จาก ‘หยุดเรียน 1 ปี’ สู่พลิกวิกฤตโควิด เป็นโอกาสปฏิรูปการศึกษา/กาแฟดำ สุทธิชัย หยุ่น

สุทธิชัย หยุ่น

กาแฟดำ

สุทธิชัย หยุ่น

 

จาก ‘หยุดเรียน 1 ปี’

สู่พลิกวิกฤตโควิด

เป็นโอกาสปฏิรูปการศึกษา

 

โควิด-19 ทำให้การเรียนการสอนทุกระดับชั้นต้องเข้าสู่ระบบออนไลน์

มันคือวิกฤตสำหรับระบบการศึกษาของไทยที่ไม่เคยมีใครคาดว่าจะเกิดขึ้นมาได้อย่างกะทันหันและมีผลกระทบอย่างกว้างไกลเพียงนี้

พ่อ-แม่ ผู้ปกครองต้องเผชิญกับปัญหาสารพัดเมื่อลูกไม่ว่าจะเป็นชั้นอนุบาล, ประถมหรือมัธยมต้น, มัธยมปลายตลอดไปถึงมหาวิทยาลัยต้องปรับตัวกับการ “เรียนออนไลน์” กันทั่วประเทศ

พ่อ-แม่เองก็ต้อง Work from Home ไหนจะต้องประสบปัญหารายได้ที่หดหาย ตกงาน ถูกลดเงินเดือนและ “ลางานโดยไม่ได้รับเงินเดือน”

แต่ค่าใช้จ่ายของลูกๆ ไม่ได้ลดลงตามด้วย

ครูบาอาจารย์ก็ต้องปรับตัวเป็นการใหญ่ เพราะการสอนออนไลน์แตกต่างไปจากการสอนหน้าห้องเรียนในเกือบจะทุกมิติ

อาจารย์มหาวิทยาลัยหลายคนบอกผมว่าการสอนออนไลน์ทำให้ต้องปรับตัวกันครั้งใหญ่

บางคนบอกว่าเป็นการปรับเปลี่ยนที่ดี ทำใหถูกบังคับให้ต้องเร่งเข้าสู่ disruption ที่ระบบการศึกษาของไทยต้องเผชิญอยู่แล้ว

แต่ก่อนหน้าโควิดมาเยือน การเรียนการสอนออนไลน์ยังไม่มีใครสนใจมากนัก

เป็นการพยายาม “ซื้อเวลา” ของทุกฝ่ายโดยหวังว่าจะไม่ต้องปรับตัวหนักหน่วงเกินกว่า “ความคุ้นเคยของตัวเอง”

แต่ไวรัสโคโรนาตัวนี้มีอำนาจสั่งการมากกว่ารัฐบาลและผู้มีอำนาจทุกคนในโลก

พอต้องเรียนต้องสอนกันออนไลน์ปัญหาต่างๆ ก็พรั่งพรูกันออกมา

การถกแถลงเรื่องอุปสรรคของการเรียนออนไลน์จึงกว้างไกล…และนำไปสู่ข้อเสนอจากนักวิชาการบางคน (อาจจะเป็นผู้ปกครองเองด้วย) ว่าขอให้กระทรวงศึกษาฯ ประกาศหยุดการเรียนไม่ว่าจะออนไลน์หรือออฟไลน์ไปเลย 1 ปี

นัยว่าเพื่อหาทางแก้ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับ “ความไม่พร้อม” ของระบบการศึกษาเสียก่อน

แต่ก็มีเสียงแย้งกลับมาว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะให้หยุดเรียนหยุดสอนไป 1 ปีเพราะหากทำเช่นนั้นจะเกิดผลเสียหายหนักกว่าอีก

ความจริงผมกลับเห็นว่า “วิกฤต” ที่ระบบการศึกษาของเรากำลังเผชิญอยู่ขณะนี้น่าจะช่วยเราเห็น “โอกาส” ที่จะทำให้การ “ปฏิรูปการศึกษา” เกิดขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรม

ดังนั้น คนที่เรียกร้องให้มีการปฏิรูปการศึกษามาประเทศมาหลายสิบปีและไม่เห็นอะไรเป็นรูปธรรมนั้นควรจะเห็นโอกาสอันสำคัญที่จะทำให้เราต้อง “บังคับตัวเอง” ให้ลงมือปฏิรูปการอย่างจริงจัง

ในแง่นี้ ต้อง “ขอบคุณ” โควิด-19 ด้วยซ้ำที่ทำให้เราต้องถูกบังคับให้ทำในสิ่งที่เราลังเลและไม่มี “ความกล้าหาญทางการเมือง” มายาวนานเสียที

 

วันก่อน ในรายการ “ตอบโจทย์” ทาง ThaiPBS ผมมีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในหัวข้อนี้อย่างคึกคักกับผู้รู้ในวงการศึกษา

ผมได้ร่วมสนทนาในหัวข้อ ” โควิดป่วนการศึกษาไทย “หยุดเรียน-เลิกสอบ?” กับ “กูรูด้านการศึกษา” 3 ท่านคือ

ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ

คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี

ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน)

ดร.อัมพร พินะสา

เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.)

ทำให้ได้ความคิดความอ่านในการใช้โอกาสแห่งวิกฤตนี้พลิกสถานการณ์ให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างจริงจังเสียที

ดร.สมพงษ์มีข้อเสนอ 3 ไม่กับ 3 ต้อง

“ผมไม่เห็นด้วยกับการหยุดเรียน 1 ปี แต่ผมเห็นว่าเป็นข้อเสนอที่สร้างความตื่นตัวให้กับประเทศ…

“สอง ผมไม่เห็นด้วยกับการเรียนออนไลน์ทั้งเทอมหนึ่งและเทอมสองเพราะมีข้อเสียมากกว่าข้อดี

“และสาม ผมไม่เห็นด้วยกับการปิดเทอมสองภาค…เทอมสองต้องเปิดแล้ว…”

จากโรงเรียนทั้งหมดทั่วประเทศ 3 หมื่นกว่าโรง ที่เปิดเรียนในห้องเรียนจริงๆ มีเพียง 2 พันกว่าโรงเท่านั้น

“3 ต้องของผมก็คือ หนึ่ง ถ้าสอนออนไลน์มาหนึ่งเทอมแล้ว เทอมสองต้องเปิดให้มีเรียนที่โรงเรียน แต่ต้องทยอยเปิดโดยเฉพาะในจังหวัดที่อยู่นอก 29 จังหวัดสีแดงเข้ม

“และการเปิดโรงเรียนต้องอยู่บนเงื่อนไขที่ว่าต่อไปนี้การเรียนรู้ของเด็กๆ จะไม่อยู่เฉพาะในโรงเรียนแห่งเดียวอีกต่อไป …จะต้องไปอยู่ในระบบไอที การใช้ชุมชนเป็นฐาน และระบบโรงเรียน โดยการออกแบบเชื่อมโยงอย่างบูรณาการ เพื่อเด็กจะได้ประโยชน์สูงสุด…”

ดร.สมพงษ์บอกว่า เมื่อจะเปิดโรงเรียนอีกครั้งก็ต้องมีมาตรการที่ดูแลเรื่องความปลอดภัย เพราะโรงเรียนเป็นของชุมชน รั้วที่ดีที่สุดของโรงเรียนคือความร่วมมือของ 4 หน่วยที่เกี่ยวข้อง

“รั้วที่ว่านี้ก็คือ รพ.สต., อสม. กำนันผู้ใหญ่บ้าน, ผู้อำนวยการโรงเรียนและพ่อแม่ผู้ปกครอง…ดังนั้น เมื่อเราตัดสินใจจะเปิดโรงเรียน ฝ่ายต่างๆ เหล่านี้จะต้องมาปรึกษาหารือและตกลงกันว่าจะมีวิธีการป้องกันความปลอดภัยสำหรับเด็กๆ อย่างไร…”

ที่สำคัญคือต้องเผื่อสถานการณ์ที่เด็กติดเชื้อด้วย…นั่นคือจะต้องมีการแยกตัวมาดูแลรักษาของชุมชน เรียกว่า “Community Isolation” เป็นที่รองรับสำหรับเด็ก

