โฟกัสพระเครื่อง : เหรียญรุ่นแรก พ.ศ.2490 หลวงพ่อหรีด จันทสาโร พระเกจิวัดเพลง ราชบุรี

(ซ้าย) หลวงพ่อหรีด จันทสาโร (ขวา) เหรียญหลวงพ่อหรีด วัดเพลง รุ่นแรก

โฟกัสพระเครื่อง–(ฉัตรชัย สุนทรส)

โคมคำ / [email protected]

 

เหรียญรุ่นแรก พ.ศ.2490

หลวงพ่อหรีด จันทสาโร

พระเกจิวัดเพลง ราชบุรี

 

“พระครูสฤษดิ์สิกขาทร” หรือ “หลวงพ่อหรีด จันทสาโร” วัดเพลง ต.วัดเพลง อ.วัดเพลง จ.ราชบุรี อดีตพระเกจิอาจารย์ชื่อดัง ซึ่งได้รับการเล่าขานถึงพุทธาคม

สร้างพระเครื่องวัตถุมงคลและเครื่องรางของขลังไว้มากมายหลายชนิด แต่ที่มีชื่อเสียงมาก คือ เหรียญรุ่นแรก

เหรียญปั๊มรูปเหมือน ในห้วงที่ยังดำรงขันธ์อยู่นั้น ไม่ได้สร้างเหรียญปั๊มรูปเหมือนเอาไว้เลย จะมีเพียงเครื่องรางของขลังจำพวกตะกรุดเท่านั้น

ปรากฏว่า เหรียญสร้างขึ้นหลังจากที่ละสังขาร จึงนับเป็นรุ่นแรก

สร้างขึ้นในปี พ.ศ.2490 ที่ระลึกผู้ที่มาร่วมในงานศพ รุ่นนี้ได้รับการปลุกเสกจากพระเกจิชื่อดัง ทั้งจากราชบุรีและสมุทรสงคราม สร้างด้วยเนื้อทองเหลือง และเนื้อทองแดง จำนวนการสร้างไม่ได้จดบันทึกไว้

ลักษณะกลมรูปไข่ มีหูในตัว ด้านหน้าเป็นรูปเหมือนห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ ด้านบนมีอักขระยันต์ ใต้รูปเหมือนเขียนคำว่า “พระครูสฤษดิ์สิกขาทร (หลวงพ่อหรีด)”

ด้านหลังมีอักขระภาษาไทยเขียนคำว่า “ที่ระลึกในงานฌาปนกิจ วัดเพลง ๒๔๙๐” รอบเหรียญมีอักขระพุทธคาถา เขียนว่า “สิทธิกิจฺจํ สิทธิกมฺมํ สิทธิลาโภ ชโยนิจฺจํ”

ปรากฏว่าได้รับความนิยม ถึงแม้จะเป็นเหรียญตาย ที่สร้างหลังมรณภาพไปแล้วก็ตาม

 

มีนามเดิม หรีด สุคนธมาน เกิดเมื่อปี พ.ศ.2408 ที่บ้านหมู่ที่ 2 ต.วัดเพลง อ.วัดเพลง จ.ราชบุรี บิดา-มารดาชื่อ นายฉิม และนางกิม สุคนธมาน มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน 6 คน เป็นบุตรชายคนโต ครอบครัวประกอบอาชีพทำสวน

เข้าพิธีอุปสมบทเมื่อปี พ.ศ.2445 ที่พัทธสีมาวัดเพลง อ.วัดเพลง จ.ราชบุรี โดยมีพระอธิการคง วัดศรัทธาราษฎร์ จ.ราชบุรี เป็นพระอุปัชฌาย์, พระอธิการตาด วัดบางวันทอง จ.สมุทรสงคราม เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอธิการปลั่ง เจ้าอาวาสวัดเพลง เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้ฉายาว่า จันทสาโร

อยู่จำพรรษาที่วัดเพลงตลอดมา เรียนวิชาวิปัชสนากัมมัฏฐานและวิทยาคมกับหลวงพ่อปลั่ง ผู้เป็นพระอาจารย์

