‘โมเดอร์นา’ จากโควิด-19 สู่วัคซีนเอ็มอาร์เอ็นเอต้านเอดส์/ทะลุกรอบ ป๋วย อุ่นใจ

ดร. ป๋วย อุ่นใจ

ทะลุกรอบ

ป๋วย อุ่นใจ

 

‘โมเดอร์นา’

จากโควิด-19 สู่วัคซีนเอ็มอาร์เอ็นเอต้านเอดส์

 

เป็นข่าวครึกโครมเมื่อองค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาได้อนุมัติให้วัคซีนเอ็มอาร์เอ็นเอของไฟเซอร์และบิออนเทคผ่านฉลุย สามารถผลิตขายในตลาดได้อย่างเต็มรูปแบบไปแล้ว เมื่อวันที่ 25 สิงหาคมที่ผ่านมา

ถือเป็นวัคซีนโควิด-19 ตัวแรกที่ทะลุออกไปจากกรอบการอนุมัติใช้แบบฉุกเฉินได้เป็นผลสำเร็จ

การเคลื่อนไหวครั้งนี้น่าจะส่งผลกระทบต่อพลวัติของตลาดวัคซีนอยู่มากโข และนั่นได้ทำให้คู่แข่งเบอร์หนึ่งในวงการเอ็มอาร์เอ็นเออย่างโมเดอร์นาเริ่มนั่งไม่เป็นสุข รีบเดินหน้ายื่นขออนุมัติเต็มรูปแบบตามไปติดๆ

โมเดอร์นาถือเป็นหนึ่งในม้ามืดที่แม้จะคลุกอยู่ในวงการฟาร์มามาพักใหญ่ แต่ก่อนยุคโควิด-19 ก็ยังไม่มีโปรดักต์อะไรออกมาเป็นชิ้นเป็นอัน

แต่ด้วยวิสัยทัศน์แบบอ่านเกมขาดของผู้บริหาร บวกกับเทคโนโลยีเอ็มอาร์เอ็นเอที่เป็นเทคโนโลยีแก่นของบริษัทที่พัฒนาไปจนถึงระยะสุกงอม โมเดอร์นาจึงได้โดดเด่นขึ้นมา ในฐานะบริษัทวัคซีนเจ้าแรกๆ ที่ประกาศตัวจะพัฒนาวัคซีนต้านไวรัสประหลาดที่ระบาดออกมาจากประเทศจีนในช่วงปี 2019

ว่ากันตามตรง คงไม่ผิดที่จะบอกว่าในยุคแห่งวิกฤตโควิด-19 โมเดอร์นาคือฟาร์มาที่เดินเกมเร็วที่สุด เฉียบขาดที่สุด และประสบความสำเร็จในการพัฒนาวัคซีนได้ไวที่สุดเท่าที่เคยมีมา

จนหลายคนมองว่าอาจจะเรียกได้ว่าเป็นตำนาน (คือใช้เวลาเพียงแค่ 1 ปี เทียบกับกระบวนการปกติที่ต้องใช้เวลานานนับทศวรรษ)

แม้ว่าจะประสบความสำเร็จอย่างมหาศาลจากวัคซีนโควิด-19 ที่หลายๆ คนยังรอคอยกันอยู่ โมเดอร์นาก็ไม่ได้ชะล่าใจ หยุดทุกอย่าง แล้วเอาแต่ผลิตวัคซีนโควิด-19 ขายอย่างเดียว แต่ยังคงซุ่มพัฒนาวัคซีนตัวใหม่จากเทคโนโลยีเอ็มอาร์เอ็นเอต่อ

ที่เห็นได้ชัดคือการซุ่มพัฒนาวัคซีน mRNA1273.351 เพื่อต้านไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์กลายเบต้า หรือสายพันธุ์ B.1.351 ที่ขึ้นชื่อลือชาในด้านการดื้อวัคซีน

