แซ็งเต็กซูเปรีรำลึก (2)/บทความพิเศษ วัลยา วิวัฒน์ศร

Created with GIMP

บทความพิเศษ

วัลยา วิวัฒน์ศร

 

แซ็งเต็กซูเปรีรำลึก (2)

 

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ในปี ค.ศ.1939 แซ็งเต็กซ์เข้าร่วมในกองทัพอากาศในฐานะนักบินลาดตระเวนในกลุ่ม II/33

หลังจากถูกปลดประจำการในเดือนมิถุนายน ค.ศ.1940 และมีการเซ็นสัญญาสงบศึกระหว่างรัฐบาลฝรั่งเศสกับรัฐบาลเยอรมนี เขาเดินทางไปนครนิวยอร์กเพื่อโน้มน้าวให้รัฐบาลสหรัฐอเมริกาเข้าร่วมสงครามกับฝ่ายพันธมิตร

รัฐบาลฝรั่งเศสโดยนายกรัฐมนตรีเปแต็งภายใต้การยึดครองของเยอรมนี ได้แต่งตั้งให้เขาเป็นที่ปรึกษาของรัฐบาล

แต่แซ็งเต็กซ์ปฏิเสธโดยที่เขาก็มิได้เข้าร่วมกับนายพลเดอโกลล์ซึ่งดำเนินการต่อต้านรัฐบาลเยอรมนีอยู่แต่อย่างใด

เดิมรัฐบาลสหรัฐอเมริกาสงวนท่าทีที่จะเข้าร่วมสงครามเต็มกำลังและแสดงออกในเชิงดูหมิ่นประเทศฝรั่งเศสที่แพ้สงคราม

แต่เมื่อนวนิยายเรื่อง นักบินยามสงคราม (Pilote de guerre) ซึ่งเขียนในปี ค.ศ.1941 พูดถึงการสู้รบในช่วงเวลาหกเดือนที่นำประเทศฝรั่งเศสไปสู่ความพ่ายแพ้ และตีพิมพ์ที่นิวยอร์กปี ค.ศ.1942 ในพากย์ภาษาอังกฤษชื่อ Flight to Arras

ชาวอเมริกันได้ตระหนักถึงความแตกต่างระหว่างจำนวนและประเภทของอาวุธยุทโธปกรณ์ ตลอดจนจำนวนกำลังพล จึงได้เข้าใจชาวฝรั่งเศสมากขึ้น

แซ็งเต็กซ์เขียนไว้ตอนหนึ่งว่า

“อย่าตัดสินประเทศฝรั่งเศสจากการที่ถูกบดขยี้ จงตัดสินประเทศฝรั่งเศสจากการที่ชาวฝรั่งเศสยินยอมสละชีวิต ประเทศฝรั่งเศสยินดีทำสงครามทั้งๆ ที่ขัดกับเหตุผลของพวกนักตรรกะ พวกเขาบอกว่า เยอรมนีมีประชากร 80 ล้านคน ในเวลาเพียงหนึ่งปี เราชาวฝรั่งเศสย่อมไม่อาจเพิ่มประชากรที่ขาดไปจำนวน 40 ล้านได้ เราไม่อาจเปลี่ยนทุ่งข้าวสาลีของเราให้เป็นเหมืองถ่านได้ (…) เราจะต้องขายหน้าเพราะผืนดินของเราให้ข้าวสาลีมากกว่าที่จะให้เครื่องจักรกระนั้นหรือ หรือเพราะเรามีประชากรน้อยกว่าหนึ่งเท่า เหตุใดจึงเป็นเราที่ต้องอับอายขายหน้า เหตุใดจึงมิใช่โลกนี้ทั้งโลก”

และอีกตอนหนึ่งว่า

“ข้าพเจ้าได้เรียนรู้ความจริงแท้ประการหนึ่ง การทำสงครามไม่ใช่การยอมรับว่าจะต้องเสี่ยงชีวิต การทำสงครามไม่ใช่การยอมรับว่าจะต้องมีการต่อสู้ แต่คือการยอมรับว่าจะต้องตาย ต้องตายเท่านั้นต่างหาก”

