำลังพยายามกลับมาขยายอิทธิพลในอัฟกานิสถานอีกครั้ง
แน่นอนว่า กลุ่มไอซิส-เคไม่เห็นด้วยกับการที่กลุ่มทาลิบันทำข้อตกลงกับสหรัฐอเมริกาในการถอนกำลังทหารออกจากอัฟกานิสถาน โดยโจมตีกลุ่มทาลิบันว่าละทิ้งเส้นทางของญิฮาด และนี่เป็นเหตุผลหนึ่งที่ไอซิส-เคสามารถดึงเอาคนวัยหนุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับข้อตกลงดังกล่าวในพื้นที่ห่างไกลให้เข้าร่วมกลุ่มได้
นับจากนี้คงต้องติดตามกันต่อไปว่าสถานการณ์ในอัฟกานิสถานจะเป็นอย่างไรต่อไป กลุ่มทาลิบันที่จะปกครองอัฟกานิสถานนับจากนี้ นอกจากจะต้องสู้รบกับกลุ่มกองกำลังต่อต้านทาลิบันในประเทศแล้ว จะต้องเผชิญศึกอีกด้านจากกลุ่มไอซิส-เคด้วยหรือไม่
โดยเฉพาะหลังวันที่ 31 สิงหาคม วันสุดท้ายที่กองทัพสหรัฐอเมริกาจะก้าวเท้าออกจากอัฟกานิสถานอย่างเป็นทางการ สิ้นสุดการแทรกแซงระยะเวลา 20 ปีลงอย่างเป็นทางการ