คุยกับทูต พาฟโล โอเรล ยูเครนที่ทันสมัยวันนี้ (ตอน 1)

 

คุยกับทูต พาฟโล โอเรล

ยูเครนที่ทันสมัยวันนี้ (ตอน 1)

 

ความสัมพันธ์ไทยกับยูเครนมีมาตั้งแต่ยูเครนยังเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิรัสเซียและสหภาพโซเวียตตามลำดับ หลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียต ในช่วงปลายปี 1991 สาธารณรัฐต่างๆ ซึ่งเคยรวมเป็นสหภาพโซเวียต ได้แยกตัวออกเป็นอิสระ และประกาศตัวเป็นเอกราชรวม 12 ประเทศ

ซึ่งไทยให้การรับรองเอกราชของประเทศเหล่านี้ในวันที่ 26 ธันวาคม 1991 และปีต่อมาจึงสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับยูเครนเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 1992

ในโอกาสวันประกาศเอกราชหรือวันชาติของยูเครน ซึ่งตรงกับวันที่ 24 สิงหาคม นายพาฟโล โอเรล (Pavlo Orel) อุปทูตรักษาการแทนเอกอัครราชทูตยูเครนประจำประเทศไทย ซึ่งมาเมืองไทยเป็นครั้งแรกเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา เล่าถึงศักยภาพของยูเครนและความสัมพันธ์กับไทยในแง่มุมต่างๆ

ณ สถานทูตยูเครน ถนนวิทยุ

 

นายพาฟโล โอเรล (Pavlo Orel) อุปทูตรักษาการแทนเอกอัครราชทูตยูเครนประจำประเทศไทย

 

การเปลี่ยนแปลงการปกครอง

สู่ระบอบประชาธิปไตย

“การต่อสู้เพื่อเรียกร้องเอกราชเป็นการเดินทางอย่างท้าทายและยาวนาน ชาวยูเครนมีความภาคภูมิใจในยูเครนยุคใหม่ จากการรับรองปฏิญญาอธิปไตยแห่งรัฐโดยรัฐสภาของยูเครน (Verkhovna Rada) เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 1990 ถือได้ว่าเป็นก้าวแรกที่นำไปสู่อิสรภาพ โดยกฎหมายกำหนดว่า ยูเครนเป็นประเทศที่มีอำนาจอธิปไตย มีอยู่เหนือทุกคนและทุกองค์กรที่อยู่ในรัฐ พร้อมอุทิศตนเพื่อประชาธิปไตยและหลักนิติธรรม รัฐสภายูเครนในนามของชาวยูเครนรับรองพระราชบัญญัติอิสรภาพของประเทศยูเครนวันที่ 24 สิงหาคม 1991 ในที่สุด”

“ต่อมา วันที่ 1 ธันวาคม 1991 ชาวยูเครนได้ลงประชามติกันอย่างท่วมท้นมากกว่า 90% เพื่อรับรองพระราชบัญญัติการประกาศเอกราชจากสหภาพโซเวียต ทำให้ประวัติศาสตร์ของสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตยูเครนสิ้นสุดลง หลังจากนั้น กระบวนการรับรองประเทศยูเครนในระดับนานาชาติและการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศก็ได้เริ่มต้นขึ้น”

 

เครื่องปฏิกรณ์เชอร์โนบิลที่ถูกทำลาย ซึ่งเป็นหนึ่งในสี่หน่วยปฏิบัติการที่ไซต์งานในยูเครนในปี 1986 (ปัจจุบันไม่มีหน่วยใดทำงาน ) ภาพ IAEA Im

 

ยูเครนได้ต่อสู้เรียกร้องการปกครองตนเองมาตั้งแต่ปี 1917 แต่สหภาพโซเวียตเข้าปราบปราม และได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียต

หลังสงครามโลกครั้งที่สอง กระแสชาตินิยมในยูเครนขยายตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องด้วยเหตุผลต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความไร้ประสิทธิภาพในระบอบการเมืองของสหภาพโซเวียต หรือการเกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วสหภาพโซเวียต

 

สัญญาณเตือนภัยรังสีในปรือเปียต

 

และการพยายามปิดบังข้อมูลของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหภาพโซเวียตต่อกรณีการระเบิดของโรงงานปฏิกรณ์ปรมาณูที่เรียกว่า “ภัยพิบัติเชอร์โนบิล” (Chernobyl disaster) อันเป็นอุบัติเหตุทางนิวเคลียร์ขั้นร้ายแรงที่เกิดขึ้นที่นิคมเชอร์โนบิล ริมฝั่งแม่น้ำนีเปอร์ ใกล้เมืองปรือเปียต แคว้นเคียฟ ทางตอนเหนือของยูเครน เมื่อวันที่ 26 เมษายน ปี 1986

 

ภาพโรงไฟฟ้​​านิวเคลียร์เชียร์โนบีลที่มองจากเมือง Pripyat

 

เมืองปรือเปียตที่ถูกทิ้งร้าง จะเห็นโรงไฟฟ้าเชียร์โนบีลอยู่ไกล ๆ

 

