ปัญหาภาคเกษตร ร้อนฉ่ากลางสภา หวังสร้างการเปลี่ยนแปลง หรือแค่เกมการเมือง/บทความเศรษฐกิจ

บทความเศรษฐกิจ

 

ปัญหาภาคเกษตร

ร้อนฉ่ากลางสภา

หวังสร้างการเปลี่ยนแปลง

หรือแค่เกมการเมือง

 

ปัญหาเรื่องราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ เป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายให้ความสนใจเป็นอย่างมาก

เนื่องจากเป็นปัญหาที่ไทยต้องเผชิญทุกปี และปฏิเสธไม่ได้ว่าปัญหาดังกล่าวเป็นเรื่องของเกมการเมืองในประเทศ

การที่นักการเมืองช่วยซื้อสินค้าจากเกษตรกรที่ขายได้ราคาต่ำ เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่ทำให้กลไกราคาสินค้าเกษตรในประเทศรวน

ซึ่งประเด็นดังกล่าวนำมาสู่หัวข้อสำคัญในการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่จะเกิดขึ้น ช่วงวันที่ 31 สิงหาคม ถึง 2 กันยายน ก่อนลงมติในวันที่ 3 กันยายนต่อไป

ประเด็นสำคัญที่ถูกหยิบยกมาในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ อาทิ การบริหารงานด้านการเกษตรล้มเหลวทั้งระบบ มีพฤติการณ์ทุจริตต่อหน้าที่ มีส่วนได้เสียในการเรียกรับผลประโยชน์จากโครงการของหน่วยงานที่ตนกำกับดูแล ปล่อยปละละเลยให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคในสัตว์ทั้งวัวและสุกร

ซึ่งในประเด็นนี้ มุ่งไปที่นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

นอกจากนี้ ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจยังมีประเด็นปัญหาความเดือดร้อนจากปัญหาราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำอย่างต่อเนื่องมาตลอด 7 ปี ไม่ว่าจะเป็นราคาข้าว อ้อย มันสำปะหลัง ปาล์ม ยางพารา ลำไย มังคุด ลองกอง และพืชผักผลไม้ต่างๆ

และเรื่องต้องเคลียร์ คือ ละทิ้งเกษตรกรหรือไม่ และต้องการความชัดเจนในการจัดสรรงบประมาณเพื่อแก้ไขปัญหารัฐมนตรีและหน่วยงานที่กำกับดูแล

 

ปัญหานี้นักวิชาการอย่างอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ให้ความเห็นว่า ปัญหาหลักๆ ที่ส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าเกษตรไทยตกต่ำ ได้แก่ ระบบตลาดภายในประเทศ และไทยพึ่งพิงตลาดต่างประเทศไม่กี่ตลาด โดยเฉพาะผลไม้มีการพึ่งพิงตลาดจีนเป็นหลัก

ซึ่งมองว่าการพึ่งพิงตลาดเฉพาะประเทศมากเกินไป เมื่อประเทศที่ไทยไปพึ่งพิงมีปัญหา ส่งผลให้จำนวนผู้บริโภคในประเทศนั้นลดลง ราคาสินค้าก็ตกตามไปด้วย

วิธีแก้คือต้องกระจายสินค้าไปประเทศอื่นๆ เพิ่มเติม อาทิ กลุ่มประเทศอาเซียน อินเดีย และตะวันออกกลาง เป็นต้น เพื่อกระจายความเสี่ยง

ขณะที่ปัญหาตลาดภายในประเทศ เกิดจากโครงสร้างและราคาภายในประเทศยังไม่สะท้อนจากดีมานด์และซัพพลายจริง

คือเกษตรกรขายสินค้าได้ในราคาถูก แต่ผู้บริโภคกลับต้องซื้อในราคาสูง

ส่วนหนึ่งเกิดจากการพึ่งพิงตลาดต่างประเทศมากเกินไป ค่าขนส่ง และต้นทุนบรรจุภัณฑ์มีราคาสูง ทำให้กระทบต่อราคาขายในประเทศ

