ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 20 - 26 สิงหาคม 2564 |
---|---|
คอลัมน์ | ล้านนาคำเมือง |
เผยแพร่ |
ล้านนาคำเมือง ชมรมฮักตั๋วเมือง
สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
อ่านเป็นภาษาล้านนาว่า “กำบ่มีแป๋งเข้าใส่ กำบ่ใหญ่ปั้นเข้าเปาะ”
“กำ” คือ คำ แปลว่า ความ ข้อความเนื้อหา หรือเรื่องเล่า
“แปลง” อ่านว่า แป๋ง ไม่ออกเสียง “ล กล้ำ” แปลว่า ทำ สำนวนล้านนา “แป๋งกำ” แปลว่า โกหก
ส่วน “เปาะ” แปลว่า เพิ่มเติม เสริมแต่ง ทำให้เกินจริง
รวมความแล้ว คำคมนี้แปลว่า ความไม่มีก็โกหกให้มี ความไม่มีนัยสำคัญก็ปั้นเสริมเติมแต่งให้เกินจริงเพื่อจะได้มีคนเชื่อ ใกล้เคียงกับคำคมว่า “ปั้นน้ำเป็นตัว” แปลว่า โกหก หรือสื่อความเท็จ
ตัวอย่างที่ดีที่สุดเพื่อจะเข้าใจสำนวนนี้คือนิทานอีสปเรื่องเด็กเลี้ยงแกะ
เด็กเลี้ยงแกะคนหนึ่งทำหน้าที่ต้อนฝูงแกะออกไปกินหญ้าที่เนินเขาเป็นประจำทุกวัน วันหนึ่งเขารู้สึกเบื่อในการเฝ้าฝูงแกะ จึงได้คิดคะนอง วิ่งหน้าตาตื่นเข้าไปในหมู่บ้าน ตะโกนดังๆ ว่า “ช่วยด้วย หมาป่าจะมากินแกะของข้าแล้ว”
นี่คือ “คำไม่มี ก็แปลงสารเข้าใส่”
ชาวบ้านได้ยินว่ามีหมาป่าจะมากินแกะ ก็พากันทิ้งงานการที่ทำอยู่ ฉวยเอาอาวุธในบ้านออกไป หมายช่วยไล่หมาป่า แต่เมื่อถึงทุ่งหญ้า กลับพบว่าฝูงแกะกำลังกินหญ้าเป็นปกติ และไม่เห็นแม้แต่เงาของหมาป่า
เด็กเลี้ยงแกะไม่หยุดพยายามอ้างว่า เมื่อกี้มีหมาป่าฝูงใหญ่จะมาล่าแกะจริงๆ
นี่คือ “คำไม่ใหญ่ ก็เสริมแต่งเข้าไป ให้ดูน่าเชื่อถือ เป็นการปั้นเข้าเปาะ”
ชาวบ้านเห็นว่าแกะปลอดภัย จึงกลับเข้าหมู่บ้านไป
เด็กเลี้ยงแกะหัวเราะชอบใจที่แกล้งหรือแกงคนจากหมู่บ้านได้ พลางคิดว่าพวกผู้ใหญ่นี่โง่จริงๆ หลงกล หลงเชื่อเขาได้ เล่นแบบนี้ช่างสนุกนัก
และแล้ววันหนึ่ง หมาป่าก็มาจริงๆ แต่คราวนี้เขาร้องขอความช่วยเหลืออย่างไรก็ไม่มีใครเชื่อเด็กเลี้ยงแกะอีกแล้ว
ทุกวันนี้สำนวน “เด็กเลี้ยงแกะ” เป็นที่รู้กันว่านั่นคือคำโกหก คือ เฟกนิวส์
แต่ดูเหมือนว่าคนสมัยนี้ไม่ได้เรียนรู้จากนิทานอีสปเรื่องนี้แม้แต่น้อย
นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า
หากขยันปล่อยเฟกนิวส์ ในที่สุดก็จะสูญเสียความน่าเชื่อถือไปเอง
บ่าเดี่ยวนี้ละอ่อนเลี้ยงแกะมีเป่อเลอะ
แปลว่า สมัยนี้มีเด็กเลี้ยงแกะเยอะแยะ