ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 21 - 27 กรกฎาคม 2560 |
---|---|
คอลัมน์ | ดังได้สดับมา |
ผู้เขียน | วิเวกา นาคร |
เผยแพร่ |
คำถามแจ้งเหตุ “โคลน” สาดเปื้อน คำตอบคือล้าง
เบื้องหน้าคำถามและความสงสัย เขากล่าวหาท่านอาจารย์ว่า มีความเชื่อผิด 4 อย่างคือ
(1) เชื่อว่าไม่มีการเกิดใหม่หลังจากตาย (2) เชื่อว่าไม่มีตัวเอง (3) เชื่อว่าคัมภีร์อภิธรรมเป็นที่น่าติเตียน (4) เชื่อว่าแก่นสารของพุทธธรรมและพระคริสตธรรมเข้ากันได้
นี้จะว่าอย่างไรครับ
“เราไม่ได้ปฏิเสธเรื่องการเกิดใหม่หลังจากตายอย่างที่เขาพูดกันอยู่หรือเขาเชื่อกันอยู่” เป็นคำตอบจากท่านพุทธทาสภิกขุ
“เพราะเรามีชาติหรือการเกิดในภายในอยู่ทุกๆ ขณะจิตที่ประกอบไปด้วยอวิชชา มันเกิดตัวตนครั้งหนึ่งเรียกว่าชาติหนึ่ง แล้วก็เกิดตัวตนอีกครั้งหนึ่งก็เรียกว่าชาติหนึ่ง มันเกิดอย่างนี้ตลอดไป มันเห็นชัดอยู่แล้วว่าเรายอมรับว่ามีการเกิดใหม่หลังจากการตายแห่งชาติก่อนๆ
“มันมีการเกิด-ตาย เกิดตาย-อยู่ในจิตใจ ในลักษณะแห่งปฏิจจสมุปบาทนี่มากมายเหลือเกิน”
นี่คือบทสรุป “นี่เป็นอันว่าเราถือว่าเป็นการเกิดใหม่ มันไม่ไหวเท่ากับที่การเกิดมันมี ส่วนการเกิดใหม่ด้วยเนื้อหนัง เข้าโลงแล้วจะไปเกิดใหม่หรือไม่นั้นเราไม่อยากจะสนใจ มันไม่คุ้มค่าของเวลา แต่ถ้าว่าจะสอนศีลธรรมแก่ชาวบ้านชั้นต่ำก็เอาก็ยอมรับได้ ด้วยว่ามันมีการเกิดใหม่ ทำดีมากๆ จะได้ไปเกิดดี แต่เราต้องการจะหยุดเกิดไม่ต้องการเกิดนี่ ฉะนั้น เราก็ไม่ต้องสนใจก็ได้”
นั่นคือสิ่งที่ท่านพุทธทาสภิกขุเน้นย้ำอยู่ตลอดเวลา
เขาหาว่าเรามีมิจฉาทิฏฐิ เชื่อว่าไม่มีตัวเอง คือไม่มีตัวตน นี่เป็นหลักพุทธศาสนา ไม่มีตัวตนซึ่งเป็นตัวเองที่อยู่ในบังคับบัญชาของเรา มีแต่สังขารที่หมุนเวียนเปลี่ยนไปตามกฎของอิทัปปัจจยตา ไม่ควรยึดถือส่วนไหนว่าเป็นตัวเอง
เพราะฉะนั้น มันก็ไม่มีตัวตนที่แท้จริงอะไรที่ไหน
ถ้าให้พูดอย่างสมมติมันก็พูดเหมือนกันแหละว่ามีตัวตนเพราะใครๆ ก็พูดว่ามีตัวตนอยู่ตลอดเวลา พระพุทธเจ้าท่านก็ตรัสว่า “เราตถาคต” อยู่บ่อยๆ แต่เมื่อตรัสจริงท่านจะตรัสว่าไม่มีตัวตนชนิดนั้น เพียงแต่ตถาคตพูดไปตามโลกิยโวหาร โลกิยบัญญัติอย่างที่มนุษย์เขาพูดกัน
แม้ตถาคตก็ยังต้องพูดว่า “เราตถาคต” อยู่อย่างนี้ นี่ก็เป็นอันว่าพูดอย่างสมมติ ก็พูดว่ามีตัวตน
ถ้าพูดอย่างแท้จริงเป็นปรมัตถ์มันก็ไม่มีตัวตน เดี๋ยวนี้ถ้าพูดว่าไม่มีตัวตนมันก็เป็นเรื่องพูดอย่างถูกต้อง คือพูดอย่างปรมัตถ์ ถ้าพูดอย่างชาวบ้านก็พูดว่ามีตัวตนเพราะพูดว่า “อาตมาๆ” อยู่ไม่รู้วันละกี่ร้อยครั้ง
