จ๋าจ๊ะ วรรณคดี : ใส่สารพัด / ญาดา อารัมภีร

ญาดา อารัมภีร

 

 

ใส่สารพัด

 

คนไทยสมัยโบราณมีถุงผ้าสารพัดประโยชน์ที่เย็บเอง ใช้กันทั่วถึงทั้งผู้ใหญ่และเด็ก ใส่เงินก็ได้ อาหารก็ดี สิ่งอื่นๆ ก็มี

เราจะมองเห็นภาพของ ‘ไถ้’ จาก “พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน”

“ถุงยาวๆ ใหญ่บ้างเล็กบ้างสำหรับใส่เงินหรือสิ่งของ โดยมากใช้คาดเอว” แสดงว่ามีหลายขนาดขึ้นอยู่กับสิ่งที่ใส่และคนที่ใช้ คำว่า ‘โดยมาก’ บอกให้รู้ว่าส่วนใหญ่ใช้คาดเอว ที่ไม่ใช้คาดเอวมีส่วนน้อย แต่ก็หนีเอวไม่พ้น

ซึ่งน่าจะตรงกับ “พจนานุกรมสถาปัตยกรรมและศิลปะเกี่ยวเนื่อง” ที่อาจารย์โชติ กัลยาณมิตร รวบรวมไว้

“ไถ้ คือ ถุงผ้าสำหรับใส่เงินเหรียญหรือเบี้ย ที่ปากถุงร้อยเชือกรูดปิดเปิดได้ ใช้พกติดตัวโดยวิธีเหน็บเอวหรือขมวดซ่อนในชายพกผ้านุ่ง ใช้แทนกระเป๋าสตางค์ในสมัยปัจจุบัน”

 

คําจำกัดความจากอาจารย์โชติ น่าจะเข้าเค้ากับบทละครเรื่อง “ระเด่นลันได” ตอนที่ลันได แขกขอทาน วาดลวดลายเจ้าชู้ตัวพ่อใส่นางประแดะโดยเจียดเงินน้อยนิดซื้อใจสาว ก่อนนัดกระชับสัมพันธ์ยามดึก

 

“ถึงมิใช่ตัวเปล่าเจ้ามีผัว                              พี่ไม่กลัวบาปดอกนะโฉมศรี

อันนรกตกใจไปไยมี                                   ยมพระบาลกับพี่เป็นเกลอกัน

เพียงจับมือถือแขนอย่าแค้นเคือง                   จะให้น้องสองเฟื้องอย่าหุนหัน

แล้วแก้เงินในไถ้ออกให้พลัน                       นี่แลขันหมากหมั้นกัลยา” (อักขรวิธีตามต้นฉบับ)

 

สำหรับตัวละครที่จะต้องเดินทาง ถ้าใช้ไถ้แบบคาดเอวน่าจะพกพาเงินไปได้สะดวกและปลอดภัย ดังจะเห็นได้จากเสภาเรื่อง “ขุนช้างขุนแผน” ตอนขุนแผนเสาะหาพาหนะประจำตัว

“แล้วคิดอ่านจะไปหาม้าสำคัญ

เอาเงินห้าชั่งมาใส่ไถ้                                เที่ยวไปทั่วประเทศเขตขัณฑ์

ไม่ชอบตาหาต่อไปทุกวัน                            ทั้งราชบุรีสุพรรณเพชรบุรี”

 

อีกตอนหนึ่งขุนแผนเรียกตาบัว ข้ารับใช้เก่าแก่มาเฝ้าบ้านแทน

 

“กูจะไปราชการที่ด่านไพร                          เจ้าเป็นผู้ใหญ่อยู่เคหา

แต่ผู้เดียวกูจะดั้นอรัญวา                           จะเร็วช้าเป็นอย่างไรก็ไม่รู้

สั่งกำชับจับเครื่องเข้าใส่ย่าม                       กับเงินสามสิบใส่ในไถ้หู”

 

