สปสช. หน่วยงานสำคัญ สำหรับแก้ปัญหา ‘เฉพาะหน้า’ ‘แบก’ ระบบสุขภาพ ให้พอไปต่อได้/รายงานพิเศษ

A healthcare workers prepares the Rapid antigen test (RAT) kits for Covid-19 coronavirus at a school in Kuwait City on June 6, 2021. (Photo by YASSER AL-ZAYYAT / AFP)

รายงานพิเศษ

 

สปสช. หน่วยงานสำคัญ

สำหรับแก้ปัญหา ‘เฉพาะหน้า’

‘แบก’ ระบบสุขภาพ ให้พอไปต่อได้

 

ตลอดวิกฤตโควิด-19 ที่ผ่านมา นับตั้งแต่ต้นปี 2563 นอกจากหน่วยงานหลักคือ โรงพยาบาลทุกสังกัดและบุคลากรการแพทย์และสาธารณสุขที่ทำงานหนัก ปฏิบัติงานด่านหน้า แบกภาระจนหลังแอ่น และเสี่ยงชีวิตท่ามกลางวิกฤตโควิดที่ฝ่ายนโยบายแทบไม่เคยจัดระบบให้บุคลากรด่านหน้าทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้น สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ดูจะเป็นหน่วยสนับสนุนที่ทำหน้าที่ได้อย่างขยันขันแข็งที่สุด

เพราะโดยหลักการ หน่วยงานอย่าง สปสช. คือหน่วยงานที่ “แบก” ระบบสุขภาพ ด้วยกลไกการเงินได้มากที่สุด เงินทุกบาททุกสตางค์จากกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ต้องลงไปที่หน่วยบริการ และต้องใช้สำหรับรักษาคนไข้ ขณะเดียวกัน การใช้เงินจากกองทุน ก็มีความ “ยืดหยุ่น” เพราะฉะนั้น ในห้วงเวลาวิกฤต การดึงเงินจากกองทุน สปสช. จึงทำได้เร็ว ทำได้ไว และทำได้มากกว่าหน่วยงานอื่น

ด้วยเหตุนี้ ตั้งแต่ต้นทาง รัฐบาลไทยก็ประกาศทันทีว่าพร้อมรักษาโรคนี้ “ฟรี” ให้กับคนไทยทุกคน โดยให้ สปสช.ทำหน้าที่เป็นตัวกลาง เคลียร์ค่าใช้จ่ายทั้งระบบ ตั้งแต่การรักษา ไปจนถึงค่ายา ซึ่งหากใช้หน่วยงานในระบบสาธารณสุขปกติ ก็คงไม่สามารถ “เซ็ตตัว” ได้รวดเร็วขนาดนี้

ขณะที่ช่วงการระบาดระลอกแรก ที่มีผู้วิพากษ์วิจารณ์ว่าเพราะ “ตรวจน้อย” จึงเจอน้อย ระบบสาธารณสุขก็ได้ สปสช.เป็นตัวกลาง ตั้งงบประมาณอุดหนุนค่าใช้จ่ายในการตรวจเชื้อแบบ RT-PCR สำหรับผู้เข้าเกณฑ์ รายละ 3,000 บาท โดยจะจ่ายให้ทั้งหน่วยงานรัฐและเอกชน ผู้รับการตรวจจึงไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ จนกลายเป็นตัวช่วย หยุดการระบาดระลอกแรกได้

แต่ปีนี้ ระบบที่คิดว่าเตรียมไว้เป็นอย่างดีตั้งแต่ปีก่อนเกิดตึงมือทันที ด้วยสาเหตุสำคัญ 4 เรื่อง ไม่ว่าจะเป็น 1. การฉีดวัคซีนช้าและไม่พอ ไม่ว่าจะเป็น 2. เชื้อไวรัสกลายพันธุ์ สายพันธุ์เดลต้า ไม่ว่าจะเป็น 3. การไม่มีมีระบบรองรับที่ดีพอ สำหรับการนำคนไข้เข้าสู่ขั้นตอนการรักษา โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ไม่มีเจ้าภาพหลักอย่างกรุงเทพมหานคร หรือ 4. เรื่องของ “คอขวด” ในระบบคัดกรองผู้ป่วย

