วิรัตน์ แสงทองคำ : ซีพีกับวัคซีนโควิด

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

วิรัตน์ แสงทองคำ / https://viratts.com/

 

ซีพีกับวัคซีนโควิด

 

วิกฤตการณ์ COVID-19 ในสังคมไทย มีเรื่องให้วิตก วิจารณ์ และพาดพิง หลายต่อหลายเรื่อง

เรื่องใหญ่เรื่องหนึ่ง หนีไม่พ้น-วัคซีน โดยมีความเกี่ยวข้องกับเครือข่ายธุรกิจใหญ่ไทยด้วย

ช่วงเวลารอคอยวัคซีนหลัก-AstraZeneca ดูนานเกินไปนั้น รัฐไทยได้หา “ตัวช่วย” เปิดฉากต้นปีที่ผ่านมา “กระทรวงสาธารณสุขแถลงอย่างเป็นการเป็นงานว่าจัดซื้อวัคซีน COVID-19 จาก Sinovac จำนวน 2 ล้านโดส ในวงเงินประมาณ 1,200 ล้านบาท” (10 มกราคม 2564) จากแผนการ “แก้ขัด” จนถึงวันนี้ นำเข้ามากี่ครั้งไม่ใคร่ได้นับ รู้แต่ว่าสถิติล่าสุด คนไทยได้รับ Sinovac มากกว่า AstraZeneca รวมๆ แล้วขณะนี้ เฉพาะ Sinovac มากกว่า 11 ล้านโดส

ที่มาถึงเมืองไทยของ Sinovac กลายเป็นเรื่องราวตื่นเต้นยิ่งขึ้น เมื่อเชื่อมโยงถึงซีพี

เป็นประเด็นแต่แรก ตั้งแต่ต้นปี ด้วยเรื่องราวและเหตุการณ์เกิดขึ้นก่อนหน้ารัฐไทยสั่งซื้อ Sonovac ไม่นาน

7 ธันวาคม 2563 – Sino Biopharmaceutical Limited บริษัทจดทะเบียนตลาดหุ้นฮ่องกงแห่งหนึ่ง ประกาศดีลสำคัญลงทุน 515 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (หรือกว่า 15,000 ล้านบาท) เข้าถือหุ้นในสัดส่วน 15% ของ Sinovac Life Sciences ผู้ผลิตวัคซีน COVID-19 ที่เรียกกันว่า CoronaVac กิจการในเครือ Sinovac Biotech แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน

สื่อพากันค้นหาความเชื่อมโยงอย่างตื่นเต้น จากข้อมูลที่ว่า Sino Biopharmaceutical Limited เป็นกิจการในเครือซีพี

 

ผมให้ความสนใจเช่นกัน เคยนำเสนอ “เท่าที่สำรวจ (‘บันทึกความทรงจำของธนินท์ เจียรวนนท์’ หรือ My Personal History : Dhanin Chearavanont ในสื่อยักษ์ใหญ่ญี่ปุ่น-NIKKEI และหนังสือ ‘ความสำเร็จ ดีใจได้วันเดียว’ โดยธนินท์ เจียรวนนท์) ผู้นำซีพีไม่ได้กล่าวถึง Sino Biopharmaceutical เลย และเมื่อพิจารณาข้อมูลทางการที่ว่าด้วย ‘ความเป็นมา’ ของเครือเจริญโภคภัณฑ์ (https://www.cpgroupglobal.com/th/about/Milestones) ก็ไม่ได้กล่าวถึงเช่นกัน” (เนื้อหาบางตอนจากเรื่อง “ว่าด้วยความเคลื่อนไหว” มติชนสุดสัปดาห์ วันที่ 15 มกราคม 2564) ดูเป็นความสัมพันธ์ค่อนข้างใหม่

“เมื่อไม่นานมานี้ เมื่อมีการปรับโครงสร้างผู้บริหารครั้งใหญ่ จากยุคธนินท์ เจียรวนนท์ สู่รุ่นทายาท ได้นำเสนอเครือข่ายธุรกิจใหม่ แบ่งออกเป็น 8 กลุ่มธุรกิจ ปรากฏว่า ‘ธุรกิจยาและเวชภัณฑ์’ เป็นหนึ่งในนั้น โฟกัสไปยัง Sino Biopharmaceutical อย่างตั้งใจ

