คุยกับทูต อาซิซ อาลีเยฟ โอกาสทางธุรกิจกับเสือตัวใหม่ในเอเชียกลาง…อุซเบกิสถาน (ตอนจบ)

 

คุยกับทูต อาซิซ อาลีเยฟ

โอกาสทางธุรกิจ

กับเสือตัวใหม่ในเอเชียกลาง…อุซเบกิสถาน (ตอนจบ)

 

หลังจากอุซเบกิสถานได้เปิดเสรีทางเศรษฐกิจและปฏิรูปกฎหมายเพื่อให้เอื้อต่อการลงทุนจากต่างชาติมากขึ้น

อุซเบกิสถานจึงปรารถนาให้นักลงทุนไทยที่มีศักยภาพเข้าไปลงทุน เพื่อให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจในมิติด้านการสร้างงาน การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การพัฒนาคน และการพัฒนาเทคโนโลยี พร้อมด้วยมาตรการส่งเสริมการลงทุนในรูปแบบต่างๆ

จากคำแนะนำของบีโอไอ อุตสาหกรรมที่จะเป็นโอกาสแก่นักลงทุนไทยในอุซเบกิสถาน ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหารแปรรูป และการแปรรูปสินค้าเกษตร สิ่งทอ กิจการท่องเที่ยวและโรงแรม เป็นต้น

 

นายอาซิซ อาลีเยฟ (His Excellency Mr. Aziz Aliev) กงสุลใหญ่อุซเบกิสถานประจำประเทศไทย

 

นายอาซิซ อาลีเยฟ (His Excellency Mr. Aziz Aliev) กงสุลใหญ่อุซเบกิสถานประจำประเทศไทย กล่าวถึงความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว วัฒนธรรม และมนุษยธรรม

“จากนโยบายเปิดเส้นทางท่องเที่ยวใหม่ของประธานาธิบดีชาฟคาต มีร์ซีโยเยฟ ประเทศของเราให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาการท่องเที่ยว ความร่วมมือด้านวัฒนธรรม และมนุษยธรรม”

“เราร่วมมือกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สมาคมชาวพุทธ ศูนย์อิสลามแห่งประเทศไทย ตลอดจนตัวแทนบริษัทท่องเที่ยว บริการทางการแพทย์ ร้านอาหาร และโรงแรมของไทย โดยในปี ค.ศ.2020 มีคณะผู้แทนจากแผนกตำรวจท่องเที่ยวอุซเบกิสถานเข้าเยี่ยมชมและจัดการประชุมทางวิดีโอระหว่างกระทรวงกีฬาและการท่องเที่ยวอุซเบกิสถานกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย โดยมีผู้แทนอุซเบกิสถานและบริษัทท่องเที่ยวไทยร่วมด้วย”

 

 

นายอาซิซ อาลีเยฟ (His Excellency Mr. Aziz Aliev) กงสุลใหญ่อุซเบกิสถานประจำประเทศไทย

 

อุซเบกิสถานมีวัฒนธรรมที่ทำให้คนต่างชาติประทับใจไม่รู้ลืม นั่นคือ การให้ความสำคัญกับแขกที่มาเยือน ด้วยการต้อนรับขับสู้อย่างเต็มที่ ถือเป็นค่านิยมของสังคมและเป็นธรรมเนียมปฏิบัติ

“เราทำงานอย่างแข็งขันเพื่อให้พลเมืองของทั้งสองประเทศมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางวัฒนธรรมทั้งในอุซเบกิสถานและประเทศไทย”

“ตัวอย่างในปีที่ผ่านมา เราร่วมงานมหกรรมผ้าไหมไทยสู่เส้นทางโลก (Celebration of Silk – Thai Silk Road to the World) และสัปดาห์แฟชั่นผ้าไหมไทยนานาชาติ (International Thai Silk Fashion Week) ที่ประเทศไทย โดยสถานกงสุลใหญ่ได้นำเสนอผลงานการออกแบบผ้าไหมอุซเบกิสถาน ตลอดจนจัดนิทรรศการผลงานของช่างฝีมือ และนิทรรศการอาหารอุซเบกิสถาน”