เขายังตัดพ้อรัฐบาลสหรัฐอเมริกาอีกว่า

“เหตุใดเราจึงต่อสู้ สู้เพื่อประชาธิปไตยหรือ หากเราตายเพื่อประชาธิปไตย ก็หมายความว่าเราเป็นฝ่ายเดียวกับนานาประเทศที่เชิดชูประชาธิปไตย ประเทศเหล่านั้นจงมาร่วมรบกับเราสิ! แต่ประเทศที่ทรงอำนาจที่สุด ประเทศเดียวซึ่งอาจช่วยเราได้ยังสงวนท่าทีเมื่อวานนี้ และวันนี้ก็ยังสงวนท่าทีอยู่ ช่างเถิด ก็เป็นสิทธิ์ของประเทศนั้นนี่นะ”

อาจกล่าวได้ว่า นวนิยายเรื่องนี้แสดงอำนาจแห่งวรรณกรรม (ตามคำของคุณสุชาติ สวัสดิ์ศรี) โดยแท้ เพราะรัฐบาลสหรัฐอเมริกาได้ตัดสินใจเข้าร่วมสงครามกับฝ่ายพันธมิตรเต็มตัว การยกพลขึ้นบกที่หาดนอร์ม็องดีเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน ค.ศ.1944 เป็นจุดเริ่มต้นของความพ่ายแพ้ของฝ่ายอักษะ

อย่างไรก็ตาม ที่สหรัฐอเมริกา แซ็งเต็กซ์รู้สึกโดดเดี่ยวเพราะเขาไม่ฝักใฝ่กับชาวฝรั่งเศสที่นั่นซึ่งนิยมเดอโกลล์ เพราะเขาไม่พูดภาษาอังกฤษ (แม้จะมีเพื่อนชาวอเมริกันที่รู้ภาษาฝรั่งเศส) ปิตุภูมิที่เขารักก็ตกเป็นเชลย เขาปลอบใจตนด้วยการหวนกลับไปพึ่งพิงวัยเด็กอันแสนสุขแสนอบอุ่นของเขา

นิทานเชิงปรัชญาเรื่อง เจ้าชายน้อย (Le Petit Prince) จึงถือกำเนิดขึ้น

 

แซ็งเต็กซ์เขียน เจ้าชายน้อย เสร็จเมื่อเดือนตุลาคม ค.ศ.1942 ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อวันที่ 6 มีนาคม ค.ศ.1943 โดยสำนักพิมพ์ Reynal & Hitchcock ที่นิวยอร์ก เป็นฉบับภาษาฝรั่งเศสและฉบับภาษาอังกฤษพร้อมกัน ตีพิมพ์ในประเทศฝรั่งเศสครั้งแรกโดยสำนักพิมพ์ Gallimard เมื่อปี ค.ศ.1946 หลังการสูญหายของผู้ประพันธ์

ความโดดเดี่ยวในสหรัฐอเมริกามิต่างจากประสบการณ์ของเขาในทะเลทรายในช่วงที่เรือบินขัดข้องและตกลงในทะเลทรายซาฮาร่าที่ประเทศลิเบีย เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม ค.ศ.1935 ช่างเครื่องกับเขาเดินในทะเลทราย 4 วัน 4 คืน จนได้พบกองคาราวานเผ่าเบดูอินเมื่อวันที่ 1 มกราคม ค.ศ.1936 ซึ่งได้พาทั้งสองไปถึงเมืองอเล็กซานเดรียในประเทศอียิปต์

ทะเลทรายสร้างภาพลวงตา เจ้าชายน้อยจึงปรากฏตัว เขาเป็นเด็กที่เอาจริงเอาจัง ทว่าเศร้าสร้อยเหมือนจิตใจผู้แต่ง

โดยปกติผู้ใหญ่เขียนนิทานว่าด้วยเรื่องของผู้ใหญ่ให้เด็กอ่าน เด็กอยากรู้จักโลกของผู้ใหญ่แต่เด็กใช้จินตนาการมากกว่าเหตุผล ผู้ใหญ่จึงสร้างเรื่องที่มีราชา ราชินี เจ้าชาย เจ้าหญิง ยักษ์ ภูตผีปีศาจ นำเสนอความดี ความชั่ว มิตรภาพ ความรักอย่างชัดเจนเพื่อให้เด็กเข้าใจง่าย

ทว่าเรื่อง เจ้าชายน้อย เป็นเรื่องของเด็กที่เขียนให้ผู้ใหญ่อ่าน เขียนเพื่อผู้ใหญ่ที่ลืมว่าตนเคยเป็นเด็กมาก่อน ลืมวัยเด็กของตนอันเป็นวัยแห่งความสุขและวัยแห่งจินตนาการ

