
ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 3 - 9 กันยายน 2564 |
---|---|
คอลัมน์ | Cool Tech |
เผยแพร่ |
Cool Tech
จิตต์สุภา ฉิน
@Sue_Ching
Facebook.com/JitsupaChin
Well-being washing
: ออฟฟิศยุคใหม่ได้เปลี่ยนไปแล้ว
คําว่า washing ที่ไม่ได้ใช้เพื่อสื่อถึงความหมายของการซักล้างทำความสะอาดโดยตรงที่เรามักจะได้ยินบ่อยๆ น่าจะมีอยู่สองคำ สองสี คือ Whitewashing กับ Greenwashing
Whitewashing หมายถึงการปกปิดหรือใช้ข้อมูลที่ชวนให้เข้าใจผิดมากลบทับพฤติกรรมแย่ๆ ในขณะที่ Greenwashing ก็เป็นการเล่นคำต่อมาจาก Whitewashing อีกที คือแทนที่จะเป็นสีขาว ก็เปลี่ยนให้เป็นสีเขียว และใช้เพื่อสื่อถึงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมแบบหลอกลวงและฉาบฉวย
Greenwashing เป็นศัพท์ที่ใช้พูดถึงนโยบายการตลาดหรือประชาสัมพันธ์ที่บริษัทต่างๆ ใช้เพื่อหลอกให้สาธารณชนเข้าใจว่าผลิตภัณฑ์หรือบริการของตัวเองเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าความเป็นจริง
อย่างเช่น การบอกว่าผลิตภัณฑ์ของตัวเองทำมาจากวัสดุรีไซเคิลหรือมีความสามารถในการช่วยประหยัดพลังงาน โดยที่เบื้องหลังคำกล่าวอ้างนั้นอาจจะเป็นจริงเพียงแค่บางส่วนเท่านั้น
แต่วัตถุประสงค์คือตั้งใจให้ผู้บริโภคเชื่อแบบเต็มๆ และซื้อของของตัวเองได้อย่างสนิทใจมากขึ้น
ถึงแม้ greenwashing จะไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ในสังคมปัจจุบันที่ผู้คนให้ความสำคัญกับการดูแลสิ่งแวดล้อมมากขึ้น บริษัทจำนวนมากจึงมองเห็นลู่ทางทำกินว่าถ้าหากสามารถทำให้ภาพลักษณ์ของตัวเองดูเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้มากเท่าไหร่ก็จะยิ่งชนะใจผู้บริโภคได้มากขึ้นเท่านั้น
ก็เลยมีการกระทำที่เข้าข่าย greenwashing เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
สาเหตุที่หยิบยกสองคำนี้ขึ้นมาเกริ่นก็เพื่อปูพื้นให้เข้าใจความหมายของการใช้คำว่า washing ซึ่งในตอนนี้ก็มีคำศัพท์ใหม่อีกคำที่งอกเงยขึ้นมาจากคำนี้ และเป็นสิ่งที่เราจะพูดถึงกันในบทความนี้ คำนั้นก็คือ well-being washing ค่ะ
หากพูดถึงคำว่า well-being washing ในแบบที่ยังไม่ขยายความใดๆ คุณผู้อ่านก็อาจจะพอนึกภาพออกว่าน่าจะเกี่ยวข้องกับการสร้างภาพบางอย่างเพื่อให้เข้าใจถึงความเป็นอยู่หรือสวัสดิภาพในรูปแบบที่แตกต่างจากความเป็นจริง
