เครื่องเคียงข้างจอ l Midnight Diner : Tokyo Stories / วัชระ แวววุฒินันท์

วัชระ แวววุฒินันท์

 

 

Midnight Diner : Tokyo Stories

 

ช่วงนี้โลกของเราอุดมไปด้วยเรื่องร้ายๆ เกิดขึ้นไม่เว้นแต่ละวัน

สำหรับวิกฤตโควิด-19 นั้น ได้จองกฐินยาวเลยไปถึงปีหน้าแน่นอน มนุษย์โลกอย่างเราๆ ในทุกพื้นที่ยังต้องเผชิญกับความเสี่ยงอยู่ อาจจะหนักเบาต่างกันไปในแต่ละประเทศ

ไม่เท่านั้น ภัยธรรมชาติก็เหมือนเคราะห์ซ้ำกรรมซัด ในช่วงหนึ่งเดือนที่ผ่านมานี้ มีทั้งภัยพิบัติจากไฟไหม้ขนาดใหญ่ในประเทศของหลายๆ ทวีปพร้อมๆ กัน นอกจากไฟแล้วยังมีน้ำมาซ้ำเติมที่หลากไหลมาท่วมพื้นที่อย่างฉับพลันแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในรอบหลายสิบปี

ประเทศตุรกีนั้นโดนเบิลเลย มีทั้งไฟไหม้ และ น้ำท่วม เอาเข้าไป

พี่ใหญ่อย่างแผ่นดินไหวก็ไม่น้อยหน้า ล่อประเทศเฮติไปในระดับ 7.2 แมกนิจูด สร้างความเสียหายแก่บ้านเรือนเกือบสี่หมื่นหลัง

มนุษย์อย่างเราๆ คงกลัวว่าจะน้อยหน้าธรรมชาติ เลยลุกขึ้นมาสร้างความโกลาหลในแบบต่างๆ ทั้งการประท้วงผู้นำในหลายประเทศ รวมทั้งในไทยแลนด์ของเราด้วย ทั้งการบุกยึดอำนาจเปลี่ยนมือการปกครองอย่างที่เกิดขึ้นกับกลุ่มทาลิบันในประเทศอัฟกานิสถาน

ใครที่นิยมเสพข่าว เชื่อว่าคงรู้สึกหดหู่กับเรื่องราวความวุ่นวายบนโลกมนุษย์ใบนี้ไม่น้อยเลย

 

เครื่องเคียงข้างจอฉบับนี้ จึงขอชวนให้ละจากโลกความจริง มาสู่โลกแห่งจินตนาการจากการดูซีรีส์ใน Netflix กันสักหน่อยดีกว่า

เป็นซีรีส์ของญี่ปุ่นครับชื่อว่า Midnight Diner : Tokyo Stories มี 2 seasons แต่ละ season ก็มีอยู่ 10 ตอน ตอนหนึ่งก็ดูสั้นๆ แค่ยี่สิบห้านาทีก็จบ เหมาะสำหรับผู้มีเวลาไม่มากนักในการชม

เรื่องราวของซีรีส์ก็เป็นตามชื่อเรื่องเลยครับ คือ เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นที่ร้านอาหารเล็กๆ แห่งหนึ่งในย่านการค้าที่หนาแน่นอย่างชินจูกุ ชื่อร้านในภาษาญี่ปุ่นคือ “Shinya Shokudo” แต่ลูกค้าเรียกว่า “ร้านอาหารเที่ยงคืน” ที่พอดึกๆ ร้านค้าต่างๆ ก็เริ่มปิด ธุรกิจกลางคืนบางแห่งก็เพิ่งเริ่ม และร้านอาหารเที่ยงคืนนี้ก็เปิดให้บริการอาหารและเครื่องดื่มในเวลาเที่ยงคืน ไปปิดเอาตอน 7 โมงเช้า

จึงเหมาะสมอย่างยิ่งสำหรับลูกค้าที่ใช้ชีวิตกลางคืน ไม่ว่าจะเป็นชีวิตการทำงาน หรือชีวิตส่วนตัว ที่พอดึกๆ แล้วก็ยังได้อิ่มท้องกับอาหารอร่อยๆ ที่ร้านนี้