ข้อความที่ยกมาจากเรื่อง เจ้าชายน้อย ต่อไปนี้ ตัดตอนมาจากฉบับแปลของ แพรณัฐ

 

แซ็งเต็กซ์ไม่ได้ขึ้นต้นนิทานด้วยประโยคเปิดเรื่องตามขนบที่ว่า “กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ยังมี…” แต่ขึ้นต้นว่า “ตอนที่ฉันอายุหกขวบ” ฉัน – นักบินผู้เล่าเรื่องย้อนอดีตกลับไปในวัยเด็กของตน วัยซึ่งเปิดรับความใฝ่ฝัน จินตนาการ และการค้นหาพรสวรรค์พิเศษ แต่นักบินผู้เล่าเรื่องก็ถูกผู้ใหญ่นำทางให้เข้าสู่โลกแห่งวัตถุนิยมโดยเร็ว

เมื่อเครื่องบินเกิดขัดข้อง นักบินต้องร่อนลงกลางทะเลทรายซาฮาร่า และจะต้องซ่อมเครื่องให้เสร็จใน 8 วันตามปริมาณน้ำดื่มที่เหลืออยู่

“คืนแรก ฉันนอนหลับบนพื้นทรายอันห่างไกลจากผู้คนนับพันไมล์ รู้สึกเดียวดายราวกับถูกลอยแพอยู่กลางมหาสมุทรหลังเรืออับปาง” (บทที่ 2)

ความรู้สึกโดดเดี่ยวเดียวดายนี้เปิดโอกาสให้นักบินได้ค้นหาตนเอง ได้ขบคิดเกี่ยวกับความเป็นไปในชีวิตมนุษย์พร้อมๆ กับซ่อมเครื่องยนต์ที่ขัดข้อง วัยเด็กที่นักบินได้สูญเสียไปจึงกลับมาอีกครั้งอย่างมีตัวตนในรูปของเจ้าชายน้อยซึ่งปรากฏกายเหมือนดั่งภาพลวงตา

เจ้าชายน้อย “ไม่มีท่าทีเหมือนกำลังหลงทาง เหนื่อย หิว กระหายน้ำ หรือแม้แต่หวาดกลัว ไม่เหมือนเด็กน้อยที่หลงทางอยู่กลางทะเลทรายอันไกลโพ้นจากดินแดนซึ่งมีผู้คนอาศัยอยู่เป็นพันไมล์เลย” (บทที่ 2)

ด้วยเหตุที่เจ้าชายน้อยเป็นตัวแทนของนักบินในวัยเด็ก เขาจึงเข้าใจ “ภาพงูเหลือมที่เห็นจากด้านนอก” ทันทีที่นักบินวาดให้ดู ภาพนี้เป็นภาพที่พวกผู้ใหญ่ไม่เคยเข้าใจมาแต่ไหนแต่ไร โดยเห็นเป็นเพียงภาพหมวกใบหนึ่งเท่านั้น เนื่องจากเจ้าชายน้อยเป็นมากกว่าตัวแทนวัยเด็กของนักบิน เขาเป็นสัญลักษณ์แห่งความบริสุทธิ์ของเด็กทั้งสากลโลก เจ้าชายน้อยจึง ‘เห็น’ ได้มากกว่า ไกลกว่าที่นักบินเคยเห็นในวัยเด็ก

ภาพกล่องสี่เหลี่ยมจึงเป็นคอกแกะตามที่ปรารถนา แกะในคอกจึงมีวัยและรูปลักษณ์อย่างที่ผู้เห็นต้องการเห็น กระทำกิริยาต่างๆ ได้ “ดูสิครับ! มันหลับไปแล้ว”

เจ้าชายน้อยนั้นเห็นด้วยหัวใจมาแต่แรก หากแต่เขายังมิได้ตระหนัก หมาจิ้งจอกจะเป็นผู้ชี้แนะพรสวรรค์พิเศษนี้แก่เขา

“เรามองเห็นแจ่มแจ้งด้วยหัวใจเท่านั้น สิ่งสำคัญไม่อาจเห็นได้ด้วยดวงตา” (บทที่ 21)

