การเมืองอำนาจนิยม : บุคลาภิวัตน์ (ต้น)/การเมืองวัฒนธรรม เกษียร เตชะพีระ

เกษียร เตชะพีระ

การเมืองวัฒนธรรม

เกษียร เตชะพีระ

 

การเมืองอำนาจนิยม

: บุคลาภิวัตน์ (ต้น)

 

แนวโน้มบุคลาภิวัตน์ (Personalization) ของระบอบอำนาจนิยม

ณที่แห่งใดจอมบงการกวาดกว้านเอาอำนาจการเมืองมาไว้ในกำมือตนได้เป็นกอบเป็นกำเป็นปึกแผ่น (เช่น นั่งเป็นประธานคณะกรรมการกำกับกิจการรัฐด้านต่างๆ ถึง 56 ชุด https://www.matichon.co.th/politics/news_2821087)

ณ ที่แห่งนั้น ระบอบอำนาจนิยมย่อมถูกผลักดันไปสู่บุคลาภิวัตน์ (Personalization) มากยิ่งขึ้น

บุคลาภิวัตน์ หมายถึงกระบวนการที่ผู้นำเสริมสร้างการควบคุมของตนเหนือระบอบอำนาจนิยมให้เข้มแข็งขึ้น มันเป็นสัญญาณบอกว่าดุลอำนาจระหว่างผู้นำกับชนชั้นนำกำลังขยับย้ายถ่ายเทไปให้แก่ผู้นำมากขึ้น

ความสัมพันธ์ทางอำนาจที่เอียงตะแคงไปทางผู้นำนี้จะคงอยู่ตราบเท่าที่ผู้นำยังครองตำแหน่งอำนาจนั้น และในหลายกรณีมันยิ่งเอียงกระเท่เร่ไปเรื่อยๆ ตลอดช่วงระยะการครองตำแหน่งของผู้นำเนื่องจากเมื่อผู้นำฉวยริบเอาอำนาจมาไว้ในมือตนสำเร็จเรื่องหนึ่งก็มักดลบันดาลให้การฉวยริบอำนาจในเรื่องอื่นๆ ของผู้นำพลอยสัมฤทธิผลไปด้วย

ก็แลการฉวยริบเอาอำนาจมาไว้ในมือตัวได้แต่ละเรื่องย่อมหมายความว่าผู้นำสั่งสมอำนาจมากยิ่งขึ้นไปเรื่อยๆ และยิ่งทำให้ชนชั้นนำท้าทายทัดทานการฉวยริบเอาอำนาจทำนองนั้นของผู้นำได้ยากเย็นแสนเข็ญขึ้นทุกที

“ทุกวันนี้คืออนาคต” คำขวัญของระบอบเผด็จการอำนาจนิยม (https://balkaninsight.com/reporting-democracy/democracy-after-coronavirus#gsc.tab=0)

ปกติแล้วบุคลาภิวัตน์ในระบอบอำนาจนิยมมักเกิดขึ้นในช่วงไม่กี่ปีแรกๆ หลังยึดอำนาจได้ในสภาพที่ยังไม่แน่ชัดว่ากฎกติกาของเกมการเมืองจะเป็นเช่นใด เช่น ช่วงปี พ.ศ.2557-2560 ใต้การปกครองของ คสช. ก่อนประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับถาวร

ปรากฏว่าราว 1 ใน 3 ของจอมบงการทั่วโลกทำบุคลาภิวัตน์ต่อระบอบอำนาจนิยมใต้การนำของตนได้บรรลุผลในช่วงกรอบเวลาดังกล่าว (บทสรุปประมวลวิเคราะห์การกระชับอำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์@คสช. ได้พิสดารหลายด้านในช่วงเวลาที่ว่านั้นได้แก่ ประจักษ์ ก้องกีรติ และวีรยุทธ กาญจน์ชูฉัตร, “ระบอบประยุทธ์ : การสร้างรัฐทหารและทุนนิยมแบบช่วงชั้น”, ฟ้าเดียวกัน, ก.ค.-ธ.ค. 2561, 7-41)

