Text Neck Syndrome ‘โรคเรื้อรัง’ ยุค 5 G/บทความพิเศษ จักรกฤษณ์ สิริริน

บทความพิเศษ

จักรกฤษณ์ สิริริน

 

Text Neck Syndrome

‘โรคเรื้อรัง’ ยุค 5 G

 

แม้หลายท่านอาจเพิ่งเคยได้ยิน แต่ Text Neck Syndrome ไม่ใช่โรคใหม่

เพราะ Text Neck Syndrome อยู่ในกลุ่มอาการเดียวกับ Office Syndrome หรือ “โรคเรื้อรังมนุษย์เงินเดือน” ที่หลายท่านรู้จักกันดี

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ยุค COVID-19 ที่แทบทุกประเทศมีการ Lockdown และ Work from Home รวมถึงเรียน Online

โทรศัพท์มือถือจึงเป็นเครื่องมือหลัก ทั้งในการทำงาน การเรียน และการดำเนินชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นสั่งอาหาร ซื้อของ Online หรือติดต่อสื่อสารต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ธุรกรรมทางการเงิน

ยังไม่นับผู้เสพติด Social Network ติด Chat หรือเล่นเกมอย่างหนัก 24 ชั่วโมง!

เมื่อเราใช้โทรศัพท์มือถือเป็นส่วนหนึ่งในการดำรงชีวิต ตั้งแต่เช้าจรดเย็น ตั้งแต่จันทร์ถึงศุกร์ ไม่เว้นเสาร์-อาทิตย์ ติดต่อกันเป็นเวลาเนิ่นนาน

การก้มหน้าเล่นมือถือต่อเนื่องเป็นเวลายาวนาน นอกจากจะก่อให้เกิดปัญหาที่เกี่ยวข้องกับสายตาแล้ว ยังส่งผลกระทบรุนแรงต่อคอ บ่า ไหล่ และกระดูกสันหลัง

ซึ่งจะนำมาสู่ความเสี่ยงของการเป็น Text Neck Syndrome ได้!

แน่นอนว่า สรีระร่างกายมนุษย์ ขณะการใช้งานโทรศัพท์มือถือ 99.99% มีลักษณะของการ “ก้มหน้า” มองจอโทรศัพท์ในมือ

น้อยมากที่จะมีคนยกโทรศัพท์ขึ้นมาตรงหน้าในระดับสายตาปกติ

เมื่อเป็นเช่นนี้ Text Neck Syndrome หรือ “โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทส่วนคอ” จึงเกิดขึ้นกับคนที่ใช้โทรศัพท์มือถือ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Non-stop 24 ชั่วโมงต่อวัน 7 วันต่อสัปดาห์

เพราะคนที่เป็น Text Neck Syndrome มักจะก้มหน้า คอตก ไหล่ห่อ หลังงอ นำไปสู่อาการปวดแบบ Office Syndrome

ล่าสุด Surgical Technology International หรือ “สถาบันเทคโนโลยีการผ่าตัดนานาชาติ” ได้ออกมาเผยข้อมูลจากผลการสำรวจเมื่อเร็วๆ นี้ ว่าในปัจจุบัน พบกระดูกสันหลังของผู้ใช้โทรศัพท์มือถือ ต้องรับแรงกดจากการก้มหน้าเฉลี่ยมากถึง 1,000 ถึง 1,400 ชั่วโมงต่อปี

นำไปสู่ความเสี่ยงของการเกิด Text Neck Syndrome โดยตรง ซึ่งเกิดการใช้งานโทรศัพท์มือถือเป็นเวลานานมากเกินกว่าวันละ 10 ชั่วโมง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การก้มหน้าติดต่อกันเป็นเวลานานในแต่ละวันนั้น เป็นสาเหตุหลักที่ก่อให้เกิด Text Neck Syndrome

เพราะขณะที่เราก้มหน้าเล่นมือถือ ร่างกายของเราจะอยู่ในท่าทางที่ไม่เหมาะสมนั่นเองครับ

