2503 สงครามลับ สงครามลาว (44)/บทความพิเศษ พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

บทความพิเศษ

พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

 

2503 สงครามลับ

สงครามลาว (44)

 

การรบที่สำคัญ

ตลอดระยะเวลา 1 ปี พ.ศ.2513-2514 ปรากฏการรบที่สำคัญของหน่วยทหารประจำการตามโครงการวีพี

ซึ่งเป็นการต่อสู้โดยตรงกับหน่วยทหารเวียดนามเหนือที่ส่งกำลังเข้าปฏิบัติในพื้นที่ประเทศลาวอย่างเต็มที่

ดังนี้

 

การรบที่เมืองซำทอง

วันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ.2513 ทหารเวียดนามเหนือเข้าโจมตีกองร้อยทหารปืนใหญ่ เอวีพี-2 ที่เมืองซำทอง โดยเมื่อเวลาประมาณ 20.00 น. กองร้อยทหารปืนใหญ่ได้ยินเสียงปืนดังขึ้น 1 นัดทางด้านทิศใต้ของเมืองซำทอง สอบถามไม่ใช่เสียงปืนจากฝ่ายเรา

ครั้นเวลา 22.30 น. ตรวจการณ์พบการเคลื่อนไหวผิดสังเกต

ตรวจการณ์อีกครั้งพบข้าศึกจำนวนประมาณ 20 คน คาดว่าเป็นหน่วยกล้าตาย (แซปเปอร์) เมื่อข้าศึกเข้ามาถึงลวดหนาม ผบ.ร้อยจึงสั่งยิง ข้าศึกหยุดการเคลื่อนไหวและถอนตัวกลับไป ทิ้งศพไว้ 5 ศพ

รุ่งขึ้นวันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ.2513 เวลา 01.45 น. ต่อเนื่องจากเหตุการณ์แรก ข้าศึกระดมยิงที่ตั้งกองร้อยทหารปืนใหญ่ เอวีพี-2 ด้วยจรวดขนาด 122 ม.ม. ขณะเดียวกันกำลังข้าศึกประมาณ 30 คนเข้าโจมตีทางด้านเหนือ เกิดการปะทะกันอย่างรุนแรง

ฝ่ายเรากดระเบิดเคลย์โมร์ 2 ลูก ข้าศึกถอนตัวไป

ทิ้งศพไว้ 8 ศพ ฝ่ายเราเสียชีวิต 1 นาย บาดเจ็บ 4 นาย ฝ่ายข้าศึกเสียชีวิตทั้งหมด 13 นาย

ยึดปืนอาก้า 47 ได้ 4 กระบอก เครื่องยิงจรวด RPG บี 40 ได้ 2 กระบอก พร้อมลูกจรวด 5 ลูก ดินระเบิด 100 แท่ง และกระสุนปืนอาก้าอีกจำนวนมาก

 

การรบที่ภูล่องมาด

วันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ.2513 4 วันถัดมา ต่อเนื่องจากความพยายามในการเข้าตีกองร้อยทหารปืนใหญ่ เอวีพี-2 ที่บ้านนา ข้าศึกเริ่มเปิดฉากการโจมตีกองพันทหารราบ ไอวีพี-12 ที่ภูล่องมาด ด้วย ค.120

ฝ่ายเราตอบโต้ด้วยปืนใหญ่ 105 ม.ม. จากฐานยิงซีบร้า

เวลา 02.10 น. ข้าศึก 1 กองร้อยสนับสนุนด้วย ค.120 ม.ม. และจรวด RPG เข้าโจมตีที่ตั้งกองพันทหารราบ ไอวีพี-12 ประมาณ 1 ชั่วโมง ฝ่ายเราต่อต้านอย่างเหนียวแน่น ข้าศึกไม่ประสบความสำเร็จในการเข้าตีจึงถอนตัวไปทางทิศตะวันออก

ฝ่ายเราเสียชีวิต 2 นาย บาดเจ็บเล็กน้อย 2 นาย

ข้าศึกเสียชีวิตทิ้งศพไว้ 9 ศพ ปืนอาก้า 3 กระบอกระเบิดมือ 11 ลูกระเบิด TNT 42 แท่ง เครื่องยิงจรวด RPG บี 40 1 กระบอก

 

