เครื่องเสียง : ARCAM SA30 Intelligent Integrated Amp. / พิพัฒน์ คคะนาท

เครื่องเสียง

พิพัฒน์ คคะนาท / [email protected]

 

ARCAM SA30

Intelligent Integrated Amp.

 

แอมป์เครื่องนี้บ่งบอกตัวเองเอาไว้อย่างรวบรัดใน ‘ใบบอก’ ว่าได้รับการออกแบบด้วยคุณสมบัติอันล้ำสมัยที่สุดของปัจจุบัน

ไม่ว่าจะเป็นการนำ Class-G มาปรับใช้ในภาคขยายเสียง ด้วยทักษะและความเชี่ยวชาญเฉพาะขั้นสูงของทีมวิศวกรที่มากประสบการณ์ด้านนี้ เพื่อนำเสนอเสียงที่อุดมไปด้วยความละเอียดขั้นสูงสุด ขณะเดียวกันก็เอื้อความสะดวกในการใช้งานที่ช่างง่ายดายยิ่ง

โดยเฉพาะในแง่ของการทำงานในรูปแบบของ Streaming กับอุปกรณ์พกพาต่างๆ รวมทั้งกับบรรดาพวกอุปกรณ์จัดเก็บหน่วยความจำทั้งหลาย อาทิ NAS : Network Attached Storage ด้วยแอพพลิเคชั่นที่ให้ใช้งานได้อย่างจริงจัง ไม่ว่าจะผ่านทาง Apple AirPlay 2 หรือ Google Chromecast ก็ตาม

และได้ให้รายละเอียดเฉพาะของเครื่องเอาไว้เพียงสั้นๆ ว่าใช้การทำงานของภาคขยายที่ให้ประสิทธิภาพสูงสุดในแบบ Class-G ที่แตกต่างไปจากแอมปลิไฟเออร์ Class A/B ทั่วๆ ไป เพื่อนำมาซึ่งคุณภาพเสียงอันไร้ที่ติอย่างสิ้นเชิง โดยมีกำลังขับแชนเนลละ 120 วัตต์, ที่โหลด 8 โอห์ม หรือ 220 วัตต์/แชนเนล, ที่โหลด 4 โอห์ม

วัดค่าความเพี้ยนฮาร์โมนิกรวม (Total Harmonic Distortion) หรือ THD + Noise ได้ 0.002%

รองรับอะนาล็อก อินพุต 5 ชุด รวมทั้งมีภาค Phono Stage ที่พร้อมทำงานกับหัวเข็มทั้ง MM : Moving Magnet และ MC : Moving Coil ได้โดยมิพักต้องพึ่งพาอุปกรณ์เสริม อาทิ Step-Up Transformer หรือ Pre-Preamp. มีดิจิตอล อินพุต ให้ 4 ชุด และมี ARC : Audio Return Channel ให้หนึ่งชุดด้วย

สะดวกในการทำงานร่วมกับอุปกรณ์สตรีมแบบ Plug & Play พร้อมสรรพกับการจัดการไฟล์เพลงผ่าน Roon ทั้งยังรองรับการทำงานร่วมกับไฟล์เสียงคุณภาพสูงแบบ MQA : Master Quality Authenticated ผนวกฟังก์ชั่นแก้ไขสภาพอะคูสติกห้องที่มีประสิทธิภาพสูงของ Dirac EQ ภาค DAC ใช้ชิพเซ็ตคุณภาพสูงแบบ 32-bit ESS9038K2M ของ Sabre

และได้ผนวก I/P Control เต็มรูปแบบทั้ง Control4 และ Creston เพื่อการทำงานร่วมกับอุปกรณ์เครือข่ายภายในบ้าน หรือ Home Network Set-Up

 

อินติเกรตเต็ด แอมป์ เครื่องนี้ จัดอยู่ในกลุ่ม HDA Range ของ ARCAM ซึ่งมีนิยามทำนองเครื่องที่ให้ความสุขในการฟังอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ในกลุ่มมีทั้งหมดกว่าสิบรุ่นด้วยกัน โดยมีทั้งแหล่งโปรแกรม, โปรเซสเซอร์, สตรีมเมอร์ รวมทั้งสเตอริโอ แอมป์ และเอวี รีซีฟเวอร์

