ณ ทุ่งสังหารแห่งการเหลือรอด/อัญเจียแขฺมร์ / อภิญญา ตะวันออก

อภิญญา ตะวันออก

อัญเจียแขฺมร์ / อภิญญา ตะวันออก

 

ณ ทุ่งสังหารแห่งการเหลือรอด

 

เต็มไปด้วยความย้อนแย้งและลวงตาในตน หรือ ลวงตนในดวงตา และหลายครั้งที่ผ่านมา ตอนนั้นฉันยังมองอย่างเดียงสา และถึงแม้ว่าตอนนี้ เมื่อย้อนรำลึกนั่น พลัน คำว่าพิสดาร “แฟ็นแทสทิก” (fantastic) ช่างเริ่ดและ “เอาะจา” ในภาษาเขมรที่กลับมาอย่าง synonym หรือ “สติสนัย” นั่นปะไร

สำหรับความน่าประหลาดใจ ในบางตอนของเรื่องราวเหล่านี้ ที่ฉันบันทึกไว้แบบ “mind map” และไม่น่าใส่ใจ เหมือนสายลมที่ผ่านไปในปลายปี ’90 และเหมาะควรจะหายไปในความหมายเหล่านี้

เช่นเรียลลิสติก-ปรากฏนิยมใน “ชนบท” ทั่วไปของกัมพูชา

ส่วนเมืองหลวงและหัวเมือง-คือเซอร์เรียลลิสซึ่มหรือกึ่งเหนือจริง ภาษาเก่าเขมรเรียก “คราส” ถ้าฟุ่มเฟือยมากคือ “สุริโยไดนิยม” ซึ่งฉันไม่รู้ที่มา

แต่เอาะจา/แฟ็นแทสทิกคือ ระบบทุนนิยม และร้านรวงเพลงป๊อป วิดีโอ โทรศัพท์มือถือ ซูเปอร์มาร์เก็ตตลาดติดแอร์ลักกี้สตาร์ สินค้าไทย-ฝรั่ง รวมทั้งละครโทรทัศน์ ทั้งหมดตอนนั้นคือความเอาะจา

แต่ซุ้มขายหนังสือพิมพ์ รถถีบ 3 ล้อซิคโคล่ สำหรับชาวท้องถิ่นช่างปรากฏนิยมและเหมือนจริงที่ตกสมัย อย่างไรก็ตาม สำหรับวิสัยชาวต่างชาติ พวกเขากลับชอบมันและช่างเป็นแฟ็นแทสติกในการถ่ายรูปเป็นอนุสาวรีย์ที่น่าปลื้มปริ่ม

แต่ไม่สิ สิ่งที่แฟนตาซีกว่านั้นคือธนบัตรดอลลาร์ เงินบาท และ “หมี่ฮัว” ห้องแถวเล็กๆ ที่แลกเปลี่ยนเงินตราและให้ราคาดีที่สุดตอนนั้น ช่างแสนเรียลลิสติก

แต่ “เงินเรียล” นี่สิ! ช่างตกยุคหรือ “ฮั้วสมัย” ในความหมายเซอร์เรียลลิสติก หรือ “คราส” กัน?

แต่แล้วปรากฏการณ์สะท้านโลกวินาศกรรม “11กันยา” (2001) เมื่อเครื่องบินพุ่งชนตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ถล่มครืนลงมาที่ช่าง “เหนือจริง” และ “เซอร์เรียลลิสติก” ตามความคิดชาวเขมรตอนนั้น

แต่พอผ่านไป 20 ปีเท่านั้น ความเหนือจริงที่ว่า กลับ “ฮั้วสมัย” หรือตกยุคไปนั่น

ดูราวกับฉันกำลังเล่นเกม “mind map” ยังไงอย่างงั้น?

ช่างเป็นเกมบ้านๆ โดยใช้ปากกาด้ามหนึ่งมาจรดลงบนกระดาษแผ่นหนึ่งและขีดปลิ้นไปตามเส้น เมื่อจบลงตรงไหนก็ให้เขียนคำใดคำหนึ่งเหล่านั้นซึ่งฉันก็เขียนคำเหล่านี้ที่คุณเห็น พอยุ่งเหยิงรุงรังไปพักหนึ่ง จากนั้นคุณจะทึ่งและพบว่า ทุกสิ่งทุกอย่างบนกระดาษแผ่นนั้น ในที่สุดแล้ว