เมื่อกลางเดือนสิงหาคม 2021 โมเดอร์นาได้ประกาศจะเริ่มการทดลองในมนุษย์สำหรับวัคซีนเอ็มอาร์เอ็นอีกตัวที่พัฒนาขึ้นมาเพื่อต้านไวรัสเอดส์ ซึ่งการทดลองนี้น่าจะสิ้นสุดและสรุปผลได้ในช่วงกลางปี 2023

ไวรัสเอดส์ หรือไวรัสโรคภูมิคุ้มกันบกพร่องในมนุษย์ (human immunodeficiency virus หรือ HIV) เป็นอีกหนึ่งโรคระบาดที่ยังไม่มียารักษาให้หายขาดได้ ซึ่งถ้ามองจำนวนผู้ติดเชื้อแล้ว แม้จะยังไม่วิกฤตเท่ากับโควิด แต่ก็ถือว่าหนักหน่วง

ในเวลานี้มีผู้ติดเชื้อเอดส์ที่ไม่มีอาการและยังปะปนอยู่กับผู้คนทั่วไปในสังคมอยู่มากถึงเกือบ 40 ล้านคนทั่วโลก และในปี 2020 แค่ปีเดียว จำนวนผู้ติดเชื้อเอดส์ก็เพิ่มขึ้นไปมากถึง 1.5 ล้านคน

การหาวิธีป้องกันไว้ จึงดีกว่ารอแก้ไขตอนที่มันระบาดไปแล้ว

 

ทว่า การพัฒนาวัคซีนต้านเอดส์นั้นไม่ง่าย และตรงไปตรงมาเหมือนกับวัคซีนต้านโควิด-19 เพราะไวรัสเอดส์เป็นไวรัสที่สามารถแทรกสารพันธุกรรมของมันเข้าไปในจีโนมของมนุษย์ได้อีกด้วย

ซึ่งกระบวนการแทรกสารพันธุกรรมของไวรัสเอดส์จะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วภายในเวลาเพียงแค่ 72 ชั่วโมงหลังได้รับเชื้อ หลังจากแทรกตัวเข้าไปได้สำเร็จ ไวรัสอาจจะซ่อนตัวอยู่ภายในเซลล์ได้เป็นระยะเวลานานทำให้ยากในการติดตามและกำจัดทิ้ง

ดังนั้น วัคซีนที่จะทำงานได้จริงคือต้องป้องกันการติดเชื้อ นั่นคือต้องมีปริมาณแอนติบอดี้ต้านไวรัส (neutralizing antibody) หรือที่มักจะเรียกสั้นๆ ว่า nAb มากเพียงพอที่จะตรวจจับและป้องกันไม่ให้ไวรัสติดเชื้อเข้าสู่เซลล์ให้ได้

แต่ปัญหาที่สำคัญและยากมากในการจัดการกับไวรัสเอดส์ก็คือพวกมันกลายพันธุ์ได้ง่ายและไวมาก ไวกว่าไวรัสโควิด-19 เสียอีก ดังนั้น การที่จะกำราบไวรัสเอดส์ให้ได้นั้นจะต้องหาแอนติบอดี้ต้านไวรัสที่สามารถจดจำไวรัสได้แม้จะกลายพันธุ์ไปได้แก่งแค่ไหนก็ตาม

แอนติบอดี้ดังกล่าวจะเรียกว่า “แอนติบอดี้ต้านไวรัสในวงกว้าง” หรือ “broadly neutralizing antibody” เรียกสั้นๆ ว่า bnAb

 

