เกมกับกระบวนการตัดสินใจ ใครจะเป็นผู้กุม ‘บังเหียน’/บทความพิเศษ

บทความพิเศษ

ชาคริต แก้วทันคำ

 

เกมกับกระบวนการตัดสินใจ

ใครจะเป็นผู้กุม ‘บังเหียน’

 

ในสังคมที่เต็มไปด้วยการแข่งขันสูง ทุกชีวิตต่างเข้าสู่สังเวียน กระดานหรือเวทีที่ต้องต่อสู้เพื่อความอยู่รอด ก่อนที่ชีวิตจะอยู่ในเกม ทุกคนต้องใช้การตัดสินใจในทุกสถานการณ์ ไม่ว่าจะเรื่องธุรกิจการงาน การเรียนต่อ เรื่องราวส่วนตัว เพื่อนำมาเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น และเมื่อเผชิญหน้ากับทางเลือก จึงต้องใช้การตัดสินใจมาประเมินหรือวิเคราะห์อย่างรอบคอบ จนนำไปสู่ผลลัพธ์ที่น่าพอใจ

แต่การจะเข้าสู่กระบวนการตัดสินใจในเกมหนึ่ง สถานการณ์ที่เผชิญจะต้องมีบุคคลตั้งแต่ 2 ฝ่ายขึ้นไป แต่ละฝ่ายจะมีกลยุทธ์ต่างๆ มาใช้ให้บรรลุเป้าหมายตามที่ตนต้องการ

บทความนี้จะศึกษาเรื่องสั้น “บังเหียน” ของแพรพลอย วนัช ตีพิมพ์ในรวมเรื่องสั้น “24 ชั่วโมง” มีจตุพล บุญพรัด เป็นบรรณาธิการเล่ม

ซึ่งรวมเรื่องสั้นเล่มดังกล่าวได้รับรางวัลดีเด่นจากสำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ปี 2563 รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 เซเว่นบุ๊คอวอร์ด ครั้งที่ 17 ปี 2563 และเข้ารอบสุดท้าย (short list) รางวัลซีไรต์ ปี 2563

โดยจะวิเคราะห์เกมกับกระบวนการตัดสินใจของตัวละครในเรื่อง กับอุปลักษณ์เชิงมโนทัศน์ (conceptual metaphor) ของคนและสัตว์ จากการมองสิ่งหนึ่งผ่านสิ่งหนึ่งที่มีคุณสมบัติหรือลักษณะเหมือนหรือต่างกัน ซึ่งส่งผลต่อแนวคิดเกี่ยวกับสิทธิในร่างกายของผู้หญิง

เรื่องสั้น “บังเหียน” ของแพรพลอย วนัช ใช้กลวิธีให้บทสนทนาดำเนินเรื่อง และแนะนำรายละเอียด ทั้งบุคลิก พฤติกรรมและอารมณ์ของตัวละคร ผ่าน “นุ่น” หรือสรรพนามบุรุษที่ 3 ที่ตกลงนั่งรถไปกับดนูสองต่อสอง

และเล่นเกม “ระหว่างเรา ใครจะควบคุมใคร” ภายในยี่สิบสี่ชั่วโมง

เกมกับกระบวนการตัดสินใจ

ใครจะเป็นผู้กุมบังเหียน?

นุ่นทำงานเป็นล็อบบี้ยิสต์ รู้จักดนูนักลงทุน แรกพบกันเธอยังไม่สนใจเขา แต่เมื่อเขาติดต่อ อยากทำความรู้จัก เธอจึงไม่ปฏิเสธ เมื่อนั่งกินข้าวคุยกันสองครั้งยังไม่คืบหน้า นุ่นจึงอยากเล่นเกมกับเขา ทั้งคู่มีเวลาคนละยี่สิบสี่ชั่วโมง

“เธอหัวเราะอย่างถือไพ่เหนือกว่า ยี่สิบสี่ชั่วโมงมากไปด้วยซ้ำ ไม่ต้องเดาก็รู้ว่าเกมนี้ใครคือผู้ชนะ ที่แท้เขาก็ไม่ต่างจากคนอื่น คงคิดจะล่อเธอไปทำสนุกเท่านั้น ถึงเธอจะไม่ใช่ผ้าพับไว้ แต่เธอช่างเลือกและ “แพง” ต้องผ่านมาตรฐานทุกข้อที่เธอกำหนดไว้เท่านั้น…” (น.42-43)

