สำรวจปฏิบัติการสร้างความกลัว ของทาลิบัน ก่อนกลับมาครองอัฟกานิสถาน/บทความพิเศษ ไซเบอร์ วอชเมน

บทความพิเศษ

ไซเบอร์ วอชเมน

 

สำรวจปฏิบัติการสร้างความกลัว

ของทาลิบัน

ก่อนกลับมาครองอัฟกานิสถาน

 

สงครามอัฟกานิสถานที่กินเวลานานถึง 20 ปี และอีกไม่กี่สัปดาห์จะก็ครบวาระ 2 ทศวรรษ เหตุการณ์ 11 กันยายน 2001 ที่ทำให้โลกรู้จักกลุ่มทาลิบัน กลุ่มอัลกออิดะฮ์ และสงครามต่อต้านการก่อการร้าย

แต่แล้วจุดสิ้นสุดของสงครามที่กินนานที่สุดครั้งหนึ่งของสหรัฐอเมริกาในศตวรรษที่ 21 กลับถูกนำมาเทียบกับภาพการสิ้นสุดของสงครามเวียดนามคือการถอนทัพสหรัฐออกจากภูมิภาคอินโดจีนและนครไซ่ง่อนแตกจนทำให้กองทัพเวียดกงรวมชาติเป็นหนึ่งได้

มาคราวนี้ กองทัพสหรัฐกำลังถอนทัพออกจากอัฟกานิสถาน แต่แล้วกลุ่มทาลิบันที่ค่อยๆ สั่งสมกำลังพลมานานหลังสูญเสียอำนาจปกครองประเทศไปเมื่อ 2 ทศวรรษก่อน กลับมายึดครองอัฟกานิสถานแบบรวดเร็วกว่าที่นักวิเคราะห์และรัฐบาลสหรัฐคาดการณ์ไว้

การบุกสายฟ้าแลบของทาลิบันเข้ายึดเมืองสำคัญหลายแห่งจนมาถึงการบุกยึดกรุงคาบูลด้วยเวลาเพียงสัปดาห์เศษ สร้างความฉงนและตามมาด้วยความโกลาหล

แม้คราวนี้ ผู้นำและนักรบทาลิบันจะกลับมายึดครอง และสื่อสารกับทุกคนโดยให้คำมั่นว่าไม่มีการล้างแค้นชาวอัฟกันที่ทำงานกับรัฐบาลหรือสหรัฐ พร้อมกับรับประกันสิทธิสตรีที่สามารถเรียนหนังสือและทำงานได้ ภายใต้การปกครองแบบรัฐอิสลามและกฎหมายชารีอะห์ตามวิธีคิดของกลุ่มทาลิบัน

ทว่าภาพความวุ่นวายและความสิ้นหวังที่ปรากฏผ่านการกระทำและสีหน้าของชาวอัฟกันจำนวนมาก พากันหนีตายจากการบุกยึดของกลุ่มทาลิบัน คลื่นรถยนต์จำนวนมหาศาลพยายามหนีออกจากกรุงคาบูล หรือภาพชวนอนาถใจที่ผู้คนหวังตายดาบหน้า แม้จะเข้าไปในห้องสัมภาระของเครื่องบินลำเลียงพลไม่ได้ กลับเลือกเกาะล้อเครื่องบินหรือตัวนอกเครื่องเพื่อพาพวกเขาออกจากสถานที่ที่กำลังกลับสู่ยุคมืดอีกครั้ง แต่บางคนเกาะตัวเครื่องบินไม่ไหว ก็ร่วงดิ่งลงพื้นเสียชีวิต

เหตุใดคำมั่นสัญญาของกลุ่มทาลิบันกลับไม่ได้ช่วยคลายความสิ้นหวัง วิตกกังวลลงได้ หรือเพราะสิ่งที่ทาลิบันทำมาตลอดก่อนมาถึงปฏิบัติทางทหารครั้งใหญ่ในเดือนสิงหาคม ที่ทำให้คนต่างพาหวาดกลัว?

