ก่อสร้างที่ดิน : อสังหาฯ ผ่านด่านแรกโควิด / นาย ต.

 

 

อสังหาฯ ผ่านด่านแรกโควิด

 

ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เดินทางฝ่าวิกฤตการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 มาตั้งแต่ต้นปี 2563 จนถึงขณะนี้เลยกลางปี 2564

หากวัดผลการดำเนินธุรกิจจากตัวเลขผลประกอบการของบริษัทอสังหาฯ รายใหญ่ 10 รายแรก ซึ่งมีส่วนแบ่ง 60-70% ของตลาดอสังหาริมทรัพย์โครงการที่อยู่อาศัย บ้าน คอนโดมิเนียมทั้งหมด ก็พอจะสะท้อนภาพรวมได้ระดับหนึ่ง

ดังนี้

 

ในครึ่งแรกของปี 2564 ท็อป 10 ของตลาด มียอดขายรวม 95,403 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11% มีกำไรรวม 15,163 ล้านบาท และกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นถึง 34%

ภาพรวมตัวเลขต่างๆ ทั้งยอดขาย กำไร ผลตอบแทนต่อผู้ถือหุ้น ดีขึ้น

แสดงถึงความสามารถในการปรับตัวของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เมื่อเผชิญวิกฤตโควิด ตั้งแต่ครึ่งแรกของปี 2563 มีการจัดแคมเปญโปรโมชั่นเร่งระบายขายคอนโดมิเนียมที่สร้างเสร็จออกไปให้เร็ว

ต่อมาครึ่งหลังปี 2563 โควิด-19 ซาลงเล็กน้อย ตลาดที่อยู่อาศัยกลับมาสนใจซื้อที่อยู่อาศัยแนวราบราคา 10 ล้านบาทขึ้น ธุรกิจอสังหาฯ ก็ปรับตัวมาทำโครงการแนวราบตามความต้องการตลาด ทั้งทาวน์โฮม บ้านแฝด บ้านเดี่ยว

จนปีใหม่ 2564 ถึงกลางปีก็ยังเดินหน้าต่อในทิศทางนี้ และมีผลประกอบการดังที่กล่าวข้างต้น ซึ่งก็ถือได้ว่า ธุรกิจอสังหาฯ ผ่านด่านแรกโควิดไปได้ด้วยดี

แต่สงครามโรคระบาด นอกจากยังไม่จบแล้ว ยังไม่ถึงจุด “พีก” สูงสุดของการแพร่ระบาดในประเทศไทย ซึ่งจุดที่ว่านั้น ทางวิชาการระบาดวิทยา เขาว่าจะอยู่ที่ประมาณปลายเดือนสิงหาคมไปกันยายน

ถัดจากนั้น คาดว่าจะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยตามมา

 

ยังไม่ต้องใช้ข้อมูลสถิติอะไรมาก ก็พอจะมองเห็นว่า วิกฤตโควิดทำให้เกิดการว่างงานของลูกจ้างรายวันจำนวนมาก ทำให้ลูกจ้างกินเงินเดือนตกงานจำนวนมากเช่นกัน หรือบางส่วนที่ยังมีงานทำก็จะมีรายได้จากการทำงานล่วงเวลา (OT) น้อยลงหรือไม่มี หรือมีการลดชั่วโมงทำงาน ลดวันทำงาน ทำให้รายได้น้อยลง

ยังมีผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางขนาดเล็กในธุรกิจท่องเที่ยว ธุรกิจบริการ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจำนวนมากต้องเลิกกิจการ

เหตุทั้งหลายเหล่านี้ มองจากมุมของธุรกิจอสังหาฯ โครงการบ้าน คอนโดมิเนียม ก็คือกำลังซื้อที่อยู่อาศัยที่หายไป และลดน้อยลงนั่นเอง

เป็นวิกฤตกำลังซื้อหดหาย เป็นด่านทดสอบต่อไป

“ยังไงเสีย ที่อยู่อาศัยก็เป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ เป็นสินค้าจำเป็นในการดำรงชีพ กำลังซื้อหดตัวอย่างไรก็ยังมีเหลืออยู่เสมอ”

เป็นคำปลอบใจที่ยังใช้ได้กับทุกครั้งที่เผชิญวิกฤตใหม่ของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์