How to ใช้ดีพเฟก แบบสร้างสรรค์/Cool Tech จิตต์สุภา ฉิน

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin

Cool Tech

จิตต์สุภา ฉิน

@Sue_Ching

Facebook.com/JitsupaChin

 

How to ใช้ดีพเฟก

แบบสร้างสรรค์

 

เทคโนโลยีดีพเฟก (Deepfake) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ทำให้เราสามารถปรับแต่งวิดีโอและใส่หน้าใครเข้าไปก็ได้อย่างเนียนๆ เป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่มีแนวโน้มจะเป็นภัยคุกคามสำหรับอนาคตอันใกล้

เราได้รับการย้ำเตือนถึงความน่ากลัวของมันมาตลอดว่าหลังจากนี้ไปเราอาจจะเชื่อสิ่งที่เราเห็นในวิดีโอไม่ได้เสมอไปอีกแล้ว ในคอลัมน์ Cool Tech เราก็ได้หยิบยกเรื่องนี้มาคุยกันหลายครั้ง

ตัวอย่างของวิดีโอที่ใช้เทคโนโลยีดีพเฟกที่ทำให้คนทั่วโลกสะท้านกันเป็นคลิปแรกๆ ก็คือคลิปของ BBC News ที่ไม่ว่าจะตีลังกาดูอย่างไรก็เหมือนกับบารัก โอบามา อดีตประธานาธิบดีสหรัฐ กำลังกล่าวสุนทรพจน์อยู่

แต่ BBC กลับเฉลยว่าภาพวิดีโอที่กำลังเห็นอยู่นั้นเป็นโอบามาตัวปลอมที่เกิดจากการสร้างขึ้นของทีมนักวิจัยจาก University of Washington โดยใช้นูรอลเน็ตเวิร์ก AI ในการจำลองรูปปากของโอบามาก่อนที่จะนำมาจับคู่เข้ากับฟุตเทจวิดีโอและเสียงของโอบามาเอง

ผลลัพธ์ที่ได้คือคลิปวิดีโอที่โอบามาอ้าปากขยับขึ้นลงอย่างเป็นธรรมชาติ ทั้งหน้า เสียง และท่าทาง ไม่มีเหตุผลที่จะชวนให้ฉุกคิดว่านี่เป็นของปลอมเลยแม้แต่น้อย

ด้วยเหตุนี้จึงเป็นที่เข้าใจได้ว่าเทคโนโลยีดีพเฟกมีศักยภาพในการใช้เพื่อทำลายมากกว่าที่จะใช้สร้างสรรค์อะไรดีๆ เป็นเครื่องมือชั้นยอดที่จะใช้สร้างข่าวปลอมหรือยุยงให้เกิดความแตกแยก

แต่ธรรมชาติของทุกอย่างในเมื่อมีร้ายก็ต้องมีดี ประโยชน์การใช้งานในด้านบวกของดีพเฟกก็มีด้วยเหมือนกัน

 

ตัวอย่างล่าสุดของความพยายามนำดีพเฟกมาสร้างเรื่องดีๆ ก็คือการนำมาปรับใช้เพื่อการสื่อสารที่ดีขึ้น

ลองนึกถึงการเป็นพนักงานที่จะต้องเข้าพรีเซนต์งาน ส่งอีเมลสำคัญ พรือพิตช์ไอเดียขายที่ประชุม ความรู้สึกประหม่า ความไม่เคยชินกับการพูด หรือการมีข้อมูลเยอะหรือน้อยเกินไปก็อาจจะทำให้การพรีเซนต์นั้นๆ กลายเป็นหายนะได้

และต้องอย่าลืมว่าไม่ใช่ทุกคนจะถูกสร้างมาให้พูดในที่สาธารณะหรือพูดกับคนอื่นได้อย่างคล่องแคล่ว