ในซีรีส์จะแสดงโลเกชั่นให้เห็นว่า ร้านนี้ซุกซ่อนตัวอยู่ในตรอกแคบๆ ที่อนุญาตให้คนเดินเท่านั้น อย่างดีก็อาจจะมีมอเตอร์ไซค์คันเล็กๆ วิ่งเข้ามาบ้าง เป็นตรอกที่แยกตัวออกมาจากถนนใหญ่ ไม่ใช่โลเกชั่นยอดยนิยมของนักท่องเที่ยว ต้องคนที่รู้จักร้านเท่านั้น

ถึงอย่างไรก็ดี ในบางตอนก็แสดงให้เห็นว่ามีลูกค้าเสาะหาร้านนี้จากที่มีการเช็กอินเอาไว้โดยคนที่เคยมากิน นัยว่าต้องมากินเพื่อเป็นประสบการณ์ของชีวิตอย่างหนึ่ง

เจ้าของร้านเป็นผู้ชายวัยหกสิบกว่าปี สุขุมใจเย็น พูดน้อย สนุกกับการฟังลูกค้าสนทนากันมากกว่า เขาทำอาหารตามสั่ง ใครอยากกินอะไรบอกมา ถ้าเขามีวัตถุดิบก็จะทำให้ หรือไม่ก็ดัดแปลงของที่มีให้ใกล้เคียงกับที่ลูกค้าอยากกิน

สำหรับลูกค้าขาประจำบางคนก็หิ้ววัตถุดิบมาเอง ยื่นให้เจ้าของร้านปรุงตามเมนูที่อยากกิน

อาหารญี่ปุ่นนั้นมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวในการปรุง การจัดหน้าตาเวลาเสิร์ฟที่มีหลักคิดซ่อนอยู่ไม่ได้สักแต่ทำสักแต่จัด เจ้าของร้านเป็นพ่อครัวที่มีฝีมือในการปรุง เวลาเขาทำอาหารจะดูง่ายๆ ไม่ซับซ้อนแต่ซ่อนความใส่ใจและพิถีพิถันในการเลือกวัตถุดิบ เวลาเสิร์ฟก็จะมีข้อแนะนำในการกินให้กับลูกค้าด้วย

เรียกว่าคนดูซีรีส์เรื่องนี้ต้องหิวไปด้วยแน่นอน

 

แต่แก่นของเรื่องไม่ใช่เรื่องการทำอาหาร หากแต่เป็นเรื่องราวชีวิตของลูกค้าที่แวะเวียนเข้ามาในแต่ละตอน เมนูที่เป็นชื่อตอนจะสัมพันธ์กับเรื่องราวของคนคนนั้น อาหารง่ายๆ ที่ลูกค้าสั่งมากินจะซ่อนเรื่องราวความผูกพันแต่หนหลังเอาไว้ และมันจะค่อยๆ เผยเป็นประเด็นเรื่องในตอนนั้นให้ผู้ชมได้ติดตาม

ซึ่งมีหลายรสชาติทั้งสุข เศร้า ตลก ซาบซึ้ง เหมือนกับชีวิตคนเราจริงๆ และเหมือนอาหารที่มีหลากรส

ทั้งหมดนี้มีลูกค้าประจำกลุ่มหนึ่งที่เวียนมาปรากฏตัวเสมอๆ จนเรารู้สึกคุ้นเคยเหมือนเป็นเพื่อนบ้านของเรา รู้ว่าคนนี้มีนิสัยใจคออย่างไร ทำอาชีพอะไร ชอบกินอะไรเป็นพิเศษ และกลุ่มลูกค้าประจำเหล่านี้ก็มักจะมีความสัมพันธ์กับลูกค้าใหม่ๆ ที่เป็นตัวเอกของตอนนั้น

อย่างน้อยก็ช่วยรับฟังเรื่องราวของเขา เป็นที่ให้เขาได้ระบาย บางคนก็ออกความเห็นแนะนำไป บ้างก็ช่วยแก้ปัญหาตามประสบการณ์ของตน บ้างก็ซ้ำเติมและทำให้เรื่องราวไปกันใหญ่ก็มี