“มีผู้แทนจากประเทศไทยเข้าร่วมกิจกรรมทางวัฒนธรรมในอุซเบกิสถานด้วย อาทิ การประชุมนานาชาติครั้งที่ 4 ‘มรดกทางวัฒนธรรมของอุซเบกิสถาน-รากฐานของยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาใหม่’ (Cultural heritage of Uzbekistan – the foundation of a new Renaissance) และ ‘การประชุมวิชาการด้านสถาปัตยกรรมของซามาร์คันด์ มาโยลิกาและโมเสก’ (Art symposium of Samarkand’s architecture, mayolica & mosaic).”

ชุมทางวัฒนธรรม ซามาร์คันด์ (Samarkand)

 

ชุมทางวัฒนธรรม ซามาร์คันด์ (Samarkand)

 

“ผมขอถือโอกาสนี้แจ้งให้ทราบเป็นพิเศษว่า เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม ค.ศ.2020 กระทรวงต่างประเทศและกระทรวงวัฒนธรรมของสาธารณรัฐอุซเบกิสถาน ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ จัดงาน The VIII International Children’s Drawings Biennale ภายใต้หัวข้อ ‘Joy of Tashkent’ มีเยาวชนจากประเทศไทยสองคนได้รับเหรียญทอง และเหรียญทองแดง จากผลงานกว่า 2,000 ชิ้นโดยเยาวชนที่มีความสามารถพิเศษจากทั่วโลก”

“เรามีอะไรหลายอย่าง เช่น ความคิด วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม ค่านิยมของมนุษย์ และอื่นๆ ที่คล้ายคลึงกัน ล้วนเป็นการสร้างรากฐานที่ดีสำหรับการร่วมมือกันในประเด็นต่างๆ รวมถึงการท่องเที่ยว เศรษฐกิจ วัฒนธรรม และการกีฬา”

“ผมจึงตกหลุมรักประเทศไทยเมื่อได้มาทำงานที่นี่ และจะเป็นสถานที่พิเศษในใจของผมเสมอ โดยเฉพาะอาหารไทย ซึ่งชาวอุซเบกหลายคนก็ชื่นชอบอาหารไทย ถือเป็นหนึ่งในอาหารที่ดีที่สุดในโลก ดังนั้น เราจึงสนับสนุนการเปิดร้านอาหารไทยในอุซเบกิสถานและในตอนนี้ก็มีอยู่หลายร้าน”

ชุมทางวัฒนธรรม ซามาร์คันด์ (Samarkand)

 

ชุมทางวัฒนธรรม ซามาร์คันด์ (Samarkand)

“เรามีความร่วมมือในสาขาวิทยาศาสตร์และการศึกษา ที่เปิดโอกาสให้อย่างมากในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ การฝึกอบรม และการฝึกงานสำหรับผู้เชี่ยวชาญที่เป็นโครงการร่วมกัน ตลอดจนร่วมกับกรมความร่วมมือระหว่างประเทศของประเทศไทย (TICA) เรากำลังทำงานในองค์กรการศึกษาและการฝึกอบรมขั้นสูงของผู้เชี่ยวชาญชาวอุซเบกรุ่นใหม่ในสถาบันอุดมศึกษาชั้นนำของประเทศไทย เช่นเดียวกับการดำเนินโครงการร่วมกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐในด้านการเกษตรและเศรษฐศาสตร์”

“ในขณะเดียวกัน มีความคล้ายคลึงกันในระบบเศรษฐกิจของอุซเบกิสถานและประเทศไทย โดยทั้งสองประเทศได้พยายามเพิ่มการส่งออกและหาตลาดใหม่ รวมทั้งดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศอย่างแข็งขัน”

“เรายินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ต้อนรับผู้แทนรัฐบาล ภาคธุรกิจ สถาบันการศึกษาและวัฒนธรรมของไทยที่ให้ความสนใจเข้าร่วมในการประชุม การอภิปรายนานาชาติ รวมทั้งกิจกรรมอื่นๆ ที่จัดขึ้นในอุซเบกิสถาน”