“กลุ่มบริษัท ไซโนไบโอฟาร์มา จำกัด เป็นองค์กรด้านเวชภัณฑ์และนวัตกรรมของประเทศจีน ประกอบด้วย ศูนย์พัฒนาและวิจัย ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ยาประเภทต่างๆ เคมีภัณฑ์ ยาจีน และผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพอื่นๆ มีความเชี่ยวชาญด้านยารักษาโรคตับอักเสบ โรคหัวใจ โรคระบบทางเดินหายใจ โรคกระดูกและข้อ เป็นต้น มีความร่วมมือกับสถาบันเภสัชกรรมชั้นนำทั้งในประเทศจีนและต่างประเทศ” (อีกตอน)

ท่ามกลางกระแสค่อยๆ พุ่งสูงขึ้นๆ ผู้เกี่ยวข้องเรียกร้องวัคซีนชนิดอื่นที่มีประสิทธิภาพ เรื่องเป็นไปอย่างมีเหตุผล ไม่ว่าแวดวงวิชาการการแพทย์ระดับโลก ผ่านงานวิจัยต่างๆ ก็ว่าเช่นนั้น วัคซีนประเภทใหม่ (mRNA) มีประสิทธิภาพเหนือกว่าประเภทเชื้อตายอย่าง Sinovac และ Sinopharm

หรือมองกว้างๆ จะพบว่า กลุ่มประเทศหรือระบบเศรษฐกิจพัฒนาแล้ว ซึ่งถือกันว่ามีระบบสาธารณสุขที่ดี ล้วนไม่มีการผลิตวัคซีน และไม่ใช้วัคซีนเชื้อตาย การแบ่งแยกวัคซีน 2 ชนิดข้างต้น สะท้อนภาพการแบ่งแยกประเทศในโลกท่ามกลางวิกฤตการณ์อย่างเหลือเชื่อ

ยิ่งเมื่อรัฐสั่งซื้อ Sinovac อย่างไม่หยุดยั้ง ผู้ใหญ่ในวงการแพทย์ไทยออกโรงมาปกป้องแผนการดังกล่าวจนเกินเลย ประเด็นจึงร้อนแรงขึ้น ผู้คนสนใจมากขึ้น

กระแสพาดพิงถึงซีพีจึงมีต่อเนื่อง

ไม่เพียงสื่อกระแสหลักและสื่อธุรกิจเท่านั้น แม้แต่นิตยสารสตรีอย่าง “แพรว” ให้ความสนใจด้วย นำเสนอแง่มุมแตกต่างออกไป “แพรวพาไปทำความรู้จักเอริก เซี่ย (Eric Tse) ทายาทแสนล้าน ‘เซี่ยปิ่ง’ เจ้าของบริษัทกลุ่ม CP Pharmaceuticals Group และบริษัทยา ซิโน ไบโอฟาร์มาซูติคอล อีกทั้งยังเป็นเครือญาติมหาเศรษฐีอันดับ 1 ของไทย เจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์” (พฤษภาคม 2564)

 

กรณีความสัมพันธ์ระหว่างซีพีกับรัฐ เป็นเรื่องเข้าใจได้ ในฐานะเครือข่ายธุรกิจใหญ่ในสังคมไทย และเข้าใจได้ยิ่งขึ้น ด้วยปรากฏการณ์ที่ผ่านมา ซีพีกับรัฐมีความสัมพันธ์แนบแน่นเป็นไปในวงกว้าง

จากกรณี (ปลายปี 2562)-ซีพีกับ “รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน” ซีพีกลายเป็นเอกชนรายแรกในประวัติศาสตร์ เป็นผู้พัฒนา “โครงสร้างพื้นฐานสำคัญ” ของรัฐ และเป็นครั้งแรกที่ซีพีเข้าบริหารจัดการ (Take Over) กิจการเดิมของรัฐ (รถไฟฟ้าเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ-Airport Rail Link)

