คู่มือระบอบใหม่ : หนังสือพิมพ์ประชาชาติ กับการเสริมพลังให้ประชาชน/My Country Thailand ณัฐพล ใจจริง

My Country Thailand

ณัฐพล ใจจริง

 

คู่มือระบอบใหม่

: หนังสือพิมพ์ประชาชาติ

กับการเสริมพลังให้ประชาชน

 

“อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย”

(มาตรา 1 ในรัฐธรรมนูญสยาม ฉบับคณะราษฎร 27 มิถุนายน 2475)

 

ไพร่ในระบอบเก่าที่ชีวิตแปรผันตามนาย

การทำงานรับใช้หรือส่งส่วยให้มูลนายเพื่อแลกกับการได้รับการคุ้มครอง คือ ความสัมพันธ์ระหว่างไพร่กับมูลนาย ในบางกรณีไพร่รับใช้จนไม่มีเวลาทำมาหากินของตนเอง ไพร่จึงมีความทุกข์ยากดังความรู้สึกของไพร่ในขุนช้างขุนแผน ฉากพระอาจารย์ของขุนแผนหน่วงเหนี่ยวมิให้ขุนแผนลาสิกขาว่า

“จะสึกไปให้เขาสักเจ็บหรือหวา ข้อมือดำแล้วระกำทุกเวลา โพล่กับบ่าแบกกันจนบรรลัย ถ้ามูลนายรักมั่งจะยังชั่ว เอ็นดูตัวหาให้ทำการหนักไม่ แม้นชังก็จะใช้ให้เจ็บใจ เลื่อยไม้ลากซุงสารพา”

ในสังคมโบราณ แทบจะไม่มีไพร่ที่ไม่สังกัดมูลนาย เนื่องจากบุคคลที่ดำรงตนเป็นอิสระออกจากระบบไพร่ต้องเผชิญกับข้อจำกัดมากมาย แต่หาก “อยู่ใกล้มูลนายมากก็ร้อน อยู่ไกลมูลนายมากก็หนาว” ซึ่งหมายความว่า ไพร่จะต้องรักษาความสัมพันธ์ระหว่างไพร่กับมูลนายในระยะที่เหมาะสม ซึ่งเสมือนหนึ่งเป็นการคาดคะเนใจมูลนาย ด้วยเหตุนี้ ในสังคมโบราณจึงไม่มีหลักประกันอันใดให้กับไพร่ นอกจากความสามารถในการเอาตัวรอดด้วยการประจบมูลนาย หรือด้วยโชคชะตาไพร่เอง

ดังนั้น ความสัมพันธ์ภายในระบบไพร่เช่นนี้ที่กลายเป็นมรดกของค่านิยมบางประการของคนไทยที่เน้นการเอาตัวรอดมากกว่าการยืนยันหลักการที่ถูกต้อง หรือ “รู้อะไรก็ไม่สู้รู้รักษาตัวรอดเป็นยอดดี” ด้วยเหตุนี้ สถานะของไพร่ในระบอบเก่านั้น ไพร่จึงเป็นเพียงส่วนเสริมให้มหาบุรุษเท่านั้น

แม้ว่าก่อนหน้านี้ พระปกเกล้าฯ จะทรงเคยพยายามปฏิรูประบอบราชาธิปไตยก็ตาม แต่ไม่มีสัญญาณความสำเร็จใดๆ เกิดขึ้น อีกทั้งความไม่พอใจทวีมากขึ้น

ในสายตาของนักการทูตญี่ปุ่นประเมินว่า ราษฎรไม่เคยได้รับการฝึกฝนทางการเมือง ไม่มีอิสรภาพในการพูด หากไม่มีการปฏิวัติ 2475 และรอการปฏิรูปแบบค่อยเป็นค่อยไปนั้น เขาเห็นว่า “รอไปอีกหนึ่งร้อยปีก็ไม่มีทางสำเร็จ”

ดังนั้น ทูตญี่ปุ่นเห็นว่าการปฏิวัติจึงจำต้องเกิดขึ้น (ยาตาเบ, 2550)

หนังสือพิมพ์ลงข่าวความตื่นตัวทางการเมืองของพลเมืองประชาธิปไตย

ชีวิตพลเมืองภายในระบอบใหม่

การก่อตัวของกติกาที่แจ้งชัด

ภายหลังการปฏิวัติ 2475 การนำเสนอนโยบายการส่งเสริมให้พลเมืองมีตระหนักในคุณค่าเพื่อร่วมพิทักษ์ประชาธิปไตยให้มั่นคงนั้น รัฐบาลประเมินความรู้สึกนึกคิดของพลเมืองในปี 2477 ต่อสถานการณ์อยู่ในภาวะแกว่งไกว ว่า คนที่ “พอใจและนิยมชมชอบ” ในระบอบประชาธิปไตยมีร้อยละ 25 คนที่ไม่พอใจร้อยละ 15 ส่วนที่เหลือร้อยละ 60 นั้น “ไม่รู้ไม่ชี้อะไรด้วยเลย”

