การทรมานผู้ต้องหา ปัญหาเชิงระบบในไทย/เทศมองไทย

เทศมองไทย

 

การทรมานผู้ต้องหา

ปัญหาเชิงระบบในไทย

 

คาเล็บ ควินลีย์ ผู้สื่อข่าวให้อัลจาซีรา เว็บไซต์และสถานีข่าวสารจากการ์ตา ไม่ได้มองกรณีของ พ.ต.อ.ธิติสรรค์ อุทธนผล ผู้กำกับ สภ.นครสวรรค์ เจ้าของฉายา “โจ้ เฟอร์รารี่” ว่าเป็นเพียงคดีโดดๆ ของบุคคลเพียงคนเดียว

หากแต่เป็นปัญหาในเชิงระบบ

เป็นเพียงคดีหนึ่งในจำนวนอีกนับร้อยหรืออาจเป็นเรือนพันคดี ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า ที่เป็นปัญหาคือระบบ ไม่ใช่ตัวบุคคลแต่เพียงถ่ายเดียว

ข้อเขียนของควินลีย์ที่นำเสนอผ่านเว็บไซต์อัลจาซีรา เมื่อ 31 สิงหาคมที่ผ่านมา เชื่อมโยงและจัดให้กรณีนี้อยู่ในระนาบเดียวกับปัญหาที่สั่งสมหมักหมมมานาน ตั้งแต่ยุค “สงครามยาเสพติด” เรื่อยมาจนถึงปัญหาในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ เรื่อยไปจนถึงผู้ที่ถูก “อุ้มหาย” ไปอีกหลายต่อหลายคน

ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อ มีทั้งทนายความ, นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน, นักต่อสู้เพื่อสิ่งแวดล้อม และไม่เว้นแม้แต่บุคคลในทางการเมือง

แม้การ “ฆ่า” ผู้ต้องสงสัย หรือผู้ต้องหา จะไม่เกิดพร่ำเพรื่อ แพร่หลายเหมือนก่อนหน้านี้ แต่การทรมานผู้ต้องหาคดีค้ายาเสพติด ยังคงเกิดขึ้นดกดื่น

 

ข้อมูลที่ควินลีย์ได้จากปากของพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ แห่งครอสส์ คัลเจอรัล ฟาวเดชั่น (ซีอาร์ซีเอฟ) นับตั้งแต่ปี 2007 เป็นต้นมา ทางซีอาร์ซีเอฟมีบันทึกข้อมูลการเสียชีวิตในระหว่างถูกควบคุมตัวอย่างน้อย 20 รายทั่วประเทศไทย

ซีอาร์ซีเอฟยังได้รับคำร้องเรียนเกี่ยวกับการถูกทรมานอีกเกือบ 300 กรณีในพื้นที่ภาคใต้ของไทยนับตั้งแต่ปี 2014 เรื่อยมา จากพลเรือนที่ตกเป็นเหยื่อของเจ้าหน้าที่ทหาร

แต่อาจบางที ถ้าจำเพาะเจาะจงลงไปเฉพาะคดีที่เกี่ยวข้องกับการปราบปรามยาเสพติด ตัวเลขที่ได้จะสูงกว่าตัวเลขเหล่านั้นมากมายนัก

พรเพ็ญบอกกับอัลจาซีราว่า ความล้มเหลวในการทำให้การทรมาน และการ “อุ้ม” ผู้ต้องหา ผู้ต้องสงสัย บังคับให้หายสาบสูญเป็นอาชญากรรมอย่างหนึ่ง ส่งผลให้เกิด “วัฒนธรรมอภิสิทธิ์” ที่เจ้าหน้าที่ซึ่งดำเนินการไม่ต้องได้รับโทษ ไม่ต้องถูกดำเนินคดี ขึ้นในประเทศไทย

