กลับไม่ถึง ‘มโนธรรม’/เมนูข้อมูล นายดาต้า

เมนูข้อมูล

นายดาต้า

 

กลับไม่ถึง ‘มโนธรรม’

 

ประเทศที่กฎหมายถูกออกแบบมาเพื่อให้คนกลุ่มหนึ่งได้เปรียบคนกลุ่มอื่น และเพื่อปกป้องคนกลุ่มนั้นไว้ที่ปลอดภัย จำเป็นต้องใช้การตีความกฎหมายอย่างเคร่งครัดมาเป็นเครื่องมือ

ความหมายของ “ตีความกฎหมายอย่างเคร่งครัด” คือการอธิบายตัวบทบัญญัติว่า มีว่าแต่ละตัวบทมีองค์ประกอบอะไรบ้าง และแต่ละองค์ประกอบหมายความว่าอย่างไร โดยมี “นักกฎหมายอาวุโส” ทำหน้าที่ให้กำหนดความหมาย หรือ “ธง” เพื่อให้การตัดสินเดินตาม

“นักกฎหมายอาวุโส” ที่ทำหน้าที่นี้ เรียกว่า “เนติบริการ” หรือผู้ใช้การตีความกฎหมายมาเป็นอาชีพสร้างความอยู่ดีมีสุขให้ตัวเองและครอบครัว

และนี่เป็นการสร้างความยุ่งยากของการอยู่ร่วมกัน เนื่องจากที่ให้ความหมายว่าเป็น “ความยุติธรรม” แปรเปลี่ยนไปตาม “ธง” ที่มีเบื้องหลังเป็นผลประโยชน์ของ “ผู้ตีความกฎหมาย”

และนั่นเป็นที่ก่อให้เกิด “ความไม่เชื่อมั่น”

 

ในคดี “ผู้กำกับโจ้-พ.ต.อ.ธิติสรรค์ อุทธนผล” ที่กำลังโด่งดัง และมี “นักกฎหมาย” ออกมาชี้องค์ประกอบเสนอการตีความที่แทบจะคล้ายกับชี้ให้เห็นทิศทางของ “คำพิพากษา” แล้ว ในหลายประเด็น เช่น “เป็นการกระทำที่เล็งเห็นผล” ซึ่งถือว่าเท่ากับมีเจตนา

ชี้ให้เห็นว่าวิธีการทรมานผู้ต้องหาเพื่อบีบให้เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการขบวนการค้ายาเสพติด เหมือนจะให้เป็นการสอบสวนปกติของเจ้าหน้าที่ตำรวจ และดูจะกลบประเด็นที่ถูกกล่าวหาว่ารีดเอาทรัพย์ออกมาไป

ผลที่เกิดขึ้นจากพฤติกรรมของ “ผู้เชี่ยวชาญกฎหมาย” ดังกล่าว

“ซูเปอร์โพล” ได้ทำสำรวจเรื่อง “ผู้กำกับโจ้ : สิ่งที่เห็นกับเบื้องหลังที่ปรากฏ” โดยตั้งคำถามว่า “มีความคิดเห็นอย่างไรกับเรื่องที่เกิดขึ้น”

 

คําตอบคือ ร้อยละ 98.9 ระบุปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นเป็นต้นตอปัญหาใหญ่ในระบบราชการที่ต้องการให้นายกรัฐมนตรีและรัฐบาลเร่งผ่าตัด สะสางครั้งใหญ่

ร้อยละ 98.5 ไม่เชื่อมั่นต่อการแถลงข่าวเหมือนการตัดตอน ควรขยายผลให้กระจ่างเกี่ยวโยงกับเจ้าหน้าที่รัฐหน่วยงานอื่นหลายระดับ เช่น กรณีรถหรู เงินฝาก และผลประโยชน์อื่นๆ

ร้อยละ 98.1 เชื่อว่ามีการเชื่อมโยงเป็นขบวนการในหลายระดับ

ร้อยละ 92.1 ไม่เชื่อมั่นต้นน้ำของกระบวนการยุติธรรม ที่ยังมีการรีดไถ ตบทรัพย์ ยักย้ายถ่ายเทของกลาง