กลับมีถ้อยความที่บรรจบกัน

จะคลาดคลา หรือ “คราส” ของเวลาในแบบเซอร์เรียลลิสติก “พรี-โพสต์-โมเดิร์น” หรือวาทกรรมอันใด

ดูอย่างตอนนี้สิ จาก “11กันยา” เมื่อ 20 ปีก่อนของการถล่มอัฟกานิสถานอย่างโกลาหลแล้วตอนนี้ สิงหาคมที่ผ่านมา พลันความรักของชาวอัฟกันต่อกองทัพสหรัฐอย่างท่วมท้นก็กลับมายิ่งกว่า “คราส” มหึมาในเซอร์เรียลลิสติก “11กันยา” เมื่อ 2 ทศวรรษก่อน

น่าสนใจนะ เมื่อเทียบกับ “รากเหง้า” ลัทธิเสรีนิยมที่มากับกองทัพจีไอทั้งในเขมร 1975 สมัยกัมพูชายังกลับมาให้เห็นในชาวอัฟกันแห่งปี 2021

กล่าวคือทั้งกัมพูชาและเวียดนามต่างสิ้นใจไปล่วงหน้าเมื่อ 45 ปีแล้ว ถือเป็น “หัวหมู่ทะลวงฟัน” ที่ตายก่อน และตอนนี้อัฟกานิสถานก็เป็น “ท้าย” ในแบบทดสอบของอเมริกัน

ทั้งที่ความนิยมทรงจำหรือ nostalgia กลับยืนยงยาวนานราวกับอำนาจอ่อน (soft power) ที่แข็งแรงในความถวิลหา/nostalgia ลัทธิเสรีนิยมอย่างซ้ำไปซ้ำมา ตัวอย่างภาพยนตร์สั้นกัมพูชาตลอด 20 ปีที่ผ่านมาล้วนมีพล็อตเรื่องมาจากยุคเขมรสาธารณรัฐ (1970-75)

สรุป ความถวิลหาลัทธิเสรีนิยมใหม่จึงเป็นสิ่งอันเหมือน “คราส” เหนือจริงและเอาะจา-มหัศจรรย์อันปนด้วยความโกลาหลและเข้าตำราในความ “โดนทิ้ง” นั้นย่อมตามมาซึ่งถวิลหาและ nostalgia

แต่เชื่อไหมใน “mind map” ของฉันยังพบว่า หากเขย่าไปเขย่ามา ไฉนความยืนยงของ “11กันยา” แห่งสหรัฐอเมริกาจึงมีนาวาหดสั้นในความทรงจำของผู้คนนัก เมื่อเทียบกับ “7มกรา” ของฮุนเซนแห่งนครกัมพูชา?

ตัวอย่าง บนถนนเส้นหนึ่งของพนมเปญซึ่งมีชื่อว่า “สหภาพโซเวียตรุสเซีย” นั้น ทั้งที่ตอนนั้นชื่อของประเทศนี้มันล่มสลายไปแล้ว-เออ…กึ่งเหนือจริง-เซอร์เรียลลิสติก

ชื่อ “7มกรา” คือชัยชนะของพรรคประชาชนกัมพูชา แต่ 42 ปีที่ผ่านมาก็น่าตลกที่เรื่องทั้งหมดเหมือนเซอร์เรียลลิสติก ไม่มีใครรู้ว่าถนนเส้นนั้นมันอยู่ตรงไหน?

แต่ความจริงนั้น คืออำนาจของมันแผ่ไปทุกจุด จากจุดเล็กๆ ในพนมเปญและผ่านไปปีต่อปี ณ ที่นั่น ที่นี่ จากอัลลองแวงถึงไพลิน กระทั่งพระวิเหียร์และเสียมเรียบที่ “7มกรา” คาบเกี่ยวและครอบครองเหมือนมนต์ดำที่ไม่มีใครมองเห็น

แต่ “7มกรา” มีตัวตนและเป็นเซอร์เรียลลิสติกที่ยิ่งกว่า “คราส” ทุกยุคสมัยในกัมพูชา เนื่องจากมันอยู่ยงคงกระพันและผูกโยงกับทุกอย่างในความเป็นรัฐอำนาจราวกับว่าเป็นสัจนิยมที่ชอบธรรมของสังคม

ความจริง จะว่าไป การทำการเมืองแบบแบบชอบธรรมและเกาะเกี่ยวเชิงอุดมคตินิยม อาจไม่สำคัญอะไร เท่ากับทำให้อำนาจตนคงอยู่ได้ โดยไม่หายไป ก็เท่านั้น!

