คุยกับ ดร.เตช บุนนาค ในโอกาส 130 ปีพระองค์วรรณ “ท่านทรงเป็นวีรบุรุษในใจผม”

“ในโอกาสครบรอบ 130 ปีคล้ายวันประสูติของพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ คนไทยทุกคนควรที่จะรำลึกถึงคุณูปการ และพระคุณของท่าน ที่มีต่อประเทศชาติในด้านการทูตของไทย ที่ทำให้ประเทศไทยมีศักดิ์ศรี เชิดหน้าชูตา และรำลึกถึงในการที่เราได้ผ่านพ้นเหตุการณ์ต่างๆ มามากมาย ด้วยเหตุที่ว่า เรามีนักการทูตซึ่งเป็นนักวิชาการที่ยอดเยี่ยม” ดร.เตช บุนนาค อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภากาชาดไทย) กล่าวถึงสิ่งที่พระองค์วรรณทรงวางหลักไว้ให้กับประเทศชาติ

ดร.เตชบอกเล่าถึงครั้งหนึ่งได้เคยบรรยายที่กระทรวงการต่างประเทศถึง “เสด็จในกรม” บ่อยครั้ง ท่านประสูติเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2434 เพราะฉะนั้น ปี 2564 นี้จะครบ 130 ปีพอดี ท่านทรงมีคุณูปการมหาศาลสำหรับประเทศไทย ในทุกๆ ทางไม่ว่าจะเป็นทางด้านการต่างประเทศ หรือทางด้านภาษาศาสตร์ นิรุกติศาสตร์ การบัญญัติศัพท์ ศัพท์ภาษาไทยสมัยใหม่เกิดขึ้นมากมาย ล้วนเป็นคำศัพท์ที่พระองค์ท่านทรงบัญญัติขึ้นทั้งนั้น

อย่างคำทั่วไป เช่น คำว่าบริการ อุปสงค์ อุปทาน ก็เป็นศัพท์ที่ท่านบัญญัติ เรียกได้ว่าท่านเป็นพจนานุกรมทั้งเล่มก็ได้ นอกจากภารกิจด้านการต่างประเทศและการบัญญัติศัพท์ของท่าน ท่านเองก็เป็นนักปราชญ์ เป็นอาจารย์ที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ มีงานทางด้านวิชาการ

ในประวัติศาสตร์ไทยที่เราจะต้องจารึกไว้ว่า ท่านเป็นนักการทูตไทยที่ยอดเยี่ยมที่สุดที่เราเคยมีมา ท่านทรงทำงานในช่วงระยะเวลาที่ยาวนาน ทรงเริ่มต้นทำงานตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 แล้วก็ทรงงานมาจนถึงยุครัชกาลที่ 9

ลองคิดดูว่าท่านเริ่มต้นทำงานครั้งแรกเมื่อปี 2460 คือช่วงที่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 1 ท่านก็เป็นเลขานุการของคณะผู้แทนไทยที่ได้ร่วมประชุมสันติภาพที่พระราชวังแวร์ซาย ซึ่งก็เป็นการยุติสงครามโลกครั้งที่ 1 จนมีการก่อตั้งองค์การระหว่างประเทศถาวรขึ้นถาวรในโลก นั่นก็คือองค์การสันนิบาตชาติ ซึ่งในการที่สยามได้เข้าไปประชุมในพระราชวังแวร์ซาย ประชุมระหว่างประเทศ เนื่องจากล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 6 พระองค์ท่านทรงตัดสินพระทัยให้ประเทศไทยเข้าร่วมสู้ ทำให้เรากลายเป็นประเทศที่อยู่ในกลุ่มผู้ชนะในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ได้เข้านั่งประชุมมีโต๊ะในฐานะรัฐของฝ่ายชนะประเทศหนึ่ง แล้วก็ได้เป็นผู้ร่วมก่อตั้งองค์การระหว่างประเทศ

ด้วยเหตุนี้เสด็จในกรม ท่านทรงมีบทบาทสำคัญอย่างมากในสันนิบาตชาติ และเคยไปประชุมที่นครเจนีวาหลายครั้ง แล้วก็มีบทบาทสำคัญเป็นที่เชิดหน้าชูตา และเราก็ได้ใช้โอกาสนั้นเริ่มต้นเจรจาสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรมระหว่างเรากับประเทศมหาอำนาจในตะวันตกทั้งหมด