ศูนย์กลางประวัติศาสตร์บูคารา (Bukhara)

 

ศูนย์กลางประวัติศาสตร์บูคารา (Bukhara)

 

ศูนย์กลางประวัติศาสตร์บูคารา (Bukhara)

“ผมขอขอบคุณผู้แทนวุฒิสภาของรัฐสภาไทย ที่เข้าร่วมในการประชุมนานาชาติว่าด้วยความร่วมมือของสมัชชาสหภาพระดับโลกในการดำเนินการตามกรอบเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (International Forum of Global Interparliamentary Cooperation on the Implementation of Sustainable Development Goals) ซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 23-24 มิถุนายน ค.ศ.2021 ที่เมืองบูคารา (Bukhara)”

“รวมทั้งการเข้าร่วมของผู้แทนจากประเทศไทยในการประชุมนานาชาติ ‘เอเชียกลางและใต้ : การประชุมการเชื่อมต่อระดับภูมิภาค – สำรวจความท้าทายและโอกาส’ (Central and South Asia : Regional Connectivity. Challenges and Opportunities) ณ กรุงทาชเคนต์ ระหว่างวันที่ 15-16 กรกฎาคม ในปีนี้ และเวทีระหว่างประเทศ ‘เอเชียกลาง ณ ทางแยกของอารยธรรมโลก’ (Central Asia at the Crossroads of World Civilizations) ซึ่งจะจัดขึ้นภายใต้การอุปถัมภ์ของยูเนสโก ที่เมืองคีวา (Khiva) ในอุซเบกิสถาน ระหว่างวันที่ 14-16 กันยายน ปีนี้เช่นกัน”

“ส่วนในเดือนตุลาคมปีนี้ จะเกิดเหตุการณ์ทางการเมืองที่สำคัญในอุซเบกิสถาน นั่นคือ การเลือกตั้งประธานาธิบดีแห่งอุซเบกิสถาน ซึ่งเราตั้งตารอคอยการไปอุซเบกิสถานของผู้แทนรัฐสภาไทยในฐานะผู้สังเกตการณ์ระหว่างประเทศด้วย”

ศูนย์กลางประวัติศาสตร์ ชาห์รีซับซ์ (Shakhrisabz)

“สําหรับการท่องเที่ยวในอุซเบกิสถาน และประเทศในภูมิภาคนั้น ตั้งแต่ปี 2016-2019 มีจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว และประเทศไทยก็เป็นแหล่งท่องเที่ยวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกที่นักท่องเที่ยวชาวอุซเบกิสถานและประเทศในกลุ่มเครือรัฐเอกราชให้ความนิยมสูงในปัจจุบัน”

“ทุกวันนี้ การเดินทางไปอุซเบกิสถานเป็นอีกวิธีหนึ่งในการเปิดโลกทัศน์ใหม่ๆ ที่ได้รับความนิยมมากที่สุด จากการเที่ยวชมเมืองโบราณที่งดงามและการใกล้ชิดกับตะวันออกที่เต็มไปด้วยความลึกลับและน่าตื่นเต้น รวมถึงวัฒนธรรมอันน่าอัศจรรย์ ซึ่งการไปเยือนอุซเบกิสถานนั้นเป็นเรื่องง่ายด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้”

“ประการแรก ค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยวในอุซเบกิสถาน มีราคาที่ไม่สูงมาก”

“ประการที่สอง การท่องเที่ยวในอุซเบกิสถานมีความปลอดภัย อุซเบกิสถานเป็นหนึ่งใน 10 อันดับประเทศที่ปลอดภัยที่สุดในโลก ตามที่ระบุไว้ในรายงานของ Gallup Global Law and Order Report ปี 2020”

“ประการที่สาม การท่องเที่ยวในอุซเบกิสถานมีกิจกรรมและความเป็นไปได้มากมาย เช่น การท่องเที่ยวชมสถานที่พิเศษ การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม การท่องเที่ยวเชิงผจญภัย และการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ”