ข้อความข้างต้น เป็นกระแสความคิดของนุ่นที่ประเมินเขาแบบคาดเดา

แพรพลอยสร้างภาพลักษณ์ให้นุ่นเป็นผู้หญิงสมัยใหม่ มีความมั่นใจสูง เพราะ “เธอช่างเลือกและแพง”

แม้ว่านุ่นจะไปกับดนูสองต่อสอง ซึ่งเป็นการตัดสินใจภายใต้ภาวะเสี่ยง (risk) แต่ความเชื่อมั่นในตัวเองว่า “ไม่ต้องเดาก็รู้ว่าเกมนี้ใครคือผู้ชนะ” จึงกลายเป็นการตัดสินใจภายใต้ภาวะที่แน่นอน (certainty)

ถึงนุ่นจะเป็นฝ่ายเสียเปรียบ แต่เธอเดาว่าดนู “ไม่ต่างจากคนอื่น คงคิดจะล่อเธอไปทำสนุกเท่านั้น” ที่นุ่นมองตัวเองเป็นวัตถุแห่งความปรารถนาหรือวัตถุทางเพศของผู้ชาย

ซึ่งเธอตัดสินใจผิดพลาด เพราะไม่มีข้อมูลของเขาและมั่นใจในข้อสมมุติของตนมากไป เธอคิดว่าเสน่ห์ในร่างกาย จะทำให้ดนูอดไม่ได้จนแตะเนื้อต้องตัว

ดนูในฐานะนักลงทุน เมื่อร่วมเล่นเกมนี้ เขาจึงใช้กลยุทธ์รู้เขารู้เรา ดนูพานุ่นไปสถานที่หนึ่ง เขารู้ว่าเธอชอบซุปร้อนๆ และตื่นเช้ามาต้องได้ว่ายน้ำ เขาจึงเตรียมชุด harness swimsuit ไว้ให้

ทั้งๆ ที่นุ่นคิดว่าดนูมีโอกาสแตะเนื้อต้องตัวเธอหลายครั้ง แต่กลับไม่ทำ เธอจึงเปลื้องเสื้อคลุมออกเหลือแต่ชุด “นุ่งน้อย” เพื่อเร่งเร้า เพราะเธอต้องการเป็นฝ่ายควบคุมเขา

แต่เกมก็จบลง เมื่อดนูไม่ทำอะไรเธอเลย

ก่อนหน้าเขาคุยกับเธอเรื่องงาน แต่กลับรู้เรื่องส่วนตัวเธอทุกอย่าง ผ่านการโพสต์เฟซบุ๊ก เขาจึงแก้เผ็ดผู้แพ้ด้วยการให้เธอหาอะไรห่อหุ้มร่างกายแล้วเดินจากไป ซึ่งสถานที่นั้นไม่เหลืออะไร นอกจากชุดว่ายน้ำที่เธอใส่กับชามซุป

“เมื่อไหร่ก็ตามที่คุณใส่ชุดนี้ เพื่อดับกระหายอาการอยากของตัวเอง อยากให้คนสนใจหรือติดตาม คุณกำลังสวมบังเหียนอยู่โดยไม่รู้ตัว บางครั้งคนเราก็ไม่ต่างจากม้าที่ถูกบังเหียนครอบปาก ในสถานการณ์ที่ต่างออกไป” (น.48)

ข้อความข้างต้น แม้จะเหมือนบทสรุปที่ดนูต้องการสื่อให้นุ่นรู้ อีกยังบอกความหมายตามชื่อเรื่อง

แต่ในฐานะผู้เล่นเกม ดนูเป็นผู้เล่นที่ตัดสินใจต่อเหตุการณ์ที่จะส่งผลในอนาคตได้ใกล้เคียงร้อยเปอร์เซ็นต์ ภายใต้ภาวะที่แน่นอน (certainty) เพราะเขามีข้อมูลเกี่ยวกับเธอ จึงใช้ประโยชน์จากมันมากที่สุด

