หลังเลนส์ในดงลึก : ‘เสือกินคน’ / ปริญญากร วรวรรณ

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ
เสือโคร่ง - เมื่อพบกันในระยะห่างอันเหมาะสม เสือเลือกที่จะถอยห่างไป

 

 

‘เสือกินคน’

 

…เราต่างล้วนเติบโตขึ้นมาด้วยสภาพแวดล้อม รวมทั้งมีประสบการณ์อันแตกต่าง เป็นไปไม่ได้หรอกที่คนจะคิดเห็น หรือมองสิ่งใดๆ ในแบบเดียวกัน

โดยเฉพาะกับเรื่องราวของสัตว์ป่า พวกมัน “ถูกจำ” ว่าเป็นสิ่งดุร้ายอันตราย สัตว์ป่าเป็น “ตัวร้าย” เสมอในเรื่องเล่า, นิยาย หรือภาพยนตร์

คนเขียนนิยายเล่าถึงความดุร้ายอันตรายของสัตว์ป่า ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลก หลายคนอาจมีประสบการณ์ “ผจญภัย” ในป่า เผชิญหน้ากับสัตว์ป่าอย่างใกล้ชิด หลายคนพบเจอกับเรื่องราวลึกลับ และนำมาถ่ายทอด

เรามีทัศนะเรื่องป่าแตกต่าง และเลือกถ่ายทอดออกมาตามทัศนะ

ว่าตามจริง มีเรื่องราวเหล่านี้เกิดขึ้นในป่า หลายเรื่องจริง หลายเรื่องเพี้ยนไปจากความเป็นจริง เรื่องราวเหล่านี้ตื่นเต้น สนุกสนาน น่าติดตาม

นักล่าผู้อยู่บนสุด ผู้ได้รับการออกแบบร่างกาย และมีทักษะในการทำงานอย่างเหมาะสม เช่น เสือ อาจไม่น่าสนใจสักเท่าไหร่ ถ้าพูดถึงพวกมันว่าเป็นสัตว์ที่ใช้ชีวิตไม่ง่าย ล่าสิบครั้งจะพบกับความสำเร็จหนึ่งครั้ง รักสงบ หลีกเลี่ยงการต่อสู้ เพราะบาดแผลเล็กน้อยที่เกิดขึ้น อาจขยายใหญ่กระทั่งเป็นอุปสรรคในการล่า และพวกมันจะมีชีวิตอยู่ได้เพราะการล่าที่ประสบผลสำเร็จเท่านั้น

แต่ความสนใจจะเปลี่ยนไป ถ้าพูดถึงเรื่องเสือกินคน…

 

“เสือในเมืองไทยกินคนไหมครับ” วันแรกที่พบกัน นัสเซอร์ ชายหนุ่มวัยใกล้ 30 ชาวบังกลาเทศถาม เขาเป็นเจ้าหน้าที่ป่าไม้ ทำงานในป่าซุนดาบัน กำลังศึกษาระดับปริญญาโท เป็นลูกทีมของอดัมส์ ซึ่งเป็นลูกศิษย์ ดร.เดฟ สมิธ

ผมพบกับเขา และมีโอกาสทำงานร่วมกันที่สถานีวิจัยสัตว์ป่า เขามาฝึกงานเรื่องเสือโคร่ง

“ตามที่ผมรู้ ไม่เคยนะครับ แต่คงมีบ้างแหละ ไม่เหมือนที่คุณทำงานอยู่ใช่ไหม”

ผมตอบ และถามเขา เพราะรู้ว่าในป่าซุนดาบันนั้น เสือโคร่งทำร้ายและกินคนเป็นเรื่องปกติ

“เฉลี่ยแล้วที่นั่นมีข้อมูลว่า คน โดยเฉพาะชาวประมงถูกเสือทำร้ายเดือนละคนเลยครับ” นัสเซอร์เล่า

“ไม่แค่เสือนะ ในน้ำยังมีจระเข้ตัวโตๆ นั่นก็กินคนอีกเหมือนกัน” นัสเซอร์เล่ายิ้มๆ

ป่าซุนดาบันเป็นลักษณะป่าชายเลน น้ำท่วมถึง มีระดับน้ำขึ้น-ลง

“งูก็เยอะ แถมปลิงด้วย” เขาพูดถึงสภาพป่าที่เขาทำงาน นัสเซอร์หัวเราะเมื่อเห็นสีหน้าตื่นๆ ของผม

“แต่ที่นั่นเป็นที่เดียวในโลกที่คุณจะพบเสือโคร่งเดินตามชายหาดนะครับ” เขาพูดให้ผมอยากไป

 

นัสเซอร์อยู่ในทีมศึกษาเรื่องเสือโคร่ง พวกเขาจับเสือโคร่งสวมปลอกคอติดเครื่องส่งสัญญาณวิทยุเพื่อดูการใช้พื้นที่ของเสือ

“เสือในป่าซุนดาบันใช้พื้นที่ไม่มากเท่าเสือในป่าเมืองไทยครับ เหยื่อหลักๆ คือกวางดาวตัวไม่โตเท่ากวางป่าที่นี่” นัสเซอร์เล่าตรงกับข้อมูลของนักวิจัย เมื่อความหนาแน่นประชากรเหยื่อมีมาก เสือก็ไม่จำเป็นต้องใช้พื้นที่มากๆ

ไม่เพียงมีประชากรเหยื่อมาก ในป่าซุนดาบันมีคนอาศัยอยู่มากเช่นกัน การปะทะระหว่างคนกับเสือ รวมทั้งสัตว์ป่าอื่นๆ เกิดขึ้นเสมอๆ

