State-Led Gentrification ในย่านเก่ากรุงเทพฯ (5)/พื้นที่ระหว่างบรรทัด ชาตรี ประกิตนนทการ

ชาตรี ประกิตนนทการ

พื้นที่ระหว่างบรรทัด / ชาตรี ประกิตนนทการ

 

State-Led Gentrification

ในย่านเก่ากรุงเทพฯ (5)

 

สัปดาห์ก่อน ผมทิ้งท้ายเอาไว้ว่า หากเราต้องการทำความเข้าใจปรากฏการณ์ State-led Gentrification ในสังคมไทยให้ถ่องแท้ เราไม่อาจมองไปที่บทบาท “รัฐ” ในฐานะที่ทำหน้าที่หยอดสารตั้งต้นของปรากฏการณ์ เพียงอย่างเดียวได้

แต่ต้องทำความเข้าใจ “ชนชั้นสร้างสรรค์” (the creative class) ที่จะเข้ามารับช่วงต่อจากรัฐ ในการทำให้ปรากฏการณ์ Gentrification เกิดขึ้นได้จริงและขยายตัวออกไป

ชนชั้นสร้างสรรค์ คือใคร หน้าตาเป็นอย่างไร มีวิถีชีวิตเป็นแบบไหน และทำไมถึงกลายมาเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของปรากฏการณ์ Gentrification

คำถามเหล่านี้คือประเด็นที่บทความสัปดาห์นี้จะนำมาเล่าสู่กันฟัง

 

แนวคิดว่าด้วย “ชนชั้นสร้างสรรค์” เริ่มถูกนิยามและกล่าวถึงอย่างเป็นรูปธรรมจาก Richard Florida ศาสตราจารย์ประจำ University of Toronto ผู้ซึ่งตีพิมพ์หนังสือเล่มสำคัญ The Rise of the Creative Class ในปี 2002 ซึ่งถือเป็นเสมือนคัมภีร์เล่มหลักในการทำความเข้าใจสิ่งที่เรียกว่าชนชั้นสร้างสรรค์

โดยสังเขป ชนชั้นสร้างสรรค์ถือกำเนิดขึ้นในช่วงเวลาที่โลกเรากำลังเปลี่ยนผ่านเข้าสู่สังคมและเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ที่ตั้งอยู่บนฐานของเทคโนโลยี ราวปลายศตวรรษที่ 20 ก้าวข้ามมาสู่ศตวรรษที่ 21

หากว่าตามนิยามของ Florida คนกลุ่มนี้จะหมายถึง กลุ่มคนที่ทำงานในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, ธุรกิจและการบริหารจัดการ, ศิลปะและวัฒนธรรม, กฎหมาย ตลอดจนอาชีพที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ

โดยอาจจำแนกคนกลุ่มนี้ออกได้ไปเป็น 3 ประเภทใหญ่ๆ คือ

หนึ่ง “creative core” ที่ประกอบไปด้วยคนที่ทำงานด้านวิทยาศาสตร์ วิศวกรรม สถาปัตยกรรม และการออกแบบ รวมไปถึงคนที่ทำงานด้านศิลปะแขนงต่างๆ ซึ่งคนกลุ่มนี้จะมีบทบาทในการสร้างสรรค์แนวคิดใหม่ๆ ไปจนถึงนวัตกรรมต่างๆ

สอง “creative professionals” คนกลุ่มนี้ไม่ได้หมายถึงคนที่ทำงานด้านการสร้างสรรค์แต่อย่างใด แต่มีส่วนอย่างสำคัญในการช่วยสนับสนุนและมีบทบาทเข้าไปเกี่ยวข้องกับคนกลุ่มแรก ซึ่งประกอบไปด้วย นักบัญชี นักกฎหมาย แพทย์ เป็นต้น

สาม “bohemians” ที่หมายถึงกลุ่มคนที่ใช้ชีวิตในรูปแบบที่แตกต่างออกไปจากมาตรฐานทางสังคม และโดยส่วนใหญ่จะเป็นคนที่มีความสนใจในศิลปะ ดนตรี กวี วรรณกรรม

โดยคนกลุ่มนี้อาจมีส่วนเพียงเล็กน้อยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แต่มีความสำคัญในแง่ของกลุ่มที่ให้อิทธิพลในเชิงภาพลักษณ์และไลฟ์สไตล์แก่คนสองกลุ่มแรก

และในพื้นที่ใดที่มีกลุ่ม “bohemians” มากจะก่อให้เกิดบรรยากาศของสภาพแวดล้อมที่ดึงดูดการเข้ามาตั้งธุรกิจหรือถิ่นฐานของคนสองกลุ่มแรกมากอย่างมีนัยยะสำคัญ

(ดูใน Richard Florida, “Bohemia and Economic Geography” Journal of Economic Geography. 2 (2002) : 55-71.)

