จีนสมัยราชวงศ์ซ่ง (17) เส้นทางการล่มสลายของซ่งเหนือ (ต่อ)/เงาตะวันออ วรศักดิ์ มหัทธโนบล

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

เงาตะวันออก

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

 

จีนสมัยราชวงศ์ซ่ง (17)

เส้นทางการล่มสลายของซ่งเหนือ (ต่อ)

ซ่งกับเซี่ยตะวันตกและสันติภาพที่ไม่ยั่งยืน

 

ดังได้กล่าวไปแล้วในหัวข้อที่ว่าด้วยเซี่ยตะวันตกแห่งทังกุตว่า ทั้งก่อนและหลังทังกุตตั้งตนเป็นใหญ่ในนามราชวงศ์ซีเซี่ยหรือเซี่ยตะวันตก (ค.ศ.1032-1227) นั้น ทังกุตกับซ่งเคยทำศึกระหว่างกันมาก่อน และจบลงโดยใน ค.ศ.1006 ซ่งได้ให้ความช่วยเหลือต่างๆ แก่ทังกุต

ครั้นถึง ค.ศ.1028 ซ่งก็ให้ทังกุตได้ควบคุมเส้นทางการค้าชายแดนที่สำคัญ และทำให้เศรษฐกิจทังกุตดีขึ้น จนทำให้ทังกุตตั้งราชวงศ์เซี่ยตะวันตกขึ้นมาได้ และมีหลี่หยวนเฮ่าเป็นจักรพรรดิองค์แรกที่ต่อมาได้ใช้พระนามใหม่ว่า เหวยหมิงหยวนเฮ่า (ครองราชย์ ค.ศ.1032-1048)

พระองค์ได้นำพาเซี่ยไปสู่ความเจริญรุ่งเรือง สมกับที่ถูกยกย่องว่าเป็นผู้นำที่เหนือผู้นำทุกคนของเซี่ย แต่ภารกิจในการทำศึกกับซ่งของพระองค์ยังไม่จบ ดังนั้น หากกล่าวในแง่ของซ่งแล้วเซี่ยตะวันตกจึงเป็นภัยคุกคามของตน

โดยหลังจากขึ้นครองราชย์แล้ว หลี่หยวนเฮ่าทรงส่งสาส์นถึงซ่งเพื่อให้ซ่งยอมรับฐานะของราชวงศ์เซี่ย เวลานั้นซ่งเจินจงได้สวรรคตไปแล้ว ผู้ครองราชย์สืบต่อเป็นโอรสของซ่งเจินจงคือ ซ่งเหญินจง

สาส์นดังกล่าวซ่งเหญินจงทรงเห็นว่าหลี่หยวนเฮ่ากำลังต่อต้านซ่ง พระองค์จึงทรงให้ถอดยศที่ซ่งตั้งให้แก่หลี่หยวนเฮ่า พร้อมกันนั้นก็ตัดเส้นทางการค้าที่เคยให้แก่ทังกุต และให้ติดประกาศจับหลี่หยวนเฮ่า

ปฏิกิริยาของซ่งในครั้งนี้ทำให้หลี่หยวนเฮ่าทรงโกรธเป็นที่ยิ่ง จนนำไปสู่การตัดสินพระทัยกรีธาทัพเข้าโจมตีซ่งในที่สุด

 

ขณะนั้นซ่งมีทหารประจำการที่ชายแดนด้านตะวันตกเฉียงเหนืออยู่ราวสามถึงสี่แสนนาย ทหารเหล่านี้กระจายตัวอยู่ตามป้อมต่างๆ ในเมือง 24 เมือง ทหารในแต่ละเมืองจะฟังคำสั่งจากราชสำนักเท่านั้น ผิดกับทัพเซี่ยตะวันตกที่ฟังคำสั่งจากผู้นำเพียงคนเดียว

ในแง่นี้ทัพเซี่ยตะวันตกจึงได้เปรียบทัพซ่ง

การศึกมีขึ้นใน ค.ศ.1038 ศึกใหญ่มีอยู่สามครั้งที่ทังกุตได้รับชัยชนะ และทำให้ซ่งจำต้องยอมเจรจาสงบศึก โดยหัวหน้าการเจรจาของซ่งคือ ฟั่นจ้งเอียน การเจรจาดำเนินไปจนถึง ค.ศ.1042 ก็ต้องหยุดลงเมื่อทังกุตปฏิเสธที่จะเรียกตัวเองว่า “ข้าพระองค์” (เฉิน, subject) ในสาส์นที่จะมีไปถึงราชสำนักซ่ง

ครั้นถึง ค.ศ.1043 ผู้นำทังกุตก็มีข้อเสนอใหม่ผ่านแถลงการณ์ที่มีไปถึงซ่งเหญินจงว่า ตนยอมรับที่จะเสมอตนเป็นโอรสของจักรพรรดิแห่งมหาราชวงศ์ซ่ง ข้อเสนอนี้ถูกซ่งปฏิเสธโดยสิ้นเชิง เพราะเป็นข้อเสนอที่จะเกี่ยวดองกับซ่งในเชิงเครือญาติ