และ “7มกรา” คือสิ่งนั้น

จะ “เทียนอันเหมิน” ที่เงียบยัน หรือ “8-8-88” ของย่างกุ้ง, “14ตุลา16”, “6ตุลา19”, “พฤษภา35” “ราชประสงค์53” แห่งกรุงเทพฯ และ “11กันยา”

ผลพวงอันตรงข้ามที่ผันไปตามเวลา และเป็นไปอย่างปรากฏนิยมที่เปลี่ยนแปลงไปตามกระแสและด้วยเหตุนั้น

ปรากฏการณ์ในอัฟกานิสถานหลัง 20 ปี “11กันยา” ที่เคลื่อนไปตามลัทธิเสรีนิยมใหม่ในคาบูลอันเฉื่อยชา ไม่ต่างจากพนมเปญเมื่อ 50 ปีก่อน

เราจะไม่พูดเรื่องเพราะสงครามกลางเมืองหรือเงื่อนไขสงครามเย็นและศาสนา

เพราะหากจะว่าไป “7มกรา” ก็เกิดขึ้นมาด้วยเหตุผลนั้น แต่มันกลับเป็นสิ่งเดียวที่เหลือรอดราว ไม่ต่างจากลัทธิสังคมนิยมพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่ยืนยงครบร้อยปี

ช่างท้าทายอำนาจใดในเชิงวัฒนธรรม เมื่ออีก 8 ปีเท่านั้น “7มกรา” ก็จะครบกึ่งศตวรรษ

อย่าแปลกใจไปเลยนะ เรายังมีตัวอย่างของความแปลก-แฟ็นแทสติกของอำนาจอ่อนที่ซ่อนอยู่ในทุกมุมของกรุงพนมเปญ ตั้งแต่ถนนเก่าแก่ที่เปลี่ยนชื่อว่า “เมาเซตุง” ต้น ’90 จุดเริ่มต้นเชิงพาณิชย์ของพรรคคอมมิวนิสต์ที่ส่งถึงกัมพูชา

แล้วฮานอยล่ะ?

ในแง่งาม “อำนาจอ่อน” แล้ว ประเทศนี้ในเชิงสาธารณชนแล้ว ไม่พบว่ามีภาษาเวียดนามเว้นเสียแต่เอกชนการค้าและพาณิชย์ แต่ในความจริงแล้ว พวกเขาลืมไปว่า “7มกรา” คือหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ยิ่งกว่าทั้งหมดทั้งอำนาจแข็งและอ่อนในระบอบที่ฉายโชนมาครบ 42 ปีโดยระบอบพรรคเดียว

ใน “mind map” ของฉันยังพบว่า “7มกรา” มีจุดแข็งมากมายแต่ไม่ใช่สิ่งสำคัญที่จะกล่าวถึงเมื่อพบว่า จุดอ่อนต่างหากเล่าที่ไม่ใช่อื่นใดแต่เป็น “อำนาจอ่อน” ของคำว่าวัฒนธรรม “ปอณ์” ที่แปลว่า “สี” ที่ยังหมายถึง “ปฏิวัติวัฒนธรรม” ในภาษาเก่าของพรรคคอมมิวนิสต์

แต่ ณ วันนี้มันคือ “ป๊อป!”

“ป๊อปวัฒนธรรม” อำนาจอ่อนที่แข็งแกร่งและเกินกว่าจะต้านทาน สำหรับสมรภูมิใหม่ในการต่อสู้กับทุกๆ สิ่งที่ไม่ถูกสงสัยและตั้งต้นด้วยคำถามซึ่งล้วนแต่น่าแปลกปลอม

แต่เชื่อไหม สมเด็จฮุนเซนนั้นเก่งมาก เขาไหวตัวและลงมือปราบปรามในกลุ่มที่ถูกป้ายหัว “ปฏิวัติสี” เคลื่อนไหวทางวัฒนธรรม”

ด้วยเหตุนั้น ความ “ป๊อป” ในกัมพูชาจึงยังสิ้นแรงไม่ไหวติงและเอาะจาแบบประเทศเพื่อนบ้าน

กระนั้น อย่าได้ย่ามใจไปว่า “อำนาจอ่อน” ชนิดนี้จะไม่มีวันตื่นขึ้นและค้นพบคุณสมบัติพิเศษที่มากมายทรงพลัง ซึ่งความตื่นตัวของระบอบฮุนเซนในการเฝ้ามองปรากฏการณ์อันเหนือจริง

และยิ่งกว่าโกลาหลทุกหย่อมหญ้าของกรุงเทพฯ