ขุนแผนเก็บเงินไว้ใน ‘ไถ้หู’ คำนี้ไม่ปรากฏในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานและฉบับอื่นๆ แต่มีอธิบายไว้ในหนังสือ “เล่าเรื่องขุนช้างขุนแผน” ของกาญจนาคพันธุ์ และนายตำรา ณ เมืองใต้

ดังนี้

 

“เงินสามสิบ ซึ่งเห็นจะเป็นตำลึง เพราะบาทก็น้อยไป ชั่งก็มากไป ใส่ไถ้หู คือ กระเป๋าคาดเอว ซึ่งคาดทับสนับเพลากางเกงใน แล้วนุ่งผ้าทับนอกเหมือนอย่างซ่อนไว้ป้องกันภัยไม่ให้ใคร ‘จี้’ เอาไปง่ายๆ แบบนี้ถ้าต้องการอะไรในไถ้ก็เลิกผ้านุ่งขึ้น”

‘ไถ้’ จะเล็กหรือใหญ่ขึ้นกับตัวผู้ใช้เป็นสำคัญ ดังกรณีของนางวันทองเย็บไถ้ให้พลายงาม ลูกชายตัวน้อย เพื่อใส่เสบียงเดินป่าไปหาย่าทองประศรีที่กาญจนบุรี

 

“จึงเย็บไถ้ใส่ขนมกับส้มลิ้ม                            ทั้งแช่อิ่มจันอับลูกพลับหวาน

แหวนราคาห้าชั่งทองบางตะพาน                    ล้วนต้องการเก็บใส่ในไถ้น้อย

 

พอใกล้รุ่งก็ไปหาลูกตามที่นัดแนะกันไว้

 

“แล้วถือไถ้ใส่ขนมผ้าห่มหุ้ม                           ออกย่างดุ่มเดินเหย่าก้าวถลำ

ลงจากเรือนเชือนมาข้างท่าน้ำ                       แล้วรีบร่ำเดินตรงเข้าดงตาล”

 

ก่อนจากกัน นางวันทองได้แต่งตัวให้ลูกชายเป็นครั้งสุดท้าย ผูกไถ้ที่เอวลูกเพื่อมิให้ข้าวของตกหล่นกลางทาง

 

“แล้วเกล้าจุกผูกไถ้ใส่สิ่งของ                        ให้แหวนทองทุกสิ่งทำมิ่งขวัญ

แล้วกอดลูกผูกใจจะไกลกัน                            สะอื้นอั้นออกปากฝากเทวา”

 

ระหว่างเดินทางพลายงามก็จัดการกับเสบียงในไถ้

 

“ครั้นรุ่งเช้าเอาขนมทั้งส้มลิ้ม                          ออกกินอิ่มแล้วออกเดินเนินสิงขร”

 

พลายงามมีแม่วันทองเตรียมเสบียงให้ แต่สำหรับพลายชุมพลที่แม่แก้วกิริยาอยู่ต่างเมือง เมื่อตัดสินใจหนีออกจากบ้าน ก็ต้องช่วยตัวเอง

 

“เห็นขนมนมเนยในพานน้อย                           ชะรอยพี่ศรีมาลาหาไว้ให้

จะได้กินกลางทางในกลางไพร                          แล้วหยิบใส่ไถ้ออกมานอกเรือน”

 

น่าสังเกตว่าอาหารแห้งทั้งคาวหวานเหมาะแก่การเดินทางอย่างยิ่งเพราะเก็บไว้กินได้นานไม่เสีย โดยเฉพาะ ‘ข้าวตาก’ เสบียงยอดนิยม ดังตอนที่แสนตรีเพชรกล้าเตรียมพลเดินทาง เอาไถ้ห้อยเฉียงบ่า

 

“ได้ข้าวตากใส่ไถ้ตะพายแล่ง                          เครื่องม้าเสื้อแสงแดงดาดป่า

ทวนดูพู่ระยับจับนัยน์ตา                                ข้ามท่าน้ำได้ไปลำพูน”