ซึ่งสำหรับจีนที่มีทัศนคติที่ไม่สู้ดีกับชนชาติอื่นย่อมมิอาจยอมรับได้

หลายเดือนต่อมา ซ่งก็ได้เสนอให้ผู้นำทังกุตเสมอด้วย “ประมุข” (จู่, ruler) ซึ่งมีฐานะสูงกว่ากษัตริย์ (หวัง, king) แต่ด้อยกว่าจักรพรรดิ (ฮว๋างตี้, emperor) พร้อมของกำนัลจากซ่ง

แต่หลังจากนั้นไม่นานทังกุตก็ตอบกลับมาว่า สิ่งที่ตนต้องการจากซ่งมีอยู่ 11 ประการซึ่งรวมของกำนัลด้วย โดยหนึ่งในสิ่งที่ทังกุตต้องการก็คือ ให้ขยายสิทธิทางการค้าผ่านคณะทูตได้มากขึ้น หรือการอนุญาตให้ทังกุตขายเกลือขาวให้แก่จีน เป็นต้น

เห็นได้ชัดว่า ข้อเสนอดังกล่าวของทังกุตนั้นล้อกับข้อเสนอของเหลียวที่เกิดขึ้นก่อนหน้านั้น และทำให้จีนระแวงว่า หรือจะเป็นการสมรู้ร่วมคิดกันของเพื่อนบ้านทั้งสองที่อยู่ทางเหนือของตน

อย่างไรก็ตาม ในที่สุดแล้วปัญหาก็จบลงเมื่อทังกุตยอมเรียกตนว่า “ข้าพระองค์” และซ่งก็ยอมตามข้อเสนอส่วนใหญ่ของทังกุต เพื่อหยุดการขยายอิทธิพลของหลี่หยวนเฮ่า

 

ข้อตกลงสันติภาพดังกล่าวมีเงื่อนไขว่า ซ่งจะส่งทูตของตนไปประจำแค่เมืองโย่ว (โย่วโจว ปัจจุบันคือกรุงเป่ยจิง) ไม่ให้ไปประจำที่เมืองหลวงของทังกุต โดยเหลียวจะปฏิบัติต่อซ่งในทำนองเดียวกัน และให้ฟื้นตลาดการค้าชายแดนขึ้นอีกครั้งหนึ่ง

ส่วนของกำนัลที่ต้องส่งให้กับทังกุตก็คือ ผ้าไหมจำนวน 153,000 พับ ชา 30,000 ชั่ง (หนึ่งชั่งประมาณ 0.5 กิโลกรัม) เงิน 72,000 ตำลึง โดยเรียกของกำนัลเหล่านี้ว่า “ราชกำนัลรายปี” (ซุ่ยชื่อ) ที่จักรพรรดิจีนทรงมอบให้แก่จักรพรรดิทังกุต

และเนื่องจากปีดังกล่าวตรงกับรัชสมัยชิ่งลี่ของซ่งเหญินจง ข้อตกลงนี้จึงถูกเรียกว่า ข้อตกลงสันติภาพชิ่งลี่ (ชิ่งลี่เหออี้)

ควรกล่าวด้วยว่า การเจรจาครั้งนี้ได้ใช้เวลาสามเดือน และเป็นสามเดือนสุดท้ายที่ฟั่นจ้งเอียนปฏิบัติงานในราชสำนักก่อนที่จะย้ายไปทำงานที่ชายแดนภาคเหนือ ข้างฝ่ายซ่งเหญินจงเมื่อทรงทราบข้อเรียกร้องดังกล่าวของทังกุตก็ยอมรับโดยง่าย

ซึ่งต่อมาข้อตกลงดังกล่าวสร้างความมั่งคั่งให้แก่เซี่ยตะวันตกอย่างมากมาย

 

ข้อที่ควรกล่าวอีกเรื่องหนึ่งคือ ตลอดเวลาที่หลี่หยวนเฮ่าทั้งทำศึกทั้งเจรจากับซ่งตามที่กล่าวมานั้น ปฏิสัมพันธ์ของทั้งสองจะมีเหลียวเข้ามาเกี่ยวข้องอยู่ด้วย

โดยเมื่อเหลียวเห็นว่าเซี่ยตะวันตกเอาชนะซ่งแล้วเรียกร้องผลประโยชน์ต่างๆ ได้สำเร็จ เหลียวจึงคิดเอาอย่างด้วยการขอดินแดนกวานหนันที่อยู่ทางใต้ของเป่ยจิงจากซ่ง แต่เนื่องจากดินแดนนี้เป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ ซ่งจึงไม่ยอมยกให้

แต่ยอมส่งเงินรายปีให้แก่เหลียวเพิ่มเป็นปีละ 200,000 ตำลึง และผ้าไหมเพิ่มเป็นปีละ 300,000 พับ เป็นการชดเชย แต่ก็ขอแลกกับการที่เหลียวจะช่วยซ่งบีบเซี่ยตะวันตกให้เป็นรัฐบรรณาการของตน