แอนติบอดี้จะเป็น bnAb ได้นั้นจะต้องสามารถจับกันได้กับ GP120 ของไวรัสเอดส์ในทุกสายพันธุ์ ถ้าเปรียบแอนติบอดี้ทั่วไปจะจดจำและไขได้แค่เฉพาะกับแม่กุญแจที่มาจากไวรัสสายพันธุ์เดียว bnAb ก็คงเหมือนกับกุญแจผีที่ไม่ว่าจะเสียบช่องกุญแจของไวรัสสายพันธุ์ไหนก็ยังสามารถไขได้อยู่

bnAb ต้านเอดส์นั้นจะมุ่งเป้าในการออกฤทธิ์ไปที่โปรตีนบนเยื่อหุ้มของไวรัสเอดส์ที่เรียกว่าโปรตีน GP120 ซึ่งถ้าเทียบกับของไวรัสโควิด-19 โปรตีน GP120 ก็จะเทียบๆ ได้กับโปรตีน spike หรือก็คือโปรตีนหนามนั่นแหละ

เนื่องจาก GP120 ทำหน้าที่ในการจับกับโปรตีนตัวรับบนเซลล์มนุษย์ เพื่อกระตุ้นการติดเชื้อเข้าสู่เซลล์ ถ้า GP120 โดนจับเสียก่อนโดย bnAb โปรตีน GP120 ก็จะไม่สามารถเข้าไปจับกับโปรตีนตัวรับของมนุษย์ได้ ไวรัสเอดส์เองก็จะไม่สามารถติดเชื้อใดๆ ในเซลล์ได้

ดังนั้น หากต้องการจะป้องกันโรคให้ได้คือต้องป้องกันการติดและการแพร่เชื้อ โดยวัคซีนที่พัฒนาขึ้นมาจะต้องสามารถกระตุ้นให้เกิดการสร้าง bnAb ให้ได้ในปริมาณที่มากที่สุด เพื่อให้ร่างกายสามารถต้านไวรัสได้ ตั้งแต่ก่อนที่จะเสี่ยงติดเชื้อ

 

จากรายงานของ International AIDS Vaccine Initiative หรือ IAVI พบว่ามี bnAb แล้วมากกว่า 200 ชนิด

โดยปกติแล้ว แอนติบอดี้รวมทั้ง bnAb จะผลิตโดยเซลล์เม็ดเลือดขาวที่เรียกว่าบีเซลล์ (B cell) แต่ปัญหาก็คือในร่างกายคนมีบีเซลล์นับล้านชนิด แต่ละชนิดก็จะผลิตแอนติบอดี้ออกมาคนละแบบ การจะเสาะหาบีเซลล์ที่เหมาะสมจึงเป็นเหมือนการงมเข็มในมหาสมุทร

คือโอกาสอาจจะมีแค่หนึ่งในล้าน!

“ทีมเราและอีกหลายทีมเชื่อมาหลายปีแล้วว่าเพื่อที่จะกระตุ้นการสร้าง bnAb คุณจะต้องเริ่มกระบวนการโดยการกระตุ้น บีเซลล์ที่ถูกต้อง เซลล์ที่มีคุณสมบัติที่มีศักยภาพที่จะพัฒนาไปเพื่อเป็นเซลล์ที่หลั่ง bnAb ออกมา” ศาสตราจารย์วิลเลียม ชีฟ (William Schief) นักภูมิคุ้มกันวิทยาจากสถาบันวิจัยสคริปป์ (Scripp Research) และ ผู้อำนวยการด้านการออกแบบวัคซีนแห่งศูนย์แอนติบอดี้ต้านไวรัสของ IAVI กล่าว

แม้ว่าจะยาก แต่ทีมวิจัยของชีฟก็ยังหาจนเจอได้

จากความมานะและมุ่งมั่นของพวกเขา ผนวกกับมีทีมวิจัยฝีมือเยี่ยมจากศูนย์วิจัยวัคซีน สถาบันสาธารณสุขแห่งชาติ (Vaccine Research Center, National Institute of Health) และเฟรดฮัตช์ – ศูนย์วิจัยมะเร็งเฟรด ฮัตชินสัน (Fred Hutchinson Cancer Research Center)-มาร่วมด้วย ทำให้พวกเขาสามารถออกแบบวัคซีนที่สามารถยิงได้ตรงจุดพอดีเป๊ะจนสามารถกระตุ้นการสร้าง bnAb ได้ในอาสาสมัครถึง 97 เปอร์เซ็นต์ในการทดลองทางคลินิกเฟสแรก