ดังนั้น มีการเสนอให้

“ฝ่ายบริหารซึ่งน่าจะจัดการให้ประชาชาติอีก 60 ในร้อยนั้นได้รู้ว่า เขามีส่วนได้อะไรในระบอบการปกครองใหม่นี้บ้าง… เพราะหากไม่กระทำดั่งนั้น จะบังเกิดการต่อต้านระหว่างพวกที่นิยมกับไม่นิยมขึ้น แม้พวกที่นิยมจะมีมากกว่าพวกไม่นิยม อันหวังผลชะนะได้ก็จริง แต่ถ้าเราเป็นพวกที่มีกำลังน้อย เราจะต่อต้าน [พวกไม่นิยมระบอบประชาธิปไตย] ไปตลอดได้หรือ เราย่อมหากำลังพรรคพวกให้มากขึ้น พวกนั้นจะได้มาจากไหน ก็ได้มาจากพวก 60 ในร้อยซึ่งยังไม่รู้อะไรเลย เมื่อถูกปั่นไปทางไหน ใครมาพูดก่อน ย่อมไปทางนั้นแน่ๆ ดังนั้น ฝ่ายบริหารจะต้องพยายามหาโอกาสชี้แจงกับพวกเขาเสมอเนืองๆ แล้ว พวกเขาย่อมคล้อยมาด้วยกับฝ่ายบริหาร ฝ่ายที่ต่อต้านเมื่อไม่สามารถหาพวกได้แล้ว ก็จำต้องระงับความคิดในการต่อต้าน และนานๆ ไปอาจกลับใจ หมดทิฏฐิมานะในการต่อต้านลงก็ได้” (หลวงรณสิทธิพิชัย, 2477)

ด้วยเหตุนี้ กรมโฆษณาการจึงรับบทบาทสำคัญในการประชาสัมพันธ์แก่พลเมือง ด้วยการแจกสิ่งพิมพ์ สื่อสารผ่านวิทยุและปาฐกถาในพื้นที่ชนบท ให้เข้าใจในระบอบประชาธิปไตยและช่วยกันพิทักษ์ระบอบประชาธิปไตย

ไม่แต่รัฐบาลและสภาผู้แทนราษฎรได้เร่งดำเนินการยกสถานะและขจัดอุปสรรคต่อการเป็นพลเมืองเท่านั้น แต่ภายในสังคมเองได้มีความพยายามเผยแพร่ความรู้ถึงระบอบการปกครองใหม่ให้พลเมืองได้รับรู้ ดังในบทกลอนของเทอดรัฐธรรมนูญได้สรุปสาระใจความในรัฐธรรมนูญให้พลเมืองเข้าใจโดยง่ายผ่านบทร้อยกรองเทอดรัฐธรรมนูญ, ว่า “มาตรา 12 โดยคลองบทบัญญัติ เราเสมอกันชัด ส่วนในเรื่องเอกสิทธิ์เกิดแต่อิทธิศักดิ์เรือง ย่อมปลดเปลื้องหมดไปไม่คืนมา” (พระราชธรรมนิเทศ, 2477)

ภายหลังการปฏิวัติ 2475 รัฐบาลให้เหตุผลที่ประชาชนต้องเรียนรู้การปกครองใหม่ในคู่มือพลเมืองว่า “เนื่องจากประเทศสยามได้เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยซึ่งเป็นการปกครองของพลเมืองและโดยพลเมือง…พลเมืองมีส่วนได้ส่วนเสียและมีความรับผิดชอบในการปกครองโดยตรง พลเมืองจึงต้องล่วงรู้สิทธิและหน้าที่ที่ตนมีอยู่ในฐานะพลเมืองภายใต้ระบอบประชาธิปไตย…” (กรมโฆษณาการ, 2479)

สนิท เจริญรัฐ นักเขียนและนักหนังสือพิมพ์ และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนครราชสีมาคนแรกเล่าถึงกำเนิดหนังสือ “คู่มือระบอบใหม่” (2477) ว่า “ผู้จัดการหนังสือพิมพ์ประชาชาติได้แสดงความประสงค์แก่ข้าพเจ้าว่า ใคร่จะรวบรวมพิมพ์หนังสือสักเล่มหนึ่ง ให้มีลักษณะเป็นคู่มือของประชาชน สำหรับจะได้ใช้ในการแสวงและรักษาประโยชน์ของประชาชนเองตามระบอบประชาธิปไตย ทั้งให้เป็นหนังสือที่บุคคลทุกประเภทสามารถหาซื้อได้ด้วยราคาถูก” (สนิท เจริญรัฐ, 2477)

บุญทอง เลขะกุล ผู้รวบรวมพิมพ์หนังสือเล่มนี้นั้น เขาใช้นามปากกา “วรมิตร” เป็นหนึ่งในสมาชิกกลุ่มนักเขียนที่เรียกตนเองว่า “คณะสุภาพบุรุษ” เป็นกลุ่มนักเขียนหนุ่มที่มีแนวคิดหลากหลายทั้งหัวก้าวหน้าถึงอนุรักษนิยม นักเขียนที่มีชื่อเสียง เช่น กุหลาบ สายประดิษฐ์ มาลัย ชูพินิจ โชติ แพร่พันธุ์ สนิท เจริญรัฐ อบ ไชยวสุ พัฒน์ เนตรรังสี ชิต บุรทัต สถิตย์ เสมานิล หอม นิลรัตน์ ณ อยุธยา เป็นต้น