จากกลยุทธ์ Maximax ซึ่งธนัลภร สินพรพญา (2557 : 22) กล่าวว่า “มีลักษณะเป็นการมองโลกในแง่ดี คือแนะนำให้ผู้เล่นเลือกกลยุทธ์ที่ให้ผลตอบแทนคุ้มค่าที่สุด โดยไม่สนว่าอาจจะเกิดสิ่งไม่ดีขึ้น”

ดังนั้น เมื่อนุ่นต้องการควบคุมเขาด้วยการใช้เสน่ห์มายั่วยวนเท่าไร เธอยิ่งถูกเขาควบคุม เปรียบเทียบการใช้อำนาจผ่านบังเหียน ซึ่งตอนจบนุ่นต้องยอมรับความพ่ายแพ้ การที่เธอต้องใส่ชุดว่ายน้ำออกจากสถานที่นั้น ดนูประจานหรือลดทอนสิทธิในร่างกายของผู้หญิงหรือไม่

หากมองว่ามันเป็นเกมที่อีกฝ่ายสามารถทำได้ และนุ่นเองก็ยอมรับในกติกา ทำให้ต้องหันกลับไปมองที่ต้นเหตุว่า การถ่ายชุดชั้นในแล้วโพสต์เฟซบุ๊กที่เธออ้างเป็นเรื่องส่วนตัว แต่เปิดเผยต่อสาธารณะในโลกออนไลน์ กับการใส่ชุดว่ายน้ำเดินออกไปยังที่สาธารณะในโลกแห่งความเป็นจริง นุ่นจะทนกับสายตาจับจ้องหรือสนใจจากผู้อื่นได้หรือไม่

นับเป็นสารัตถะที่แพรพลอยต้องการสื่อมากกว่า และยังเป็นการปะทะทางความคิดของหนุ่มสาว ที่ฝ่ายหญิงมองการโพสต์ภาพกึ่งเปลือยเป็นเรื่องสิทธิ ไม่มีใครบังคับ

แต่ผลลัพธ์กลับทำให้เธอต้องอับอาย ใส่ชุดว่ายน้ำเดินออกสถานที่แห่งนั้นในตอนจบ ที่อาจมองได้ว่าฝ่ายชายกำลังสั่งสอนตามความเชื่อแบบชายเป็นใหญ่ ซึ่งเขาเองไม่อาจปฏิเสธได้ว่าละเมิดสิทธิส่วนตัว เมื่อปรินต์รูปเธอมาติดผนัง

แต่อย่าลืมว่าทั้งหมดมันคือเกม เกมที่ผู้เล่นต้องยอมรับในผลแพ้-ชนะ และมันเป็นเรื่องแต่งแฝงนัยเปรียบเทียบที่สมเหตุสมผล

 

อุปลักษณ์เชิงมโนทัศน์

: คนและสัตว์กับสิทธิในร่างกาย

เมื่อนุ่นตื่นและออกจากห้องมาพบภาพเสือโคร่งตัวเมียนั่งทอดกายราบกับพื้น “เธอรู้สึกราวกับเสือตัวนี้มิใช่เพียงภาพวาด หากมีตัวตนอยู่จริง แต่เป็นมนุษย์ซ้อนอยู่ในร่างสัตว์ เป็นผู้หญิงรุ่นราวคราวเดียวกับเธอ อยู่ในท่าเอนกายวางศอกค้ำพื้น หันศีรษะมาข้างหน้าเพื่อสบตากับผู้ยินยล…” (น.40)

แพรพลอยใช้อุปลักษณ์เชิงมโนทัศน์ (conceptual metaphor) เปรียบเสือเป็นมนุษย์ซ้อนอยู่ในร่างผู้หญิง เป็นการมองสิ่งหนึ่งผ่านอีกสิ่งหนึ่งที่มีคุณสมบัติหรือลักษณะเหมือนหรือต่างกัน ที่ทำให้นุ่นมองเห็นภาพนั้น แล้วหวนนึกถึงกิริยาของตนที่โพสต์ภาพกึ่งเปลือยลงในเฟซบุ๊ก ที่อาจแสดงถึงความไร้ชีวิต ไม่เคลื่อนไหวเหมือนกัน