โดยในกลุ่มแอมปลิไฟเออร์นั้น มีทั้งที่ทำงานใน Class-G และแบบ Class A/B ที่มักคุ้นกันแต่ไหนc9jไรมา

Model SA30 เป็นเครื่องรุ่นใหญ่ในกลุ่มสเตอริโอ แอมป์ ที่มีอยู่ด้วยกันสามรุ่น ซึ่งแม้จะเป็นเครื่องรุ่นใหญ่แต่เมื่อดึงออกมาจากกล่อง จะเห็นโครงสร้างที่ออกจะกระเดียดไปข้างเพรียว (แต่ไม่บาง) อยู่สักหน่อย ด้วยเมื่อเทียบกับกล่องบรรจุแล้วก่อนหน้าที่จะเปิดเอาเครื่องออกมาก็ไม่คิดว่าจะเพรียวประมาณนี้ ด้วยมีขนาดความสูงของตัวเครื่องที่วัดรวมฐานของแป้นรองเครื่องด้วยแล้วนั้น ไม่ถึงครึ่งความสูงของกล่องด้วยซ้ำไป

คือมีขนาดเพียงแค่ 1/2.5 เท่านั้นเอง

แต่กับภาพลักษณ์ก็ดังที่ได้บอกไปเที่ยวก่อนนั้นแหละครับ คือเป็นภาพที่คุ้นตาของเครื่องจากค่ายนี้มาแต่ไหนแต่ไรแล้วนั่นเอง และกับอีกสิ่งที่เห็นแล้วต้องบอกว่าคุ้นมากก็คือ งานฝีมือที่ประณีตพิถีพิถันยิ่ง แบบเป็นงานประกอบเครื่องที่กอปรกันขึ้นมาด้วยความเนี้ยบมาก

ทั้งยังบ่งบอกให้รู้อยู่ในทีว่ารองรับการใช้งานแบบ Heavy Duty ได้สบายๆ เพราะแม้ว่าทรงออกจะเพรียวอย่างที่เห็นก็เถอะ แต่น้ำหนักตัวนั้นหนักเอาการทีเดียว

 

โครงสร้างตัวถังเป็นแผ่นโลหะสีเทาเข้ม แผงหน้าปัดใช้แผ่นโลหะหนาเป็นพิเศษ โดดเด่นแบบแลดูตัดกันด้วยสีเงินแบบชุบโครเมียมปัดด้านของลูกบิดโวลูม คอนโทรล ขนาดใหญ่ทางด้านซ้ายมือ กับแป้นกลมแบบปุ่มกดของสวิตช์เพาเวอร์ทางด้านขวาที่มีขนาดย่อมลงมา และแถบ Front Panel Keys ที่เป็นปุ่มกดเรียงตามแนวนอนใต้แผงดิสเพลย์หรือจอแสดงผล

ใกล้ๆ สวิตช์เพาเวอร์มีตุ่มไฟ LED ขนาดหัวไม้ขีดไฟบ่งบอกสถานะตั้งแต่สแตนด์บายไปจนถึงพร้อมทำงาน ด้วยสีของแสงที่แตกต่างกันไป ตั้งแต่สีแดง เหลืองอมส้ม จนถึงสีขาวขณะทำงาน ซึ่งเป็นสีเดียวกับตัวอักษรบนจอดิสเพลย์ด้วย

ขณะที่ใกล้ๆ กับลูกบิดโวลูม คอนโทรล มีอินพุตให้สองชุดสำหรับ AUX และ Phones แบบสเตอริโอ มินิ แจ๊ก 3.5 มม. ซึ่งเรียงกันอยู่ในแนวเดียวกับปุ่ม Keys ที่แผงหน้า ซึ่งประกอบไปด้วย Menu, Input-, Input+, Dirac, Mute, Info, Direct, Display และ Balance สำหรับปรับสมดุลเสียงซ้าย/ขวา

