ธงทอง จันทรางศุ | เรียนประวัติศาสตร์ ไม่ใช่เพื่อ ‘รัก’ แต่ ‘รู้-เข้าใจ’ ชาติ

ธงทอง จันทรางศุ

ไม่กี่วันที่ผ่านมา ผมได้รับความกรุณาจากกระทรวงศึกษาธิการให้ไปพูดคุยออนไลน์กับคุณครูที่อยู่ตามโรงเรียนต่างๆ ทั่วประเทศ เกี่ยวกับเรื่องการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ในทัศนะของผม

ผู้จัดรายการบอกว่ามีคนติดตามฟังสดอยู่ประมาณ 30,000 คน เกิดมาไม่เคยพูดอะไรที่มีคนฟังพร้อมกันมากถึงขนาดนี้มาก่อน

ตื่นเต้นสิครับ

พอตื่นเต้นแล้วก็เลยต้องทำการบ้านหนักหน่อย

ผมผู้เป็นจำเลยรับสารภาพหน้าชื่นตาบานว่า ผมไม่บังอาจที่จะนิยามตัวผมเองว่าเป็นนักประวัติศาสตร์ เพราะไม่ได้เรียนมาในทางวิชานี้โดยตรง

ความรู้ที่มีอยู่กับตัวก็เป็นความรู้ที่เกิดจากวิธีการครูพักลักจำเสียมากกว่า

หลายท่านย่อมรู้อยู่แล้วว่าผมเป็นนักกฎหมายโดยวิชาชีพ แต่ความสนใจดั้งเดิมก่อนมาเรียนกฎหมายก็หนีไม่พ้นเรื่องประวัติศาสตร์ เรื่องภาษาไทยหรืออะไรทำนองนี้

ลงท้ายแล้วผมเลยนำเอาเรื่องราวสองอย่างคือ ความรู้กฎหมายกับความสนใจประวัติศาสตร์มาบวกรวมกันเข้าแล้วกลายเป็นวิชาที่ตัวเองใช้สอนหนังสือมา 40 ปีเศษ

คือ วิชาประวัติศาสตร์กฎหมายไทย

นับว่าพอถูไถไปได้นะครับ

 

เมื่อมาถึงคราวตกที่นั่งลำบากต้องไปพูดต่อหน้าครูบาอาจารย์ทั้งประเทศอย่างนี้ผมก็ตั้งคำถามกับตัวเองเสียก่อนเป็นเบื้องต้นว่า การเรียนวิชาประวัติศาสตร์เรียนไปทำไมและเรามุ่งหวังจะให้เกิดอะไรขึ้นกับผู้เรียน

ยังไม่ต้องไปค้นคว้าวิชาการอะไรมากหรอกครับ แต่ผมได้ยินคนบ่นพึมพำอยู่เสมอ เด็กยุคปัจจุบันนี้ไม่ได้เรียนวิชาประวัติศาสตร์จึงไม่รักชาติเหมือนคนรุ่นที่เป็นผู้ใหญ่ทั้งหลาย

อาจจะแปลได้กระมังว่า มีคนจำนวนไม่น้อยคาดหวังว่าการเรียนวิชาประวัติศาสตร์จะทำให้เกิดความรักชาติขึ้นในหัวใจ

คำถามที่ซ้อนขึ้นมาสำหรับผมคือ แล้วชาติคืออะไรเล่า

 

บรรพบุรุษของผมโดยตรงท่านหนึ่งเขียนคำอธิบายว่าชาติคืออะไรไว้เมื่อพุทธศักราช 2476 ว่า

