อนุสรณ์ ติปยานนท์ : In Books We Trust (26) หนังสือสัญจรของพี่หลวง (3)

 

In Books We Trust (26)

หนังสือสัญจรของพี่หลวง (3)

 

“ชีวิตที่แท้จริงนั้นคือการใช้ชีวิตร่วมกับการเปลี่ยนแปลงที่บังเกิดขึ้น แม้ว่ามันจะเป็นเพียงสิ่งเล็กน้อยก็ตาม”

ลีโอ ตอลสตอย

 

การกลับบ้านสำหรับใครบางคนอาจเป็นเพียงแค่การตั้งหลักก่อนที่จะเดินทางไกลต่อไป

แม้ว่าในยามแรกการกลับบ้านอาจดูเป็นเป้าหมายสุดท้าย แต่แน่นอนสิ่งที่คิดฝันกับความเป็นจริงไม่ได้เป็นเนื้อเดียวกันเสมอไป

การพยายามกลับบ้านเกิดที่จังหวัดชุมพรของพี่หลวงด้วยแรงบันดาลใจจากภาพยนตร์เรื่อง “บุญชู” ไม่ได้ราบรื่นดังที่คิด

เพียงระยะเวลาราวหนึ่งปีเกือบสองปีชีวิตของพี่หลวงก็สัญจรอีกครั้งหนึ่ง

“พี่หลวงเปิดร้านขายนิตยสาร ร้านหนังสือพิมพ์อย่างเดียวไหมในตอนนั้น?”

“ตอนแรกเปิดอย่างเดียว แต่พอช่วงสายจนถึงเย็นหลังจากเราไปส่งหนังสือพิมพ์แล้ว เราก็ว่าง โดยเฉพาะช่วงกลางสัปดาห์ แทบไม่มีคนเข้าร้าน เราก็คิดว่าทำอะไรดีที่จะมีรายได้อีกทาง ก็เลยตัดสินไปรับของเล่นมาขายช่วงเย็นที่หน้าโรงเรียนปากน้ำชุมพร ก็ปิดร้านช่วงเย็นไปขายของหน้าโรงเรียนควบคู่กันไป”

“พออยู่ได้ไหมครับ?”

“พออยู่ได้ แต่ว่าคนที่เขาอยู่มาก่อนเขาก็ไม่พอใจ เหมือนเรามาแย่งตลาด แย่งช่องทางทำกินของเขา”

“การที่เราพิการนี่เขาไม่เห็นใจหรือ?”

“ไม่นะ เขาก็ไม่รู้สึกอะไร และถ้าถามความรู้สึกส่วนตัวพี่หลวง ตัวเราเองก็ไม่อยากให้ใครมองเราเป็นคนพิการด้วย พี่หลวงเคยเจอคนพิการคนหนึ่ง เขาพูดกับพี่หลวงดีมากว่า ‘เราไม่ควรเอาข้ออ้างเรื่องความพิการของเรามาใช้ในการทำอะไรหรือจะไม่ทำอะไร’ ซึ่งพี่หลวงชอบมาก อีกอย่างพี่หลวงไม่เคยมองตนเองเป็นคนพิการ ซึ่งก็เลยทำให้เราเหมือนคนอยู่ตรงกลาง สำหรับคนพิการเราคิดว่าเราเป็นคนปกติ แต่พอเราเจอคนปกติเขาก็มองว่าเราเป็นคนพิการ”

“มันมีความย้อนแย้งแบบนี้ที่ทำให้พี่หลวงเหมือนไม่เข้ากลุ่มเข้าพวกกับใครเลย”

 

“พี่หลวงแก้ปัญหาความไม่พอใจของคนที่ค้าขายมาก่อนเราอย่างไรครับ?”

“พี่หลวงไม่ได้แก้ ก็ทำตัวตามปกติ พูดคุยกับเด็กแบบสุภาพ ขายบ้างแถมบ้าง เด็กๆ ก็ชอบร้านเรานะ แต่ว่าในที่สุดก็อยู่ได้ไม่นาน แต่ไม่ใช่มาจากปัญหาเรื่องค้าขาย เป็นเรื่องจากคำพูดของแม่ คือแม่บอกว่าเราเรียนหนังสือมาตั้งเยอะ น่าจะหางานทำที่มันดีกว่านี้ เหมาะสมกว่านี้ คือเขามองว่าเราเรียนจนจบปริญญาตรี มหาวิทยาลัยก็ดี เคยเป็นพระมีคนกราบไหว้ มาขับรถส่งหนังสือพิมพ์ มาขายของให้เด็กแบบนี้มันดูเสียเปล่าทางการศึกษามาก น่าจะไปทำงานในสำนักงาน ไปใช้ภาษา ไปใช้ความสามารถที่ดีกว่านี้ได้”

“แล้วพี่หลวงเอากลับมาคิดไหม?”

