ต่างประเทศ : วิบากกรรม “มุสลิมโรฮิงญา” ในเงื้อมมือพม่า

เรื่องราวของมุสลิมโรฮิงญา ถูกหยิบขึ้นมาเป็นประเด็นอีกครั้งในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เมื่อมีการพานักข่าวลงพื้นที่ในรัฐยะไข่ เพื่อให้ได้สัมผัสกับชาวบ้านอย่างแท้จริง

รอยเตอร์ คือหนึ่งในสื่อที่ได้รับเชิญให้ลงพื้นที่ครั้งนี้ด้วย และรายงานเรื่องราวที่ได้สัมผัสมา เกี่ยวกับประสบการณ์ความน่ากลัว ที่ชาวมุสลิมโรฮิงญาต้องประสบพบเจอ

โดยบรรดาสตรีมุสลิมโรฮิงญาต่างพากันเข้าแถวเพื่อบอกเล่าเรื่องราวอันน่าสลดใจให้ผู้สื่อข่าวได้รับฟัง เกี่ยวกับเรื่องการหายไปของคนในครอบครัว ไม่ว่าจะเป็น สามี แม่ และลูกชาย

ในขณะที่สื่อต่างชาติได้เข้าไปภายในหมู่บ้านแห่งหนึ่งของรัฐยะไข่ ทางตอนเหนือของพม่า พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก นับตั้งแต่เกิดเหตุรุนแรงขึ้นเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา

“ลูกชายของฉันไม่ใช่ผู้ก่อการร้าย เขาถูกจับตอนทำงานอยู่ที่ไร่” นางเซอร์เบดา กล่าวถึงลูกชายที่ถูกจับกุมตัวไป

เช่นเดียวกับผู้หญิงอีกหลายคน ที่ต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า สามีของตนถูกจับไปทั้งๆ ที่ไม่ได้ทำอะไรผิด

 

เรื่องราวทั้งหมดเริ่มมาตั้งแต่เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา หลังจากกองทัพพม่าได้ทำการปราบปรามชาวบ้านในหมู่บ้านที่มีชาวมุสลิมโรฮิงญาอาศัยอยู่ในเขตหม่องดอว์

และกลายเป็นสงครามกลางเมืองย่อมๆ ที่ทำให้ชาวบ้านต้องหนีออกจากที่อยู่อาศัยข้ามชายแดนไปฝั่งประเทศบังกลาเทศ

ซึ่งตัวเลขจากสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ระบุว่า มีชาวโรฮิงญาที่ต้องลี้ภัยไปอยู่ฝั่งบังกลาเทศมากถึงราว 75,000 คน

เจ้าหน้าที่สืบสวนของยูเอ็น ที่ได้มีโอกาสในการสัมภาษณ์ผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญา บอกว่า กองกำลังฝ่ายความมั่นคงของกองทัพพม่าได้กระทำทารุณกรรมต่อชาวโรฮิงญา

มีทั้งการข่มขืน การวางเพลิง การเข่นฆ่าผู้คน

อย่างที่เรียกได้ว่าเป็นการก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ

 

ทั้งนี้ รัฐบาลพม่า ที่นำโดย นางออง ซาน ซูจี ในฐานะที่ปรึกษาแห่งรัฐ ได้ปฏิเสธข้อกล่าวหาเรื่องการกระทำทารุณกรรมต่อชาวมุสลิมโรฮิงญา และในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา รัฐบาลพม่าก็ยังได้กีดกันนักข่าวอิสระและผู้สังเกตการณ์ด้านสิทธิมนุษยชน ไม่ให้เข้าใกล้พื้นที่ในรัฐยะไข่ด้วย

อย่างไรก็ตาม ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา กระทรวงสารสนเทศของพม่า ได้นำนักข่าวทั้งจากต่างชาติและนักข่าวท้องถิ่นกว่าสิบคน รวมทั้งนักข่าวจากสำนักข่าวจากรอยเตอร์ ลงพื้นที่ในหมู่บ้านที่ได้รับผลกระทบ โดยมีเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลพม่าควบคุมดูอยู่อย่างใกล้ชิด

โดยกลุ่มนักข่าวกลุ่มนี้ใช้เวลาอยู่ในย่านบูทิดวง เขตหม่องดอว์ รัฐยะไข่ นานเกือบ 2 วัน ซึ่งพื้นที่ที่ลงไปเป็นพื้นที่ที่มีการกล่าวหาว่า เจ้าหน้าที่ทหารของพม่าก่อเหตุทารุณกรรมต่อชาวมุสลิมโรฮิงญา นอกจากนี้ ยังลงพื้นที่หมู่บ้านจากองตองหนึ่งในพื้นที่ตั้งรกรากใหม่สามแห่ง ที่ผู้สื่อข่าวได้ร้องขอว่าอยากไป

ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้รอยเตอร์เองได้มีการรวบรวมข้อมูลจากชาวบ้าน ทั้งจากทางโทรศัพท์ และจากชาวบ้านที่ต้องลี้ภัยไปอยู่ที่บังกลาเทศ ที่พูดถึงการกระทำของพวกทหารที่มีต่อชาวบ้านในหมู่บ้านจากองตอง และหมู่บ้านใกล้เคียง ในช่วงกลางเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา

 

เซอร์เบดา ชาวบ้านในหมู่บ้านจากองตอง วัย 30 ปี บอกว่า เธอสามารถไปเยี่ยมลูกชาย นอว์ซี มุลเลาะห์ วัย 14 ปี ที่ค่ายตำรวจ ซึ่งเป็นที่กักตัวผู้ต้องหาแยกจากผู้ต้องหาที่เป็นผู้ใหญ่ แต่เธอก็ไม่แน่ใจว่าจะสามารถหาทนายความมาช่วยแก้ต่างให้ลูกชายได้หรือไม่

รอยเตอร์ได้รายงานไว้เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมาว่า มีเด็กชายที่อายุไม่ถึง 18 ปี จำนวน 13 คนที่ถูกควบคุมตัวเอาไว้จากปฏิบัติการด้านความมั่นคงของเจ้าหน้าที่พม่า ซึ่งทั้ง 13 คน เป็นหนึ่งในกลุ่มคน 423 คน ที่ถูกตั้งข้อหาเข้าร่วมหรือให้การช่วยเหลือพวกผิดกฎหมาย

ครูคนหนึ่งในหมู่บ้านเปิดเผยว่า มีผู้คนจากหมู่บ้านจากองตอง อย่างน้อย 32 คน ที่ถูกจับกุมตัว และถูกสังหารอีก 10 คน และคาดว่าน่าจะมีชาวบ้านในหมู่บ้านถึงครึ่งหนึ่งจากทั้งหมด 6,000 คนที่ต้องหนีไปในช่วงปฏิบัติการกวาดล้างของเจ้าหน้าที่

แต่เหตุการณ์ที่น่าจะสร้างความตกตะลึงให้แก่ผู้ได้รับฟังจากการลงพื้นที่ครั้งนี้ เป็นเรื่องของลัลมูติ วัย 23 ปี หนึ่งในชาวบ้านของหมู่บ้านจากองตองที่ชี้ไปยังกองเถ้ากองหนึ่ง ที่เธอบอกว่า เป็นเถ้าอัฐิของสามีของเธอ ซึ่งลัลมูติเล่าว่า สามีของเธอถูกมัดเอาไว้ และถูกโยนเข้าไปในบ้าน ก่อนจะจุดไฟเผาบ้านจนสามีของเธอตายทั้งเป็น

ส่วนแม่ของลัลมูติ ก็ถูกจับในเวลาต่อมา หลังจากทางการเชื่อว่าแม่ของลัลมูติร้องเรียนในเรื่องที่ไม่มีมูลความจริง และต้องโทษจำคุก 6 เดือน

 

อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ พลจัตวา ทูรา ซาน ลวิน ผู้บัญชาการกองกำลังตำรวจชายแดน (บีจีพี) แถลงเอาไว้เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม ว่า มีชาวบ้านบางคนออกมาอ้างเรื่องที่ไม่ถูกต้อง ก็เลยต้องถูกตั้งข้อหาและถูกขังคุกเนื่องจากให้การเป็นเท็จต่อเจ้าหน้าที่

“สื่อรายงานว่า เราเผาบ้าน และมีการข่มขืนเกิดขึ้น ซึ่งเป็นข้อมูลที่ผิดทั้งนั้น” พลจัตวา ทูรา ซาน ลวิน กล่าวกับผู้สื่อข่าว และว่า เขาไม่เห็นด้วยกับข้อมูลของยูเอ็นเกี่ยวกับตัวเลขของชาวบ้านที่หนีออกจากหมู่บ้าน ซึ่งตัวเลขของทางการท้องถิ่นระบุไว้ว่า มีเพียงแค่ 22,000 คนเท่านั้นที่หายไปในช่วงที่เกิดการปะทะกัน

ขณะที่ทางการพม่ายืนยันว่าทางที่เหมาะสมที่สุดในการสอบสวนกรณีนี้ก็คือการสอบสวนภายในกันเอง จึงไม่เปิดให้ทีมสืบสวนจากยูเอ็นเข้าไปตรวจสอบ

หลังจากเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเอ็นเอชอาร์ซี ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ได้แต่งตั้ง อินทิรา ไจสิง จากอินเดีย, รัดฮิกา คูมารัสวามี จากศรีลังกา และ คริสโตเฟอร์ โดมินิก สิโดติ จากออสเตรเลีย ให้เป็นสมาชิกของปฏิบัติการค้นหาความจริงที่เกิดขึ้นในรัฐยะไข่

แต่ทั้งสามกลับถูกทางการพม่าปฏิเสธการออกวีซ่าให้ โดยให้เหตุผลว่ารัฐบาลพม่ากำลังสอบสวนเรื่องที่เกิดขึ้นด้วยตัวเอง

ชะตากรรมของชาวโรฮิงญา กลุ่มคนที่ไม่ได้รับการยอมรับจากรัฐบาลพม่ามาโดยตลอด แม้จะอาศัยอยู่ในพม่ามานานหลายชั่วอายุคน ก็ยังคงต้องตกอยู่ภายในเงื้อมมือของรัฐบาลพม่าต่อไป