ในช่วงเวลานั้นนักเขียนหลายคนในคณะทำงานที่หนังสือพิมพ์ประชาชาติ ซึ่งถือเป็นหนังสือที่มีเข็มมุ่งก้าวหน้า มี ม.จ.วรรณไวทยากร ทรงเป็นเจ้าของ

ท่านเป็นเจ้านายไม่กี่พระองค์ที่สนับสนุนประบอบประชาธิปไตยและช่วยงานรัฐบาลคณะราษฎร

เนื้อหาภายในเล่มประกอบด้วยปาฐกถาเรื่องรัฐธรรมนูญและบทสรุปความอภิปรายเรื่องร่างรัฐธรรมนูญ ของ ม.จ.วรรณไวทยากร วรวรรณ รัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธันวาคม 2475 ปาฐกถาเรื่องการเลือกตั้งของ ม.จ.วรรณไวทยากร วรวรรณ พระราชบัญญัติการเลือกตั้ง และพระราชกฤษฎีกากับกฎกระทรวงว่าด้วยการเลือกตั้งครั้งแรก ปาฐกถาเรื่องเทศบาลของ ม.จ.สกลวรรณากร วรวรรณ พระราชบัญญัติจัดระเบียบเทศบาล 2476 ปาฐกถาเรื่องพระราชบัญญัติจัดระเบียบเทศบาลของหลวงประพันธ์ไพรัชชพากย์ ปาฐกถาเรื่องข้อบังคับการประชุมและการปรึกษาของสภาผู้แทนราษฎรของเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี ข้อบังคับการประชุมและการปรึกษาของสภาผู้แทนราษฎร

ดังคำอธิบายระบอบประชาธิปไตยที่ปราฏในเล่มว่า “ลัทธิประชาธิปไตยนี้ ผู้เปนใหญ่นั้นคือ ประชาชนนั่นเอง ไม่ใช่ผู้ปกครองมิได้ ประชาชนมอบอำนาจให้แก่ผู้ปกครองอีกชั้นหนึ่ง และเมื่อมอบอำนาจให้เช่นนี้แล้ว ก็จำเปนต้องคอบกำกับควบคุมอยู่” (วรรณไวทยากร วรวรรณ, 2477)

ม.จ.สกลวรรณากร ในปาฐกถาเทศบาลนั้น เขาเล่าถึงความหมายของการปกครองแบบเทศบาล ที่ประชาชนปกครองตนเอง ลักษณะของการปกครองเทศบาลในประเทศต่างๆ เช่น ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น เทศพาณิชย์ ส่วนหลวงประพันธ์ไพรัชชพากษ์ (บุญเชย ปิตรชาต) หรือนายโกวิท ป. ประพันธ์ไพรัชชพากษ์ หัวหน้ากองควบคุมเทศบาล กรมโยธาเทศบาล มหาดไทย นำปาฐกถาในที่ประชุมสภาผู้แทนฯ

คณะสุภาพบุรุษ และนายสนิท เจริญรัฐ ส.ส.โคราช คนแรก

ทั้งนี้ต่อมา ม.จ.สกลวรรณากร ม.จ.วรรณไวทยากร หลวงประพันธ์ไพรัชชพากษ์ รับเป็นผู้สอนให้กับมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง (2477) ที่ตั้งขึ้นใหม่ภายหลังการปฏิวัติด้วย

หนังสือดังกล่าวถูกจัดวางเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับการปกครองระบอบประชาธิปไตย นับแต่รัฐธรรมนูญอันเป็นกติการจัดวางกรอบความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชน สิทธิและเสรีภาพ ที่มาและการเข้าสู่ตำแหน่งของนักการเมือง การเลือกตั้ง การแบ่งเขตการเลือกตั้ง การปกครองแบบเทศบาล นายสนิท เจริญรัฐ คนวางโครงเนื้อหาของหนังสือ

เขาเล่าว่า เขาตั้งใจรวบรวมกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับระบอบประชาธิปไตย พร้อมคำอภิปรายเพื่อเป็นคำอธิบายกฎหมายหรือเจตนารมณ์แห่งกฎหมายนั้นให้พลเมืองเข้าใจอย่างถ่องแท้

อาจกล่าวโดยสรุปได้ว่า หนังสือเล่มนี้ให้คำแนะนำพลเมืองในระบอบการเมืองประชาธิปไตยว่า นับเป็นครั้งแรกที่พวกเขามีสิทธิและเสรีภาพในทางการเมือง ผ่านการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรและสมาชิกสภาเทศบาลแล้วยังต้องมีความกระตือรือร้นในการใช้สิทธิทั้งระดับชาติและท้องถิ่นอีกด้วย

ม.จ.วรรณไวทยากร และ ม.จ.สกลวรรณากร วรวรรณ 2 เจ้านายที่สนับสนุนระบอบใหม่
มหาวิทยาลัยใหม่สมัยประชาธิปไตย