“กลับมาคิด คือต้องบอกว่าส่วนหนึ่งเราเป็นคนที่ออกจากบ้านตั้งแต่เด็ก อย่างที่เล่าว่าพออายุสิบเอ็ดขวบก็บวชเณรออกจากบ้านแล้ว และเราเข้าไปอยู่ในกรุงเทพฯ อีกหลายสิบปี ดังนั้น พอกลับมาอยู่บ้านจริงๆ ถึงเราจะคิดถึงบ้าน คิดถึงแม่ พี่หลวงก็ยังรู้สึกเหมือนเป็นคนแปลกหน้าอยู่ดี พอเราทบทวนเลยอดคิดไม่ได้ว่าตอนตัดสินใจกลับมาครั้งนั้นพี่หลวงอาจตัดสินใจเร็วไป จริงๆ กรุงเทพฯ อาจเหมาะกับเรามากกว่า”

“ก็กลับกรุงเทพฯ รวมเวลาที่พี่หลวงกลับไปอยู่ที่ชุมพรกี่ปี?”

“ปีปลายๆ เกือบสองปี”

“กลับมากรุงเทพฯ แล้วมาเปิดร้านขายหนังสือที่ท่าช้างเลยไหม?”

“ยัง พี่หลวงกลับมาแบบเคว้งคว้าง ไปตั้งหลักอีกครั้งที่วัดทองศาลางาม มีพระรุ่นพี่ท่านบวชอยู่ที่นั่นก็ไปขออาศัยท่านอยู่ก่อน และเริ่มต้นมองหางาน โชคดีว่ากลับมาครานี้กฎหมายที่เกี่ยวกับผู้พิการเขามีการปรับปรุงแล้ว งานจำนวนมากอนุญาตให้คนพิการทำได้ถ้าไม่เป็นอันตรายต่อบุคคลอื่น พี่หลวงก็สมัครงานไปหลายที่ ทั้งในกรุงเทพฯ ต่างจังหวัด ไปจนถึงพัทยา ไปได้งานที่นั่น คือมีมูลนิธิมหาไถ่ที่เขาดูแลเด็กกำพร้า พี่หลวงไปเยี่ยมอดีตเณรคนหนึ่งที่เขาไปอยู่ที่นั่น ก็เลยไปสมัครงาน ปรากฏว่าเขารับ เขาให้ตำแหน่ง Time Keeper เรา”

“มันคือ?”

“ฟังดูแปลกใช่ไหม จริงๆ คือทำหน้าที่เฝ้าเครื่องตอกบัตร คอยดูไม่ให้พนักงานมาตอกบัตรแทนกัน คอยดูไม่ให้คนมาสายแอบวานเพื่อนตอกบัตรแทนประมาณนั้น ตอนพี่หลวงฟังชื่อตำแหน่งนี่ก็น่าสนใจ แต่พอเขาอธิบายก็อ๋อแบบนี้เอง”

“ทำอยู่นานไหมครับที่นั่น?”

“ไม่ได้ทำเลย นี่ชีวิตคงไม่อยากให้พี่หลวงนั่งคุยกับเครื่องตอกบัตร คือหลังจากได้งานก็ขอเขากลับมาเก็บของที่กรุงเทพฯ พอกลับมาที่วัดทองศาลางาม ปรากฏว่ามีจดหมายเรียกสัมภาษณ์จากสำนักพิมพ์ใหญ่สำนักพิมพ์หนึ่ง เราก็ไปสัมภาษณ์ เขากำลังจะตั้ง Call Center คือสำนักพิมพ์เขามีหลายแผนก ทั้งงานแปล งานเขียน นิตยสาร ฝ่ายขาย โรงพิมพ์ เขาเลยคิดว่าควรมีกลุ่มคนตรงกลางที่คอยรับสายแทนแผนกต่างๆ การที่เราเคยทำงานเป็นโอเปอเรเตอร์ในบริษัทขายบัตรโดยสารเครื่องบินทำให้พี่หลวงได้งานที่นั่น ก็ไม่ได้ไปพัทยา มาทำงานที่นี่แทน”

 

“การได้กลับมาทำงานกับสำนักพิมพ์ทำให้พี่หลวงมีความคิดอยากกลับมาเขียนหนังสือ เขียนบทกวีอีกครั้งไหม?”