จนมาถึงอีกกรณี (ปี 2563) ซีพีเปิดดีลใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์สังคมธุรกิจไทย สั่นสะเทือนวงการค้าปลีก เข้าครอบครองเครือข่าย Tesco Lotus ในไทย แล้วผนวกพลังกับ 7-Eleven และ Makro ที่มีอยู่เดิม ซีพีกลายเป็นผู้ครอบครองเครือข่ายค้าปลีกทรงอิทธิพลที่สุดในสังคมไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผ่าด่าน “การผูกขาดทางการค้า” ตามกติกาของรัฐไปได้ด้วย

ในช่วงเวลาที่ผ่านมา ธนินท์ เจียรวนนท์ จึงมีงานมากเป็นพิเศษ ทั้งๆ ได้ (ประกาศ) วางมือตำแหน่งบริหารในฐานะประธานเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ไปแล้ว เมื่อปี 2562

ธนินท์ เจียรวนนท์ กับตำแหน่งประธานอาวุโสซีพี “ออกตัว” มากกว่าปกติ เมื่อเปรียบเทียบกับที่ผ่านๆ มา

– เมษายน 2564 ธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโสซีพี กล่าวผ่าน True VROOM (ห้องประชุมเสมือนจริง) บางตอนตั้งใจส่งถึงนายกรัฐมนตรี ขอให้ส่งเสริมสนับสนุนเอกชนนำเข้าวัคซีนต้านโควิด “เพื่อให้แต่ละบริษัทสามารถนำวัคซีนมาดูแลพนักงานตัวเอง เป็นการแบ่งเบาภาระงบประมาณ…”

– พฤษภาคม 2564 ธนินท์ เจียรวนนท์ กล่าวอีกครั้ง เจาะจงชื่อวัคซีนด้วย “วัคซีนมีหลากหลายยี่ห้อ ไฟเซอร์, วัคซีนสปุตนิก วีของรัสเซีย วัคซีนจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน และตัวเลือกอื่นๆ ควรมีวัคซีนทางเลือก มีเยอะดีกว่าขาด…ต้องนำเข้ามารวดเร็ว”

 

ล่าสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ธนินท์ เจียรวนนท์ “ออกตัว” อีกครั้ง คราวนี้ผ่านบางสื่ออย่างเฉพาะเจาะจง กระตุ้นซ้ำ ดูเข้มข้นขึ้น อย่างบางคน Quote ไว้ “แพงก็ต้องซื้อ ขี้เหนียวไม่ได้ เวลาและชีวิตคนสำคัญที่สุด”

ในบทสนทนานั้น ธนินท์ เจียรวนนท์ ย่อมย้ำด้วยว่าซีพีไม่เกี่ยวข้องกับกรณีรัฐนำเข้า Sinovac ดูตั้งใจประสานเสียงกับงานสื่อสารทางการซีพี

ด้วยเชื่อว่า สาระสำคัญอยู่ที่คำกล่าวประธานอาวุโสซีพี ว่าด้วยการจัดหา-จัดการวัคซีน

สะท้อนเสียงประสานกัน ในฐานะ “ชิ้นส่วน” สำคัญสังคมธุรกิจไทย ท่ามกลางสถานการณ์เผชิญ “ร่วมกัน” ทั้งระบบ ด้วยมุมมองอันกระจ่างที่ว่า หาก “กฎ” และ “กลไก” รัฐสำคัญไม่ทำงาน จะสร้างผลกระทบเชิงลบ เชิงทำลายล้างทั้งสังคม ในที่สุดยากที่ใครจะอยู่รอดอย่างยั่งยืน ภายใต้โครงสร้างและระบบที่มีปัญหาร้ายแรง

แม้ว่ากิจการในเครือข่ายซีพี ในเฉพาะหน้าระยะที่ผ่านมา ได้รับผลกระทบไม่มากโดยเปรียบเทียบ แต่ในระยะต่อไปคงไม่เป็นเช่นนั้น

วิกฤตการณ์ดูหนักหนาเอาการยิ่งขึ้น เมื่อธนินท์ เจียรวนนท์ ผู้มีมุมมองเชิงยุทธศาสตร์ กระตุ้นครั้งแล้วครั้งเล่า ยังไม่เป็นผล