สองเรื่องแรกนั้น มี “เจ้าภาพ” อยู่แล้ว แต่ 2 เรื่องหลังนั้น จำเป็นต้องมีตัวช่วยเพิ่ม เรื่องของระบบเตียงนั้น สปสช.อาจไม่มีเป็นของตัวเอง แต่ระบบคอลเซ็นเตอร์ ของ สปสช. หมายเลข 1330 นั้น ขึ้นชื่อว่าเป็นระบบที่ดีที่สุดระบบหนึ่งของประเทศ ทั้งยังมีระบบติดตามกลับ มีระบบประเมินผลหลังจากให้บริการ

แม้ด้วยเหตุนี้ เมื่อ สปสช.อาสามาช่วยหาเตียงด้วยการใช้สายด่วน 1330 รับเรื่องจากผู้ป่วย ในขณะที่มีสายด่วนหาเตียงของกรมการแพทย์ 1668 อยู่แล้ว แต่ทำไปทำมา 1330 กลับกลายเป็นระบบหลักทันที หลังจากเกิดวิกฤตโควิดหนักหน่วง ในช่วงแรก 1330 ของ สปสช. รับสายผู้ป่วยได้มากถึงวันละ 4,000 ราย และเมื่อเทียบกับคู่สายอื่นๆ ของรัฐ คอลเซ็นเตอร์ของ สปสช.ก็ทำได้ดีที่สุด ทั้งยังมีระบบการติดตาม-ประเมินผลให้กับผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง

แต่ระบบที่ว่าดีแล้ว สุดท้ายก็ไปมีปัญหาสำคัญ คือ ‘เตียง’ ที่มีจำกัด แม้สุดท้ายคอลเซ็นเตอร์จะดีเพียงใด ก็ไม่อาจพาผู้ป่วยเข้าสู่ระบบได้ จนเมื่อกระทรวงสาธารณสุขปรับแนวทางให้รักษาที่บ้าน Home Isolation ได้ สปสช.ก็อาสาทำงานจัดระบบให้ผู้ป่วยโควิดที่ตกค้างยังไม่ได้เข้าสู่ระบบการรักษาได้จับคู่ดูแลกับโรงพยาบาล คลินิกชุมชนอบอุ่น แต่นี่เป็นการทำงานที่อยู่บนฐานของการที่รัฐบาลโดย ศบค.ไม่เคยเตรียมความพร้อมเรื่องนี้ไว้ ทุกอย่างเกิดได้เพราะแต่ละหน่วยงานรัฐพยายามจะแก้ปัญหาตามแต่อำนาจของหน่วยงานจะทำได้

กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เมื่อเห็นว่าระบบไปไม่ไหวแน่นอน จากที่เคยปฏิเสธ Home Isolation ก็ปรับวิธีเป็น Home Isolation สปสช.จากที่เคยมีสายด่วน 1330 รับเรื่องร้องเรียน ร้องทุกข์ แก้ปัญหาบัตรทอง ช่วงระบาดรอบแรกๆ ก็ปรับมาเป็นสายด่วนช่วยหาเตียงให้กับคนทุกสิทธิการรักษา จนเมื่อมีผู้ป่วยรอเตียงหลายหมื่นคนอยู่ในระบบ ก็ปรับมาเป็นหาคลินิก หาโรงพยาบาลในระบบมาจับคู่ดูแลแบบ Home Isolation ปรับเกณฑ์การเบิกจ่าย แก้ปัญหาเฉพาะหน้า ชนิดที่ว่าทำไปแก้ปัญหาไป

ทำไปทำมา สปสช.กลับกลายมาเป็นกลไกหลักดูแลเรื่องนี้ ทั้งที่นี่ไม่ใช่บทบาทหลักของ สปสช. ซึ่งทั้งหมดนี้ ศบค.ไม่ได้สั่งการและทำอะไร

แต่แน่นอนว่า ระบบที่เพิ่งเกิด และทำไปแก้ปัญหาไปนี้ ย่อมต้องมีข้อผิดพลาด และนั่นทำให้ 1330 กลายเป็นหนึ่งในตำบลกระสุนตก และเป็นเหยื่อของระบบรัฐราชการ ที่ทำให้มีผู้ป่วยจำนวนไม่น้อย ที่ยังคงป่วยหนัก ตกค้างและเสียชีวิตในบ้าน เพราะการช่วยเหลือจากระบบไปไม่ถึง ทั้งที่เอาเข้าจริง สปสช.ไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องนี้โดยตรงเลยตั้งแต่แรก… แต่เมื่อโดดมารับ ก็ต้องรับไปทั้งเสียงชมและเสียงด่า