 

แม้กลุ่มทาลิบันจะสูญสิ้นอำนาจปกครองอัฟกานิสถานไปนานหลายปี แต่พวกเขาก็ยังคงเคลื่อนไหว ทำสงครามกองโจรและปฏิบัติการก่อการร้ายต่อรัฐบาลอัฟกานิสถานและกองกำลังสหรัฐกับชาติพันธมิตร

การก่อการร้ายที่ไม่เพียงโจมตีกำลังทหารเท่านั้น แต่ยังรวมถึงสร้างความหวาดกลัวด้วยการฆ่าคนธรรมดามือเปล่าอย่างโหดร้าย

เมื่อ 19 สิงหาคมที่ผ่านมา แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ได้เปิดเผยรายงานการสืบสวนของทีมวิจัยกับพยานเหตุการณ์ พวกเขาได้ระบุว่า เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา นักรบทาลิบันได้สังหารชายกลุ่มชาติพันธุ์ฮาซารา 9 ราย หลังเข้ายึดครองจังหวัดกาซนีได้

พยานเหตุการณ์ให้รายละเอียดว่า การฆ่าหมู่นี้เกิดขึ้นระหว่าง 4-6 กรกฎาคม ในหมู่บ้านมุนดารักต์ ในเขตมาริสถาน ชาย 6 คนถูกยิงเสียชีวิต และอีก 3 ถูกทรมานจนตาย โดย 1 ใน 3 ที่ถูกทรมานจนตายนั้น ถูกรัดคอด้วยผ้าพันคอของเขาเอง และกล้ามเนื้อแขนถูกเฉือนออก

โดยการฆ่าอย่างโหดเหี้ยมนี้ อาจเป็นเพียงส่วนเสี้ยวของผู้เสียชีวิตจากน้ำมือกลุ่มทาลิบันก่อขึ้น ทาลิบันยังได้ตัดเครือข่ายโทรศัพท์ในหลายพื้นที่ที่พวกเขาเข้ายึดได้

 

นอกจากการฆ่าสังหารแล้ว การบุกโจมตีและยึดเมืองก็กลายเป็นวิกฤตทางมนุษยธรรม อย่างเมืองกันดาฮาร์ ต้องกลายเป็นเขตห้ามบินหลังกลุ่มทาลิบันโจมตีสนามบิน จังหวัดบาซค์ทางภาคเหนือก็มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน ทุกที่ที่ทาลิบันเข้ายึดครองก็จะเกิดอัตราความรุนแรงและการละเมิดที่สูงขึ้น

สิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนถึงรูปแบบปฏิบัติการทางการเมืองและทางทหารตามแบบฉบับนักรบทาลิบันที่พวกเขาเข้ายึดที่ใดได้ อย่างกรณีเมืองกันดาฮาร์ นักรบทาลิบันจะไล่ล่าหาสมาชิกกองทัพอัฟกานิสถาน รวมถึงตำรวจ เพื่อมาลงทะเบียนและรับจดหมายที่เป็นการรับรองความปลอดภัย

ซึ่งทาลิบันทำเช่นนี้ก็เพื่อระบุตัวได้ว่าใครทำงานให้รัฐบาลอัฟกาฯ และเปิดช่องให้กลุ่มทาลิบันระบุเป้าหมายใครก็ตามที่พวกเขาสงสัย

คนที่ลงทะเบียนนี้ต้องไปรายงานตัวกับหน่วยบริหารของทาลิบันเดือนละครั้ง กลุ่มทาลิบันยังได้บุกเข้าไปในบ้านของเจ้าหน้าที่ความมั่นคงที่ลงทะเบียน หากถูกสงสัยก็จะถูกทรมานหรือถูกฆ่าได้ อย่างกรณีของนานกียารี ที่เคยทำงานให้กับตำรวจ ได้ถูกนักรบทาลิบันสังหารต่อหน้าครอบครัว

สื่อท้องถิ่นของอัฟกานิสถานยังรายงานกองกำลังทาลิบันทำการยิงสังหาร 2 ลูกชายของฟีดา โมฮัมหมัด สมาชิกสภาจังหวัด ที่มีรายงานว่าฟีดามีความสัมพันธ์กับอับดุล ราซิก อดีตหัวหน้าตำรวจเมืองกันดาฮาร์ ที่ถูกทาลิบันสังหารไปในปี 2018

แม้แต่นักข่าวอิสระที่อยู่ในอัฟกานิสถานก็ตกเป็นเป้าโจมตีจากกลุ่มทาลิบันด้วย

 

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนอิสระของอัฟกานิสถาน เปิดเผยรายงานเมื่อ 1 สิงหาคม ในช่วงความรุนแรงที่เกิดขึ้นในอัฟกานิสถาน มีพลเรือนถูกฆ่าตายไป 1,677 ราย บาดเจ็บ 3,644 ราย ในช่วงครึ่งปีแรก โดย 56% ระบุเป็นฝีมือกลุ่มทาลิบัน กองกำลังฝ่ายรัฐบาล 15% กลุ่มดาอิชหรือไอเอส 7% และไม่ทราบผู้ก่อเหตุ 22%