และน่าจะเป็นไปในแนวทางที่ความเป็นอยู่ไม่ดีแต่ถูกกลบเกลื่อนให้รู้สึกว่าดีอะไรทำนองนั้น
ซึ่งหากเดามาทางนี้ก็จะถูกต้องตรงเป๊ะเลยล่ะค่ะ
คนยุคใหม่ถูกทำให้เข้าใจว่าบริษัทที่ดีจะต้องมาพร้อมกับออฟฟิศเท่ๆ ที่มีสวัสดิการแปลกใหม่ที่บริษัทรุ่นเก่าไม่มี
อย่างเช่น การที่ออฟฟิศตกแต่งด้วยสีสันที่แสนสนุก มีสไลเดอร์ โต๊ะสนุ๊ก โต๊ะฟูสบอล ห้องเล่นเกม ห้องโยคะ ฟิตเนส บีนแบ็ก อาหารเช้า เที่ยง เย็น ฟรี ขนมขบเคี้ยวที่เดินไปหยิบเมื่อไหร่ก็ได้ กาแฟหรือสมูธตี้ให้เติมพลังยามสายและยามบ่าย โต๊ะปรับระดับได้ ไปจนถึงห้องคาราโอเกะหรือห้องงีบ
โดยที่ผู้นำเทรนด์ก็น่าจะเป็นบริษัทในแวดวงเทคโนโลยีที่ริเริ่มไอเดียการทำออฟฟิศสมัยใหม่อันเต็มไปด้วยสิ่งดึงดูดให้พนักงานรู้สึกว่าเส้นแบ่งระหว่างบ้านและที่ทำงานจางลงเรื่อยๆ
จนกลายเป็นเทรนด์ระดับโลกที่บริษัทในอุตสาหกรรมอื่นๆ ก็หันมาเลียนแบบบ้าง
แนวคิดการทำออฟฟิศให้ “สนุก” และ “ครบพร้อม” แบบนี้ฮอตฮิตมากในช่วงแรกๆ และอันที่จริงก็ได้กลายเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญสำหรับหลายๆ คนในการที่จะเลือกบริษัทที่อยากจะเข้าทำงานด้วยเลยทีเดียว
แต่เมื่อเวลาผ่านไป ผนวกกับการมาถึงของไวรัสระบาดก็ทำให้หลายๆ คนเริ่มมองเห็นภาพว่ากิมมิคแสนสนุกที่ได้รับจากออฟฟิศแบบนี้ หากไม่ได้มาพร้อมกับเงื่อนไขการทำงานที่ยุติธรรมและมีสมดุล
มันก็คือ well-being washing ดีๆ นี่เอง
เมื่อเกิดสถานการณ์โรคระบาด พนักงานทั่วโลกจำเป็นต้องหยุดการเข้ามาทำงานออฟฟิศและเริ่มทำงานจากที่บ้าน
สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือพนักงานค่อยๆ ตระหนักว่าความต้องการในการทำงานทั้งหมดถูกลดลงเหลือสิ่งที่เป็นพื้นฐานมากที่สุด ซึ่งก็อาจจะมีแค่คอมพิวเตอร์สักเครื่องที่มาพร้อมกับโปรแกรมที่ตัวเองต้องใช้ทำงานแค่นั้นเอง ไม่มีอีกแล้วที่จะต้องเสียเวลาตั้งแต่เที่ยงถึงบ่ายสองไปกับการกินอาหารฟรีแล้วต่อด้วยการแทงสนุ้กกับเพื่อนร่วมงาน หรือการเข้าคลาสโยคะตอนเย็นๆ กับเพื่อนจากอีกแผนก
สิ่งที่พื้นฐานที่สุดที่พนักงานต้องการจึงกลับมาเด่นชัดอีกครั้ง นั่นก็คือจำนวนชั่วโมงการทำงานที่สมเหตุสมผลและสวัสดิการที่ดีนั่นแหละ
ในสมัยที่ยังต้องเข้าออฟฟิศทุกวัน การได้คุยโม้ว่าที่ออฟฟิศมีอะไรเท่ๆ บ้างก็เป็นเรื่องที่น่าภูมิใจไม่หยอก
