เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ : ‘หอมฮ่วงเฮ้า ทั่วทีปอีสาน’

 

‘หอมฮ่วงเฮ้า ทั่วทีปอีสาน’

 

รางวัลวรรณกรรมเซเว่นบุ๊กปี 2564 ประเภทกวีนิพนธ์ปีนี้ มีรางวัลพิเศษชื่อ “เสริมสร้างกำลังใจ” ทั้งประเภทบุคคลและเยาวชน สองเล่มสองประเภทของเยาวชนคือ “พิชิตโควิดด้วยจิตกวี” ประพันธ์โดย ด.ญ.รินรัก แซ่โค้ว อายุ 9 ปี

เธอเขียนกาพย์ยานี 11 วันละบทสองบททุกวันมาตั้งแต่อายุ 7 ขวบ จำเพาะเล่มนี้สถาบันไทยปัญญ์สุขจัดพิมพ์เป็นเล่ม รายได้สมทบทุนช่วยผู้ป่วยโควิด-19

เป็นตัวอย่าง “เสริมสร้างกำลังใจ” ให้แก่บรรดาผู้รักงานกวีที่มุ่งมั่นเขียนกวีด้วยใจรักจริง บทกวีเช่นนี้มีค่าเหนือรางวัลทั้งปวง ด้วยเป็นผลงานของความรักโดยแท้

 

เช่นกันกับอีกเล่มประเภทบุคคล คืองานกวีชื่อว่า “ฮ่วงเฮ้า” ประพันธ์โดยผู้ใช้นามว่า คำเมือง ราวะรินทร์ พิเศษคือ นอกจากอักษรไทยทั่วไปแล้วยังเขียนเป็นอักษรไทยน้อย ที่เป็นอักษรไทยโบราณมักจารึกอยู่ในใบลานสมุดไทย ดังมีบันทึกอยู่ในคัมภีร์เก่าซึ่งผู้เขียนนำมาใช้กับบทกวีใหม่ที่แต่งในเล่มนี้ด้วย

คำ “ฮ่วงเฮ้า” เป็นภาษาไทยถิ่นอีสาน ซึ่งในสารานุกรมฯ ของอาจารย์ปรีชา พิณทอง อธิบายความว่า

“ฮ่วงเฮ้า ว. ตลบ, อบอวล ดอกไม้ที่หอมตลบอบอวลไปตามลม เรียกหอมฮ่วงเฮ้า…ฯ”

เล่มนี้จัดพิมพ์โดยสาระคนสำนักพิมพ์

 

พิเศษของกวีเล่มนี้คือบรรยากาศอันอบอวลด้วยกระไอละอองของอดีตแผ่นดินอีสานอันอุดมด้วยตำนานและเรื่องเล่าที่ยังมีชีวิตชีวาอยู่แม้จนวันนี้…จำเพาะในกวีเล่มนี้

ฮ่วงเฮ้านั้นแม้ชื่อจะไม่ชินหู หากเมื่อรู้ความหมายแล้วก็เป็นดั่ง “หอมฮ่วงเฮ้า คันธชาติกฤษณา” ที่ในสารานุกรมดังกล่าวว่าไว้ รวมทั้งที่คำเมืองผู้เขียนนำมาเอ่ยถึงดังวรรคกวีที่นำมาเป็นหัวเรื่องคือ “หอมฮ่วงเฮ้า ทั่วทีปอีสาน” นั้น

และในนิยามศัพท์ลำดับจาก ก.-ฮ. อันเป็น “หลักเรื่อง” ซึ่งมีทั้งหมด 135 คำโดยเรียกว่า “135 คันธศัพท์” ดังวรรคกวีท่อนหนึ่งว่า

คันธชาติไม้ พวงพั้วทั่วโคกนา

กะยอมฮ่วงเฮ้า จานแดงตระการดอก

คำเมือง ราวะรินทร์ เล่าว่า

“135 คันธศัพท์ใน ‘ฮ่วงเฮ้า’ ถูกสมบัติภูมิทัศน์ฉากบ้านโคกในภูมิอากาศแห่งเดือนสามเดือนสี่ตามจันทรคติ (ช่วงเดือนมกราคม-เมษายน ตามสุริยคติ) เปรียบเป็นอีศาณวสันตฤดู คือ ‘ฤดูใบไม้ผลิแห่งมวลหมู่เฮาชาวอีสาน’ เทิงผืนแผ่นดินถิ่นฮาบพนาสูง อันอุดมด้วยคันธชาตินานาพรรณ เบ่งบานสะพรั่ง อาทิ ดอกกะเดา ดอกกะโดน ดอกกะยอม ดอกงิ้วผา ดอกจาน ดอกจิก ดอกเจียง ดอกดู่ ดอกผักติ้ว ดอกมันปลา ดอกเอ็นอ้า ดอกฮัง ฯลฯ…”