จนเมื่อพระอธิการปลั่งถึงแก่มรณภาพ ชาวบ้านวัดเพลงและคณะกรรมการวัด จึงได้นิมนต์ให้เป็นเจ้าอาวาสสืบแทน เมื่อปี พ.ศ.2460

พัฒนาวัดให้เจริญก้าวหน้า ทั้งได้สร้างเสนาสนะต่างๆ และการพัฒนาจิตใจของชาวบ้านให้อยู่ในศีลในธรรม

 

เล่ากันว่าในสมัยที่ยังมีชีวิตอยู่ การศึกษาเล่าเรียนของเด็กสมัยนั้นต้องใช้ศาลาวัดเป็นที่เรียน จึงได้คิดที่จะสร้างโรงเรียนประชาบาลขึ้นมา โดยเริ่มก่อสร้างด้วยตนเองเมื่อปี พ.ศ.2468

โดยขายที่ดินส่วนตัวเพื่อสร้างโรงเรียนก็ไม่สำเร็จ การเรี่ยไรเงินในสมัยนั้นมีผู้บริจาค 5 สตางค์บ้าง 10 สตางค์บ้าง กว่าจะได้เงินมากก็ใช้เวลานาน ด้วยเพราะชาวบ้านวัดเพลงมีอาชีพทำสวน และรับจ้างเสียเป็นส่วนใหญ่ ทำให้ฐานะการเงินแค่พอกินพอใช้ จึงไม่มีกำลังทรัพย์มาร่วมบริจาค

จึงทำฎีกาทูลเกล้าฯ ขอพระบรมราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ขออนุญาตเรี่ยไรเงิน ซึ่งได้ออกเรี่ยไรเงินก่อสร้างโรงเรียนจนแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2477

โดยรวบรวมเงินได้ทั้งสิ้น 10,932.30 บาท ซึ่งส่วนมากเงินที่เรี่ยไรได้มาจากชาวสุพรรณบุรี

สำหรับโรงเรียนแห่งนี้มีชื่อว่า “โรงเรียนวัดเพลง (หรีดศรัทธาประชานุกูล)” ปัจจุบันอาคารเรียนที่ก่อสร้างขึ้นได้รื้อทำใหม่แล้ว เพราะชำรุดทรุดโทรมไปตามกาลเวลา

 

มีเรื่องเล่าขานภายหลังมรณภาพไปแล้ว มีชาวบ้านจาก อ.บางปลาม้า และชาวตลาดบางลี่ อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี ซึ่งหลวงพ่อหรีดเคยนำใบฎีกาไปเรี่ยไรเงินมาสร้างโรงเรียน ได้มากราบนมัสการ หากแต่มรณภาพไปแล้ว จึงได้ถามไถ่ถึงใบฎีกาดังกล่าวจากบรรดาพระสงฆ์ภายในวัดเพลง ว่ายังคงมีเหลืออยู่หรือไม่ ขณะนั้นค้นพบเพียงใบเดียวในหีบระฆังโบราณ ซึ่งมีข้อความว่า “ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้พระอธิการหรีด สมภารวัดเพลง ทำการเรี่ยไรเงินเพื่อสร้างโรงเรียนที่วัดเพลง เพื่อให้กุลบุตรในท้องที่วัดเพลงได้เล่าเรียน…”

ใบฎีกาดังกล่าวมียันต์ 3 มุม มีอักขระขอม 3 ตัว สอบถามได้ความว่า ที่พวกเขาเดินทางมา เพื่อกราบขอใบฎีกาดังกล่าว ด้วยต้องการนำไปทำเป็นตะกรุด

ในปี พ.ศ.2477 ด้วยคุณงามความดีและความสามารถ จึงได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าคณะหมวดวัดเพลง และรับสมณศักดิ์ที่พระครูสฤษดิ์สิกขาทร วันที่ 16 มกราคม 2477

มรณภาพลงด้วยโรคชรา เมื่อปี พ.ศ.2490 สร้างความโศกเศร้าเสียใจให้แก่ชาวบ้านวัดเพลงเป็นอย่างยิ่ง

สิริอายุ 82 ปี พรรษา 45