เมื่อประธานาธิบดีมิคาอิล กอร์บาชอฟ (Mikhail Gorbachev) ดำเนินนโยบายเปิดกว้างทางการเมือง ได้ส่งผลให้รัฐบาลของสหภาพโซเวียตจำเป็นต้องให้อำนาจแก่สาธารณรัฐและดินแดนปกครองตนเองต่างๆ มากขึ้น

 

กระแสการเรียกร้องสิทธิที่จะปกครองตนเองในยูเครนดำเนินไปอย่างเข้มแข็ง และกว้างขวาง

ในที่สุดยูเครนได้ประกาศเอกราชจากสหภาพโซเวียต เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 1991 และเปลี่ยนแปลงการปกครองสู่ระบอบประชาธิปไตยโดยมีการเลือกตั้งขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม ค.ศ.1991

“การประกาศอิสรภาพของยูเครนเกิดขึ้นจากความก้าวหน้าของประชาชนและประเทศชาติของเรา ถือเป็นแลนด์มาร์กในประวัติศาสตร์ยูเครนปัจจุบัน”

“เกิดกระบวนการเปลี่ยนผ่านในระบอบการเมือง เศรษฐกิจ อุดมการณ์ และให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ การทหาร การบังคับใช้กฎหมาย และการจัดตั้งโครงสร้างรัฐบาลในระบอบประชาธิปไตยใหม่อย่างเป็นขั้นเป็นตอน”

“ผมภูมิใจที่เรามีความแข็งแกร่ง มีความรู้ และความรับผิดชอบที่จะสร้างระบบการเมืองและเศรษฐกิจใหม่ในช่วงเวลาที่ท้าทายนี้ ภายใต้การนำของประธานาธิบดียูเครน นายโวโลดีมีร์ เซเลนสกี (Volodymyr Zelensky) ซึ่งมีความมุ่งมั่นทุ่มเทเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภายในประเทศอย่างเต็มความสามารถ”

 

ประธานาธิบดียูเครน นายโวโลดีมีร์ เซเลนสกี (Volodymyr Zelensky)

 

ประธานาธิบดีโวโลดีมีร์ เซเลนสกี กล่าวเมื่อวันสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดียูเครน (20 พฤษภาคม 2019) ว่า

“เราต้องเป็นเหมือนชาวไอซ์แลนด์ในเรื่องฟุตบอล เป็นเหมือนชาวอิสราเอลเรื่องการปกป้องดินแดนตัวเอง และเป็นเหมือนชาวญี่ปุ่นเรื่องเทคโนโลยี”

นายพาฟโล โอเรล อุปทูตยูเครน กล่าวว่า

“รัฐบาลตั้งเป้าเพื่อบูรณาการเข้าสู่สหภาพยุโรปและปฏิรูปยูโร-แอตแลนติก ส่วนวาระการปฏิรูปของยูเครนปี 2030 ตั้งอยู่บนพื้นฐานของยุทธศาสตร์เศรษฐกิจแห่งชาติปี 2030 และอยู่ภายใต้หลักการสำคัญที่สอดคล้องกับค่านิยมของสหภาพยุโรปและนาโต้”

“รัฐบาลยูเครนได้ดำเนินการตามขั้นตอนสำคัญหลายประการแล้ว รวมถึงการเปิดตัวตลาดที่ดินครั้งประวัติศาสตร์ ซึ่งเพิ่มความโปร่งใสและกระตุ้นเศรษฐกิจ การตัดสินใจที่สำคัญอื่นๆ ได้แก่ การนำกฎหมายที่รอคอยมายาวนานออกบังคับใช้ ซึ่งช่วยทำให้ระบบตุลาการมีความเที่ยงตรงน่าเชื่อถือและมีบทบาทสำคัญในการคัดเลือกผู้พิพากษาที่เชี่ยวชาญด้านกฎหมายระหว่างประเทศเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ”

 

นายพาฟโล โอเรล (Pavlo Orel) อุปทูตรักษาการแทนเอกอัครราชทูตยูเครนประจำประเทศไทย

 

การเฉลิมฉลองวันประกาศอิสรภาพ

ของประชาชนยูเครน

“ปีนี้ถือเป็นวาระครบรอบ 30 ปี แห่งการประกาศอิสรภาพ เป็นการเฉลิมฉลองท่ามกลางความท้าทายของการระบาดใหญ่อย่างต่อเนื่องของโรคโควิด-19 เรามีกิจกรรมที่พันธมิตรนานาชาติเข้าร่วมด้วย ได้แก่ การประชุมสุดยอดครั้งแรกของแพลตฟอร์มไครเมีย (Crimean Platform), การประชุมสุดยอดสุภาพบุรุษและสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ณ กรุงเคียฟ และทางออนไลน์ ซึ่งจัดโดยสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งของยูเครน (First-ever Summit of First Ladies and Gentlemen) รวมทั้งขบวนพาเหรดทหารในวันชาติยูเครน 24 สิงหาคมนี้”

