เมนูข้อมูล/ช่วยตัวเอง

เมนูข้อมูล/นายดาต้า

ช่วยตัวเอง

มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นมากมายในยุคสมัยของรัฐบาลที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นผู้นำ

ที่ชัดเจนที่สุดคือระบอบประชาธิปไตยที่เดินหน้าพัฒนามายาวนานในความหมายการปกครอง “ของประชาชน เพื่อประชาชน และโดยประชาชน” สร้างค่านิยมเรื่อง “สิทธิที่เท่าเทียมกันของประชาชนทุกคน” แปลเปลี่ยนไปเป็นโครงสร้างอำนาจแบบคนกลุ่มหนึ่งมีสิทธิทางการเมืองมากกว่าคนกลุ่มอื่น อำนาจไม่ได้มาจากสิทธิที่เท่าเทียม

และมิพักต้องพูดถึงอีกหลายสิ่งหลายอย่างที่อธิบายไม่ได้ว่า “เพื่อประชาชน” อย่างไร

แต่อย่างไรก็ตาม ในยุคสมัยเช่นนี้กลับทำให้สังคมไทยสงบเรียบร้อย

เรียบร้อยอย่างราบรื่นภายหลังความวุ่นวายระบบสังคมอนารยชน ที่ “รัฐบาล” ล้มเหลวในการบังคับใช้กฎหมาย

ความเปลื่ยนแปลงมากมายเกิดขึ้นในยุคสมัยนี้ ด้วยการประกาศอย่างเต็มปากเต็มคำของ “รัฐบาล” มาเป็นการพัฒนาอย่างเป็นรูปเป็นร่างอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน

อย่างไรก็ตาม มีคนบางกลุ่ม บางพวกที่มองว่านั่นเป็นแค่ “คำคุย” ท่ามกลางแนวโน้มของความทุกข์ยากลำบากของประชาชน

มีการพูดถึงความเป็นไปทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาปากท้องของประชาชน

ทำนองว่าเป็น “ความสงบในความทุกข์ยาก” และ “สิ้นหวัง”

ความจริงเป็นเช่นไร

หากคิดในมุมของ “เศรษฐกิจระดับปากท้อง” อันหมายถึงรายรับ รายจ่าย และหนี้สิน จึงจะสะท้อนความวิตกกังวลกับชีวิตความเป็นอยู่ว่ามีอยู่หรือไม่ มากน้อยแค่ไหน

มีการสำรวจหนึ่งที่ “นิด้าโพล” ทำร่วมกับบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด หรือ “เครดิตบูโร” เรื่อง “พฤติกรรมการออมและภาวะหนี้สินของประชาชนในช่วงครึ่งปีแรก 2560” ซึ่งเป็นการทำสำรวจระหว่างวันที่ 2-20 พฤษภาคมที่ผ่านมานี้เอง น่าจะเป็นคำตอบได้ระดับหนึ่ง คือ

ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 45.15 ระบุว่า มีรายได้พอๆ กับรายจ่าย ร้อยละ 31.50 มีรายได้น้อยกว่ารายจ่าย ร้อยละ 21.85 มีรายได้มากกว่ารายจ่าย และร้อยละ 1.50 ไม่แน่ใจ

รายได้ต่อเดือนเฉลี่ย 26,469.91 บาท ต่ำสุด 200 บาท และสูงสุด 1,000,000 บาท และเมื่อพิจารณาสัดส่วน

ร้อยละ 35.35 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนไม่เกิน 10,000 บาท ร้อยละ 25.15 ระหว่าง 10,001-20,000 บาท ร้อยละ 11.30 ระหว่าง 20,001-30,000 บาท ร้อยละ 5.45 ระหว่าง 30,001-40,000 บาท ร้อยละ 11.45 มีมากกว่า 40,001 บาทขึ้นไป และร้อยละ 11.30 ไม่ระบุ

รายจ่ายเฉลี่ยต่อเดือน 21,606.75 บาท ต่ำสุด 200 บาท และสูงสุด 900,000 บาท

ร้อยละ 38.45 มีรายจ่ายเฉลี่ยต่อเดือนไม่เกิน 10,000 บาท ร้อยละ 25.55 ระหว่าง 10,001-20,000 บาท ร้อยละ 11.65 ระหว่าง 20,001-30,000 บาท ร้อยละ 4.20 ระหว่าง 30,001-40,000 บาท ร้อยละ 7.60 มากกว่า 40,001 บาทขึ้นไป และร้อยละ 12.55 ไม่ระบุ

หนี้สินโดยรวมเฉลี่ยประมาณ 565,302.88 บาท ต่ำสุด 1,000 บาท และสูงสุด 5,000 ล้านบาท

ส่วนใหญ่ ร้อยละ 33.26 มีหนี้สินโดยรวมมากกว่า 100,000 บาทขึ้นไป รองลงมา ร้อยละ 4.26 ไม่เกิน 10,000 บาท ร้อยละ 4.19 ประมาณ 10,001-20,000 บาท ร้อยละ 3.89 ประมาณ 40,001-50,000 บาท ร้อยละ 2.94 ประมาณ 20,001-30,000 บาท

ร้อยละ 2.13 ระบุว่า มีหนี้สินโดยรวมเป็นจำนวนหลักพัน ร้อยละ 8.88 หลักหมื่น ร้อยละ 16.45 หลักแสน ร้อยละ 8.44 หลักล้าน และร้อยละ 5.29 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ

ทั้งหมดมาจากการสำรวจ

ส่วนจะดีหรือไม่มีนั้น

โครงสร้างอำนาจเช่นนี้ ย่อมเป็นเรื่องที่ดีกว่าสำหรับทุกคนที่จะต้องพินิจพิเคราะห์ และสรุปให้ตัวเองรับทราบ