“แต่ละวันไม่รู้ว่าต้องเปลือยตัวตน เปิดให้คนที่มันไม่รู้จะจักคนแล้วคนเล่า เข้ามาดูชีวิตมันยังไงบ้าง ไม่ใช่แค่เสือตัวนี้หรอก สัตว์ทุกตัวที่อยู่ในสวนสัตว์ ทุกตัวคงเบื่อแย่นะครับ” (40)

ข้อความข้างต้น เป็นบทสนทนาที่ดนูกล่าวกับนุ่นที่ยืนมองภาพวาด แต่เธอไม่สนใจคำเปรียบเปรยนั้น เพราะมองไม่เห็นอะไรที่ลึกลงไปกว่าภาพเบื้องหน้า เพราะสัตว์ไม่มีเสื้อผ้าห่มคลุมร่างกาย มันจึงต้องเปลือยตัวเองให้คนที่ไม่รู้จักดูชม อย่างไม่อาจโต้แย้งเรื่องสิทธิเสรีภาพในร่างกายได้

ต่างจากนุ่นที่โพสต์เรื่องส่วนตัวทุกอย่างลงเฟซบุ๊ก ถ่ายรูปอวดแม้กระทั่งชุดชั้นในที่สวมอยู่ แม้มันจะเป็นสิทธิของนุ่น เพราะเธออ้างว่ากระทำในพื้นที่ส่วนตัว (private) แต่กลับกันเธอกำลังเปลือยตัวตนเพื่อเรียกร้องให้คนอื่นหันมาดู เมื่อตั้งค่าสาธารณะ จึงเป็นภาพเปรียบที่ไม่ต่างจากสัตว์ที่อยู่ในกรง ให้คนที่ไม่รู้จักตนคนแล้วคนเล่าเข้ามาดูชมเช่นกัน

ทั้งนี้ นุ่นอาจมีแนวคิดว่าเรือนร่างเป็นของเธอ จึงมีสิทธิ์ที่จะทำอย่างไรก็ได้ ด้วยเหตุผล “มีให้อวดก็ต้องอวด”

การที่ดนูนำ “รูปเธอในชุดชั้นในยี่ห้อหรูสีขาวลายลูกไม้สะอ้านตา อยู่ในท่าเอนกายตะแคงศอกค้ำพื้น มือเท้าคาง บนเตียงสีขาวสะอาด มือข้างหนึ่งเสยผมยาวสยายปลายม้วนเงาสลวย เขาไล้มือไปบนดวงหน้างามได้รูป เลื่อนผ่านลำคอระหง ไล่ลงมายังทรวงอกงามอวบเต่ง ค้างไว้เช่นนั้น…” (น.46) มาติดผนัง จึงเป็นการนำรูปของคนและสัตว์มาเปรียบเทียบอย่างเห็นชัด ซึ่งเป็นการประกอบสร้างความปรารถนาผ่านสายตาที่จับจ้อง ผ่านมุมมองแบบถ้ำมอง (voyeuristic)

อย่างไรก็ตาม การโพสต์ท่าอวดเรือนร่างและชุดชั้นในยี่ห้อหรู ยังเป็นการผสมผสานระหว่างภาพแบบถ้ำมองและแบบเชิญชวน ที่เรียกได้ว่า “กึ่งถ้ำมอง” เพราะมันกระตุ้นให้เกิดจินตนาการเพ้อฝัน (fantasy) กับเพศชายทั่วไป แต่มันใช้ไม่ได้ผลกับดนู มันไม่ได้กระตุ้นความรู้สึกทางเพศของเขา

ดังนั้น การเปิดเผยเรื่องส่วนตัวทุกอย่างผ่านสิ่งที่โพสต์ในแต่ละวัน แต่ละชั่วโมง แต่ละนาที โอ้อวดกระทั่งเนื้อหนังและรสนิยมทางเพศ จึงเป็นผลเสียหรือโทษมากกว่า เพราะทำให้เกิดความไม่ปลอดภัยในข้อมูลส่วนตัว

