คุยกับทูต เบรนแดน โรเจอร์ส ทูตคนแรก จากไอร์แลนด์ “เกาะมรกตแห่งยุโรป” (2)

“ผมเกิดที่ดันดาล์ก (Dundalk) ประเทศไอร์แลนด์ เมืองนี้อยู่ชายแดนใกล้กับประเทศไอร์แลนด์เหนือ อยู่ที่นี่จนกระทั่งอายุ 17 ปี จึงย้ายไปเมืองดับลินเพื่อศึกษาต่อที่ทรินิตี้ คอลเลจ มหาวิทยาลัยดับลิน (Trinity College, The University of Dublin) โดยสำเร็จการศึกษาปริญญาตรีและโทด้านภาษาอังกฤษ ประวัติศาสตร์และภูมิศาสตร์”

เอกอัครราชทูตไอร์แลนด์ นายเบรนแดน โรเจอร์ส เล่าประสบการณ์อันยาวนานและหลากหลายอย่างน่าสนใจ ก่อนจะมาดำรงตำแหน่งที่ประเทศไทยในปัจจุบัน

“หลังจากเรียนจบ ผมไปทำงานเกี่ยวกับการก่อสร้างอาคารที่อังกฤษ แต่ไม่นานก็กลับมาบ้านเกิดเพื่อเข้ารับราชการที่กรมวิชาการเกษตร ต่อมาสามารถสอบเข้าทำงานด้านการทูตที่กระทรวงต่างประเทศ ซึ่งภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็นกระทรวงต่างประเทศและการค้า”

“งานเกี่ยวกับต่างประเทศตรงกับอุปนิสัยของผมที่ชอบการเดินทาง เพื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์ใหม่ๆ ทั้งด้านวัฒนธรรมและสังคมที่มีความแตกต่างกัน สมัยเรียนอยู่ในมหาวิทยาลัย ผมไปอยู่ที่สหรัฐอเมริกาช่วงปิดเทอม โดยทำงานเป็นเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยที่สนามบินจอห์น เอฟ เคนเนดี้ ในนครนิวยอร์ก และงานในร้านขายของเล่นที่ใหญ่ที่สุดในโลกด้วย”

“ผมได้ถือโอกาสนี้ท่องเที่ยวไปในสหรัฐและจบลงด้วยการเป็นบาร์เทนเดอร์ที่นครซานฟรานซิสโก”

“ในสามปีแรกที่กระทรวงต่างประเทศและการค้า ผมเริ่มจากแผนกสหภาพยุโรปของไอร์แลนด์ ต่อมา เป็นงานเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างอังกฤษและไอร์แลนด์โดยเฉพาะทางด้านความมั่นคง”

“ผมถูกส่งไปประจำยังต่างประเทศครั้งแรกที่เมืองบอสตัน รัฐแมสซาชูเซตส์ ในฐานะรองกงสุล สถานกงสุลไอร์แลนด์ ขณะเดียวกัน ได้เข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยบอสตันจนได้รับปริญญาโทด้านรัฐศาสตร์และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และใช้เวลาว่างไปศึกษาภาษาไอริชดั้งเดิม คือ เกลิก (Gaelic) ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard University) ในเมืองเคมบริดจ์ รัฐเดียวกัน”

“ประเทศไอร์แลนด์ มีภาษาราชการสองภาษา คือไอริช (เกลิก) และภาษาอังกฤษ ปัจจุบัน ใช้ภาษาอังกฤษกันเป็นส่วนใหญ่ ภาษาเกลิกนั้นแตกต่างจากภาษาอังกฤษมาก บางพื้นที่ในไอร์แลนด์ ผู้คนส่วนใหญ่ยังคงพูดภาษาเกลิก เช่น แถบตะวันตก และในเขต Kerry ทางตะวันตกเฉียงใต้ ส่วนผมเรียนภาษาไอริชในโรงเรียนมัธยม จึงรู้สึกดีใจที่สามารถสนทนาได้ทั้งสองภาษา”