เหลียวยอมเจรจากับเซี่ยตะวันตกตามที่ซ่งขอ แต่ก็ถูกปฏิเสธจากหลี่หยวนเฮ่า โดยหลี่หยวนเฮ่าทรงยอมที่จะนับถือจักรพรรดิซ่งเสมือนราชบิดา แต่แล้วซ่งกลับเห็นว่า หากตนยอมรับข้อเสนอนี้แล้วก็เป็นไปได้ที่เหลียวอาจเอาอย่างเซี่ยตะวันตกบ้าง

ซ่งจึงตอบปฏิเสธข้อเสนอที่ว่าจนสร้างความไม่พอพระทัยให้แก่หลี่หยวนเฮ่าด้วยทรงเห็นว่า ผู้ได้ผลประโยชน์ในความขัดแย้งระหว่างซ่งกับเซี่ยตะวันตกก็คือ เหลียว

จากความไม่พอใจนี้ทำให้เซี่ยตะวันตกยกทัพไปทำศึกกับเหลียว เมื่อเป็นเช่นนี้เหลียวจึงขอให้ซ่งช่วยจนทำให้ซ่งกระอักกระอ่วนใจ แล้วผลก็ลงเอยดังที่งานศึกษานี้ได้กล่าวไปข้างต้น

ที่ยกประเด็นนี้ขึ้นมากล่าวก็เพื่อจะชี้ให้เห็นว่า ความสัมพันธ์ของซ่งกับเซี่ยตะวันตกที่มีเหลียวเข้ามาเกี่ยวข้องนี้ แท้จริงแล้วคือการดำรงอยู่ของความสัมพันธ์สามเส้าที่ต่างฝ่ายต่างมิอาจหลีกเลียงได้ จนกว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งล่มสลายไป

ความสัมพันธ์เช่นนี้จึงมีส่วนอย่างมากที่ทำให้ซ่งมีนโยบายดังที่เห็น

 

อย่างไรก็ตาม สันติภาพระหว่างซ่งกับเซี่ยตะวันตกดังกล่าวได้ดำรงยาวนานกว่า 20 ปีก็ต้องสิ้นสุดลง เมื่อเซี่ยตะวันตกเป็นฝ่ายจงใจฉีกข้อตกลงดังกล่าวทิ้งไปใน ค.ศ.1066 จากนั้นก็ก่อศึกกับซ่งอีกครั้งหนึ่ง

การศึกครั้งใหญ่มีอยู่สองครั้ง ครั้งแรก ค.ศ.1081 อีกครั้งเป็นปีถัดมา ทั้งสองครั้งต่างฝ่ายต่างก็ทุ่มกำลังทหารหลายแสนนายในการศึก แต่การศึกครั้งที่สองใน ค.ศ.1082 ปรากฏว่า ทัพทังกุตของเซี่ยตะวันตกได้บุกเข้าตีทัพซ่งอย่างหนักหน่วง และได้สร้างความเสียหายให้แก่ทัพซ่งอย่างยากที่จะประเมิน

ประเด็นคำถามก็คือว่า ความเสียหายที่ซ่งได้รับจากการศึกครั้งนี้ มิใช่ได้รับจากทังกุตเพียงฝ่ายเดียว เพราะทั้งก่อนหน้าและหลังจากนี้ซ่งยังคงได้รับการจากศึกที่ทำกับชนชาติอื่นด้วยเช่นกัน และผลก็มักลงเอยด้วยการที่ซ่งยอมส่งบรรณาการให้กับปฏิปักษ์ของตน

ถ้าเช่นนั้นแล้วย่อมแสดงว่า ซ่งมีความมั่งคั่งอยู่ไม่น้อยจึงทำเช่นนั้นได้ หาไม่แล้วซ่งคงไม่ยอมที่จะทำเช่นนั้นโดยง่าย ซ้ำในบางกรณียังเป็นไปเสมือนกับซ่งไร้ศักดิ์ศรีอีกด้วย เพราะฉะนั้นแล้ว การที่ซ่งยอมแต่โดยง่ายย่อมแสดงว่า มันคุ้มค่าที่จะทำเช่นนั้น เพราะมันจะทำให้เศรษฐกิจของซ่งดำเนินต่อไปได้

แต่ในขณะเดียวกันก็มิได้หมายความว่า ซ่งจะยอมเช่นนั้นเสมอไป ดังกรณีเซี่ยตะวันตกที่กำลังกล่าวถึงอยู่นี้

อย่างไรก็ตาม เซี่ยตะวันตกยังคงทำศึกกับจีนแม้ในจักรพรรดิองค์ต่อๆ มา แต่ในอีกด้านหนึ่งเซี่ยตะวันตกเองก็มีความสัมพันธ์ที่ลุ่มๆ ดอนๆ กับคีตันและทิเบตอยู่ด้วย ซึ่งเป็นปัจจัยที่มีผลต่อการทำศึกกับซ่งไม่มากก็น้อย

ก่อนที่เซี่ยตะวันตกจะล่มสลายลงจากการถูกโจมตีจากทัพมองโกล