“ต้องที่ 3 คือต้องระวังรอยต่อระหว่าง ม.3 ขึ้น ม.4 หรือ ป.6 ขึ้น ม.1 หรืออนุบาลขึ้น ป.1 เพราะตัวเลขที่น่าตกใจคือในช่วงรอยต่อนี้เด็กหลุดจากระบบโรงเรียนมากผิดปกติ…”

ต้องระวัง “ระเบิดลูกใหญ่” ลูกนี้ให้จงหนัก

 

ดร.อัมพรจากกระทรวงศึกษาฯ บอกว่าไม่เห็นด้วยกับการหยุดเรียน 1 ปีแน่

“มนุษย์เราหยุดเรียนไม่ได้ ต้องเรียนรู้ตลอดเวลา…กระทรวงศึกษาฯ รับทราบว่าการมาเรียนที่โรงเรียนทำได้ยากเพราะการระบาดของโควิด เราต้องปรับบ้านเป็นโรงเรียน เราจะทำอย่างไรจึงให้เด็กที่อยู่ในบ้านและในชุมชนได้เกิดการเรียนรู้…”

จึงต้องออกแบบให้เด็กเรียนที่บ้านอย่างมีความสุข และตามศักยภาพของแต่ละคน

“สิ่งที่ยากที่สุดคือการให้ได้เนื้อหา (content) แต่สิ่งที่เขาได้จากการเรียนออนไลน์จากบ้านคือทักษะชีวิต ทักษะอาชีพและทักษะทางสังคม…”

ในความเห็นของ ดร.อัมพรช่วงโควิดก็เน้นเรื่องเรียนรู้ทักษะชีวิตและทักษะสังคม

เมื่อโควิดหายไปแล้วจึงค่อยกลับมาเติมเต็มมิติเนื้อหาที่ขาดหายไปในช่วงนี้

 

ดร.อัมพรบอกว่า จากข้อมูลที่ได้รับ การเรียนออนไลน์จริงๆ อย่างเต็มที่นั้นมีเพียง 70 โรงเรียนเท่านั้น

“นอกนั้นเป็นการเรียนอย่างผสมผสานทั้งหมดครับ…”

โรงเรียนที่สามารถเปิดแบบ onsite อยู่ประมาณ 1,500 กว่าโรงเรียนในช่วงโรคระบาดนี้

นอกนั้นคือการผสมผสานระหว่าง on-hand กับ online หรือ on-hand ผสมกับ on air แล้วแต่บริบทและความจำเป็นของแต่ละชุมชน

ปัญหาที่พบในการใช้ระบบผสมผสานก็คือเรื่องอุปกรณ์การเรียนของนักเรียนที่ไม่พร้อม จึงต้องหันไปทำแบบ on-hand แทน

“แต่เราก็ประเมินแล้วว่าจะเรียนวิธีใดก็สู้เรียนที่สถานศึกษาไม่ได้ ดังนั้น เราก็กำลังพยายามจะหารูปแบบต่างๆ เช่นที่เชียงราย แม้จะเป็นพื้นที่สีแดงก็สามารถเปิดแบบ onsite ได้…”

นั่นคือให้เด็กอนุบาลและ ป.1-2 มาที่โรงเรียน แต่ในระดับ ป.4-6 ก็เรียนที่บ้าน หรือสลับกัน

“เราใช้หลักคิดที่ว่าไม่มีวิธีไหนดีที่สุด ที่ดีที่สุดอยู่ที่บริบทความพร้อมของแต่ละพื้นที่โดยทุกคนมีส่วนร่วมกันเพื่อหารูปแบบโดยมีข้อตกลงร่วมกันระหว่างผู้ปกครอง, ครูและนักเรียนและชุมชน…”

นั่นย่อมแปลว่าจะไม่มีการใช้สูตรเดียวสำหรับทุกโรงเรียนทั่วประเทศ

ไม่ใช่ลักษณะตัดเสื้อขนาดเดียวให้ใส่กันทุกคน

(สัปดาห์หน้า : ได้เวลาปฏิรูปการศึกษาจริงๆ แล้ว)