“ชาตินั้นเป็นนามสมมต คืออาศัยเหตุที่บุคคลเกิดมาร่วมเมืองร่วมประเทศมากมาย จึงให้นามสมมตว่า บุคคลที่เกิดร่วมมือร่วมประเทศสืบต่อกันมาทั้งนี้ว่าเป็นชาติ คือรวมเป็นเครื่องหมายว่า ชาติไทย หรือญวน เขมร ชาติไม่มีตัวตน เพราะฉะนั้น การรักชาติเกิดขึ้นฉันใด ย่อมอาศัยเหตุผลดังจะได้กล่าวต่อไป เราทุกคนย่อมรักตัวเองและรักความสุขของตน เมื่อเรามีความรักเช่นนี้ เราก็ต้องรฤกถึงบิดามารดาผู้ให้ความเกิดแก่เรา ให้ความเลี้ยงดูอุปการะเรามาจนเติบโต อะไรที่เป็นส่วนตอบแทนท่านในชั้นต้น ก็คือความรักและความรู้สึกพระคุณของท่าน แล้วเราก็ต้องระลึกต่อไปถึงท่านผู้ให้ความบังเกิดแก่ท่านบิดามารดาของเรา แลผู้อุปการะช่วยเหลือท่าน เพราะฉะนั้น ความรักความรู้สึกพระคุณก็สูงขึ้นสู่ชั้นเป็นลำดับ ตลอดถึงบรรดาประชาชนที่ร่วมชาติเกิดว่าเป็นผู้ที่มีส่วนช่วยกันรักษาประเทศบ้านเกิดเมืองมารดา ความรักจึงบังเกิดมีสำหรับชาติ”

สรุปรวมความคือคุณทวดของผมบอกว่าชาตินั้นเป็นของสมมุติ และคำว่าชาติในทัศนะของท่านนั้นหมายความถึงผู้คนที่เกิดมาร่วมแผ่นดินเดียวกันกับเรานั่นเอง

ท่านใช้คำว่าประชาชนด้วยนะครับ ว้าววววว

ท่านเขียนไว้เมื่อ 88 ปีมาแล้ว สำหรับผมผู้ประกอบด้วยอคติแล้วจึงเห็นว่า ความเห็นของท่านอย่างทันสมัยอยู่เลย

 

ถ้าย้อนกลับมาพูดถึงความหมายในทางรัฐศาสตร์ดูบ้าง เราจะพบว่าประเทศไทยในความหมายที่เป็นรัฐชาติอย่างที่เห็นอยู่ในปัจจุบันนี้ อันหมายถึงรัฐเดี่ยว ที่มีระบบการปกครองครอบคลุมทุกพื้นที่ตลอดทั้งอาณาจักร มีอำนาจอธิปไตย มีประชากร มีดินแดน

ทุกข้อเหล่านี้ที่สามารถบ่งบอกได้ชัดเจนว่าคืออะไรอยู่ตรงไหน เป็นประเทศไทยที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อประมาณ 100 ปีเศษมานี้เอง

ถ้าใช้คำว่า “ประเทศไทย” ไปพูดกับชาวกรุงศรีอยุธยาเมื่อครั้งกระโน้น ผู้ฟังคงงงเป็นไก่ตาแตกไปตามๆ กัน

ตัวอย่างเช่นที่ปรากฏอยู่ในจารึกพระธาตุศรีสองรัก อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย ซึ่งสร้างขึ้นเมื่อพุทธศักราช 2103 เป็นอนุสรณ์แห่งทางพระราชไมตรีระหว่างพระยาธรรมิกราชแห่ง “เมืองจีนทบุรีศรีสัตนาคนะหุตบวรณราชธานี” กับสมเด็จพระมหาจักรพรรดิแห่ง “กรุงศรีอโยธิยามหาดิลกภพนพรัตนบุรีศรีมหานครบวรณราชธานีบุรีเลิงลม”

ไม่มีคำว่า ส.ป.ป.ล. หรือคำว่า ประเทศไทย เลยสักคำ เห็นไหมครับ

 

ก่อนหน้าที่จะมีรัฐชาติเช่นที่เห็นอยู่ในปัจจุบันนี้เกิดขึ้น บนแผ่นดินสุวรรณภูมิซึ่งกำหนดว่าเป็นดินแดนของประเทศไทยในปัจจุบันนี้ มีผู้คนอยู่อาศัยมาตั้งแต่ครั้งดึกดำบรรพ์นานโพ้นแล้ว ดังปรากฏหลักฐานจากแหล่งโบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์ที่มีกระจัดกระจายอยู่ทุกภูมิภาคของประเทศเรา

ครั้นล่วงมาถึงยุคประวัติศาสตร์ ก็มีแว่นแคว้นใหญ่น้อยเกิดขึ้น เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปเยอะแยะเลยครับ

ประโยคที่คนยุคผมเคยเรียนหนังสือว่า สุโขทัยเป็นเมืองหลวงแห่งแรกของประเทศไทย มาถึงวันนี้ก็กลายเป็นประโยคที่ตกยุคสมัยไปแล้ว

เพราะเมื่อแปดร้อยกว่าปีมาแล้วประเทศไทยยังไม่มี สุโขทัยเป็นแต่เพียงแว่นแคว้นขนาดเล็กหรืออาจจะเรียกว่านครรัฐตามตำรารัฐศาสตร์ก็ได้ ในพื้นที่ไม่ห่างไกลกันมีแว่นแคว้นที่เป็นนครรัฐอื่นอีกมาก ตัวอย่างเช่นอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ที่อยู่กลางเมืองเชียงใหม่ทุกวันนี้ก็บ่งบอกอยู่แล้วว่า เชียงใหม่และพะเยาในเวลาเดียวกันนั้น ก็เป็นรัฐอิสระ มีพ่อขุนเม็งรายและพ่อขุนงำเมืองเป็นผู้ครองนคร พร้อมกันกับที่สุโขทัยมีพ่อขุนรามคำแหงมหาราชเป็นผู้ครองนคร

เมื่อมีกรณีจำเป็นทั้งสามพระองค์ซึ่งทรงเป็นพันธมิตรกันก็เสด็จไปประชุมพร้อมกันที่เมืองเชียงใหม่ อารมณ์ประมาณอาเซียนซัมมิทของยุคนี้แหละ

ว่าไปทำไมมี เมื่อแรกอยุธยามีกำเนิดเกิดขึ้น ก็ต้องแข่งบารมีกันกับสุโขทัยอยู่นานปี บางยุคก็รบกัน บางยุคก็เป็นไมตรีถึงขนาดแต่งงานกันระหว่างเจ้านายชั้นสูงของสองเมือง

ฟังดูคล้ายยุโรปไหมครับ

 

รัฐชาติของเมืองไทยเราเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อราวรัชกาลที่สี่เป็นต้นมา และกว่าจะเป็นเรื่องเป็นราวได้จริงจังก็อาจต้องกำหนดว่าประมาณรัชกาลที่เจ็ดเสียด้วยซ้ำไป

ในยุคสมัยที่เป็นการก่อตัวของรัฐชาติหรือประเทศไทยในรูปใหม่นี้เอง เป็นเวลาเดียวกันกับที่เรากำลังต้องปฏิรูปประเทศหลายอย่างหลายด้านรวมทั้งเรื่องการศึกษาด้วย

ดังนั้น การศึกษาในยุคเริ่มต้นของเราโดยเฉพาะอย่างยิ่งในราชการพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นต้นมา

เป้าหมายส่วนหนึ่งจึงเป็นการศึกษาเพื่อสร้างรัฐชาติ อันเป็นโจทย์สำคัญในเวลานั้น

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือการมีหลักสูตรที่กำหนดให้ใช้ภาษาไทยซึ่งเป็นภาษาไทยภาคกลางเป็นสื่อการเรียนการสอนตลอดทั่วทั้งประเทศ

ถัดมาจากยุคการสร้างรัฐชาติไม่ช้านาน เมืองไทยของเราก็ต้องพบกับสงครามโลกครั้งที่สอง จะด้วยเหตุผลอะไรก็แล้วแต่มีงานวิจัยและงานศึกษาประวัติศาสตร์หลายชิ้นที่บ่งบอกว่า การศึกษาในยุคนั้นเป็นไปเพื่อสร้างความมั่นคงให้กับลัทธิชาตินิยม ซึ่งเป็นนโยบายของผู้นำในยุคสมัยนั้น

คนไทยรุ่นพ่อแม่ของผมจึงถูกปลูกฝังด้วยความคิดว่า “…ชาติไทยนั้นเคยใหญ่ในบูรพา ทุกๆ เช้าเราดูธงไทยใจจงปรีดา ว่าไทยอยู่มาด้วยความผาสุกถาวรสดใส…”