 

ในแง่วิถีชีวิตของชนชั้นสร้างสรรค์ Florida นิยามว่าชนชั้นสร้างสรรค์จะมีไลฟ์สไตล์ในแบบที่เรียกว่า “Street Level Culture” ที่ดำรงอยู่ในพื้นที่ที่ผสมผสานกันระหว่างคาเฟ่ฮิปๆ แกลเลอรี่เท่ๆ ร้านอาหารเก๋ๆ ย่านที่มีกลิ่นอายของศิลปวัฒนธรรม ตึกเก่า ดนตรีเปิดหมวกตามท้องถนน ฯลฯ

โดยกิจกรรมนอกเวลางานของคนกลุ่มนี้จะแวดล้อมวนเวียนอยู่ในประเภทขี่จักรยาน ท่องเที่ยว วิ่ง ช้อปปิ้ง สะสมของเก่า ฯลฯ

จากนิยามและไลฟ์สไตล์ของชนชั้นสร้างสรรค์ข้างต้น Florida ชี้ให้เห็นว่าคนกลุ่มนี้กำลังก้าวขึ้นมามีบทบาทต่อโลกเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

และถูกคาดหวังให้เป็นกลุ่มคนที่จะเข้ามาสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจให้แก่เมืองในโลกยุคศตวรรษที่ 21 ผ่านรูปแบบวิถีชีวิตและการทำงานที่เน้นเทคโนโลยี นวัตกรรม การสร้างสรรค์ และศิลปะ

Florida ในฐานะนักวิชาการที่โปรโมตชนชั้นสร้างสรรค์อย่างเต็มที่ถึงขนาดประกาศว่า เมืองเสื่อมโทรมทั้งหลายไม่จำเป็นเลยที่จะเสียเงินมหาศาลไปกับการสร้างสนามกีฬา คอนเสิร์ตฮอลล์ หรือลดภาษีเพื่อดึงดูดบริษัทเอกชนให้เข้ามาตั้งในย่านเมืองเก่า

ขอเพียงแค่ปรับเปลี่ยนบรรยากาศในย่านให้สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ของชนชั้นสร้างสรรค์ แล้วพวกเขาก็จะย้ายเข้ามาในพื้นที่เอง

และนั่นก็เพียงพอที่จะทำให้เมืองกลับมามีชีวิตและเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจได้อีกครั้ง

ไอเดียดังกล่าวเชื่อมโยงไม่โดยตรงก็โดยอ้อมกับไอเดียว่าด้วย “เมืองสร้างสรรค์” (Creative City) ที่มีสภาพแวดล้อมและบรรยากาศที่เอื้อต่อการจินตนาการสู่ความเป็นไปได้ใหม่ๆ แห่งอนาคต

เราคงเคยได้ยินใช่ไหมครับ “Chareonkrung Creative District” (ย่านสร้างสรรค์เจริญกรุง) ซึ่งถือว่าเป็นย่านแห่งแรกๆ ที่ได้รับแนวคิดนี้มาโดยตรง เมื่อสักราว 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งปัจจุบันคำนี้ก็กลายเป็นคำฮิตที่ส่งผ่านไปสู่ย่านเมืองเก่าอื่นๆ เช่น ย่านคลองสาน ย่านสร้างสรรค์ขอนแก่นบนถนนศรีจันทร์ และย่านสร้างสรรค์เชียงใหม่ในแถบคูเมืองชั้นใน เป็นต้น

ทั้งหมดที่เล่ามา ฟังเผินๆ ก็ดูดีไม่มีอะไรเสียหายใช่ไหมครับ

แต่ในความเป็นจริง การพัฒนาไปในลักษณะนี้สุ่มเสี่ยงอย่างมากที่จะขยับกลายเป็นปรากฏการณ์ Gentrification ที่แฝงอยู่ภายใต้หน้ากากของย่านสร้างสรรค์ ที่ซ่อนการ displacement คนจนเมืองอย่างแนบเนียนด้วยการแทนที่โดยชนชั้นสร้างสรรค์

นี่ไม่ใช่ข้อกล่าวหาอันเลื่อนลอยแต่อย่างใด

เพราะแม้แต่คุณ Florida ก็ยังออกมายอมรับความจริงที่น่าเศร้านี้ในที่สุด

 

ในปี 2017 หลังจากที่หนังสือ The Rise of the Creative Class ตีพิมพ์มาแล้ว 15 ปี คุณ Florida ได้ออกมาให้สัมภาษณ์ถึงผลที่เกิดขึ้นจากการโปรโมตเมืองที่ขับเคลื่อนด้วยชนชั้นสร้างสรรค์และเมืองสร้างสรรค์ตามแนวทางของเขาว่า ผลลัพธ์ที่ได้กลับออกมาในแบบที่เขาไม่ได้คาดหวังไว้เลย (ดูใน Oliver Wainwright, ‘Everything is gentrification now’ : but Richard Florida isn’t sorry, The Guardian วันที่ 26 Oct 2017)

เขายอมรับว่า ได้เผชิญหน้ากับด้านมืดของการฟื้นฟูเมืองในแบบที่เขาสนับสนุนมาโดยตลอดทศวรรษที่ผ่านมา อันเกิดจากการประเมินความโหดร้ายรุนแรงของการย้ายเข้ามาในย่านเมืองเก่าของชนชั้นสร้างสรรค์ต่ำไป

ผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นตามแนวทางฟื้นฟูเมืองของเขา ล้วนตกอยู่กับคนรวยที่รวยอยู่แล้วให้รวยมากขึ้น (ซึ่งส่วนใหญ่คือคนชั้นกลางผิวขาว) ในขณะที่การย้ายเข้ามาของชนชั้นสร้างสรรค์ได้ก่อให้เกิดการขับไสคนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจต่ำออกไปจากย่าน เมืองมิได้สร้างสรรค์ไปในทางบวก แต่กลายเป็นเมืองที่เต็มไปด้วยความไม่เท่าเทียม เหลื่อมล้ำ แบ่งแยก กดขี่ และกีดกัน

เขากล่าวต่อไปว่า เราจำเป็นที่จะต้องพัฒนาแนวทางใหม่ขึ้นมา ซึ่งไม่ใช่การให้ความสำคัญไปที่ชนชั้นสร้างสรรค์เท่านั้น

แต่ต้องมองไปที่ไอเดียว่าด้วย “เมืองสำหรับทุกคน” ที่รวมไปถึงผู้คนที่อยู่ในชนชั้นอื่นด้วย ไม่ว่าจะเป็น “ชนชั้นบริการ” และ “ชนชั้นแรงงาน”

 

“เมืองสำหรับทุกคน” จะเกิดขึ้นได้ ตามความเห็นใหม่ของ Florida ประกอบไปด้วย การกำหนดโซนนิ่งของเมืองที่คำนึงถึงคนทุกชนชั้น การออกแบบมาตรการทางภาษีที่ลดความเหลื่อมล้ำ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่มิใช่เอื้อแต่เฉพาะชนชั้นสร้างสรรค์ การสร้างที่อยู่อาศัยราคาถูก การเพิ่มรายได้ให้ผู้คน การเสริมอำนาจให้กับผู้คนทุกระดับ การกระจายอำนาจให้ท้องถิ่น และการสร้างความร่วมมือในระดับสากล (ดูใน Richard Florida. The New Urban Crisis : Gentrification, Housing Bubbles, Growing Inequality and What We Can Do About It. London : Oneworld Publications, 2018)

ขนาดผู้ให้กำเนิดไอเดียว่าด้วยชนชั้นสร้างสรรค์ในการขับเคลื่อนเมือง ยังกลับใจและมองเห็นด้านมืดที่แอบซ่อนอยู่

แต่น่าแปลกนะครับที่สังคมไทยกลับยังไม่ตระหนักถึงประเด็นเหล่านี้เท่าที่ควร

สังคมไทยยังหลงใหลได้ปลื้มกับการเปลี่ยนเมืองเพื่อตอบสนองชนชั้นสร้างสรรค์อย่างเต็มที่

แนวคิดเมืองสร้างสรรค์และย่านสร้างสรรค์ได้กลายเป็นยาสามัญประจำเมือง ที่ย่านเก่าทุกแห่งอยากเดินทางไปถึงจุดนั้น

แน่นอน การพัฒนาย่านสร้างสรรค์ทั้งหลายที่เกิดขึ้นในไทย ณ ปัจจุบัน ยังมิได้ก้าวไปสู่จุดที่ทำให้เกิดการ displacement ของคนจนเมืองในระดับที่มีนัยยะสำคัญ

หรือพูดให้ชัดขึ้นก็คือ ยังอยู่ในระดับขั้นต้นของกระบวนการ Gentrification เท่านั้น

แต่หากเรามองทิศทางที่เกิดขึ้น ภายใต้การสนับสนุนอย่างแข็งขันจากภาครัฐ ที่มาในรูปแบบของ State-Led Gentrification คงพูดได้ว่าในอีกไม่ช้านาน ย่านสร้างสรรค์เหล่านั้นคงเปลี่ยนกลายเป็นย่านแห่งความเหลื่อมล้ำที่เบียดขับคนจนเมืองออกไปอย่างโหดร้ายไม่ต่างจากที่เกิดขึ้นในหลายเมืองทั่วโลก

ซ้ำร้ายยิ่งไปกว่านั้น ชนชั้นสร้างสรรค์ไทยส่วนใหญ่ ยังไม่รู้ตัวเลยนะครับว่า รูปแบบเมืองที่ตัวเองโปรโมตอยู่นั้นเป็นเพียงการตอบสนองการใช้ชีวิตของชนชั้นตัวเองเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นสวนสาธารณะ เลนจักรยาน ทางเดินริมน้ำ คาเฟ่ฮิปๆ แกลเลอรี่คูลๆ ร้านอาหารชิคๆ ฯลฯ

ทัศนะดังกล่าวของชนชั้นสร้างสรรค์ไทยได้เข้ามาตอกย้ำให้ปัญหา State-Led Gentrification หนักหนาสาหัสมากยิ่งขึ้น