ก่อนมาพบนักบิน เจ้าชายน้อยได้เดินทางไปถึงหมู่บ้านแห่งหนึ่ง เขาได้เห็นดอกกุหลาบบานเต็มสวน และรู้สึกเหมือนถูกทรยศจากดอกไม้ของเขา ซึ่งเคยโอ้อวดกับเขาว่าเธอเป็นหนึ่งเดียวในจักรวาล แต่หมาจิ้งจอกได้สอนให้เขารู้จักการสร้างความผูกพันเพื่อจะได้มีเพื่อน และเพื่อนนั้นย่อมไม่เหมือนกับผู้อื่นโดยทั่วไป ดอกกุหลาบของเจ้าชายน้อยไม่เหมือนกับดอกกุหลาบอื่น เพราะเธอกับเจ้าชายน้อยได้สร้างความผูกพันกันแล้ว เธอจึงเป็นดอกกุหลาบดอกเดียวสำหรับเขา

สำหรับหมาจิ้งจอก ทุ่งข้าวสาลีซึ่งไม่เคยมีความหมายต่อมันก็จะเปลี่ยนไป ด้วยสีทองของรวงข้าวสาลีเป็นสีเดียวกับเรือนผมของเจ้าชายน้อย

ใน นักบินยามสงคราม ทุ่งข้าวสาลีอันอุดมสมบูรณ์ของฝรั่งเศสไม่อาจช่วยประเทศให้รอดพ้นจากการบดขยี้ของเยอรมนี แต่ภาพทุ่งข้าวสาลีคงเป็นภาพจำและความภูมิใจของแซ็งเต็กซูเปรีในฐานะคนฝรั่งเศส

นักบินไม่ได้ไปไกลจากเครื่องบินเพราะเขาจะต้องซ่อมเครื่องยนต์ให้เสร็จใน 8 วัน ก่อนที่น้ำดื่มจะหมด เจ้าชายน้อยเป็นฝ่ายมาหา เพราะตำแหน่งที่เรือบินตกนี้ใกล้กับตำแหน่งที่เขาลงมายังพื้นโลก และในการกลับไปยังดาวของเขา เขาจะต้องออกเดินทาง ณ ตำแหน่งเดิม ในวันที่แปด น้ำดื่มหมดแต่นักบินยังซ่อมเครื่องไม่เสร็จ เจ้าชายน้อยจึงชวนเขาออกเดินหาแหล่งน้ำ เจ้าชายน้อยกล่าวว่า

“สิ่งที่ทำให้ทะเลทรายงดงามก็คือการที่มันซ่อนบ่อน้ำไว้ตรงไหนสักแห่ง…” (บทที่ 24)

นักบินและเจ้าชายน้อยเดิน 1 วัน 1 คืน จึงได้พบบ่อน้ำ มีลักษณะเหมือนบ่อน้ำตามหมู่บ้าน มีลูกรอก ถังน้ำ และเชือก แน่ล่ะ บ่อน้ำนี้เป็นบ่อน้ำในฝัน เพราะบริเวณนั้นไม่มีหมู่บ้าน แซ็งเต็กซ์สร้างบ่อน้ำนี้ขึ้นเพื่อสื่อสารสำคัญสารหนึ่งของเรื่อง

เจ้าชายน้อยผู้ไม่เคยหิวหรือกระหายขอดื่มน้ำจากบ่อ

“ฉันยกถังน้ำขึ้นมาจรดปากเขา เขาดื่มพร้อมกับหลับตาพริ้ม มันหอมหวานราวกับอยู่ในงานเฉลิมฉลอง น้ำนี้เป็นมากกว่าอาหาร เพราะเกิดขึ้นจากการเดินทางใต้แสงดาว จากเสียงเพลงของลูกรอก และจากกำลังแขนทั้งสองของฉัน น้ำนี้จึงมีประโยชน์ต่อหัวใจอย่างแท้จริง เปรียบประดุจของขวัญเลยทีเดียว เมื่อตอนที่ฉันยังเป็นเด็กตัวเล็กๆ แสงไฟจากต้นคริสต์มาส เสียงดนตรีในพิธีมิสซาตอนเที่ยงคืน และรอยยิ้มอ่อนโยนทั้งหลาย ทำให้ของขวัญวันคริสต์มาสที่ฉันได้รับเปล่งประกายมลังเมลืองขึ้นมาทันที