ตรงนี้เองที่ดีพเฟกสามารถเข้ามาช่วยได้

Ernst & Young บริษัทตรวจสอบบัญชีระดับยักษ์ใหญ่ได้จับมือกับ Synthesia และทดลองใช้เทคโนโลยีนี้เข้ามาเพิ่มสีสันให้กับการทำงาน โดยมาในรูปแบบของคลิปวิดีโอครึ่งตัวซึ่งถอดแบบมาจากพนักงานแต่ละคน แล้วแนบไปพร้อมกับอีเมลและพรีเซนเตชั่นเพื่อทำให้การสื่อสารสนุกสนานขึ้น

หนึ่งในพนักงานที่ได้ทดลองใช้ดีพเฟกมาช่วยพรีเซนต์มีโจทย์คือต้องพรีเซนต์ภาษาญี่ปุ่น แต่ว่าตัวเองไม่สามารถพูดญี่ปุ่นได้ ก็เลยใช้ฟังก์ชั่นการแปลภาษามาสร้างวิดีโอที่ทำให้ดูเหมือนกับตัวเองกำลังพูดญี่ปุ่นอยู่อย่างคล่องแคล่ว

ซึ่งก็นับเป็นวิธีกระชับความสัมพันธ์ระหว่างผู้พูดและผู้ฟังที่ดีมากทีเดียว

หรือยกตัวอย่างการใช้งานกับอีเมล แทนที่พนักงานจะส่งอีเมลหาลูกค้าด้วยข้อความเฉยๆ อีเมลนั้นก็จะไปพร้อมวิดีโอของพนักงานคนนั้นที่ยิ้มแย้มและพูดว่า “คอนเฟิร์มนัดกันวันศุกร์นี้นะคะ” โดยที่พนักงานไม่ต้องอัดคลิปวิดีโอตัวเองทุกครั้งที่จะส่งอีเมล แต่ซอฟต์แวร์สามารถจัดการให้แทนได้ทั้งหมด

ต่อให้ตัวจริงของเจ้าของใบหน้าและเสียงนั้นอาจจะไม่ใช่คนที่มีบุคลิกที่เป็นมิตรที่สุด แต่ก็ไม่ต้องห่วง เพราะเทคโนโลยีช่วยปรับแต่งให้น่าดูได้

ฉันลองนึกภาพว่าถ้าตัวเองได้รับอีเมลจากคนที่ติดต่องานด้วยและมีวิดีโอแนบมาในรูปแบบนี้ก็คงจะต้องรู้สึกดีมากแน่ๆ ถึงมันจะไม่ใช่ฟังก์ชั่นสำคัญที่ต้องมี แต่ถ้ามีก็จะก่อให้เกิดความรู้สึกที่ดีขึ้นกว่าการอ่านข้อความธรรมดา และจะทำให้เกิดความรู้สึกที่ดีขึ้นหากต้องมีการติดต่อหรือร่วมงานกันต่อไปด้วย

 

ประโยชน์ใช้สอยอื่นๆ ที่ Synthesia พัฒนาขึ้นมาใช้จริงแล้วก็ยังรวมถึงการให้ลูกค้าใช้เพื่อถ่ายทำวิดีโอประชาสัมพันธ์ภายในบริษัทและส่งต่อให้บริษัทลูกในอีกหลากหลายประเทศ ถ่ายครั้งเดียว พูดภาษาเดียวจบ ที่เหลือก็ใช้เทคโนโลยีนี้เปลี่ยนให้พิธีกรในคลิปดูเหมือนกับกำลังพูดภาษานั้นๆ

ขั้นตอนการจะโคลนใครสักคนมาอยู่ในวิดีโอก็ไม่ได้ยากเย็นอะไรสำหรับ Synthesia เลย เพียงแค่ให้ผู้พูดนั่งหน้ากล้องแล้วอ่านสคริปต์ที่ออกแบบมาเป็นพิเศษเป็นเวลาประมาณ 40 นาที ภาพฟุตเทจวิดีโอและเสียงที่ได้ก็จะประกอบไปด้วยการเคลื่อนไหวของใบหน้าและรูปปากการออกเสียงในแบบต่างๆ ซึ่งก็เพียงพอสำหรับให้นำไปใช้กับอัลกอริธึ่มของบริษัทในการสร้างวิดีโอของคนคนนั้นออกมา อยากจะให้พูดอะไรก็เพียงแค่พิมพ์บทเข้าไปได้เลย และยังสามารถเปลี่ยนพื้นหลังได้ตามใจชอบด้วย