สำหรับแผงดิสเพลย์ก็มีไว้เพื่อบอกสถานะการทำงานต่างๆ ของเครื่องอย่างเป็นสำคัญ (เท่านั้น) โดยแสดงด้วยตัวอักษรสองแถวที่มีขนาดให้พอจะอ่านได้อย่างชัดเจน ก็ต่อเมื่อเดินเข้าไปใกล้ๆ แผงหน้าปัดเท่านั้น อย่าไปหวังว่าจะเห็นได้ชัดจากตำแหน่งที่นั่งฟังปกติ และยิ่งไม่ต้องคาดหวังเลยเมื่อรู้ว่าทำหน้าที่เป็นสตรีมเมอร์ด้วยแล้ว ว่าจะสามารถโชว์ปกอัลบั้มให้เห็น หรือเป็นจอแบบแตะสัมผัสเหมือนเครื่องส่วนใหญ่, อะไรแถวๆ นั้น

ไม่ดอกนะครับ, เพราะแม้ภายในจะผนวกอะไรต่อมิอะไรไปไกลเกินใคร แต่หน้าตากับการทำงานเชิงโครงสร้างมาแนวอนุรักษนิยมของแท้

 

มาดูที่แผงหลังเครื่องกันบ้าง

ไล่มาจากทางด้านซ้ายเป็นขั้วต่อสายไฟ AC ซึ่งสามารถถอดเปลี่ยนได้แบบ IEC ถัดไปเป็นสวิตช์แบบเลื่อนเพื่อเลือก Voltage Supply เหนือขึ้นไปแบบเหลื่อมไปด้านขวาหน่อยเป็นพอร์ตคู่ของช่องเสียบสาย LAN กับ USB

ถัดไปเกือบกึ่งกลางเครื่องเป็นขั้วต่อ RS232 เหนือขึ้นไปเกือบชิดขอบเครื่องด้านบนเป็นพอร์ต HDMI แบบ ARC/eARC สำหรับต่อกับเครื่องรับโทรทัศน์

ช่วงกึ่งกลางเครื่องไปทางด้านขวาตอนล่างเป็นขั้วต่ออินพุตของ Analogue Audio ประกอบไปด้วย CD, PVR (Personal Video Recorder), STB (Set-Top Box), Phono (MM), Phono (MC) สุดท้ายเป็นขั้วต่อ Pre Out ที่ใกล้ๆ กัน เป็นขั้วต่อ Ground ของเครื่องเล่นแผ่นเสียง

ทางด้าน Digital In อยู่ด้านบน มีให้ทั้ง Coaxial และ Optical อย่างละสองชุด โดยมีตัวอักษรกำกับที่แต่ละอินพุตไว้เสร็จสรรพ ว่าช่องไหนสำหรับอะไร

โดยออพติคอลมีให้สำหรับแซตเทิลไลต์ ทีวี และเครื่องเล่นเกม คอนโซล

ส่วนโคแอ็กเชียลช่องหนึ่งสำหรับเครื่องเล่นแผ่นอย่างบลู-เรย์ หรือดีวีดี ส่วนอีกช่องสำหรับอุปกรณ์เอวีทั่วๆ ไป อาทิ VCR หรือ TV

สำหรับขั้วต่อสายลำโพงเป็นแบบ Binding Post ชุดเดียว สำหรับต่อใช้งานแบบ Single Wire

และหากต้องต่อใช้งานกับลำโพงที่มีขั้วต่อให้สองชุด แบบ LF กับ HF ในคู่มือการใช้งานก็มีบอกพร้อมแสดงให้เห็นด้วยรูปภาพอย่างชัดเจน ว่าควรต่อจากขั้วไหนของเครื่องไปเข้าขั้วต่อชุดใดของลำโพง

ซึ่งนับว่าให้รายละเอียดแบบเอาใจใส่การใช้งานของผู้บริโภคด้วยความรับผิดชอบเป็นอย่างดี

นอกจากนี้ ที่มุมด้านซ้ายตรงขอบบนของเครื่อง กับกึ่งกลางเครื่อง มีขั้วแบบเกลียวหมุนสำหรับติดตั้งเสาอากาศ Wi-Fi Network ซึ่งมีมาให้ในกล่องพร้อมสรรพทั้งสองต้นดังที่เห็นนั่นแหละครับ