เนื่องจากในสภาวะสรีระร่างกายปกติ พูดอีกแบบก็คือ ในเวลาที่เราไม่ได้ใช้โทรศัพท์มือถือ คอของเราจะตั้งตรง กระดูกสันหลังก็จะรับนํ้าหนักศีรษะเพียง 4 กิโลกรัม

แต่เมื่อเราก้มหน้าลงไปเล่นโทรศัพท์มือถือ โดยเฉลี่ยแล้ว ถ้าก้มหน้า 30 องศา กระดูกสันหลังรับน้ำหนักเพิ่มเป็น 18 กิโลกรัม ถ้าก้มหน้า 45 องศา กระดูกสันหลังรับน้ำหนัก 22 กิโลกรัม ถ้าก้มหน้า 60 องศา กระดูกสันหลังรับน้ำหนัก 26 กิโลกรัม

เกิดแรงกดบริเวณข้อต่อกระดูกสันหลังระดับคอ ข้อต่อคอต้องรับภาระมากขึ้น และอาจทำให้เกิดโรคกระดูกคอเสื่อมตามมา

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กล้ามเนื้อรอบๆ บริเวณคอ ที่ตามปกติแล้ว ร่างกายออกแบบให้ทำงานแบบสมดุล หากแต่เราก้มคอค้างไว้นานๆ จากการเล่นโทรศัพท์ ทำให้กล้ามเนื้อคอด้านหลังของเรา ต้องออกแรงเกร็งมากขึ้น ทำให้เกิดอาการล้า และปวดตามมา

 

ความรุนแรงของ Text Neck Syndrome แบ่งออกได้หลายระดับ ส่วนมากมักเริ่มต้นที่ อาการปวดเล็กๆ น้อยๆ บริเวณคอ บ่า ไหล่ หรือสะบัก จากการอักเสบของกล้ามเนื้อบริเวณนั้น

มาจนถึงอาการที่เริ่มรุนแรงขึ้นทีละนิด เช่น อาการชา ไปจนถึงปวดเรื้อรัง ต่อด้วยปวดร้าว จากคอไปยังแขน มือ นิ้ว ร่วมด้วยอาการอ่อนแรงของแขน และมือ

ขั้นสูงสุด จะเกิดความเสื่อมของแนวกระดูก หรือหมอนรองกระดูกคอ ไขสันหลังกดทับรากประสาทบริเวณคอ

เมื่อทราบอาการแล้ว เรามาป้องกัน Text Neck Syndrome กันดีกว่า ซึ่งสามารถทำได้ง่ายๆ โดยการปรับพฤติกรรมของเรา!

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อาการติดโทรศัพท์มือถือ แก้โดยปรับระยะเวลาที่ใช้งาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเปลี่ยนท่วงท่าการใช้งาน โดยต้องให้ระดับและท่าทางของคออยู่ในแนวตรงมากที่สุดเท่าที่จะมากได้

ไม่ก้มหน้า ไม่ก้มคอ ไม่ห่อหลัง ไม่ห่อไหล่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ควรพักเปลี่ยนอิริยาบถเป็นระยะ และไม่ใช้งานโทรศัพท์มือถือติดต่อกันเป็นเวลานาน

 

ส่วนการรักษาอาการของ Text Neck Syndrome มีดังนี้

1. กายภาพบำบัด เริ่มจากปรับอิริยาบถให้เหมาะสม ตามด้วยคลายกล้ามเนื้อ ยืดกล้ามเนื้อ และสร้างความแข็งแรงให้กับกล้ามเนื้อ

เริ่มด้วยการประสานมือไว้ที่ด้านหลังศีรษะ จากนั้นออกแรงกดจนรู้สึกตึงที่ด้านหลังคอ กดค้างไว้ 15-20 วินาที สามารถทำชุดละกี่ครั้ง ครั้งละกี่นาทีก็ได้ จนกว่าอาการปวดจะทุเลาลง