มีอยู่เรื่องสองเรื่องที่ต้องระวังเกี่ยวกับการใช้งานเทคโนโลยีนี้ อย่างการที่จะต้องขออนุญาตเจ้าของใบหน้าก่อนเสมอ และการต้องพึงระวังเอาไว้ว่าการใช้วิดีโอที่สร้างขึ้นมาเป็นอวตารแทนตัวเรานั้นอาจส่งผลให้ผู้รับรู้สึกพิลึกพิลั่นได้เหมือนกัน และอาจจะดึงความสนใจออกจากข้อความที่ต้องการสื่อสารได้

ดังนั้น ก็จะต้องมีการทดลองใช้ต่อไปเรื่อยๆ เพื่อหาจุดที่เหมาะสมที่สุด พนักงานบางคนถึงกับบอกว่ากังวลว่าเทคโนโลยีนี้จะลดทอนความสำคัญของความเป็นมนุษย์ออกจากการทำงานได้

 

นอกจากตัวอย่างที่พูดมาแล้ว ที่ผ่านมาก็ยังมีอีกหลายความพยายามในการใช้ดีพเฟคในทางที่สร้างสรรค์บ้าง อย่างเช่น การใช้สร้างสิ่งที่เรียกว่าสต๊อกภาพถ่ายโดยไม่ต้องใช้คนจริงๆ มาถ่ายเลย นอกจากจะลดต้นทุนแล้วก็ยังหลีกเลี่ยงปัญหาเรื่องลิขสิทธิ์หรือการนำภาพไปใช้ในวัตถุประสงค์บางอย่างเนื่องจากบุคคลในภาพไม่ได้มีตัวตนอยู่บนโลกใบนี้จริงๆ แต่เป็นใบหน้าที่คอมพิวเตอร์สร้างขึ้นมาใหม่ทั้งหมด

บริษัทโปรดักชั่นชื่อดังอย่าง Lucasfilm ก็มีข่าวออกมาว่าได้จ้างงานคนที่คร่ำหวอดอยู่ในชุมชนดีพเฟกออนไลน์ที่มีผลงานในการสร้างคลิป Star Wars ปลอมระดับหลายล้านยอดวิวมาแล้ว ซึ่งฉันว่าเราน่าจะได้เห็นการใช้ดีพเฟกในแวดวงบันเทิงกันอีกเยอะหลังจากนี้

ผู้กำกับฯ อาจจะสามารถใช้ดีพเฟกเพื่อให้นักแสดงได้ย้อนกลับไปเล่นเป็นตัวเองในสมัยอายุน้อยได้ หรือในฐานะผู้ชมที่ไม่ชอบตอนจบของเรื่องไหนก็อาจจะสามารถนำมาเปลี่ยนแปลงให้ตรงใจตัวเองได้มากขึ้น

เห็นได้ชัดว่าประโยชน์อันสร้างสรรค์ของดีพเฟกดูเหมือนจะยังไม่อยู่ในระดับเดียวกับความสามารถในการทำลายล้างของมันสักเท่าไหร่ สำหรับคนที่รู้จักเทคโนโลยีนี้ดีอยู่แล้ว และรู้มากพอที่จะแยกแยะได้ว่าอะไรน่าจะจริง อะไรน่าจะปลอม ดีพเฟกก็อาจจะเป็นกิมมิกแสนสนุกที่เพิ่มสีสันให้ชีวิต

ในทางกลับกันสำหรับคนที่ไม่รู้จักหรือไม่เคยเห็นมาก่อนเลย เทคโนโลยีเดียวกันนี้ก็อาจจะเป็นภัยอันตรายที่พุ่งเข้าหาโดยไม่ทันได้ตั้งรับเลยก็ได้