“ผีกระหัง” : จากข่าวแปลกที่ “บุรีรัมย์” ย้อนไปยัง “ไอ้งั่ง” ใน “เทพสามฤดู” และ “นิทานวัดเกาะ”

คนมองหนัง

เมื่อไม่กี่สัปดาห์ก่อน หลายสำนักข่าว ทั้งสิ่งพิมพ์ ทีวี และออนไลน์ ต่างเล่นข่าวชาวบ้านหนองเสม็ด อ.ชำนิ จ.บุรีรัมย์ พบคน/สิ่งของปริศนาบินผ่านยอดไม้ยามค่ำคืน

โดยชาวบ้านจำนวนมากเชื่อกันว่าคน/สิ่งของดังกล่าวคือ “ผีกระหัง”

พ้นไปจากการรายงานข่าวเชิงปรากฏการณ์ “แปลกๆ” เกี่ยวกับความเชื่อว่ามี “ผีกระหัง” อาละวาดที่บ้านหนองเสม็ด

เว็บไซต์มติชนออนไลน์พยายามจะผลักประเด็น “ผีๆ” ให้เดินทางไปไกลกว่านั้น ผ่านการย้อนหลังกลับไปสำรวจข้อความจาก “กฎหมายตราสามดวง” ซึ่งมีเนื้อหาที่กล่าวถึง “ผี” จำพวกต่างๆ แต่กลับไม่มีชื่อ “ผีกระหัง” ปรากฏอยู่

ผู้สื่อข่าวมติชนยังได้สัมภาษณ์ “ผศ.ดร.รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล” นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง ผู้ตั้งคำถามว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่ความเชื่อเรื่อง “ผีกระหัง” อาจจะเป็นสิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้นมาใหม่ จึงไม่ปรากฏชื่อผีประเภทนี้ในเอกสารโบราณข้างต้น

อย่างไรก็ตาม อาจารย์รุ่งโรจน์เปิดทางเอาไว้ว่า ถ้าอยากได้ข้อสันนิษฐานที่ชัดเจนขึ้น คงต้องมีการค้นคว้าหลักฐานลายลักษณ์อักษรเพิ่มเติม เช่น เอกสารของหมอบรัดเลย์ เป็นต้น (ดู https://www.matichon.co.th/news/602181)

ประเด็นน่าสนใจคือ ในช่วงขณะเดียวกับที่ชาวบ้านจากจังหวัดบุรีรัมย์ค้นพบสิ่งประหลาดที่พวกเขาเชื่อว่าน่าจะเป็น “ผีกระหัง” นั้น ละครจักรๆ วงศ์ๆ เรื่องใหม่ของช่อง 7 อย่าง “เทพสามฤดู” (2560) ก็ได้ฤกษ์ประเดิมจอพอดี

ด้านหนึ่ง ดูเหมือน “เทพสามฤดู” เวอร์ชั่นล่าสุด จะสามารถกอบโกยความนิยมจากมหาชนคนดูทีวีไปได้เช่นเคย หากพิจารณาจากผลการวัดเรตติ้งของนีลเซ่น หลังละครแพร่ภาพไปแล้ว 6 ตอน

โดยระหว่างวันเสาร์-อาทิตย์ที่ 1-2, 8-9 และ 15-16 กรกฎาคม 2560 ละครพื้นบ้านเรื่องดังกล่าวได้รับเรตติ้งไป 5.7-5.7, 5.2-5.4 และ 6.3-6.2 ตามลำดับ

อีกด้าน คือ ข้อเท็จจริงที่แฟนละครแนวนี้รับทราบกันดี ว่าตัวละครสมทบที่โดดเด่นมากๆ รายหนึ่งใน “เทพสามฤดู” ทุกเวอร์ชั่น นั้นได้แก่ “ไอ้งั่ง กระหังป่า”

ในฉบับล่าสุด ผู้มารับบท “ไอ้งั่ง” คือ “ทับ ท่ากระดาน” ส่วนผู้เคยโด่งดังสุดๆ กับการรับบทบาทเป็น “ผีกระหัง” ตนนี้เมื่อปี 2546 ก็ได้แก่ “ภิภัชพนธ์/คูณฉกาจ อภิวรสิทธิ์” หรือ “หนำเลี้ยบ” หนึ่งในบุคลากรที่เติบโตมากับกระบวนการผลิตละครจักรๆ วงศ์ๆ แบบครบวงจร จากนักแสดงเด็กสู่ผู้กำกับฯ ควบนักแสดงสมทบ ณ ปัจจุบัน