“อันนั้นไม่ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือทำให้พี่หลวงกลับมาอ่านหนังสือแบบจริงจังอีกครั้ง คือไม่นับว่าที่นี่เขามีห้องสมุดให้พนักงานได้ยืม ได้อ่านแล้ว หนังสือใหม่ๆ เขาก็ออกทุกสัปดาห์ พี่หลวงมีหน้าที่ที่ Call Center ก็จริง แต่พอตอนกลางวันพี่หลวงก็จัดเสียงตามสายด้วย พี่หลวงจะเอาหนังสือของสำนักพิมพ์เล่มใหม่ๆ ที่พี่หลวงอ่านจบแล้วมาเล่า มาแนะนำให้ฟัง บางเล่มพี่หลวงชอบมากก็จะซื้อเก็บเลยในราคาของพนักงาน พอเริ่มเก็บหนังสืออีกครั้งก็กลายเป็นนิสัย ว่างเสาร์-อาทิตย์พี่หลวงก็จะไปเดินตลาดหนังสือจตุจักร ตลาดหนังสือเก่าคลองถม ซื้อหนังสือมาเก็บตลอด ไม่นับว่าเลิกงานก็มาเดินตลาดแถวริมคลองหลอดอีก คือกลายเป็นคนเก็บหนังสือไปโดยปริยาย”

“ตอนนั้นย้ายออกจากวัดทองศาลางามแล้ว?”

“ย้ายแล้ว พี่หลวงมาเช่าบ้านอยู่ในซอยวัดชัยพฤกษ์ แต่เป็นบ้านเช่า ตรงนี้เองที่เริ่มเห็นว่าเราน่าจะเอาหนังสือที่เก็บออกมาขายบ้างจะได้เป็นทุนไปซื้อเล่มใหม่ ก็เลยตัดสินใจเปิดแผงหนังสือที่ท่าช้าง”

“ตอนนั้นก็ยังทำงานที่สำนักพิมพ์อยู่?”

“ยังทำครับ พี่หลวงทำที่นั่นราวห้าถึงหกปี แต่เปิดร้านช่วงปีที่สอง วิธีเปิดร้านก็คือพี่หลวงจะตื่นตั้งแต่ตีห้า มาขายหนังสือที่แผงตั้งแต่หกโมง จนถึงเกือบแปดโมงก็จะกลับไปทำงาน เลิกงานราวห้าโมง พี่หลวงก็จะกลับมาขายอีก คือสนามหลวง ท่าช้าง นี่มีคนเดินไปเดินมาถึงสองทุ่ม ช่วงเช้าคนซื้อก็จะเป็นพวกข้าราชการแถวนั้น ซื้อก่อนเข้าไปทำงาน ช่วงเย็นก็เป็นพวกนักศึกษา คนทำงานออฟฟิศ วันเสาร์ วันอาทิตย์นั้นพี่หลวงมาขายเต็มวันตั้งแต่เช้าจรดเย็นเลย”

“ทำไมเลือกท่าช้าง พี่หลวงมาสำรวจก่อนไหมว่าตรงนี้น่าจะขายหนังสือได้ดี”

“ไม่ได้สำรวจ พี่หลวงรักแถวนี้ อย่างที่เล่า พี่หลวงเคยบวชอยู่ที่วัดมหาธาตุ การได้กลับมาอยู่ใกล้ๆ สถานที่ที่ชุบเลี้ยงเรามามันทำให้อุ่นใจ มันเหมือนได้ใกล้บ้านอีกบ้านหนึ่ง อีกอย่างพี่หลวงรู้สึกว่าเขตเกาะรัตนโกสินทร์มันคือพื้นที่ประวัติศาสตร์ เป็นพื้นที่ที่มีเสน่ห์ มีความทรงจำมากมาย ก็อยากจะอยู่บริเวณแถวนี้”

“ร้านหนังสือท่าช้างของพี่หลวงนี่ตั้งอยู่กี่ปีครับ?”

“ยี่สิบปี พี่หลวงย้ายตอนปี 2559 หลังการสวรรคตของในหลวงรัชกาลที่เก้า คือทาง กทม.เขาต้องปรับปรุงพื้นที่ อันนี้พี่หลวงเข้าใจ เขาก็จัดประชุมบอกมีที่ใหม่ให้เรา พี่หลวงก็ไปดูตามที่เขาว่า ไปไกลถึงโชคชัยสี่ก็ไป แต่มันไม่เหมาะ ไม่มีชีวิตเลย เราก็ตัดสินใจว่าเอาในเขตเกาะรัตนโกสินทร์นี่แหละ ลองดูอีกที ในที่สุดมาได้ริมทางในตรอกสาเก ตั้งเป็นรถเข็น วางหนังสือขายริมทางอีกครั้งหนึ่ง”