“แต่ก่อนหน้านั้นคือวันที่ 23 สิงหาคม จะมีการประชุมสุดยอดแพลตฟอร์มไครเมียครั้งแรก โดยมีตัวแทนกว่า 30 ประเทศได้ยืนยันเข้าร่วมในการประชุมนี้ และจะลงนามประกาศร่วมกันหลังจากการประชุม”

“แพลตฟอร์มระหว่างประเทศไครเมียเป็นเครื่องมือนโยบายต่างประเทศที่สำคัญในการพัฒนากระบวนการเลิกยึดครองไครเมีย และปกป้องหลักการของกฎหมายระหว่างประเทศทั่วโลกในเวลาเดียวกัน”

“แพลตฟอร์มไครเมียจะให้วิสัยทัศน์เชิงกลยุทธ์แก่กระบวนการปลดปล่อยไครเมีย ตลอดจนการทำงานร่วมกันในระหว่างรัฐบาล รัฐสภา และผู้เชี่ยวชาญ หรือทั้งหมด ในเวลาเดียวกัน แนวคิดของแพลตฟอร์มจะครอบคลุมแง่มุมต่างๆ ที่กว้างกว่าการบูรณาการดินแดนของยูเครน”

“การสนับสนุนแพลตฟอร์มโดยประชาคมระหว่างประเทศแสดงถึงข้อความอันทรงพลังในการปกป้องกฎหมายระหว่างประเทศ, เขตแดนซึ่งเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปโดยกฎหมายระหว่างประเทศ, ค่านิยมร่วมกันเรื่องสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน ซึ่งจะละเมิดไม่ได้”

ไทยเป็นหนึ่งใน 100 ชาติสมาชิกองค์การสหประชาชาติที่ลงคะแนนเสียงสนับสนุนมติสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ประเด็นบูรณภาพแห่งดินแดนยูเครน เมื่อปี 2014 เพื่อตอบโต้การผนวกไครเมียเข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย

“นอกจากนี้ ในวันที่ 23 สิงหาคม จากความคิดริเริ่มของนางโอเลนา เซเลนสกา (Mrs. Olena Zelenska) ภริยาของประธานาธิบดียูเครน จัดการประชุมสุดยอดสุภาพบุรุษและสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง ที่กรุงเคียฟ เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ โดยคู่สมรสของผู้นำระดับโลกร่วมกับผู้เชี่ยวชาญระดับนานาชาติรวมทั้งยูเครนจะหารือเกี่ยวกับความท้าทายและแนวทางแก้ไขล่าสุดในด้านการศึกษา สุขภาพ สิทธิที่เท่าเทียมกันสำหรับชายและหญิง”

 

นางโอเลนา เซเลนสกา (Mrs. Olena Zelenska) ภริยาประธานาธิบดียูเครน

 

“ปัจจุบัน ยูเครนอยู่ในโซน ‘สีเขียว’ (Green List) ดังนั้น จึงไม่มีข้อจำกัดที่เข้มงวดมากนักในการจัดงานเฉลิมฉลองวันชาติที่ประเทศยูเครน แม้ว่าเราต้องการจะจัดงานนี้ที่ประเทศไทยอย่างที่ผ่านมา แต่น่าเสียดายที่ปีนี้จะไม่เป็นเช่นนั้น เนื่องจากสถานการณ์ COVID-19 เราทำได้เพียงการโพสต์เรื่องราวในโซเชียลเน็ตเวิร์ก”

ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป (EU) เห็นชอบให้เพิ่มยูเครนในรายชื่อประเทศที่พลเรือนสามารถเดินทางเข้า EU ในช่วงที่ยังมีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เพราะยูเครนมีผู้ติดเชื้อรายใหม่อยู่ที่ 18 รายต่อประชากร 100,000 คน ณ วันที่ 4 กรกฎาคม ตามข้อมูลจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งยุโรป (ECDC) สวนทางกับไทยและรวันดา ที่ถูกปลดพ้นจากบัญชีประเทศปลอดภัย จากถ้อยแถลงของคณะมนตรียุโรป ซึ่งเป็นตัวแทนของรัฐสมาชิก 27 ชาติของ EU โดยก่อนหน้านี้ในเดือนมิถุนายน EU จัดให้ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศหรือดินแดนที่มีความปลอดภัยจากโควิด-19 สามารถเดินทางเข้า EU ได้ไม่ว่าฉีดยาแล้วหรือไม่ก็ตาม

ส่วนประเทศอื่นๆ สามารถเพิ่มลงในบัญชีรายชื่อสีเขียวของ EU ได้เช่นกัน แต่ต้องมีจำนวนผู้ป่วยโควิด-19 ต่ำกว่า 75 คนต่อประชากร 100,000 คน และเป็นเวลาอย่างน้อย 14 วัน ในกรณีของยูเครน มีอัตราผู้ติดเชื้อเกินกว่า 18 คนเพียงเล็กน้อยเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม เปรียบเทียบกับ 97.3 คนในประเทศไทย และ 90.9 คนในรวันดา

ไทยและรวันดาจึงถูกถอดออกจากประเทศที่ได้รับอนุญาต

 

นายพาฟโล โอเรล (Pavlo Orel) อุปทูตรักษาการแทนเอกอัครราชทูตยูเครนประจำประเทศไทย