ขณะที่เมื่อย้อนไปในปี 2530 ผู้รับบท “ไอ้งั่ง กระหังป่า” ก็คือ “ถั่วแระ เชิญยิ้ม” ดาวตลกชื่อดังในเวลาต่อมา

ไม่แน่ใจว่าการหวนคืนจอของ “เทพสามฤดู” และการปรากฏกายอีกครั้งของ “ไอ้งั่ง กระหังป่า” ในเครื่องรับโทรทัศน์ตามครัวเรือน จะมีความเกี่ยวข้องกับ “ผีกระหัง” ที่บ้านหนองเสม็ดหรือไม่? มากน้อยเพียงใด?

นอกจากการเป็น “สองปรากฏการณ์” ที่บังเอิญเกิดขึ้นในห้วงเวลาเดียวกัน

เหัง” มีความเชื่อมโยงอยู่กับ “เทพสามฤดู” ดังนั้น หากจะลองค้นคว้าสืบต่อจากรายงานข่าว-บทสัมภาษณ์นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ของเว็บไซต์มติชนออนไลน์ หนึ่งในเอกสารโบราณที่น่านำมาสำรวจตรวจสอบ ก็คือ หนังสือนิทานวัดเกาะเรื่อง “สามฤดู” ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของละครจักรๆ วงศ์ๆ เรื่องดังกล่าว

โชคดีที่หนังสือวรรณกรรมวัดเกาะเรื่อง “สามฤดู” ฉบับตีพิมพ์เผยแพร่เมื่อ ร.ศ.108 หรือ พ.ศ.2432 (บางส่วน) นั้นถูกจัดเก็บเอาไว้ในระบบดิจิตอลที่เว็บไซต์ “หนังสือเก่าชาวสยาม”

และเพียงแค่เลือกอ่านหนังสือเรื่อง “สามฤดู” เล่มที่ 1 (จากที่นำมาเก็บรวบรวมไว้ในเว็บไซต์ทั้งหมด 33 เล่ม) เราก็จะสามารถพบเจอบทเปิดตัวของ “ไอ้งั่ง กระหังป่า” โดยง่ายดาย ดังเนื้อหาว่า

“จะกล่าวถึงอ้ายงั่งกระหังเปรต สถิตย์ในหิมเวศเปนเพศผี

แต่ก่อนนั้นมันเปนคนกายตนดี อยู่กินที่เรือนบ้านมีภรรยา

แต่โง่เง่าเป็นงั่งเที่ยวนั่งจ้อ ใน ใจคอร้ายนักเหมือนยักษา

กินของสดพุงไส้ตับไตตา เนื้อ โค ม้า ทิง ถึก มฤคคี

กินดิบๆ หยิบลากใส่ปากเคี้ยว ตัวเหม็นเขียวสาบสางเหมือนอย่างผี

ในตาปลิ้นลิ้นแลบถึงนาพี ขนหัวชี้เขี้ยวงอกกลอกหน้าตา

เวลาค่ำออกหาภักษาหาร สุริฉานเร่งเร่กลับเคหา

วันนั้นไปไม่พานอาหารมา เต็มประดาหิวโหยโรยกำลัง

เห็นเมียนอนอยู่กับบุตร์สุดจะอยาก หักคอลากกินไม่เหลือทั้งเนื้อหนัง

ไม่อิ่มหนำซ้ำบุตร์หยุดประทัง ค่อยอิ่มนั่งกลอกหน้าในตาวาว

หมดลูกเมียเสียดายร้องไห้หา ทั้งลูกยาก็เสียอีกเมียสาว

ตัวผู้เดียวอยู่ใยไม่ยืดยาว ไปอยู่ดาวแดนดงพงพนา

กะด้งใส่สองข้างทำหางปีก ก็บินหลีกเข้าในไพรพฤกษา

เที่ยวไล่เนื้อ โคถึก มฤคา เปนภักษาชื่นบานสำราญใจ”

เป็นอันว่าถึงแม้ “ผีกระหัง” จะไม่ปรากฏนามใน “กฎหมายตราสามดวง” ทว่า อย่างน้อยที่สุด ผีประเภทนี้ก็มีตัวตนอยู่ใน “หนังสือนิทานวัดเกาะ” ตั้งแต่เมื่อ 128 ปีก่อนโน่นเลย