โดยเป็นที่ทราบกันดีว่าอาการปวดจะหายเร็วมากขึ้น ถ้าเรานำผ้าประคบอุ่นมาทาบไว้ที่ต้นคอ ทั้งก่อนและขณะยืดกล้ามเนื้อ เพราะความร้อนจะช่วยให้กล้ามเนื้อที่ตึงคลายตัวเร็วขึ้นนั่นเองครับ

นอกจากการทำกายภาพแล้ว การใช้เครื่องมือทางการแพทย์ เช่น เครื่องอัลตราซาวด์ แสงเลเซอร์ หรือการกระตุ้นไฟฟ้า ก็สามารถช่วยบรรเทา Text Neck Syndrome ได้เป็นอย่างดีครับ

2. การใช้ยาเพื่อลดการอักเสบ รวมถึงการให้ยาคลายกล้ามเนื้อ ก็สามารถช่วยผ่อนคลายอาการปวดได้เช่นกัน

3. สำหรับผู้ที่มีอาการ Text Neck Syndrome รุนแรง เกิดความเสื่อมของแนวกระดูก หรือหมอนรองกระดูกคอ กระดูกสันหลังกดทับรากประสาทบริเวณคอ อาจต้องพิจารณาถึงการรักษาโดยวิธีการผ่าตัด!

โดยขอแนะนำให้รีบเข้าพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูก (กระดูกสันหลัง และระบบประสาท) เพื่อการรักษาที่ถูกต้อง และทันท่วงที

 

เพื่อให้เราหายจากอาการปวดคออย่างยั่งยืน ก่อนจะลุกลามไปสู่โรคอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มอาการ TOS (Thoracic Outlet Syndrome)

TOS คือโรค “ปวดคอก็หาไม่ ปวดไหล่ก็ไม่เชิง” เกิดจากการกดทับของเส้นเลือด และเส้นประสาทบริเวณระหว่างต้นคอ กับรักแร้ ไปจนถึงด้านหน้าของไหล่ และหน้าอก

สาเหตุหลักเกิดจากกล้ามเนื้อภายในช่องอก กระดูกไหปลาร้า หรือกระดูกซี่โครง (ซี่ที่ 1) ไปกดทับเส้นประสาท Brachial Plexus และเส้นเลือดใหญ่ที่ไปหล่อเลี้ยงกล้ามเนื้อแขน

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อาการที่เกิดกับเส้นประสาท หรือเกิดการกดทับบริเวณเส้นประสาทระหว่างต้นคอ กับรักแร้ ไปจนถึงด้านหน้าของไหล่ และหน้าอก ส่วนที่ควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อ และความรู้สึกของไหล่ แขน และมือ

ซึ่งหลายฝ่ายสันนิษฐานว่ามาสาเหตุต่อเนื่องมาจาก Text Neck Syndrome

นอกจาก TOS แล้ว Text Neck Syndrome ยังก่อให้เกิดแนวโน้มอีก 2 โรคถามหา และติดตามมา ไม่ว่าจะเป็นโรคกระดูกคอเสื่อม และโรคกล้ามเนื้อรอบคออักเสบเรื้อรัง หรือ Office Syndrome นั่นเองครับ

ณ จุดนี้ ผมจึงขอแนะนำ Application โทรศัพท์มือถือ ที่จะช่วยเตือน และการป้องกัน Text Neck Syndrome

มีชื่อว่า Text Neck Indicator

โดย Text Neck Indicator จะคอยตรวจสอบองศาหน้าจอผ่านการคำนวณ โดยจะแจ้งเตือนมุมก้มที่เหมาะสมให้เจ้าของมือถือได้ทราบ

อย่างไรก็ดี ผู้ที่ติดโทรศัพท์มือถือ ควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรม พักสายตาจากหน้าจอบ้าง และหมั่นเตือนตัวเองให้ใช้มือถือแต่พอดี

เพียงแค่นี้ ก็จะทำให้เราห่างไกลจาก Text Neck Syndrome ได้!