เท่านี้ก็ได้กลิ่น “คันธชาติไม้” หอมตลบอบอวลมากับลมอดีต…ฮ่วงเฮ้าถึงปัจจุบัน

ลางทีฮ่วงเฮ้าอาจมาจากคำ “ร่วงเร้า” กระมัง

คำเมืองลำดับเรื่องไปตามลำดับอักษรจาก ก.-ฮ. คือจาก ก.เริ่มด้วยคำกงแก้ว ดังนี้

กงแก้ว

ดวงชาตากำเนิดเกิดใกล้โคก

เปรียบกงแก้วแนวโชควาสนา

มีพออยู่พอกินถิ่นบ้านนา

ฤดูกาลเวลานำพาเฮา

มีเชิงอรรถอธิบายคำกงแก้วว่า “น. วันเดือนปีเกิด, จักรทีปนี, ฤกษ์งามยามดี”

ต่อด้วยคำ “กงหลา” ว่า

กงหลา

ปัจจัยสี่พอดีมีพองาม

พ่อแบกหามสร้างเฮือนเก้าห้องเสา

ทั้งโฮงหูก “กงหลา” ต่ำผ้าเพา

ข้าวเต็มเล้าบริบูรณ์สมดุลใจ

เชิงอรรถอธิบายคำกงหลาว่า น. กงไน สำหรับกรอด้ายกรอไหม

จนสุดท้าย ฮ.คือคำ “เฮืองฮู้” บทท้ายสุดว่า

ฟ้า-ดิน-คนบนดินถิ่นอีสาน

จากคัมภีร์ใช่นิทานอ่านขันขำ

ล้วนเป็นกุศโลบายถ่ายความจำ

เฮืองฮู้ธรรมชาติสร้างทายฮีตคอง

เชิงอรรถอธิบายคำเฮืองฮู้ว่า ก. ฉลาด หลักแหลม

 

เสน่ห์ของหนังสือกวีเล่มนี้คือการแทรกบทลำนำคำกวีโบราณไว้อย่างชวนให้ค้นคว้าศึกษาต่อ เช่น บทขวัญข้าว ที่มีตอนหนึ่งว่า

“…เกี่ยวตากแดดข้าวป้องแซง เม็ดขาวแดงข้าวดอกไม้ อยู่เบื้องใต้ข้าวแดงหลวง…”

เม็ดขาวแดงข้าวดอกไม้ นี่บ้านเราเรียก “ข้าวดอกมะขาม”

กวีคำเมือง ราวะรินทร์ เองก็ช่างแต่งช่างเล่าได้บรรยากาศมีชีวิตชีวายิ่ง เช่น บทบรรยายคำ “เถิง” ช่วงท้ายว่า

“…มื้อแลงแสงฟ้าหับ พ่อขับลำแม่ทำครัว

ดอกติ้วปลาค่อตัว เฮ็ดแกงนัวไข่มดแดง

กะเดาพวงดอกงาม แม่ต้มน้ำแล้วลวกแบ่ง

ใส่ถ้วยพร้อมด้วยแกง แต่งไปสู่เฮือนปู่เฮา”

 

คําเมือง ราวะรินทร์ (นามปากกา) ปัจจุบันเป็นนักวิจัยประจำสถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม วิจัยงานด้านเอกสารโบราณเป็นสำคัญ

งานกวี “ฮ่วงเฮ้า” เล่มนี้จึงเป็นงานชิ้นเอกที่เศกคุณค่าวรรณกรรมของแผ่นดินอันเปรียบเป็น “มูนมัง” สังขยา คือมรดกอีสานให้กลับมาหอมหวนอวลอะลองคันธชาติสืบถึงปัจจุบันวันนี้

เป็นกำลังใจให้คนได้หวนหาอดีต เพื่อเติมพลังให้สร้างสรรค์ปัจจุบันสู่อนาคตได้ดีนัก สมคำคมคารมปราชญ์ที่ว่า

ลึกซึ้ง รากเหง้า

เข้าใจ ปัจจุบัน

เท่าทัน อนาคต