ข้อมูลหลักฐานและหลักสูตรที่สร้างขึ้นในครั้งนั้นและได้ใช้ต่อเนื่องมาจนถึงเมื่อคนยุคผมอยู่ในชั้นประถมศึกษาล้วนมาแนวนี้ทั้งนั้น จนทำให้คนรุ่นผมจำขึ้นใจเชียวครับว่าคนไทยนั้นเดิมอยู่ที่เทือกเขาอัลไต แล้วถูกชนชาติอื่นรุกรานจนต้องถอยร่นลงมาอยู่ติดทะเลในเวลานี้

ไทยจึงถอยไปไหนไม่ได้อีกแล้ว อิอิ

 

สําหรับผมแล้วเมื่อนึกว่าชาติเป็นของสมมุติ จับต้องได้ยาก มิหนำซ้ำยังเป็นของเกิดใหม่เมื่อไม่กี่ชั่วอายุคนมานี้เอง เป้าหมายในการเรียนการสอนประวัติศาสตร์เพื่อให้เกิดความรักชาติเป็นเป้าหมายที่ถูกต้องหรือไม่จึงเกิดคำถามขึ้นในยุคสมัยนี้เป็นธรรมดา

ถ้าเขียนนิยามเสียใหม่ ให้การศึกษาประวัติศาสตร์ของเด็กที่เป็นลูกหลานของเราทุกวันนี้ ได้รู้จักตัวตนที่แท้จริงของเขาเอง ว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร สังคมไทยเป็นสังคมที่มีความหลากหลายและเป็นพหุวัฒนธรรม ความสัมพันธ์ระหว่างแว่นแคว้นหรือชาติต่างๆ ที่เกิดขึ้นในภายหลังมีหลายมิติ เรื่องราวที่เกิดขึ้นในอดีตล้วนหมดอายุความไปแล้วทั้งสิ้น

การเรียนรู้เพื่อเป็นบทเรียนสอนใจน่าจะเป็นประโยชน์ยิ่งกว่าการสร้างความลำพองว่าเราเหนือกว่าคนอื่น

หลายอย่างที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์อาจเป็นความพลั้งพลาดต้องเรียนรู้เพื่อที่จะได้ไม่ทำผิดซ้ำอีก

เรื่องราวหลายเรื่องที่เกิดขึ้นแม้ในชีวิตยุคสมัยของผม ก็เป็นประวัติศาสตร์ร่วมสมัยที่ไม่ควรละเลยหรือมองข้าม

เอาแต่เพียงเรื่องสงครามเกาหลีหรือสงครามเวียดนามก็ดี เหตุการณ์รบพุ่งกันเองภายในประเทศไทยของเราระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยกับทางราชการบ้านเมืองก่อนจะยุติลงด้วยนโยบายการเมืองนำการทหารตามคำสั่งที่ 66/2523 ก็ดี เหตุการณ์เดือนตุลาคม เดือนพฤษภาคม สารพัดปีพุทธศักราชที่เกิดขึ้น

เรื่องเหล่านี้ล้วนเป็นประวัติศาสตร์ที่น่าเรียนรู้มิใช่หรือครับ

 

วันที่ผมไปบรรยายออนไลน์ในรายการที่ว่ามาข้างต้น ช่วงท้ายเป็นการตอบคำถาม มีท่านผู้ฟังท่านหนึ่งกรุณาถามว่า ประเทศไทยของเราเสียดินแดนมาแล้วกี่ครั้ง

ผมถามตัวเองและถามท่านผู้ถามว่า ก่อนจะถามว่าเสียดินแดนไปกี่ครั้ง ขอให้เราช่วยกันนึกว่าเราได้ดินแดนเหล่านั้นมาอย่างไรเสียก่อนจะดีหรือไม่ ถ้าถามกันแบบนี้เราอาจจะได้คำตอบที่เป็นประโยชน์กว้างขวางทางสติปัญญาไปได้อีกมาก

ชีวิตนี้มีได้มีเสียครับ

การเรียนประวัติศาสตร์ในทัศนะของผมจึงไม่ใช่การเรียนเพื่อท่องจำ หากแต่เป็นการเรียนเพื่อให้รู้จักที่มาของตัวตนเราเอง ตำแหน่งที่ยืนอยู่ในปัจจุบัน และทิศทางที่จะเดินต่อไปในอนาคต

วันนั้นพูดเสียเกือบสามชั่วโมง เจ็บคอเลยครับ ฮา!