เริ่มต้นกันมาตั้งแต่ช่วง 2460-2462 กว่าจะทำได้สำเร็จ มาถึงช่วงราวๆ สักประมาณปี 2480 ใช้เวลาเจรจาอยู่ประมาณ 20 ปี ซึ่งเสด็จในกรมทรงมีบทบาทสำคัญมาก ในการประชุมเหล่านั้น ท่านปราดเปรื่องมากและเป็นที่ทราบกันดี ท่านเคยเป็นหัวหน้าสำนักงานของเสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศ และทรงได้รับความไว้วางใจแต่งตั้งให้เป็นปลัดทูลฉลองของกระทรวงการต่างประเทศปี 2467 ขณะนั้นพระองค์ทรงมีพระชนมายุเพียงแค่ 33 ปี ซึ่งถือว่าค่อนข้างจะเป็นประวัติการณ์ และเมื่อปี 2469 เมื่อมีพระชนมายุ 35 ได้ไปเป็นอัครราชทูตครั้งแรกประจำประเทศอังกฤษ

พระองค์ท่านมีประวัติการทำงานที่กระทรวงการต่างประเทศที่โดดเด่นมาก จากอังกฤษท่านได้เดินทางไปที่นครเจนีวาเป็นประจำ ไปร่วมประชุมบ่อยครั้งทำให้ประเทศไทยมีหน้ามีตาหลังจากนั้น เมื่อท่านเสด็จกลับมาจากอังกฤษ ท่านก็มาเป็นอาจารย์อยู่ที่จุฬาฯ สอนหลายวิชา โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิชาภาษาอังกฤษ ท่านเองทรงรอบรู้ทั้งภาษาอังกฤษ ภาษาสันสกฤต ภาษาบาลี ภาษาละติน

ช่วงนั้นเองท่านก็เริ่มบัญญัติศัพท์แล้ว พอถึงช่วงต่อมามีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 รัฐบาลในยุคนั้นก็ได้แต่งตั้งให้ท่านเป็นที่ปรึกษาของสำนักนายกรัฐมนตรีและที่ปรึกษาของกระทรวงการต่างประเทศ ตั้งแต่ 2476 ท่านก็กลับมาทำงานทางด้านการต่างประเทศ หลังจากได้ไปทำงานด้านวิชาการ

ดร.เตชกล่าวว่า ประสบการณ์ส่วนตัวของผมเอง ถือว่าโชคดีที่รับราชการเมื่อปี 2512 ท่านยังเป็นรองนายกรัฐมนตรีอยู่และก็ดูแลการต่างประเทศด้วย ในช่วงนั้นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ คือ ดร.ถนัด คอมันตร์ เดินทางไปต่างประเทศ จอมพลถนอม กิตติขจร ในฐานะนายกรัฐมนตรี ก็จะแต่งตั้งให้เสด็จในกรมมาดูแลกระทรวงการต่างประเทศบ่อยครั้งมาก

สำหรับงานต่างๆ ในช่วงที่ท่านเป็นรองนายกรัฐมนตรี ท่านเป็นทั้งรองประธาน ก.พ., รองประธานสภาพัฒน์, รองประธานสภาการศึกษาแห่งชาติ, รองประธานสภาวิจัยแห่งชาติ, เป็นกรรมการสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, รักษาการนายกราชบัณฑิต และท่านเป็นนายกสยามสมาคม

ในช่วงนั้นผมเองก็เป็นกรรมการสยามสมาคมในยุค 2512 ท่านทรงเป็นประธานและตอนนั้นเองผมยังเด็กมาก ก็ได้เฝ้าและได้ร่วมประชุมกับท่านเดือนละครั้ง ท่านก็ทรงเมตตามาก ท่านรับสั่งถึงเรื่องการบัญญัติศัพท์ต่างๆ ให้ฟั

เช่น ความแตกต่างระหว่างคำว่าปฏิวัติกับคำว่าอภิวัฒน์ คือท่านเป็นกันเองมาก ไม่ว่าท่านจะสูงส่งแค่ไหน ท่านมีความสามารถมากกว่าเราไม่รู้กี่สิบกี่ร้อยเท่า แต่เวลารับสั่งท่านจะรับสั่งด้วยความเมตตา และความสนใจต้องการที่จะอธิบายให้ฟัง เช่น เล่าที่มาของการบัญญัติศัพท์คำนี้ ว่าทำไมถึงบัญญัติศัพท์แบบนี้

เป็นอะไรที่ผมรู้สึกดีใจมาก ที่ได้มีโอกาสเฝ้า ได้ฟังท่านด้วยตนเอง

ดร.เตชบอกอีกว่า ส่วนหลักในการทำงานท่านเป็นผู้นำที่ยอดเยี่ยมมาก ท่านเคยให้สัมภาษณ์กับช่อง 4 เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2505 ถึงหลักในการทำงานว่า ถ้าจะเป็นนักการทูตที่ดีแล้ว ก็ต้องรู้จักใช้เชาวน์และความแนบเนียน หมายความว่าการเข้าคนได้สนิท ในการที่เราจะเข้าคนได้สนิทนี้ เราก็ต้องผูกมิตรกับเขา ต้องรู้จักนิสัยใจคอของเพื่อนมนุษย์ จะต้องพิจารณาดูว่าถ้าเราเป็นเขา เราจะรู้สึกอย่างไรบ้าง