แล้วจะว่าไม่รับตัวตนอย่างไร
ทีนี้ที่ว่าเชื่อว่าคัมภีร์อภิธรรมเป็นที่น่าติเตียน นี่มันเป็นคำพูดของพระฝรั่งสร้างเรื่องเท็จรูปนั้น เขาเขียนลงไปในหนังสือของเขาว่าอาตมาติเตียนอภิธรรม
อาตมาบอกว่า ไม่ไปติเตียนให้เมื่อยปาก ให้เสียเวลา ไม่ต้องติเตียนมันก็อยู่อย่างนั้น
อภิธรรมมันก็อยู่อย่างนั้นแหละ มันก็ไม่ใช่พุทธวจนะเต็มรูป ไม่อยู่ในลักษณของการกล่าวอย่างพุทธวจนะ
แล้วก็ไม่ต้องไปติเตียน ไม่ติเตียนอภิธรรม แต่ไม่ยอมรับว่าเป็นอย่างที่เขารับ
มันมีประโยชน์สำหรับศึกษาอักษรศาสตร์ สำหรับศึกษาปรัชญาอย่างยิ่งในอภิธรรม จะไปติเตียนมันทำไม
ทีนี้ข้อสุดท้ายที่ว่า เชื่อว่าแก่นสารของคริสต์กับพุทธนั้นเข้ากันได้
ข้อนี้ยังยืนยันเดี๋ยวนี้ว่าแก่นสารของพุทธกับคริสต์น่ะมันเข้ากันได้ ขอให้มีจิตใจที่จะยอมรับข้อนี้
พุทธบริษัททุกคนที่นั่งอยู่ที่นี่จงมองเห็นความเป็นจริงข้อนี้ว่าศาสนาทุกศาสนาเข้ากันได้
โดยหัวใจอันลึกในข้อที่ว่า ไม่เห็นแก่ตน ให้ทำลายความเห็นแก่ตน ทีนี้ลูกศิษย์ชั้นหลังๆ อธิบายผิดไปเอง ผิดจนเข้ากันไม่ได้จนทะเลาะกัน
จนเกี่ยงแย่งกัน
ในความเห็นของท่านพุทธทาสภิกขุ คำตอบเหล่านี้มันจะเป็นอะไรก็ตามใจ แต่ในทางหนึ่งนั้นมันเป็นการเปลื้องตัวเองของอาตมาจากข้อที่ถูกกล่าวหา
ข้อที่ถูกกล่าวหามันเป็นสิ่งที่ควรเปลื้อง
แม้ไม่ถูกกล่าวหา แต่ถ้ามันมีข้อสงสัย ข้องใจ มันก็ต้องเปลื้อง เป็นสิ่งที่ควรเปลื้องด้วยเหมือนกัน
ท่านจงพิจารณาดู เปรียบเทียบดูว่าโคลนถ้ามันเปื้อนมันก็ต้องล้าง ไม่ควรจะทนเปื้อนโคลนอยู่ไม่ว่าโคลนนั้นมันจะมีผู้เจตนาสาดรถเรา มันก็ต้องล้าง หรือว่าความโง่ของเราทำโคลนเปื้อนเราเองมันก็ต้องล้าง
หรือว่ามันไม่ใช่เจตนาของใคร มันโดยเหตุบังเอิญไปยืนไปเดินข้างม้า ข้างวัว ข้างรถ ที่มันทำโคลนกระเด็นมาใส่โดยไม่มีเจตนาของใคร โคลนเหล่านี้มันก็ต้องล้างอยู่นั่นเอง
นี่เรียกว่าโคลนแล้วมันก็ต้องล้าง ถ้ามันมาเปื้อนแล้วมันก็ต้องล้าง
ฉะนั้น ขอให้ถือว่าคำตอบเหล่านี้ไม่ได้มุ่งหมายเฉพาะบุคคลใด เรื่องใด หรือตอบโต้แก่ใคร ถือว่าเป็นโคลนทุกชนิดที่มาจากทิศทางไหนก็ได้ ถ้ารู้สึกว่ามันมาเปื้อนที่เรา เราก็ต้องล้าง
ฉะนั้น การถามตอบให้เข้าใจมันก็เป็นเรื่องล้างโคลน
คำถามก็เป็นเสมือนกับเป็นการเสนอให้ทราบว่า บัดนี้มันมีโคลนเปื้อนอยู่ แล้วคำตอบก็คือ ล้างมันออกไปเสีย