แต่เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไป ทุกคนกลับมาตั้งต้นเท่ากันก็คือการจะทำงานอยู่ที่บ้านอย่างไรให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด สิ่งที่เคยสำคัญในอดีตก็ดูเหมือนจะด้อยค่าลงไปโดยสิ้นเชิง
ยังไม่นับรวมถึงความกดดันของการต้องทำตัวเองให้กระตือรือร้นในการเข้าสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งธรรมชาติของบริษัทในแนวสตาร์ตอัพที่จำเป็นต้องพรีเซนต์ภาพลักษณ์ของการเป็นคนรุ่นใหม่ที่เป็นมิตร กระฉับกระเฉง ชอบปาร์ตี้ เคลื่อนไหวคล่องแคล่วตลอดเวลา และที่สำคัญจะต้องทำงานหนักด้วย
AFP บอกว่า อดีตพนักงานของบริษัทแห่งหนึ่งในฝรั่งเศสเล่าให้ฟังถึงแรงกดดันที่มาพร้อมกับการทำงานก็คือจะต้องทำตัวเองให้กลมกลืนเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมบริษัทให้ได้ อย่างเช่น ต้องทำตัวเท่ให้สมกับได้ทำงานที่บริษัทแห่งนี้ ต้องปาร์ตี้หนักหน่วงและต้องทำแม้กระทั่งเสพยาเสพติด
แต่เบื้องหลังฉากหน้าของการเป็นบริษัทที่แสนเท่ ก็คือด้านมืดของการทำงานหนักชนิดที่แทบไม่เห็นแสงเดือนแสงตะวัน
การสำรวจในฝรั่งเศสระบุว่าพนักงานเกือบครึ่งยอมรับว่าตัวเองรู้สึกเครียดจากการทำงานอย่างหนักแม้ว่าบริษัทที่ทำงานด้วยจะมีภาพลักษณ์ของการเป็นบริษัทที่แสนจะคูลและมีบรรยากาศดีๆ ในออฟฟิศ
ซึ่งความแตกต่างระหว่างภาพลักษณ์ชีวิตดีๆ ที่บริษัทพยายามโปรโมตกับชีวิตจริงที่พนักงานทำงานหลังแทบหักนี่แหละที่เข้าข่ายศัพท์คำใหม่ well-being washing
หลังเกิดเหตุการณ์โรคระบาดขึ้นมา คนรุ่นใหม่ก็เริ่มจะค่อยๆ ได้เบิกเนตรและมองเห็นความเป็นจริงว่าท้ายที่สุดแล้วสิ่งที่เราทุกคนต้องการไม่ใช่ขนมขบเคี้ยวที่หยิบเมื่อไหร่ก็ได้ วันหยุดสำหรับคนอกหัก หรือของขวัญวันเกิดจากซีอีโอ และจะไม่ยอมทนทุกข์ทรมานจากการทำงานหนักแบบเงียบๆ อีกต่อไป
แต่สิ่งที่เคยถูกมองว่าเชยแสนเชยไปแล้วอย่าง work-life balance หรือความสมดุลของชีวิตทำงานและชีวิตส่วนตัวนี่แหละที่จะกลับมาเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด
เช่นเดียวกับความสัมพันธ์อันดีระหว่างคนในที่ทำงานที่ลึกซึ้งมากกว่าการได้แทงสนุ้กด้วยกันแป๊บๆ
ดังนั้น บริษัทไหนก็ตามที่กำลังวางแผนจะทำออฟฟิศที่เต็มไปด้วยกิมมิคแบบนี้อาจจะต้องหยุดนิดหนึ่งเพื่อประเมินใหม่ว่าสถานการณ์ในตอนนี้เปลี่ยนไปจากเดิมแค่ไหน
กิมมิกที่อยากได้นั้นมาพร้อมกับชั่วโมงการทำงานที่สมดุลด้วยหรือไม่ และอะไรกันแน่ที่จำเป็นอย่างยิ่งยวดสำหรับพนักงานของตัวเอง
แล้วนำงบประมาณที่จำเป็นไปลงตรงนั้นแทน