 

ไม่ต่างกับตอนที่ราษฎรเชียงใหม่เตรียมตัวอพยพไปอยุธยา

 

“บ้างเลื่อยกลักจักกระบอกกรอกปลาร้า              ทำน้ำปลาปลาแดกเอาแทรกใส่

พริกกะเกลือเนื้อกวางเอาย่างไว้                       บ้างเย็บไถ้ใส่ข้าวตากจัดหมากพลู”

 

ข้าวตากเป็นหนึ่งในเสบียงที่สาวน้อย ‘อมิตตดา’ จัดเต็มให้ ‘ชูชก’ ผัวชราเดินป่าไปเฝ้าพระเวสสันดร ดูจากปริมาณอาหารมากมาย แค่ ‘ไถ้’ คงใส่ไม่พอ ต้องมี ‘ย่ามละว้า’ เป็นตัวช่วย ดังที่ “มหาเวสสันดรชาดก” กัณฑ์ชูชก บรรยายว่า

“ทุกสิ่งสรรพเสร็จสรรพสำหรับจะเดินทาง ทั้งลูกเดือยข้าวฟ่างต่างๆ ไม่อย่างเดียว ข้าวเหนียวข้าวเจ้าข้าวเม่าข้าวพองเป็นของเดินทาง ถั่วงาสาคูข้าวตูข้าวตากหลากๆ ไม่น้อย ที่ใส่น้ำอ้อยอร่อยดีล้ำ น้ำผึ้งหวานฉ่ำ น้ำตาลหวานเฉื่อย เหนื่อยๆ แก้ร้อนผ่อนลงถุงไถ้ ยัดใส่ย่ามละว้านักหนาซับซ้อน อ้ายที่ไหนกินก่อนผ่อนไว้ข้างบน ที่ไหนเมื่อจนจะได้กินนานๆ จัดลงไว้ข้างล่างต่างๆ สารพัด”

คำว่า ‘ถุงไถ้’ ในที่นี้เป็นคำเดียวกับที่พบในเรื่อง “ขุนช้างขุนแผน” ตอนขุนแผนพลายงามเตรียมยกทัพไปตีเชียงใหม่

“ต่างคนเลือกหาเครื่องอาวุธ                             อุตลุดสับสนอยู่จนค่ำ

แล้วแจกจ่ายเสื้อผ้ายาประจำ                           กระบอกน้ำถุงไถ้ใส่ข้าวปลา

 

‘ถุงไถ้’ ทำให้นึกไปถึงคำว่า ‘ไถ้ถุง’ และ ‘ไถ้, ถุง’ ใน “อักขราภิธานศรับท์” ของหมอบรัดเลย์

“ไถ้ถุง คือ ไถ้อย่างหนึ่งที่เย็บเปนถุงนั้น, เช่น ไถ้ใส่เข้าตาก เปนต้นนั้น”

“ไถ้, ถุง คือ ถุงอย่างหนึ่งที่ใหญ่บ้างเล็กบ้างสำหรับคาดเอว เช่น ไถ้ใส่เงิน”

ถ้าพิจารณาจากความหมายข้างต้น ทั้ง ‘ไถ้’ และ ‘ถุง’ มีหลายขนาดใช้คาดเอว มักใส่เงิน สำหรับ ‘ไถ้ถุง’ มักใช้ใส่ของกิน ซึ่งถ้าดูจากปริมาณอาหารในตัวอย่างที่ยกมา น่าจะมีขนาดใหญ่พอสมควร เหมาะแก่การห้อยเฉียงบ่ามากกว่าคาดรอบเอว

จะ ‘ไถ้’ ‘ไถ้หู’ ‘ไถ้ถุง’ หรือ ‘ถุงไถ้’ ล้วนยืนยันภูมิปัญญาไทยในวิถีชีวิตพอเพียง

“ทำเอง เรียบง่าย ใช้ได้ดี ไม่มีค่าใช้จ่าย”