อย่างไรก็ตาม บุคลาภิวัตน์อาจเกิดขึ้นในระยะหลังของอายุระบอบ และมีช่วงที่ขึ้นสู่กระแสสูงบ้าง/ตกลงกระแสต่ำบ้างตามเวลาที่ล่วงเลยไปก็เป็นได้ เช่น บุคลาภิวัตน์ช่วงกระแสสูงของรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม สมัยแรกระหว่าง พ.ศ.2481-2487 กับบุคลาภิวัตน์ช่วงกระแสต่ำของรัฐบาลจอมพล ป.สมัยหลัง พ.ศ.2491-2500 เป็นต้น

และขอบเขตของมันก็อาจผันแปรไปได้ด้วยเช่นกัน กล่าวคือ ผู้นำอาจพยายามทำบุคลาภิวัตน์สำเร็จในบางด้าน แต่ไม่ใช่ทุกๆ ด้าน อาทิ ราชสำนัก กองทัพเรือ และมหาวิทยาลัยทั้งหลายเป็นพื้นที่ซึ่งจอมพล ป. บุคลาภิวัตน์เข้าไปไม่ได้มากนักเมื่อเทียบกับกองทัพบก

(ดู สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ, แผนชิงชาติไทย : ว่าด้วยรัฐและการต่อต้านรัฐสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม ครั้งที่สอง พ.ศ.2491-2500, 2550)

 

วงวิชาการรัฐศาสตร์ยังไม่อาจหยั่งรู้มูลเหตุแห่งการเกิดบุคลาภิวัตน์ได้แน่ชัด แต่ที่พอรู้ก็คือ หากแม้นกลุ่มชนชั้นนำที่เป็นฐานให้ผู้นำอำนาจนิยมสามารถผนึกกันเป็นเอกภาพและจัดตั้งกันเป็นปึกแผ่นอย่างเช่นกองทัพอาชีพหรือพรรคการเมืองที่กลมเกลียวเหนียวแน่นแล้วก็อาจจะคัดค้านต้านทานบุคลาภิวัตน์ของผู้นำได้ดีขึ้น ในความหมายที่ว่าวงในของแกนนำกองทัพ/พรรคดังกล่าวสำแดงเจตจำนงยึดมั่นอย่างน่าเชื่อถือว่าจะแข็งขืนหรือโค่นผู้นำซึ่งมีพฤติกรรมฉวยโอกาสเพื่อสกัดขัดขวางไม่ให้ผู้นำขยายอำนาจบริหารในมือตนเกินเลยไป

เช่น ชนชั้นนำนักการเมืองส่วนใหญ่ของสองพรรคหลักอเมริกันในความสัมพันธ์กับอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้แพ้เลือกตั้งแล้วปลุกม็อบบุกสภาคองเกรสช่วงต้นปีนี้, พรรคคอมมิวนิสต์จีนในความสัมพันธ์กับผู้นำพรรค-รัฐสูงสุดช่วงหลังสิ้นประธานเหมาเจ๋อตุงจนถึงก่อนประธานสีจิ้นผิงขึ้นครองอำนาจ, หรือผู้หลักผู้ใหญ่วงในทั้ง 5 คนของคณะราษฎรในความสัมพันธ์กับจอมพล ป. ช่วงก่อนและระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง เป็นต้น

(ดู Judith A. Stowe, Siam Becomes Thailand : A Story of Intrigue, 1991, p.89)

 

สัญญาณบอกอาการบุคลาภิวัตน์

มีสัญญาณช่วยบ่งบอกว่าระบอบอำนาจนิยมกำลังออกอาการบุคลาภิวัตน์อยู่จำนวนหนึ่ง สัญญาณทำนองนี้ที่พบเจอกันมากที่สุด 6 ประการซึ่งสะท้อนว่าผู้นำกำลังริบรวบอำนาจไว้ในมือตนมากขึ้นได้แก่ :

1) ผู้นำกระชับวงในอำนาจให้แคบเล็กลง

ปกติในระบอบอำนาจนิยมส่วนใหญ่หลังยึดอำนาจได้ มักมีการกระชับวงในผู้กุมอำนาจให้หดแคบลงอยู่แล้ว ทว่าการกระชับวงในให้ลีบเรียวเล็กลงไปอีกเป็นสัญญาณบ่งบอกว่าผู้นำรวมศูนย์อำนาจมาไว้กับตนเอง การลดทอนขนาดของกลุ่มหนุนหลังลงย่อมเท่ากับเป็นการตัดทอนจำนวนบุคคลที่ผู้นำต้องยอมให้ร่วมมีอิทธิพลต่อนโยบายและแบ่งปันเก้าอี้ตำแหน่งอำนาจให้ด้วย มันช่วยให้ตัวผู้นำควบคุมกลไกต่างๆ ได้มากขึ้น