“สำหรับพวกเรา นี่ไม่ใช่เรื่องผิดปกติหรอกครับ” นัสเซอร์พูดเสียงเรียบ

ดูเหมือนว่า เป็นการอยู่ร่วมกันแบบหนึ่งที่หากพลาดต้องชดใช้ด้วยชีวิต

“โลกที่เริ่มมีการแย่งพื้นที่อาศัย มีความขัดแย้ง การปะทะ ย่อมเลี่ยงไม่พ้นนะครับ” นัสเซอร์พูดจากชีวิตประจำวันของเขา…

 

“ปัญหาเรื่องการล่าสัตว์มีมากไหมครับ” ในแคมป์ข้างกองไฟ ผมคุยกับนัสเซอร์

“มีครับ เรามีปัญหานี้มาก พวกคนล่ากวาง และพวกเขาก็ใช้ยาพิษฆ่าเสือด้วย” ผมนึกถึงเสือโคร่งครอบครัวหนึ่งที่ตายเพราะยาพิษ ร่องรอยซากดิ้นทุรน

“ถ้าคนถูกเสือฆ่า ญาติๆ จะผูกร่างไว้ เอายาพิษใส่ เมื่อเสือมากินเสือก็ตาย”

คนในป่าซุนดาบันโต้ตอบเสือด้วยวิธีนี้ การใช้ยาพิษฆ่าสัตว์ผู้ล่าดูจะแพร่หลายไปทั่วโลก ในป่าแอฟริกาเมื่อสิงโตเข้ามากัดกินสัตว์เลี้ยง เจ้าของสัตว์จะเอายาพิษใส่ไว้เช่นกัน

สัตว์ผู้ล่า คล้ายจะพบกับชะตากรรมเดียวกัน ไม่ว่าจะอยู่ในมุมใดบนโลก…

 

เราค้างแรมอยู่ในป่าหลายวัน ทุกค่ำผมคุยกับนัสเซอร์ข้างกองไฟ

คืนแรมแปดค่ำ ดาวส่องประกายระยิบ อากาศปลายฤดูฝนค่อนข้างเย็น เปลวไฟไหววูบวาบ

“ทำไมเสือที่ซุนดาบันกินคนล่ะครับ” ผมชวนคุย

“ทั้งหมดเป็นเสือแก่ๆ หรือเสือบาดเจ็บเท่านั้นครับ” นัสเซอร์บอกความจริง เช่นเดียวกับเหตุที่เสือกินคนในทุกพื้นที่

“ก่อนผมมาที่นี่ ก็มีเสือโคร่งโดนฆ่าเพราะเข้ามาตะปบคนและกินไปบางส่วน เสือตัวนั้น ตีนหน้าข้างซ้ายเป็นแผลเน่า มันคงล่าสัตว์อย่างอื่นไม่ได้แล้วล่ะ การล่าคนไม่ต้องใช้ทักษะมาก คนไม่ว่องไว” นัสเซอร์เล่า

“และอีกอย่างคนในป่ามีมาก จำนวนไม่น้อยบุกเข้าไปอยู่ในถิ่นที่เสืออยู่” นัสเซอร์ดันฟืนเข้ากองไฟ และพูดต่อ

“อีกนั่นแหละ คนที่เข้าไปอยู่ในเขตของเสือแล้วโดนเสือทำร้าย พวกเขาเข้าใจและยอมรับครับ แต่เขาจะเลือกการแก้แค้นเสือกันเอง โดยใช้ยาพิษนี่แหละ”

การ “เอาคืน” ไม่น่าแปลกใจ

ยิ่งหากโดนบุกรุกถิ่นอาศัย สัตว์ป่าก็คิดไม่ต่างกัน

 

นัสเซอร์อยู่ในป่ากับเรากว่าเดือน เขาเล่าความเป็นไปในป่าซุนดาบัน พูดถึงเสือกินคนด้วยน้ำเสียงปกติ คล้ายเป็นปัญหาหนึ่งที่เกิดขึ้น

“แต่ถ้าที่นั่นไม่มีเสือ ไม่มีจระเข้ ป่านนี้ป่าซุนดาบันไม่มีเหลือหรอกครับ ที่ป่าอยู่ได้จนถึงวันนี้ ไม่ใช่การทำงานของพวกผมอย่างเดียวหรอกครับ”

นัสเซอร์สรุป

 

ดึกมากแล้ว เรายังคุยกันต่อ นกเค้ากู่ส่งเสียงเป็นจังหวะ เสียงช้างร้องไกลๆ

“คุณจะไปเยี่ยมผมที่ซุนดาบันไหม” นัสเซอร์ถาม

“ที่มีเสือ มีจระเข้กินคนนี่นะเหรอ ขอคิดดูก่อนนะ” เราหัวเราะ

“คุณจะเอาเรื่องนี้ไปเขียนไหม” นัสเซอร์ถาม เขารู้ว่าผมทำงานอะไร

“เขียนสิครับ” ผมตอบ

ผมจะเล่าถึงเสือกินคนที่อยู่ในป่าซุนดาบันอย่างเข้าใจ ถึงสาเหตุที่พวกมันทำ ไม่ได้พูดถึงสัตว์ร้าย ผมจะเขียนถึงเสือในแบบที่ผมรู้จัก

เขียนโดยหวังว่า ภาพความเป็นสัตว์ร้ายใน “เสือกินคน” จะลดลง…