การศึกษา : คำถามที่ไร้คำตอบ… ถอดถอนศิลปินแห่งชาติ ‘สุชาติ สวัสดิ์ศรี’ กับบรรทัดฐาน พฤติกรรมเสื่อมเสีย??

การศึกษา/เบญจมาศ เกกินะ

 

คำถามที่ไร้คำตอบ…

ถอดถอนศิลปินแห่งชาติ

‘สุชาติ สวัสดิ์ศรี’

กับบรรทัดฐาน พฤติกรรมเสื่อมเสีย??

 

เป็นข่าวสะพัดมาทั้งสัปดาห์กับกรณีที่คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ที่มีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มีมติเอกฉันท์ ยกเลิกการประกาศ ยกย่องเชิดชูเกียรติ นายสุชาติ สวัสดิ์ศรี เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ปี พ.ศ.2554 ตามกฎกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) กำหนดสาขา คุณสมบัติ หลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกและประโยชน์ตอบแทนของศิลปินแห่งชาติ (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2563

ส่งผลให้นายสุชาติเป็นศิลปินแห่งชาติ “คนแรก” ในประวัติศาสตร์ที่ถูกยกเลิกการประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติอย่างเป็นทางการ!!

ย้อนกลับไปในช่วงหลายปีที่ผ่านมา นายสุชาติถือเป็นศิลปินอีกคนหนึ่งที่แสดงจุดยืนทางการเมืองอย่างชัดเจน เลือกอยู่ข้างประชาชน ไม่เอาเผด็จการ นำมาสู่การแสดงความคิดเห็นผ่านบทกวี สื่อโดยเฉพาะผ่านโซเชียล

เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์หลายครั้ง สร้างความไม่พอใจให้หลายฝ่ายที่มีจุดยืนตรงข้าม

กระทั่งมีข้อเสนอให้ปลดนายสุชาติออกจากศิลปินแห่งชาติ ต่อมากลางปี 2563 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติไฟเขียวให้ถอดถอน ‘ศิลปินแห่งชาติ’ ได้ หากมีความประพฤติเสื่อมเสีย ส่งไม้ต่อให้นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ปรับแก้กฎกระทรวงฉบับดังกล่าว และประกาศในราชกิจจานุเบกษาอย่างรวดเร็ว

อดไม่ได้ที่สังคมจะคิดไปว่า นี่เป็นคำสั่ง “ปิดปาก” ทางการเมือง จนกลายเป็นข้อถกเถียง

และเมื่อมีมติออกมาเช่นนี้จริง ก็เหมือนเป็นการ “เชือดไก่ให้ลิงดู”

ติดป้ายห้ามศิลปินแห่งชาติทั้งหลายแสดงความเห็นทางการเมือง!!

 

มีความเคลื่อนไหวจากแวดวงนักเขียน นักวิชาการ อย่างนางวีรพร นิติประภา นักเขียนรางวัลซีไรต์ โพสต์เฟซบุ๊กแสดงความไม่เห็นด้วยโดยระบุว่า “ประเทศตกต่ำลงไปได้ไม่ถึงก้นบึ้งสักที ดิ่งลงไปไม่หยุดยั้ง ป.ล. คณะกรรมการฯ จะถอดถอนลอยๆ ไม่ได้นะคะ ต้องมีคำชี้แจงชัดเจนออกมา”

ขณะที่นายอุทิศ เหมะมูล นักเขียนรางวัลซีไรต์อีกผู้หนึ่ง โพสต์เฟซบุ๊กตอนหนึ่งว่า จะปลดคุณสุชาติ สวัสดิ์ศรี ออกจากศิลปินแห่งชาติ ถ้าจริงนี่ขอแบนกรรมการฯ ที่ยื่นเรื่องปลด พร้อมกับเรียกร้องให้เปิดเผยรายนามคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ

ขณะที่สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย นักวิจารณ์วรรณกรรม นำโดยนายสกุล บุณยทัต นายกสมาคม มองว่า ไม่สมควรอย่างยิ่งที่จะถอดถอนนายสุชาติออกจากการเป็นศิลปินแห่งชาติ เพราะสร้างผลงานไว้เป็นที่ประจักษ์ แม้จะมีท่าทีในการแสดงความคิดเห็นตอบโต้กับรัฐบาล แต่นี่คือสิทธิของนักเขียนที่สามารถวิจารณ์สภาวะสังคมทางการเมืองของคนในสังคมได้

เหล่านี้คือคำถามที่หลายฝ่ายพยายามหาคำตอบจาก “กระทรวงวัฒนธรรม” โดยเฉพาะ “กรมส่งเสริมวัฒนธรรม” ในฐานะหัวเรือใหญ่ที่ดูแลการคัดเลือกศิลปินแห่งชาติ

ซึ่งในทุกครั้งที่มีการประกาศยกย่องศิลปินแห่งชาติ จะมาพร้อมประวัติ ผลงาน และคุณงามความดีร่ายยาวเป็นหางว่าว

นั่นหมายความว่า หากจะมีคำสั่งยกเลิกการยกย่องศิลปินแห่งชาติท่านใด ก็สมควรที่จะต้องมีคำอธิบาย ที่สมเหตุสมผล ไม่ใช่ทำเหมือนมุบมิบ ปิดปัง!!

โดยเฉพาะนายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการ วธ. ในฐานะเจ้ากระทรวง ที่ยังคงเอาแต่ปิดปากเงียบ!!

 

กรณีนี้อาจจะกลายเป็นบรรทัดฐานสำคัญในการคัดเลือกและดูแลศิลปินแห่งชาติในอนาคต

เพราะหากเหตุผลของคำสั่งดังกล่าวเป็นเรื่องการแสดงความเห็นที่ไม่เหมาะสม และถูกตีความว่าเป็นพฤติกรรมที่เสื่อมเสีย ย่อมต้องมีตัวชี้วัดความถูกผิดที่เที่ยงธรรม ไม่เช่นนั้น อาจทำให้การยกย่องศิลปินแห่งชาติ มีมลทิน และอาจถูกนำไปใช้เป็นเครื่องมือในการกลั่นแกล้งกัน

หรือหากเปรียบเทียบพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของศิลปินแห่งชาติบางราย ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง แต่เป็นเรื่องส่วนบุคคลจะถูกตีความว่า “เสื่อมเสีย” และถูกยกเลิกการยกย่องด้วยหรือไม่??

นายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ พ.ศ.2536 เคยให้สัมภาษณ์มติชน ในช่วงที่มีการถกเถียงในเรื่องนี้ว่า ไม่เห็นด้วยกับมติดังกล่าว โดยมีเหตุผลคือ

ประการแรก การเป็นศิลปินแห่งชาติไม่ใช่การให้รางวัล แต่เป็นการยกย่องให้เกียรติผู้ที่ทำผลงานเป็นที่โดดเด่นในสาขานั้นๆ

ประการที่สอง การมีมติเช่นนี้ ทำให้ศิลปินแห่งชาติขาดเสถียรภาพ ไม่มีความมั่นคง อาจมีการกลั่นแกล้งทำให้ถูกถอดถอน ที่สำคัญทำให้การยกย่องศิลปินแห่งชาติไม่ได้รับความศรัทธา เชื่อถือ และต่อไปหากไปเชิญศิลปินที่มีความสามารถมาเป็นศิลปินแห่งชาติ ก็อาจถูกปฏิเสธเพราะไม่มีใครอยากเอาชื่อเสียงมาเสี่ยง

และประการสุดท้าย การได้รับยกย่องเป็นศิลปินแห่งชาติ เป็นการทำงาน และคุณงามความดีที่สะสมมาในช่วงนั้น หากศิลปินแห่งชาติคนใดกระทำความผิด ถือเป็นเรื่องส่วนบุคคล มีกฎหมายกำกับดูแล อีกทั้งคนเป็นศิลปินแห่งชาติ หากทำความผิดก็มีสิทธิติดคุกได้

ดังนั้น จึงไม่ควรนำปัญหาส่วนบุคคลมาแก้ไขในภาพรวม เชื่อว่าศิลปินแห่งชาติแต่ละคนพยายามดูแลตัวเองไม่ให้เสียชื่อเสียงอย่างดีที่สุด

การที่ศิลปินแห่งชาติวิพากษ์วิจารณ์สังคม ถือเป็นสิทธิเสรีภาพ การออกหลักเกณฑ์เช่นนี้ถือเป็นความอ่อนด้อยของระบบราชการ ที่ขาดดุลพินิจ พิจารณาข้อดี ข้อเสีย และความเหมาะสมให้รอบด้าน

กรณีนี้เหมือนคลื่นลูกใหญ่ที่สร้างความสั่นสะเทือนให้กับแวดวงศิลปิน นักคิด นักเขียน อย่างหนักหน่วง!!

เลี่ยงไม่ได้เลยที่กระทรวงวัฒนธรรม และคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ควรต้องออกมาตอบคำถามอย่างเร่งด่วน

เพื่อไม่ให้ตำแหน่งอันทรงเกียรตินี้ เกิดมลทิน ถูกลดทอนศักดิ์ศรี และทั้งหมดจะสะท้อนกลับไปที่หน่วยงานหลัก ในการดูแลเรื่องนี้ว่า มีประสิทธิภาพมากน้อยแค่ไหน…