ซึ่งเรื่องนี้ต้องได้รับการแก้ไข โดยเสนอให้เกษตรกรทำบันทึกข้อตกลง (เอ็มโอยู) ร่วมกับโรงงานที่ผลิตบรรจุภัณฑ์ และเปลี่ยนวิธีการซื้อ-ขายให้ผู้ผลิตกับผู้ซื้อ คุยกันโดยตรง

ซึ่งไทยจะต้องทำแพลตฟอร์มการซื้อ-ขายผลไม้ถาวรของเกษตรกรและประชาชนโดยตรง เพื่อควบคุมราคาไม่ให้ถูกหรือว่าแพงเกินไป

อีกทั้งยังมุ่งไปที่ปัญหาเรื่องนโยบายประกันราคาสินค้าเกษตรของรัฐบาล ที่เหมือนนำงบประมาณของรัฐบาลหลายแสนล้านบาทไปอุ้มผู้ประกอบการเพื่อหาประโยชน์จากส่วนต่างของราคาประกันสินค้าเกษตร

ทั้งนี้ นโยบายดูแลราคาสินค้าเกษตรของพรรคพลังประชารัฐได้เคยประกาศไว้ในหลายโอกาส ว่าหากได้เป็นรัฐบาลจะดูแลราคาสินค้าเกษตรไม่ให้มีราคาต่ำกว่านี้ ข้าวหอมมะลิ 18,000 บาท/ตัน ข้าวเจ้า 12,000 บาท/ตัน

แต่ปัจจุบันราคาข้าวสารอยู่ที่ 7,000 บาท/ตัน และข้าวหอมมะลิที่ 8,000 บาท/ตัน ห่างไกลจากนโยบายที่รัฐหาเสียงไว้มาก

รัฐบาลจะมีคำตอบในเรื่องนี้อย่างไร

 

ปัญหาดังกล่าวล่าสุด จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ออกมาระบุแล้วว่า โครงการประกันรายได้ของรัฐบาลชุดนี้จะเดินหน้าต่อเป็นปีที่ 3 ทั้งหมดในพืชหลัก 5 ชนิด คือ ข้าวเปลือก ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง และยางพารา ซึ่งจะทยอยเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติทั้ง 5 โครงการภายในเดือนสิงหาคม-กันยายนแน่นอน เป้าหมายช่วยยกระดับรายได้ให้กับเกษตรกรผู้ปลูกพืชทั้ง 5 ชนิด รวม 7.69 ล้านครัวเรือนได้แน่นอน

ซึ่งในขั้นตอนนี้ ก่อนเข้าคณะกรรมการชุดใหญ่เฉพาะพืชนั้น ก็จะเริ่มหารือกันในชุดเล็กที่จะประมวลสถานการณ์ และวางกรอบเงื่อนไข

อย่างข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (นบขพ.) และคณะอนุกรรมการเพื่อบริหารจัดการปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มด้านการตลาด มีมติเห็นชอบให้จัดทำโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และปาล์มน้ำมัน ฤดูการผลิตปี 2564/2565 ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 เพื่อยกระดับรายได้เกษตรกร

ซึ่งจะใช้หลักเกณฑ์และเงื่อนไขเดียวกับโครงการฤดูการผลิตปี 2563/2564 หรือปีที่ 2 โดยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ รอเสนอเข้า ครม. หรือปาล์มน้ำมันจะเสนอให้คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.) พิจารณาก่อนเสนอ ครม.เช่นกัน

 

เบื้องต้นหลักเกณฑ์จะไม่ต่างจาก 2 ปีก่อน โดยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ กำหนดราคาประกันไว้ที่กิโลกรัมละ 8.50 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 30 ไร่ เป้าหมายเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร 452,000 ครัวเรือน ที่ขึ้นทะเบียนเพาะปลูกตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2564-31 พฤษภาคม 2565 โดยการจ่ายชดเชยรายได้ให้เกษตรกรงวดแรก เริ่มวันที่ 20 พฤษจิกายน 2564 งวดต่อไปทุกวันที่ 20 ของเดือน และงวดสุดท้ายวันที่ 20 ตุลาคม 2565 รวม 12 งวด งบประมาณ 1,800 ล้านบาท