เช่น ในรัสเซีย นักสังเกตการณ์ประเมินว่าวงในอำนาจของประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน มีอยู่ประมาณ 20-30 คนซึ่งล้วนแต่เป็นพันธมิตรอันเข้มแข็งของเขาผู้มีสายสัมพันธ์กับกองทัพและฝ่ายความมั่นคง ว่ากันว่ากลุ่มบุคคลที่ว่านี้แหละเป็นผู้ตัดสินใจเรื่องราวทางการเมืองส่วนใหญ่ในรัสเซีย โดยที่จากในจำนวนนี้มีอยู่ราวครึ่งโหลที่เป็นบุคคลทรงอำนาจที่สุดในประเทศ (ดู Fiona Hill and Cliff Gaddy, Mr. Putin : Operative in the Kremlin, 2013)

หรือในกรณี คสช. วงในของ คสช. อันประกอบไปด้วยหัวหน้าและบุคลากรหลักซึ่งมีสมาชิกเป็นนายพลทหาร ตำรวจระหว่าง 7-15 คนในตอนแรกก็ค่อยงวดตัวลงเหลือ 11 คนในปี พ.ศ.2561 และสิ้นสภาพไป (https://th.wikipedia.org/wiki/คณะรักษาความสงบแห่งชาติ) กลายเป็นแกนอำนาจ “เครือข่าย 3 ป.” ในคณะรัฐมนตรีใหม่ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปปี พ.ศ.2562 (https://www.prachachat.net/politics/news-724355)

โดยรัฐบาลผสมที่ตั้งขึ้นนั้นเอาเข้าจริงบริหารจัดการภาวะวิกฤตด้วย “กลุ่มอำนาจที่อยู่เบื้องหลังรัฐบาล” ต่างหากออกไปจากพรรคร่วมรัฐบาลทั้งหลาย (https://www.bbc.com/thai/thailand-57836912)

2) บรรจุแต่งตั้งผู้จงรักภักดีไว้ในตำแหน่งกุมอำนาจสำคัญทั้งหลาย

ผู้นำอำนาจนิยมย่อมหาทางบรรจุแต่งตั้งบุคคลผู้เป็นพันธมิตรเด็ดเดี่ยวเหนียวแน่นของตนเข้าไปในสถาบันการปกครองหลักทั้งหลาย ก่อนอื่นคือสภานิติบัญญัติแห่งชาติ สภาปฏิรูปแห่งชาติ คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ วุฒิสภา ศาลตุลาการ ฝ่ายความมั่นคง กองทัพ และระบบราชการพลเรือน ฯลฯ

เวลาประเมินคัดสรรว่าจะเลือกเลื่อนใครขึ้นไปรับตำแหน่ง ผู้นำย่อมถือความจงรักภักดีสำคัญกว่าสมรรถภาพ ความไว้วางใจได้สำคัญเหนืออื่นใด ขณะเดียวกัน ผู้นำย่อมพยายามกวาดล้างบรรดาผู้คัดค้านตนออกไปจากสถาบันการปกครองหลักเหล่านี้ หรืออย่างน้อยก็จี้สกัดจุดคนเหล่านั้นให้หมดพิษสงอิทธิพลไปเสีย

ดังที่ คสช.ใช้อำนาจพิเศษตามมาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 เข้าแทรกแซงการแต่งตั้งโยกย้ายเลือกเลื่อนลดตำแหน่งและปลดออกซึ่งข้าราชการประจำระดับสูงในกระทรวงทบวงกรมทั้งหลายด้วยการออกประกาศคำสั่งต่างๆ เกือบกึ่งหนึ่งของคำสั่งทั้งหมด (70 จาก 152 ครั้ง) เพื่อให้ได้บุคคลที่สนองนโยบายการเมืองของตนเต็มที่มาอยู่ในตำแหน่ง โดยลบล้างเหยียบข้ามระเบียบกฎเกณฑ์การบริหารบุคคลปกติของทางราชการไป ทำให้เกิดความปั่นป่วนอลเวงเสียขวัญกำลังใจในระบบราชการซ้ำเติมเข้าไปอีก

(ประจักษ์และวีระยุทธ, “ระบอบประยุทธ์”, น.20-23)

(ต่อสัปดาห์หน้า)