“จากเมืองบอสตันผมกลับไปกรุงดับลิน แต่อยู่ได้เพียง 6 เดือน ก็ไปร่วมงานกับโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ ซึ่งส่งผมไปที่นิวยอร์ก จากนั้นไปอยู่ที่ลูซากา (Lusaka) เมืองหลวงของประเทศแซมเบีย (Zambia) สองปีครึ่ง จึงกลับไปกรุงดับลิน เพื่อทำโครงการเกี่ยวกับเอเชีย นับเป็นช่วงที่ผมได้เริ่มเรียนรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมอันยาวนานของภูมิภาคนี้ ตลอดจนเศรษฐกิจการเมืองของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประเทศอื่นๆ”

“หลังจากนั้นเพียงสองปี ผมกลับไปแอฟริกาอีกครั้ง ค.ศ.1991 โดยได้รับแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าคณะทูตไอริช ที่เมืองลูซากาในแซมเบีย เป็นเวลาถึงเจ็ดปี เพื่อดูแลโครงการให้ความช่วยเหลือด้านการพัฒนาและชุมชนชาวไอริชซึ่งรวมถึงนักเผยแผ่ศาสนาจำนวนมาก ต่อมาปี ค.ศ.1998 ผมย้ายไปเป็นหัวหน้าคณะทูตไอริชที่ยูกันดา (Uganda) อีกสองปี”

“ในที่สุด ได้เลื่อนตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการหน่วยปฏิบัติการกู้ภัยภาวะฉุกเฉิน (Director, Head of Emergency and Recovery) ที่กรุงดับลิน และเมื่อเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวตามด้วยคลื่นยักษ์สึนามิ เดือนธันวาคม ค.ศ.2004 ผมออกเดินทางทันทีโดยมุ่งไปที่ศรีลังกา อินโดนีเซีย และไทยที่ภูเก็ต เพื่อให้ความช่วยเหลือในช่วงที่เกิดโศกนาฏกรรม เป็นการมาประเทศไทยครั้งแรกของผม”

“ภัยพิบัตินี้ก่อให้เกิดความสูญเสียมหาศาลในชีวิต ทรัพย์สินของประชาชน-นักท่องเที่ยว หลายฝ่ายในประเทศไทยได้ร่วมกันจัดงานรำลึกไว้อาลัยแด่ผู้ที่เสียชีวิตและสูญหาย ซึ่งผมรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้เข้าร่วมงาน ผมขอแสดงความเสียใจและชื่นชมต่อความพยายามอันยิ่งใหญ่ของเจ้าหน้าที่และประชาชนชาวไทยในเหตุการณ์นี้”

“สำหรับตำแหน่งล่าสุดก่อนที่ผมจะมาประจำประเทศไทยคือ รองเลขาธิการใหญ่ (Deputy Secretary General) กระทรวงต่างประเทศและการค้าไอร์แลนด์”

พันธกิจในฐานะเอกอัครราชทูตไอร์แลนด์ประจำประเทศไทย

“โดยหลักๆ มีสามประการ คือ การดูแลคนของเรา (Irish Community) ความเจริญก้าวหน้าของเรา (our prosperity) และคุณค่าของเรา (our values)”

ประการแรก เราให้ความคุ้มครองดูแลชุมชนชาวไอริชที่อยู่ในไทยและนักท่องเที่ยวชาวไอริช บางคนอาจประสบปัญหาหนังสือเดินทางสูญหาย มีการสูญเสียที่เกิดจากความตาย หรือประสบอุบัติเหตุ ฯลฯ เราให้ความช่วยเหลือต่างๆ แม้กระทั่งช่วยติดต่อกับครอบครัวที่ไอร์แลนด์ งานด้านกงสุล หนังสือเดินทาง วีซ่า การมีสถานทูตที่นี่ทำให้เราสามารถปฏิบัติงานได้รวดเร็วขึ้น”