ซึ่งมันทำให้ดนูล่วงรู้เรื่องราวในชีวิตเธอจนกลายเป็นผู้ชนะในเกมนี้

 

เรื่องสั้น “บังเหียน” ของแพรพลอย วนัช นอกจากชื่อเรื่องจะท้าทายความน่าสนใจแล้ว กลวิธีดำเนินเรื่องด้วยการใช้บทสนทนายังทำให้เรื่องราวน่าติดตาม

อีกยังเป็นการสะท้อนมุมมองเรื่องเพศให้คิดอีกชั้น ผ่านการเล่นเกมระหว่างหนุ่ม-สาว

ซึ่งนุ่นเชื่อว่าเสน่ห์ในเรือนร่างจะสามารถยั่วอารมณ์ทางเพศของดนูได้ เหมือนที่เคยทำกับทุกคนมาแล้ว

แต่เธอต้องผิดหวัง เพราะกระบวนการตัดสินใจที่ผิดพลาดจนต้องอับอายในที่สุด

เมื่ออ่านเรื่องสั้นนี้จบลง เกิดคำถามว่า แพรพลอยต้องการสื่อแนวคิดสิทธิในร่างกายของผู้หญิงอย่างไร

การที่นุ่นบอกว่าตัวเองไม่ใช่ “ผ้าพับไว้” จึงลบภาพกุลสตรีในอดีตที่ถูกบทบาททางเพศกำกับ และยังสะท้อนว่าผู้หญิงยุคใหม่ไม่จำเป็นต้องถูกกดทับหรือปิดกั้นเรื่องเพศ เธอสามารถไปไหนสองต่อสองกับผู้ชาย และยังเป็นฝ่ายรุกได้ แม้ว่าจะอาศัยภาพลักษณ์เดิมด้านเพศสรีระ “มีให้อวดก็ต้องอวด” ซึ่งตอกย้ำว่าผู้หญิงไม่ต่างจากวัตถุแห่งความปรารถนาหรือวัตถุทางเพศก็ตาม

แพรพลอยจึงเขียนเรื่องสั้นนี้ภายใต้อุดมการณ์ชายเป็นใหญ่ (patriarchy ideology) ไม่ว่าจะกำหนดให้ดนูเป็นนักลงทุน เป็นผู้ชนะในเกม เป็นผู้ควบคุม มีอำนาจสั่งการ ใช้เหตุผลมากกว่าอารมณ์ในการตัดสินใจ ที่แสดงถึงสถานภาพของผู้ชายในสังคมชายเป็นใหญ่

เพียงแต่รายละเอียดเรื่องเพศวิถี (sexuality) ของดนู เขาไม่ปรารถนาหรือมีอารมณ์ทางเพศกับผู้หญิงที่ชอบเปิดเผยตัวตนในพื้นที่สาธารณะ (public)

หรือลึกๆ แล้ว เขาอาจชอบผู้หญิงแบบ “ผ้าพับไว้” นั่นเอง

แต่การกระทำทั้งหมดของดนู ที่แพรพลอยต้องการนำเสนอในเรื่องสั้นนี้ จึงไม่ใช่แนวคิดเกี่ยวกับสิทธิในร่างกายของนุ่นที่มองแค่ด้านเดียว

ผู้วิจารณ์กลับมองว่าแพรพลอยต้องการสะท้อนความคิดของผู้ชายที่พยายามบอกนุ่นและผู้หญิงว่าควรหันมาสำรวจ ให้คุณค่าและรักษาความเป็นส่วนตัว (privacy) รวมทั้งสิทธิและทัศนคติในร่างกายของตนเอง

บรรณานุกรม

ธนัลภร สินพรพญา. (2557). กระบวนการตัดสินใจในทฤษฎีเกมและพระพุทธศาสนา. สารนิพนธ์ปริญญาพุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาพระพุทธศาสนา มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.

แพรพลอย วนัช (นามแฝง). (2562). “บังเหียน”. ใน 24 ชั่วโมง. ปทุมธานี : นาคร, 39-49.