การรบที่บ้านนา

วันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ.2513 เป็นช่วงฤดูหนาว อากาศหนาวเย็นมาก ข้าศึกส่งหน่วยแซปเปอร์ (กองพันดักกง 27) ประมาณ 150 คนเข้าโจมตีกองพันทหารราบ ไอวีพี -13 ซึ่งตั้งฐานร่วมกับฐานปืนใหญ่พันเชอร์ (Puncher) ของกองร้อยทหารปืนใหญ่ เอวีพี-1

ข้าศึกเริ่มโจมตีด้วย ค. 120 ม.ม. และ ค. 82 ม.ม. รวมทั้งจรวดชนิดต่างๆ พร้อมด้วยปืนใหญ่จากทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของทุ่งไหหิน ติดตามด้วยการโจมตีจากหน่วยทหารราบ

การสู้รบเป็นไปอย่างรุนแรงถึงขั้นตะลุมบอน ได้รับการสูญเสียมากทั้งสองฝ่าย

ฝ่ายเราสามารถรักษาที่มั่นบ้านนาไว้ได้ กำลังพลเสียชีวิต 13 นาย บาดเจ็บสาหัส 30 นาย บาดเจ็บเล็กน้อย 7 นาย บังเกอร์เสียหาย 8 แห่ง เอ็ม 16 เสียหาย 30 กระบอก

ข้าศึกเสียชีวิตทิ้งศพไว้ 45 ศพ อาก้า 47 15 กระบอก เครื่องยิงจรวด RPG 40 บี 40 3 กระบอก ลูกระเบิด 10 ลูก ดินระเบิดอีกจำนวนมาก

การรบที่บ้านนาครั้งนี้ถือเป็นการรบที่รุนแรงที่สุดในรอบปี พ.ศ.2513

หน่วยกำลังรบของฝ่ายเราที่วางกำลังที่บ้านนาซึ่งข้าศึกพยายามทุ่มเทกำลังเข้ายึดให้ได้นี้คือ กองพันทหารราบ ไอวีพี-13 และกองร้อยทหารปืนใหญ่ เอวีพี-1

 

กองพันทหารราบ BI 15

กองพันทหารราบ BI 15 หรือชื่อรหัสเดิม “ไอวีพี-13” เป็นหน่วยที่ 3 ที่เข้าปฏิบัติการตั้งแต่ 10 พฤษภาคม 2513 โดยเข้าที่ตั้งขั้นต้นบริเวณภูล่องมาด

การเข้าปฏิบัติการของหน่วยนี้ทำให้กำลังของไทยมีกำลังครบ 1 กรมผสมตามแผน และเป็นผลให้การสถาปนาพื้นที่บริเวณล่องแจ้ง-ซำทอง-ภูล่องมาด ของฝ่ายกองทัพแห่งชาติลาวมีความมั่นคงจนกำลังของฝ่ายเวียดนามเหนือไม่สามารถคุกคามล่องแจ้งได้อีกต่อไป

ต่อมา กองพันทหารราบ BI 15 ได้เคลื่อนย้ายเข้าที่ตั้งบริเวณบ้านนา ร่วมกับกองร้อยทหารปืนใหญ่ BA 13 หรือชื่อรหัสเดิม เอวีพี -1 เพื่อสนับสนุนการขยายผลเข้าสู่ทุ่งไหหินของฝ่ายกองทัพแห่งชาติลาว ภาค 2 หน่วยนี้ได้สร้างวีรกรรมไว้ที่บ้านนา และสามารถยึดบ้านนาไว้ได้อย่างเหนียวแน่น

ถึงแม้ว่ากำลังของฝ่ายเวียดนามเหนือจะพยายามทำการปิดล้อมและทุ่มเทความพยายามเข้าตีอย่างรุนแรงสนับสนุนด้วยการยิงด้วยอาวุธหนักเป็นจำนวนมากหวังผลแตกหักก็ตาม

การรบครั้งสำคัญเมื่อ 26 พฤศจิกายน พ.ศ.2513 นี้ ร.ท.ประจักษ์ วิสุตกุล (ยศสุดท้ายพลตรี- รองแม่ทัพภาคที่ 2) “หัวหน้าใจ” ซึ่งอยู่ในเหตุการณ์ได้เขียนบันทึก “นรกบ้านนา” ซึ่งนับเป็นเอกสารทางประวัติศาสตร์ที่มีคุณค่ายิ่ง