นอกจากนี้ ยังได้กำหนดมาตรการคู่ขนานช่วยรักษาเสถียรภาพราคา โดยชดเชยดอกเบี้ยเงินกู้อัตรา 3% ต่อปี ให้กับสถาบันเกษตรกร และผู้ประกอบการรับซื้อ เพื่อเร่งการรับซื้อและเก็บสต๊อกไว้ในช่วงผลผลิตออกสู่ตลาดมาก เป้าหมายรวม 350,000 ตัน

ส่วนปาล์มน้ำมัน กำหนดราคาเป้าหมายที่กิโลกรัมละ 4 บาท ซึ่งเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรไว้กับกรมส่งเสริมการเกษตร จะได้รับความช่วยเหลือทุกครัวเรือนตามพื้นที่ที่ปลูกจริง แต่ไม่เกินครัวเรือนละ 25 ไร่ และต้องเป็นพื้นที่ปลูกต้นปาล์มที่ให้ผลผลิตแล้วมีอายุ 3 ปีขึ้นไป ตั้งแต่เดือนกันยายน 2564-กันยายน 2565 โดยจ่ายงวดวันที่ 1 และ 15 กันยายน 2564 งบประมาณ 7,660 ล้านบาท

ขณะเดียวกัน ยังจะมีมาตรการเสริมคู่ขนานเพื่อแก้ไขปัญหาสต๊อกน้ำมันปาล์มดิบส่วนเกิน โดยสนับสนุนค่าบริหารจัดการให้ผู้ส่งออกกิโลกรัมละ 2 บาท เพื่อผลักดันการส่งออกน้ำมันปาล์มดิบ ปริมาณเป้าหมาย 150,000 ตัน

ขณะที่โครงการประกันรายได้ยางพารา ที่อยู่ในความดูแลของกระทรวงเกษตรฯ ประกันรายได้ปี 2 เพิ่งจบลงเดือนเมษายนที่ผ่านมา การประกันรายได้ปี 3 อยู่ระหว่างการพิจารณา

แต่ความเห็นจากสภาเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย ระบุว่า หากมองในมุมของเกษตรกร ยังอยากให้รัฐบาลช่วยอุดหนุนต่อเป็นปีที่ 3 แต่ไม่อยากให้คาดหวังมาก เพราะยังไม่มีใครสามารถตอบได้ว่ารัฐบาลจะนำงบประมาณจากไหนมาอุดหนุนในส่วนนี้ เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในปัจจุบันยังไม่คลี่คลาย และรัฐบาลยังต้องใช้งบฯ ส่วนใหญ่ไปกับการแก้ไขปัญหาดังกล่าวอีกด้วย

 

ไฮไลต์อยู่ที่ข้าวเปลือกฤดูกาลใหม่ นาปี 2564/2565 เริ่มออกแล้วเดือนกันยายน-ตุลาคม ทั้งชาวนาและรัฐมองว่าปริมาณปีนี้น่าจะไม่ต่ำกว่าปีก่อน เพราะฝนชุกในหลายพื้นที่

แต่ก็มีบางพื้นที่เจอน้ำมากเกินจริง จนผลผลิตที่ปลูกเน่าเสียหาย

ซึ่งในภาวะปกติของน้อยราคาย่อมดีตามหลักดีมานด์ซัพพลาย แต่ปีนี้การแพร่ระบาดของโควิดที่กลุ่มเกษตรยังเข้าไม่ถึงวัคซีน ก็ยังเป็นความเสี่ยงต่อการเก็บเกี่ยวและรับซื้อจากโรงสี ราคาน่าจะดีก็อาจดิ่งได้

ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ประเมินแล้วปีนี้ต้องเตรียมงบฯ จ่ายชดเชยส่วนต่างสูงกว่าปีก่อน 40% เพื่อดึงราคาข้าวให้เกิน 1 หมื่นบาทต่อตัน!!

ดังนั้น การที่หยิบยกประเด็นด้านการเกษตรไปอภิปรายในสภาผู้แทนราษฎรครั้งนี้ ต้องลุ้นว่าช่วยสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับเกษตรกรอีกก้าว หรือหวังแค่ขีดข่วน แสบๆ มันๆ ช่วง 3 วันแล้วก็จมหายไป