สังคมในร้านจึงเป็นสมุดบันทึกให้เราได้เรียนรู้ชีวิตคนที่หลากหลาย แตกต่างกันออกไป ที่ได้เห็นอย่างหนึ่ง แต่จริงๆ ที่ซ่อนอยู่อาจไม่ใช่ แบบที่ว่าอย่าพยายามตัดสินใครเลยจะดีกว่า

ลูกค้าประจำคนหนึ่งมีท่าทีที่ไม่เป็นมิตรเลย เพราะเป็นอดีตยากูซ่า พูดจาก็ไม่เข้าหูใคร แต่จริงๆ เป็นคนที่ชอบช่วยเหลือคนในวิถีที่ตนถนัด

ลูกค้าคนหนึ่งเป็นกะเทยสูงวัยที่แต่งหญิงและแต่งหน้าจัดจ้านเสมอ ในอดีตนั้นเขาเคยเป็นนักแสดงทางโทรทัศน์มาก่อน รับบทเป็นซูเปอร์ฮีโร่ปราบอธรรมเพื่อผดุงความสงบสุขให้โลกมาแล้ว จากฮีโร่แบบแมนๆ วันนี้ได้กลายเป็นกะเทยไปเสียแล้ว

ลูกค้าคนหนึ่งชื่อ “มารีลีน” เป็นนักเต้นกลางคืน ที่ใช้เรือนร่างโชว์ลีลายั่วน้ำลายผู้ชายสูงวัยในบาร์เล็กๆ ลูกค้าประจำในร้านคนหนึ่งก็เคยเกาะขอบเวทีชมเธออ้าขาบ่อยๆ แต่เธอก็ได้รับความเคารพจากลูกค้าคนอื่น เพราะให้เกียรติว่าเป็นอาชีพหนึ่งเท่านั้น

มีลูกค้าหญิงสามคนที่มักมากินอาหารที่นี่ด้วยกัน เธอทั้งสามชอบแสดงความรู้สึกร่วมกับลูกค้าคนอื่นๆ เสมอ เสียงสูงเสียงต่ำของพวกเธอเวลาพูดคุยทำให้ร้านมีสีสันไม่น้อย ทั้งสามเป็นตัวแทนของผู้หญิงวัยกลางคนที่มีขนบวิธีคิดแบบญี่ปุ่นให้เราได้เรียนรู้

นอกจากตัวละครประจำในร้านอาหารนี้แล้ว ในตรอกเล็กๆ ที่ว่า ไม่ไกลจากร้าน จะมีป้อมตำรวจตั้งอยู่ มีตำรวจหนุ่มที่ทำหน้าที่อย่างซื่อสัตย์รับผิดชอบงานอย่างแข็งขันเป็นตัวละครประจำ เขาเป็นที่หมายปองของสาวขายบะหมี่ที่อยู่ฝั่งตรงข้าม ที่มักหาทางจีบผู้ชายในเครื่องแบบคนนี้เสมอ

 

ตัวละครยังมีอีกหลายคนให้เราได้รู้จัก แต่แน่นอนที่ศูนย์กลางของเรื่องคือ “ชายเจ้าของร้านอาหาร” คนนั้น ที่แม้แต่ชื่อของเขาเราก็ไม่รู้ เพราะลูกค้าทุกคนพากันเรียกเขาว่า “คุณเจ้าของร้าน” เสมอ แสดงโดยนักแสดงอาวุโสมากฝีมือที่ชื่อ “คาโอรุ โคบายาชิ”

ผู้ออกแบบซีรีส์ให้เจ้าของร้านมีรอยแผลเป็นยาวที่ใบหน้าด้านซ้าย โดยไม่ได้เฉลยให้รู้ด้วยว่าเกิดจากอะไร แต่มันทำให้เรารู้สึกว่าเขาเป็นชายที่มีประสบการณ์โชกโชนคนหนึ่ง และคนมีประสบ การณ์อย่างเขามักทำตัวเป็น “ผู้ฟัง” ที่ดี หากลูกค้าไม่ถาม เขาก็จะไม่แสดงความคิดเห็นออกมาก่อน นอกจากจะจำเป็น แต่ก็เป็นการแสดงความเห็นแบบสุภาพ ไม่ต่อว่า คาดคั้น หรือวางตัวเหนือกว่าลูกค้า