“‘ผู้คนบนดาวโลกของคุณปลูกกุหลาบตั้งห้าพันดอกในสวนเดียวกัน’ เจ้าชายกล่าว ‘แล้วพวกเขาก็ยังไม่พบสิ่งที่ตัวเองค้นหาสักที…’

“‘พวกเขาหาไม่พบหรอก…’ ฉันบอก

“‘ทั้งที่สิ่งซึ่งพวกเขาตามหานั้นอาจพบได้ในดอกกุหลาบแค่ดอกเดียว หรือน้ำเพียงแค่อึกเดียว…’

“‘ใช่’ ฉันตอบ

“เจ้าชายน้อยจึงกล่าวเสริม

“‘แต่ดวงตานั้นมืดบอดนะครับ พวกเขาต้องใช้หัวใจค้นหาต่างหาก'” (บทที่ 25)

 

สําหรับเจ้าชายน้อยและนักบิน น้ำมิได้เป็นเพียงสิ่งซึ่งจะหล่อเลี้ยงชีวิต หากเป็นอาหารทิพย์หล่อเลี้ยงหัวใจ เพราะน้ำนั้นได้มาจากความอุตสาหะและความรักที่มีต่อสรรพสิ่งในโลกนี้

เมื่อนักบินซ่อมเครื่องยนต์ได้สำเร็จ เขารอดตาย

“จนถึงบัดนี้ เวลาได้ผ่านมาหกปีแล้ว…ฉันไม่เคยเล่าเรื่องนี้ให้ใครฟังมาก่อน เพื่อนๆ ของฉันล้วนยินดีที่ฉันรอดชีวิตกลับมา ฉันเศร้าแต่ฉันก็บอกพวกเขาไปว่า ‘เป็นเพราะฉันเหนื่อย…’

“ตอนนี้ฉันปลอบตัวเองให้คลายเศร้าลงได้บ้าง นั่นหมายความว่า…ยังไม่หายสนิท” (บทที่ 27)

นักบินเศร้าเพราะเจ้าชายน้อยจากไป เพราะความฝันในวัยเด็กของเขาในลักษณะรูปธรรมได้จากไปอีกครั้งหนึ่ง แน่ละ สิ่งที่เหลืออยู่คือดวงดาวห้าร้อยล้านดวงที่หัวเราะกับเขาเมื่อเขาเห็นภาพดอกไม้ของเจ้าชายน้อยยังอยู่ดีปลอดภัย หรือร่ำไห้เมื่อเขาหวั่นเกรงไปว่าแกะอาจย่องมากินดอกไม้ในตอนกลางคืน นี่เป็นเรื่องของความรักที่เขาเห็นด้วยหัวใจ

เจ้าชายน้อยจากไป เจ้าชายน้อยต้องตาย ความบริสุทธิ์ในวัยเด็กจะอยู่ได้อย่างไรเล่าเมื่อเด็กนั้นกลายเป็นผู้ใหญ่ ความรับผิดชอบ หน้าที่ อุดมการณ์ สิ่งเหล่านี้ไม่สามารถเดินทางร่วมกับความพิสุทธิ์ได้ตลอดเวลา ความตายของเจ้าชายน้อยเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ เหมือนกับความตายของวัยเด็กในมนุษย์ทุกผู้ทุกนาม

วณิพกผู้เล่านิทานรักระหว่างทริสต็องกับอิเซอต์ในยุโรปสมัยกลางก็ตระหนักแน่ว่าทริสต็องกับอิเซอต์จะต้องตาย ความรักเมื่อแรกพบในวัยแรกรักจะคงสภาวะอันพิสุทธิ์นั้นจนกระทั่งคู่รักชราได้อย่างไร

โรเมโอและจูเลียตของเช็กสเปียร์ก็ต้องตายเพื่อให้ความรักเป็นอมตะ อ็องติกอนและเอมงชองฌ็อง อานุยห์ ก็ต้องตายด้วยเหตุผลเดียวกัน

รวมทั้งไอ้ขวัญกับอีเรียมที่ตายร่วมกันในคลองแสนแสบ เจ้าชายน้อยที่ปราศจากอายุ ที่มีวัยเด็กเป็นอมตะ มีความรักในดอกกุหลาบของเขาเป็นนิรันดร์ แต่ไม่ใช่บนโลกนี้