ดังนี้

 

“บันทึก ‘นรกบ้านนา’…”

ร.ท.ประจักษ์ วิสุตกุล กลับจากราชการสงครามเวียดนามใต้ เมื่อกลางปี พ.ศ.2512 แล้วรับราชการหน่วยเดิมที่กองพันทหารราบที่ 2 กรมผสมที่ 3 นครราชสีมา จากนั้นได้อาสาสมัครไปราชการลับในประเทศลาว ตำแหน่งผู้บังคับหมวดที่ 1 กองพันทหารราบ BI 15 ซึ่งมี ร.อ.สุรายุทธ์ เจริญพันธุ์ เป็นผู้บังคับกองร้อย และ พ.ท.ไพศาล คำสุพรหม เป็นผู้บังคับกองพัน

เมื่อเดินทางถึงพื้นที่การรบ ในชั้นแรกได้รับมอบหมายให้นำกำลังหมวด 1 ขึ้นยึดรักษาพื้นที่ปีกขวาของแนวสกายไลน์ เป็นเวลาประมาณ 1-2 เดือน ซึ่งไม่มีการปะทะรุนแรง

เมื่อฝ่ายข้าศึกถอนตัวจากแนวสกายไลน์แล้ว ได้รับคำสั่งให้เคลื่อนย้ายไปทำหน้าที่ป้องกันฐานปืนใหญ่ 155 ม.ม.ฐานยิง “โรมิโอจูเลียต” ติดถ้ำตำลึงและภูล่องมาดซึ่งเป็นแนวรบที่สอง

“ประมาณปลายตุลาคม หรือต้นพฤศจิกายน 2513 หมวดของผมถูกคำสั่งด่วนให้ย้ายกำลังไปอยู่แนวล่าสุดที่บ้านนาโดยด่วน ใช้การเคลื่อนย้ายด้วย ฮ. ผมได้สั่งให้ทหารรวบรวมอาวุธกระสุนให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้เอาไปให้หมด โดยเฉพาะระเบิดมือ เอ็ม 26 เกือบพันลูกซึ่งต้องแอบเอาไปและแพ็กอย่างดี มิฉะนั้น นักบิน ฮ.ไม่ยอมให้เอาขึ้นไป ฮ.นำหมวดผมมาลงที่บ้านนาซึ่งเป็นฐานที่มั่นใหญ่ของฝ่ายเราในแนวหน้าสุด”

“วินาทีแรกที่เหยียบที่บ้านนา ผมมองดูภูมิประเทศโดยรอบแล้วรู้สึกด้วยสัญชาตญาณว่าที่นี่คือนรกชัดๆ เป็นที่ราบแอ่งกระทะ ล้อมรอบด้วยภูเขาสูงรอบด้าน ทิศตะวันตกเฉียงเหนือติดทุ่งไหหิน ทิศตะวันออกมีแนวสันเขาสูงชัน BI 14 ยึดอยู่ห่างจากบ้านนาประมาณ 10 กิโลเมตร ด้านทิศใต้เป็นเนินอานม้าห่างไปประมาณ 1-2 ก.ม. ด้านทิศตะวันตกเป็นทิวเขายาว มียอดเล็กใหญ่สูงต่ำลดหลั่นกัน”

“หมวดผมรับผิดชอบพื้นที่ของกองพันด้านทิศใต้ติดกับฐานปืน ‘พันเชอร์’ 105 และ 155 ม.ม. มี ‘หน.เกริก’ (ร.อ.นานศักดิ์ ข่มไพรี/บัญชร) เป็น ผบ.ฐาน มีเพื่อนรุ่นเดียวกับผมอยู่ 3 คน คือ ร.ต.คำรบ แสงจันทร์ไทย (เสียชีวิตโดนปืนใหญ่ข้าศึกที่ฐานบ้านนา) ร.ต.นิมิต อุ่ยอวยผล ผบ.มว.ป้องกันฐานยิง (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น ‘กิตติศักดิ์ ผลอวยพร’/บัญชร) และ ร.ต.ประเสริฐ กาสุวรรณ ‘ไอ้ย้ง’ นายทหารอำนวยการยิง ให้อุ่นใจขึ้นบ้าง อย่างน้อยมีเพื่อนปืนใหญ่ถึง 3 คน”

“ผมเป็นทหารราบเพียงคนเดียว”