มันเป็นระบบที่เกิดขึ้นเพื่อคุ้มครองผู้กระทำความผิดภายใต้ระบบยุติธรรม ไม่เพียงแค่ตำรวจจะได้รับการคุ้มครอง แต่ยังครอบคลุมไปถึงผู้ทำหน้าที่อื่นๆ ในระบบที่ร่วมสมคบคิดกันอีกด้วย โดยผู้กระทำมีความรู้สึก “เหมือนกำลังปกป้องอะไรที่ใหญ่โตกว่าตัวเอง”

 

ในความเห็นของนรีลักษณ์ แพไชยภูมิ อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม และชาซีรา อาหมัด ซาวาวี ที่ปรึกษาอาวุโสของสมาคมป้องกันการทรมาน (เอพีที) เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นถึงความจำเป็นที่ต้องมีเกราะป้องกันเกิดขึ้นในระบบ

นรีลักษณ์บอกว่า รัฐบาลกำลังดำเนินการเพื่อให้การรับรองว่าการทรมานเป็นประเด็นปัญหาในบรรดาเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายและทหาร แต่ยืนยันว่า สถานการณ์กำลังดีขึ้น

ผู้บังคับบัญชาระดับสูงในพื้นที่ภาคใต้ และกระทรวงกลาโหมเองตื่นรู้เรื่องเช่นนี้มากขึ้นกว่าเดิมมาก และ “เฝ้าระวัง” ผู้ใต้บังคับบัญชาอย่างใกล้ชิด ทำให้จำนวนการล่วงละเมิดลดน้อยลง

ซาวาวีบอกว่า เอพีทีเข้าไปทำงานร่วมกับกระทรวงยุติธรรมมาตั้งแต่ปี 2018 เป้าหมายถึงที่สุดก็เพื่อลดการปฏิบัติต่อผู้ต้องสงสัย ผู้ต้องหาที่อยู่ในกำมือของเจ้าหน้าที่แบบผิดๆ ให้น้อยลง

หวังที่จะใช้การร่วมงานนี้สร้างความเชื่อมั่นขึ้นในฟากฝั่งของรัฐบาล ช่วยส่งเสริมให้ตระหนักถึงความสำคัญของการสร้างการป้องกันให้กับผู้ถูกควบคุมตัวตั้งแต่นาทีแรกที่ตกอยู่ภายใต้การควบคุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจ

ทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่อย่างใกล้ชิดเพื่อ “ทำความเข้าใจ” ให้เกิดขึ้นว่า “อะไรคือการทรมาน” และการป้องกันการทรมานคืออะไร ต้องทำอย่างไร แสดงให้เห็นว่า ตรงไหนที่พวกเขาทำผิด และพวกเขา “ทำให้ดีขึ้นได้” ได้อย่างไร

เอพีทีถึงกับพัฒนา “คู่มือต่อต้านการทรมาน” ขึ้นมา สำหรับให้เจ้าหน้าที่รัฐใช้อ้างอิง และทำความเข้าใจถึงคุณลักษณะที่แตกต่างออกไปของการป้องกันการทรมาน รวมถึงการสร้างแบบจำลองของการฝึก เพื่อปฏิบัติการสืบสวนสอบสวนที่มีประสิทธิภาพแต่ถูกต้องตามพื้นฐานทางมนุษยธรรม

ด้วยหวังว่าสักวันหนึ่ง รัฐบาลไทยคงหันมายอมรับเอาแทนทางการปฏิบัติต่อผู้ต้องหาในคดีอาญาบนพื้นฐานของสิทธิมนุษยชนมากขึ้นกว่าเดิม

แต่ซาวีวาย้ำว่า เอพีทีก็ได้แต่ชี้ให้เห็น หากต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลง รัฐบาลจำเป็นต้องกำหนดนโยบายลงมาให้ชัดเจน การเปลี่ยนแปลงถึงจะเกิดขึ้นได้

หลายคนถึงได้แต่ตั้งความหวังว่า กรณี “โจ้ เฟอร์รารี่” จะช่วยเร่งรัดให้กระบวนการปฏิรูปนี้เร่งเร็วขึ้น

ลดความเจ็บปวดของเหยื่อจากการกระทำรุนแรงของเจ้าหน้าที่ลงได้บ้างในที่สุด