ในครั้งหนึ่งท่านเคยเขียนบทความเรื่องวิชาชีพทางการทูตว่า วุฒิสำคัญที่สุดของทูต คือเชาวน์ และความแนบเนียน เข้าคนได้สนิท กับทั้งความจรรโลงใจ ใฝ่บำเพ็ญคุณประโยชน์สนองชาติ บ้านเมือง และในราชนีติที่ว่า มีปัญญา 1 ฉลาดพูด 1 เป็นนักปราชญ์ 1 สุขุมในการสังเกตจิตใจของผู้อื่น 1 กล่าวถ้อยคำเป็นหลักฐาน 1 ผู้นี้ควรเป็นทูต ซึ่งตรงกับท่านที่ทรงได้ปฏิบัติตามนั้นเป็นแบบอย่างของนักการทูตไทยมาจนถึงปัจจุบัน

นอกจากนี้ ท่านเป็นผู้ที่รับสั่งอะไรแล้วน่าฟัง ในการประชุมครั้งหนึ่ง ในช่วงปี 2498 มีการประชุมก่อตั้งองค์การสนธิสัญญาป้องกันร่วมกันแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่พระที่นั่งอนันตสมาคม สมัยนั้นไม่มีแอร์ พระที่นั่งก็จะเปิดหน้าต่างทั้งหมด แล้วก็มีเสียงนกร้องอยู่ข้างนอก มีอยู่ตอนหนึ่ง รัฐมนตรีต่างประเทศของอังกฤษ ซึ่งมีชื่อเสียงมากและเป็นที่เคารพนับถือทั่วโลก ทุกคนเกรงใจ คือ เซอร์แอนโทนีอีเดน (ต่อมาได้เป็นนายกรัฐมนตรี) ในการประชุมครั้งนั้น มีช่วงหนึ่งที่ทูตอังกฤษกล่าวว่า เวลาเสด็จ ในกรมรับสั่งแล้ว แม้แต่นกก็ยังหยุดฟัง คือท่านมีความสามารถถึงขนาดที่ว่ารัฐมนตรีต่างประเทศอังกฤษที่โดดเด่นที่สุดในยุคนั้นยังชมท่าน

และนี่ก็เป็นเรื่องจริง ผมเองเคยถามเจ้านายเก่าของผม (คุณแผน วรรณเมธี) ที่ยืนยันได้ว่าอยู่ในเหตุการณ์ดังกล่าว ด้วยเหตุนี้เองท่านจึงเป็นวีรบุรุษสำหรับผม

อดีต รมว.ต่างประเทศ ระบุด้วยว่า สิ่งที่ท่านได้ทำให้กับกระทรวงการต่างประเทศ ก็คือว่า ท่านได้ชูประเทศไทยในวงการระหว่างประเทศ จนเป็นที่ยอมรับนับถือ ได้รับความเคารพ เสด็จในกรมท่านเคยได้รับเลือกตั้งให้เป็นประธานในที่ประชุมสหประชาชาติ คนที่ 11 ของโลก และเหตุการณ์ในเวทีที่ท่านเป็นประธาน ประมาณช่วงปี 2499 นั้นมีเหตุการณ์อังกฤษไปบุกอียิปต์ ก่อให้เกิดวิกฤตการณ์ในตะวันออกกลางมากมาย ท่านก็ช่วยทำให้เกิดบรรยากาศของความสมานฉันท์ขึ้น

หรือตอนนั้นมีเรื่องของสหภาพโซเวียตบุกฮังการี ในฐานะประธานก็ต้องทำให้ทุกอย่างเกิดความสงบเรียบร้อย ท่านได้รับคำสรรเสริญจากประชาคมโลก ท่านได้ทำอะไรไว้หลายอย่างที่เป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติ เช่น ร่วมก่อตั้งองค์การสนธิสัญญาร่วมกันสำหรับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือที่เราเรียกกันว่าซีโต้

และในขณะเดียวกัน ในปี 2498 ท่านได้ไปประชุมที่ชวา อินโดนีเซีย ซึ่งในการประชุมครั้งนั้น ท่านก็ได้รับการเลือกตั้งจากที่ประชุมทั้งหมด ให้เป็นผู้ที่เขียนรายงาน เขียนร่างแถลงการณ์ นี่เป็นฝีมือของคนไทยของเสด็จในกรมที่ต้องจารึกไว้ในประวัติศาสตร์จนถึงทุกวันนี้ และท่านเป็นประธานคนแรก คณะกรรมการสหประชาชาติ ที่ยกร่างกฎหมายทะเลอีกด้วย

ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่พระองค์ทรงเป็นแบบอย่างของนักการทูตที่ดีในการใช้เชาวน์ปัญญา ใช้ความแนบเนียน รู้จักคบหาสมาคมทำเครือข่าย เป็นสิ่งที่เป็นตำนาน และข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศทุกคนได้ยึดถือในการปฏิบัติมาจนถึงทุกวันนี้