เขาจึงเป็นที่รักและไว้วางใจของทุกคนเสมอ โดยไม่ต้องพูดนะจ๊ะ

ลูกค้าไว้ใจที่จะเล่าเรื่องราวที่เป็นความลับของตน ไว้ใจที่ให้เขาทำอาหารให้กิน ไว้ใจที่จะฝากฝังของสำคัญบางอย่างไว้

สำหรับคนทำงานโปรดักชั่นจะรู้ได้ทันทีว่าไม่สามารถถ่ายทำจากสถานที่จริงๆ ได้ เพราะขนาดของร้านแคบมาก ที่เราเห็นนั้นคือฉากที่สร้างขึ้นมา และเป็นการสร้างไม่เฉพาะร้าน แต่สร้างทั้งตรอกขึ้นมาเลย ดังจะเห็นได้จากภาพเบื้องหลังในตอนหนึ่งช่วงท้ายๆ

ยิ่งพอรู้ว่าเป็นฉาก ยิ่งทึ่งในความใส่ใจในรายละเอียดทุกอย่างของคนทำงาน เพราะดูเหมือนฉากจริงมากๆ ดูเป็นผนังเก่าๆ จริงๆ ข้าวของเครื่องใช้ก็ดูมีอายุการใช้งานมานานจริงๆ ครัวนั้นทำอาหารได้จริงๆ ไม่ใช่หลอกถ่ายกัน

ยิ่งตรอกข้างนอกแล้วเหมือนจริงเอามากๆ ทั้งผิวของวัสดุ สายไฟที่พาดผ่าน ป้ายโฆษณา โคมไฟ และสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่เหมือนยกตรอกจริงๆ มาตั้ง ต้องยกนิ้วโป้งให้

 

ปกติเวลาดูซีรีส์เราจะสคิปไตเติ้ลตอนหัวไปหาเนื้อเรื่องเลย เพราะขี้เกียจดูไตเติ้ลซ้ำๆ แต่ไม่ใช่กับซีรีส์นี้ เพราะเพลงไตเติ้ลของซีรีส์นั้นไพเราะอย่างเรียบง่าย มีเสียงร้องนุ่มๆ ของนักร้องชายที่ได้อารมณ์ญี่ปุ่นมาก ชวนให้จิตใจที่วุ่นวายมาทั้งวันสงบลง พร้อมจะแวะหาอะไรอิ่มท้องที่ร้านอาหารร้านนี้ ก่อนจะกลับบ้านไปพักผ่อนนอนหลับ

ซีรีส์เรื่องนี้โด่งดังมานานแล้ว ญี่ปุ่นสร้างไว้ในปี 2009 โดยนำมาจากมังงะชื่อเดียวกัน ซึ่งก็ได้รับความนิยมอย่างมาก ก่อนจะถูกรีเมกไปใน 4 ประเทศ คือ ไต้หวัน ฮ่องกง จีนแผ่นดินใหญ่ และเกาหลี นั่นแสดงถึงความสำเร็จได้อย่างดี ที่ชมกันใน Netflix นั้นเป็นการกลับมาทำใหม่ในเวอร์ชั่น Tokyo Stories โดยคงเสน่ห์ของเดิมไว้ครบถ้วน

มติชนสุดสัปดาห์เองก็เคยเขียนถึงซีรีส์เรื่องนี้ไว้เมื่อ 3 ปีก่อน ในคอลัมน์เงาเกาหลี โดยมาดามหลูหลี แต่เครื่องเคียงข้างจอขอนำกลับมาเล่ากันอีกครั้ง เผื่อใครยังไม่ได้ชม

เหมาะกับการดูระหว่าง work from home ในช่วงเวลานี้อย่างมาก…ขอบอก