ประการต่อมา ดูแลด้านความเจริญก้าวหน้าของเรา นั่นคือการเพิ่มสัดส่วนการค้าการลงทุนกับประเทศไทย รวมทั้งการสร้างความเชื่อมโยงทางการค้าระหว่างกัน ถ้าไอร์แลนด์มีความเจริญรุ่งเรือง ประเทศไทยก็มีความเจริญรุ่งเรืองเช่นเดียวกัน เพราะสองประเทศมีความเกี่ยวพันกัน”

“ปี ค.ศ.2014 การค้าระหว่างไทยกับไอร์แลนด์มีมูลค่า 500 ล้านยูโร ปัจจุบันมีมูลค่าเพิ่มขึ้นถึง 800 ล้านยูโร ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะผมมาอยู่ที่นี่ด้วย และในปีเดียวกันนั้นจำนวนนักเรียนไทยที่กำลังศึกษาอยู่ในไอร์แลนด์ จากที่มีเพียง 5-10 คน แต่ในปีนี้ มีนักเรียนไทยหลักสูตรเต็มเวลา กว่า 50 คน โดยเป้าหมายของเราคือ จำนวนนักเรียนไทยไปเรียนในไอร์แลนด์ราว 200-300 คน”

ย่านเมืองเก่าแก่ติดกับสวนสาธารณะ Stephen’s Green

เนื่องจากไอร์แลนด์เป็นประเทศที่มีระบบการศึกษาที่ดีเยี่ยมอันดับต้นๆ ของโลก เพราะรัฐบาลไอร์แลนด์มุ่งมั่นในการสร้างประเทศให้เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ที่ทันสมัย ทำให้ไอร์แลนด์เป็นหนึ่งในประเทศที่มีผู้นิยมไปเรียนมากที่สุด แต่ละปีจะมีจำนวนนักเรียนประมาณ 200,000 คน จากหลากหลายประเทศทั่วโลก โดยมีหน่วยงานของรัฐบาลไอร์แลนด์รับรองคุณภาพทางการศึกษา

“สถาบันการศึกษาของเราสอนเป็นภาษาอังกฤษ ที่สำคัญไอร์แลนด์เป็นประเทศที่ปลอดภัย และค่าใช้จ่ายต่ำกว่าสหราชอาณาจักรเล็กน้อย ปัจจุบัน มีนักเรียนไทยสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยในไอร์แลนด์กว่า 100 คนแล้ว และอยู่กระจายกันทั่วประเทศไทย โดยกลุ่มศิษย์เก่า ไทย-ไอร์แลนด์ (Thai-Irish University Alumni) เริ่มมีการจัดงานพบปะสังสรรค์กันที่กรุงเทพฯ”

ประการที่สาม ในด้านคุณค่าของเรา เพราะเราเป็นตัวแทนของคนไอริชและตัวแทนระหว่างประเทศ ไอร์แลนด์ได้รับเอกราชมาตั้งแต่ช่วงปี ค.ศ.1921-1922 และเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติเมื่อ 14 ธันวาคม ค.ศ.1955 เราได้แสดงบทบาทอย่างแข็งขันในงานด้านมนุษยธรรม สถานะของสตรีและอื่นๆ เรามีโครงการเพื่อชุมชนคนยากไร้ในกรุงเทพฯ ภูเก็ต เชียงราย และหนองคาย โดยทำงานร่วมกับผู้สอนศาสนากลุ่มเล็กๆ หากแต่มีความสำคัญมาก”

“เรื่องที่กล่าวมานี้ เป็นคุณค่าที่ไอร์แลนด์ยืนหยัด และนั่นคือสิ่งที่เราเป็น โดยไอร์แลนด์ให้การส่งเสริมสนับสนุนในสังคมทุกระดับอย่างต่อเนื่อง”