อีกส่วนหนึ่ง คือเรื่องของเตียงโรงพยาบาลเอกชน เมื่อปีที่แล้ว สภาพผู้ป่วยไม่ได้หนักหนา แต่ในปีนี้ มีหลายที่ที่ค่ารักษาเกิด “หลุด” ปรากฏภาพของบิลค่ารักษาโรงพยาบาลเอกชน บางแห่งหลายแสนบาท บางแห่งหลักล้านบาท ก็กลายเป็น สปสช.ที่ต้องไปตามเคลียร์ทุกที่ที่เป็นข่าวออกมา

ลองนึกดูก็ได้ว่า หากเป็นกระทรวงสาธารณสุขทำหน้าที่นี้ จะใช้กลไกใดในการจัดการ และเรื่องจะล่าช้าเพียงใด กว่าจะจัดการสำเร็จ…

ไม่เพียงเท่านั้น เมื่อเตียงโรงพยาบาลหลัก-โรงพยาบาลสนาม ในกรุงเทพฯ ไม่พอ ก็กลายเป็นหน้าที่ของ สปสช.อีกในการประสานหา Hospitel และจัดการค่าใช้จ่ายให้กับ Hospitel ซึ่งอย่างที่รู้กัน รอบนี้ มีส่วนช่วยได้มากในการทำให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงระบบได้ ในยามที่หน่วยบริการของรัฐพังพาบทั้งหมด ซึ่งเมื่อกระทรวงสาธารณสุข หรือหน่วยงานอื่นๆ ตั้งตัวได้ สปสช.ก็ถอย แล้วหางานอย่างอื่นทำต่อ

แต่แน่นอน เมื่อถึงจุดหนึ่ง ก็ไม่มีทางไปต่อ ปัญหาของเรื่อง “การรักษา” นั้น ยังมีจิ๊กซอว์สำคัญที่ยังแก้ไม่ตก คือคอขวดในเรื่องของ “การตรวจ”

 

อันที่จริง หากมองสิ่งที่เกิดขึ้นทั่วโลก สิ่งที่ควรเร่งทำตั้งแต่ยังไม่ระบาดหนักก็คือการเร่งนำชุดตรวจ Antigen Test Kits (ATK) เข้ามาใช้ ให้ผู้ที่สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย มีความสุ่มเสี่ยงว่าจะป่วย หรือใช้ตรวจในยามจำเป็น ให้สามารถตรวจได้เองที่บ้าน ปฏิเสธไม่ได้ว่า ATK ได้กลายเป็นเครื่องมือสามัญประจำบ้าน ทั้งหาง่าย ทั้งมีราคาถูก

เพราะถึงจุดหนึ่ง RT-PCR ก็มีข้อจำกัด ไม่ว่าจะด้วยเจ้าหน้าที่ตรวจ เจ้าหน้าที่แล็บ น้ำยาตรวจ หรือจุดตรวจ ที่ถึงอย่างไร ก็ไม่สามารถตรวจได้เกินวันละ 5 หมื่น – 6 หมื่นเทสต์ได้ ซ้ำยังต้องรอผลตรวจอีกอย่างน้อย 1-2 วัน ซึ่งไม่เพียงพอแน่ๆ กับการระบาดวันละหลายหมื่นคน

แต่ปัญหาก็คือกระทรวงสาธารณสุขไทยนั้น “ตั้งแง่” มองแต่เพียงว่าประชาชนจะตรวจเองลำบาก และกังวลในเรื่องของคุณภาพการตรวจ กระทั่งถูกกดดันหนักเข้าจากหลายฝ่าย ในที่สุด ก็ต้องอนุญาตให้มีการใช้ ATK แต่ก็สายไป เพราะกว่าจะเอาเข้ามา ก็มีผู้ป่วยในหลัก 2 หมื่นรายต่อวันแล้ว

อย่างไรก็ตาม ก็มีปัญหาใหม่เข้ามาอีกคือถึงแม้จะมี ATK ให้ใช้ แต่หลายคนก็ยังไม่สามารถเข้าถึงได้อยู่ดี โดยเฉพาะด้วยสนนราคาที่ชิ้นละกว่า 300-400 บาท