ป้อมปราการอิชานคาล่า(Ichan-Kala) เมืองคีว่า(Khiva)

“เรามีความภาคภูมิใจในสมบัติทางสถาปัตยกรรมที่เก่าแก่ ได้แก่ ป้อมปราการอิชานคาล่า (Ichan-Kala) ในเมืองคีว่า (Khiva), ศูนย์กลางประวัติศาสตร์บูคารา (Bukhara), ศูนย์กลางประวัติศาสตร์ชาห์รีซับซ์ (Shakhrisabz) และชุมทางวัฒนธรรม ซามาร์คันด์ (Samarkand) ซึ่งได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกขององค์การยูเนสโก อนุสาวรีย์และสิ่งปลูกสร้างโบราณที่มีเอกลักษณ์หลายแห่งในเมืองที่กล่าวถึงเหล่านี้ยังคงเป็นตัวอย่างที่แท้จริงของยุคประวัติศาสตร์อันยาวนาน”

ป้อมปราการอิชานคาล่า(Ichan-Kala) เมืองคีว่า(Khiva)

“ในขณะเดียวกัน มีสถานที่ท่องเที่ยวที่พิเศษยิ่งกว่า ได้แก่ ทะเลอารัล (Aral sea) ทะเลที่แห้งเหือดจนเหลือแต่ทราย, ป้อมปราการโบราณในคาราคัลพัคสถาน (Karakalpakstan), เมืองหลวงที่เจริญรุ่งเรืองทาชเคนต์ (Tashkent), อนุสรณ์สถานทางพุทธศาสนาใน Surkhandarya และโอกาสของการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ในระบบนิเวศภูเขา หรือแม้แต่การท่องเที่ยวแบบอื่นตามรสนิยมที่หลากหลาย”

ป้อมปราการอิชานคาล่า(Ichan-Kala) เมืองคีว่า(Khiva)

“ปัจจุบัน ประเทศอุซเบกิสถานพยายามส่งเสริมการท่องเที่ยวแสวงบุญ (Pilgrimage Tourism) เพื่อเรียนรู้ประวัติศาสตร์ ศาสนา ประเพณี วัฒนธรรม ด้วยการเสนอทำหนังสือเดินทางเข้าประเทศนานถึง 5 วัน โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย สำหรับนักเดินทางมากกว่า 100 ประเทศทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย และออกวีซ่าสำหรับผู้แสวงบุญเป็นระยะเวลาสูงสุด 2 เดือนสำหรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางไปแสวงบุญและศึกษาวัฒนธรรม มรดกทางประวัติศาสตร์ ศาสนา-จิตวิญญาณ และประเพณีของอุซเบกิสถาน”

อาหารประจำฃาติอุซเบกิสถาน

“โดยสรุปแล้ว ในความเห็นของผม สินทรัพย์ของประเทศไทยก็คือ ประชากรที่อาศัยอยู่ที่นี่ เพราะเป็นธรรมชาติของคนไทยที่มีคุณสมบัติในการต้อนรับผู้มาเยือน รู้จักเคารพให้เกียรติกัน และการพยายามประนีประนอมกัน สิ่งเหล่านี้ย่อมคู่ควรแก่การชื่นชมและเลียนแบบอย่างแน่นอน”

 

นายอาซิซ อาลีเยฟ (His Excellency Mr. Aziz Aliev) กงสุลใหญ่อุซเบกิสถานประจำประเทศไทย

 

ท้ายสุด ท่านกงสุลใหญ่อุซเบกิสถาน อาซิซ อาลีเยฟ กล่าวคำอำลา

“ผมขออวยพรแด่เพื่อนสนิทมิตรสหายชาวไทย ขอให้มีความรักสามัคคี มีความสงบสุข ร่มเย็นในทุกครัวเรือน”

“และขอให้ประเทศไทยจงมีความมั่นคงและความเจริญรุ่งเรืองก้าวหน้ายิ่งขึ้นสืบไป”