“ทีมวิจัยของเราได้แสดงให้เห็นแล้วว่าวัคซีนนั้นสามารถถูกออกแบบมาเพื่อกระตุ้นเซลล์ที่หายากในระบบภูมิคุ้มกันที่มีคุณสมบัติจำเพาะได้ และการกระตุ้นแบบมีเป้าหมายแบบนี้มีประสิทธิภาพมากในมนุษย์ เราเชื่อว่าวิธีการแบบนี้จะเป็นกุญแจที่จะนำไปสู่การสร้างวัคซีนต้านเอดส์และบางทีอาจจะสำคัญต่อการสร้างวัคซีนต้านเชื้อก่อโรคอื่นๆ อีกด้วย”

 

แต่การทดลองครั้งแรกของชีฟนั้น แค่กระตุ้นให้เห็นว่ามีภูมิขึ้นได้จริง แต่ยังอาจจะไม่ได้หวังผลในเชิงการป้องกันโรคมากนักเพราะถ้าว่ากันในเรื่องระดับของภูมิที่มีนั้น อาจจะยังไม่สูงถึงขนาดที่จะป้องกันการติดเชื้อเอดส์ได้

วัคซีนเจเนอเรชั่นต่อไปที่โมเดอร์นากำลังเริ่มการทดลองในคนในครั้งนี้ จึงออกแบบมาเป็นวัคซีนเอ็มอาร์เอ็นเอที่รู้กันว่าโดดเด่นมากในการกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ซึ่งคงต้องลุ้นต่อไปว่าจะช่วยกระตุ้นการสร้าง bnAb ได้สูงมากพอป้องกันการติดเชื้อได้หรือไม่

เป็นไปได้ว่าเอ็มอาร์เอ็นเอาจจะเป็นคำตอบที่ทุกคนรออยู่

แต่ด้วยความสามารถในการกลายพันธุ์อย่างเหนือชั้นของไวรัสเอดส์ ต่อให้เป็น bnAb หนทางครั้งนี้ ก็คงไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ หากแต่ถ้าสำเร็จเมื่อใด จะช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตให้ผู้คนได้อย่างมหาศาล

อีกทั้งยังมีดอกผลกำไรที่หอมหวานมาเป็นของแถมอีกจนนับไม่ไหว

 

ว่ากันเรื่องเอดส์ไปเสียเยอะ อยากจะกระซิบว่าเปเปอร์ใหม่นำโดยนักวิจัยจากเฟรดฮัตช์และบริษัทไวเออร์ ไบโอเทคโนโลยี (Vir biotechnology) ที่เพิ่งจะตีพิมพ์ไปในวารสารเนเจอร์ (Nature) ก็ได้แสดงให้เห็นถึงแอนติบอดี้ที่น่าจะต้านไวรัสโควิด-19 บวกกับวงศาคณาญาติซาร์บีโคไวรัสของมันได้ทั้งตระกูล

ซึ่งนอกจากจะต้านโควิดสายพันธุ์กลายได้แล้ว ยังอาจจะเอามาใช้ในการป้องกันการอุบัติใหม่ของไวรัสในตระกูลซาร์และโควิดได้ในอนาคตอีกด้วย

ไม่ว่าไวรัสจะแน่แค่ไหน แต่ยังไงก็คงจะสู้สติปัญญาของมนุษย์ไม่ได้ ถ้าเราพยายามอย่างมีสติ ชัดเจนว่าหนทางรอดคงอยู่อีกไม่ไกล

ขอเป็นกำลังใจให้ทุกคนสู้ต่อไปครับ

เราจะรอดไปด้วยกัน!