เมื่อ สปสช.เห็นปัญหานี้ จากการบอกเล่าของเครือข่ายภาคประชาชนที่สร้างไว้ก่อนหน้า จึงได้ดึงเอา “ชมรมแพทย์ชนบท” มาเป็นตัวช่วย ตั้งทีมลงพื้นที่ชุมชนต่างๆ นำ ATK ลงไปตรวจเชิงรุก แยกผู้ป่วยออกจากชุมชน เป็นการแก้ไขเฉพาะหน้า ในห้วงเวลาวิกฤต ซึ่งก็ทำให้สถานการณ์ในหลายชุมชนทุเลาลง

 

แต่ใครจะรู้ว่าพลันที่ชมรมแพทย์ชนบทเรียกร้องไปยังคณะกรรมการ สปสช. เพื่อให้จัดหา ATK คุณภาพ จนกันเงินไว้ซื้อ ATK กว่า 8.5 ล้านชุด เพื่อแจกให้ประชาชนได้ใช้ตรวจเองได้บ้างในสถานการณ์หน้าสิ่วหน้าขวาน จะกลายเป็นปัญหาใหญ่ตามมา…

ในขณะที่วัคซีน สามารถซื้อยี่ห้อไหนก็ได้ ซื้อเท่าไรก็ได้ ไม่มีปัญหา แต่ ATK กลับกลายเป็นปัญหาใหญ่ เมื่อ สปสช.ไม่สามารถจัดซื้อได้เอง ต้องไปจัดซื้อผ่านองค์การเภสัชกรรม จนได้ของราคาถูกกว่า ผ่านระบบจัดซื้อจัดจ้างมาแทน ไม่ตรงตามที่อนุกรรมการจัดทำแผนการจัดซื้อยา เวชภัณฑ์ ของ สปสช. พยายามจัดหา กลายเป็นหนังเรื่องยาว ระหว่างชมรมแพทย์ชนบท ซึ่งต้องการ ATK มาตรฐานองค์การอนามัยโลก และองค์การเภสัชกรรม ที่คิดว่าระบบจัดซื้อของตัวเองสมบูรณ์แบบแล้ว โดยมี สปสช.เป็นตำบลกระสุนตก โดนกล่าวหาอีกว่า “ล็อกสเป๊ก”

ไม่เพียงเท่านั้น ยังเรียก “โจทก์เก่า” ของ สปสช.มาได้อีกจำนวนมาก เข้ามารุมถล่ม ทั้งที่งานนี้ สปสช.มี “เจตนาดี” ต้องการตั้งไข่ให้มีการแจก ATK คุณภาพ โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย และหากอยู่ตัวแล้ว ก็ปล่อยให้หน่วยงานอื่นทำ เหมือนเรื่องอื่นๆ แต่ในที่สุดก็กลับต้องเข้ามาอยู่ในความขัดแย้ง และวังวนของการเมืองน้ำเน่าอีกครั้ง

สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือ หากเรื่องนี้จัดการได้เร็ว ไม่มีใครท้วงถึงเรื่อง “คุณภาพ” ก็จะมีประชาชนเข้าถึงการตรวจได้เร็วมากขึ้น ลดจำนวนคนป่วย-คนตายที่บ้าน และลดภาระงานของบุคลากรทางการแพทย์ได้ แต่เมื่อลากเป็นเกมการเมือง เรื่องนี้ก็ลากยาวออกไปอีก

 

กระนั้นเอง ไม่ว่าเรื่องนี้จะจบลงอย่างไร แต่บทบาทของ สปสช.ได้ทำให้เห็นแล้วว่า การมีหน่วยงานที่ยืดหยุ่น ขยับตัวเร็ว และมองปัญหาล่วงหน้านั้น มีประโยชน์มากเพียงใด คำตอบสำคัญสำหรับองคาพยพรัฐก็คือต้อง “รักษา” หน่วยงานแบบนี้ไว้ ให้ทำหน้าที่เข้มแข็งต่อไป และพัฒนาหน่วยงานอื่นในระบบราชการ ให้คล่องตัวแบบเดียวกัน มากกว่าจะดูแต่ “กฎหมาย” แล้วเอาแต่อยู่แค่ใน Safe Zone ของตัวเอง

จริงอยู่ รอบนี้ สปสช.อาจเจ็บหนัก

จริงอยู่ สปสช.อาจมีข้อผิดพลาด

แต่ต้องไม่ลืมว่า เมื่อผ่านวิกฤตนี้ไป แล้วมองย้อนกลับมา การไม่มีหน่วยงานอย่าง สปสช.อยู่บนโลกใบนี้ อาจทำให้สถานการณ์แย่ลง จากหน้ามือเป็นหลังเท้า ก็เป็นไปได้…