ทันทีที่สหรัฐประกาศแผนถอนทหารออกจากอัฟกานิสถานซึ่งเกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ และแสดงเป็นรูปธรรมในสมัยรัฐบาลสหรัฐปัจจุบันของโจ ไบเดน ระดับการรุกคืบทางทหารของกลุ่มทาลิบันก็เพิ่มขึ้นพร้อมกับเมืองหลายแห่งทยอยอยู่ภายใต้การปกครองของกลุ่มทาลิบันราวกับโดมิโน

โทมัส นิกลาสัน ทูตพิเศษประจำอัฟกานิสถานของอียู ออกมากล่าวว่า สงครามถูกกำหนดให้มีแต่เลวร้ายลงเรื่อยๆ

เช่นเดียวกับนายพลเดวิด ริชาร์ด อดีตผู้บัญชาการกองทัพอังกฤษ ได้เตือนว่าการถอนกำลังต่างชาติ จะส่งผลทำลายขวัญกำลังใจให้กับกองทัพอัฟกานิสถาน นำไปสู่การยึดครองพื้นที่ส่วนใหญ่โดยทาลิบันและจะได้เห็นการปลุกภัยคุกคามจากการก่อการร้ายกลับมาอีกครั้ง

สำนักข่าวโทโลของอัฟกานิสถานรายงานเมื่อ 1 สิงหาคม ว่า ในช่วงเดือนกรกฎาคม พื้นที่อัฟกานิสถาน 70 เขตตกอยู่ในเงื้อมมือกลุ่มทาลิบัน แม้รัฐบาลอัฟกันจะสามารถยึดคืนมาได้ 11 เขตก็ตาม แต่หลายพื้นที่ เช่น เขตชัคขานซูร์ในจังหวัดนิมรอซ มาลิสถานในกาซนี หรือกุซาร่าในเฮรัต ทาลิบันยึดคืนกลับมาได้อีก

รัฐมนตรีต่างประเทศอัฟกานิสถานกล่าวว่า ทาลิบันได้ยึดพื้นที่กว่า 193 เขต และพื้นที่ชายแดนอีก 19 เขต ซึ่งทาลิบันได้ยึดโดยเฉพาะด่านชายแดน รายได้การค้าตกอยู่ในการควบคุมโดยทาลิบัน ทำให้รัฐบาลสูญเสียรายได้อย่างหนัก

 

แม้ว่าหลังการยึดครองกรุงคาบูลได้ไม่นาน กลุ่มทาลิบันได้จัดแถลงข่าวครั้งแรกโดยมีซาบิฮูลลาห์ มูจาฮิด โฆษกกลุ่มทาลิบันออกมาประกาศชัยชนะของกลุ่มทาลิบันและคำมั่นสัญญาที่จะไม่ล้างแค้นชาวอัฟกันที่ร่วมงานกับรัฐบาลหรือชาติตะวันตก รวมถึงการเคารพสิทธิสตรี ซึ่งเป็นความพยายามรีแบรนดิ่งกลุ่มทาลิบันเพื่อหวังสร้างความเชื่อใจกับชาวอัฟกันอีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม ความพยายามสร้างตัวตนของกลุ่มทาลิบันผ่านสื่อว่าทาลิบันรุ่นนี้จะต่างจาก 20 ปีก่อน แต่การกระทำอันโหดร้ายระหว่างทางก่อนมาถึงวันที่ทาลิบันกลับมาครองอัฟกานิสถานอีกครั้ง ก็ดูชวนขัดแย้ง

การสร้างเรื่องราวว่า กอบกู้อัฟกานิสถานพร้อมขับไล่กองทัพต่างชาติ แต่ยึดครองด้วยความกลัวและข่มเหงประชาชนอย่างโหดร้าย

การรับรองความชอบธรรมในการจัดตั้งรัฐบาล แม้ต่อให้มีจีนหนุนหลังอย่างเปิดเผย ก็เป็นเรื่องยากสำหรับทาลิบันในตอนนี้ ท่ามกลางประชาชนที่ไม่ไว้ใจและกลัวการกลับมาปกครองแบบรัฐอิสลามอีกครั้ง

อีกทั้งประชาชนที่ลี้ภัยออกจากบ้านเกิด ก็ล้วนเป็นผู้มีการศึกษาและทักษะสูง กลายเป็นภาวะสมองไหลครั้งใหญ่โดยปริยาย

การกลับมาครองอัฟกานิสถานอีกครั้งของทาลิบันในบริบทที่เปลี่ยนไปมากจากคราวก่อน

ทำให้อัฟกานิสถานอยู่ในภาวะที่ไม่แน่นอนอย่างยิ่ง