ร้อยละ 92.0 ระบุต้องปฏิรูปการทำงานแก้ปัญหายาเสพติดของ ป.ป.ส. ฝ่ายปกครอง ตำรวจ ทหาร ศุลกากร และอื่นๆ โดยเฉพาะยังพบการส่งออกยาเสพติดไปยังต่างประเทศต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดความโปร่งใสและลดความเคลือบแคลงสงสัยของสังคม

นั่นหมายถึงความไม่เชื่อมั่นมีสูงยิ่ง สะท้อนทั้งศรัทธาต่อกติการอยู่ร่วมกัน และพฤติกรรมของผู้บังคับใช้กฎหมาย

 

ความรู้สึกนึกคิดต่อความยุติธรรมเช่นนี้เป็นความปกติยิ่ง

เพราะในความจริงแต่ของการดำรงอยู่ของมนุษย์คือ ลึกลงไปในจิตใจของทุกคนมีสิ่งที่เรียกว่า “มโนธรรม” อยู่แล้วเหมือนๆ กัน

ใครสัมผัสได้มาก หรือน้อย หรือไม่ได้ ขึ้นอยู่กับ “มโนธรรม” นั้นถูกปิดกั้นความรับรู้ไว้ด้วยกิเลส ตัณหาแน่นหนาขนาดไหน

แต่ไม่ว่าจะถูกปิดกั้นแค่ไหน “มโนธรรม” ยังมีพลังอยู่เสมอ ผู้ที่ไม่ถูกปิดกั้นหนาเกินไป พลังนั้นจะแสดงให้ “จิตสำนึก” แต่หากกิเลส ตัณหาครอบงำจิตสำนึกหนาเกินไป พลังนั้นก็จะยังแสดงอยู่ใน “จิตใต้สำนึก”

พลังแห่งมโนธรรมมีอยู่เป็นพลังหลักของจิตเหนือสำนึกเสมอ

 

ความเป็นปกติของ “กฎหมาย” คือการแปลมโนธรรมมาเป็น “ตัวบท” โดยตัวบทแยกเป็นองค์ประกอบต่างๆ ที่สะท้อนกติกาการอยู่ร่วมกันตามมโนธรรมนั้นว่ามีอะไรบ้าง

จากนั้นมีกระบวนการอบรมให้ความรู้คนกลุ่มหนึ่งเพื่อให้เข้าใจว่า “แต่ละองค์ประกอบว่าได้ร่วมกันสร้างความหมายของตัวบทให้เชื่อโยงกับมโนธรรมอย่างไร”

ผู้ที่เข้าศึกษาอบรมวิชานี้ เรียกว่า “นักนิติศาสตร์” หรือ “เนติบัณฑิต” มีหน้าที่หาทางอธิบายว่าอะไรไม่เป็นไปตามตัวบท อะไรถูกต้องตามตัวบท แต่ที่สุดแล้ว ต้องไปให้ถึง “มโนธรรม” อันเป็นต้นทาง

ทว่าในยุคสมัยเช่นนี้ คำว่า “ต้องตีความข้อกฎหมายอย่างเคร่งครัด” ได้นำ “นักนิติศาสตร์” มาติดค้างให้ความสำคัญในการต่อสู้เพื่ออธิบายตัวบทว่าใครอธิบายได้อย่างมีเหตุผล ใครอาศัยช่องว่างของตัวบท หรือองค์ประกอบต่างๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องมีเป็นปกติอยู่แล้วในความไม่สมบูรณ์ของสิ่งที่มนุษย์สร้าง

ติดอยู่ที่การแข่งขันต่อสู้ว่าใครจะ “ตีความข้อกฎหมาย” ได้เคร่งครัดมากกว่ากัน

ทำให้การใช้กฎหมายติดค้าง ย้อนไปสัมผัส “มโนธรรม” ซึ่งเป็นต้นทางของการอยู่ร่วมกันบนโลกใบนี้อย่างสันติสุขไม่ได้