คนของโลก : หลิว เสี่ยว ปอ เจ้าของรางวัลโนเบลผู้ไร้อิสรภาพ

ขณะที่ “หลิว เสี่ยว ปอ” กำลังเผชิญกับคำตัดสินความผิดครั้งสุดท้าย นักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยชาวจีนผู้นี้ใช้ปลายปากกาสื่อสารผ่านแถลงการณ์ บอกถึงความรักที่มีต่อภรรยา “หลิว เสีย” และบอกกับรัฐบาลจีนว่า “ผมไม่มีศัตรู”

ทว่า รัฐบาลนำโดยพรรคคอมมิวนิสต์จีนไม่คล้อยตามกับแถลงการณ์อันแสดงความเป็นมิตรของนักเขียนที่เป็น “หนามยอกอก” กับภาครัฐมาโดยตลอด

ในที่สุดเมื่อวันคริสต์มาส ปี 2009 ศาลตัดสินให้ “หลิว” มีความผิดฐาน “บ่อนทำลาย” ต้องรับโทษจำคุก 11 ปี

คำตัดสินดังกล่าวส่งผลให้เกิดเสียงประณามอื้ออึงจากประชาคมโลก

และเปลี่ยน “หลิว” ให้กลายเป็นสัญลักษณ์ของ “ความไร้ซึ่งความอดกลั้นของรัฐบาลคอมมิวนิสต์จีน”

จนกระทั่งวันสุดท้ายของชีวิตนักเคลื่อนไหววัย 61 ปี เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคมที่ผ่านมา

 

หลิวได้รับ “รางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ” 1 ปีหลังถูกตัดสินจำคุก นั่นถูกมองว่าเป็นต้นเหตุที่สร้างความไม่พอใจให้กับรัฐบาลจีนซึ่งยังคงควบคุมตัว “หลิว” เอาไว้แม้ว่าเขาจะได้รับการวินิจฉัยว่าป่วยเป็น “มะเร็งตับ” เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา จนต้องถูกส่งไปรักษาตัวที่โรงพยาบาล

ที่งานประกาศผลรางวัลโนเบลสาขาที่เป็นที่จับตามองมากที่สุดในโลก เมื่อปี 2010 แถลงการณ์ของ “หลิว” ในชื่อ “ผมไม่มีศัตรู : แถลงการณ์สุดท้ายของผม” ถูกอ่านต่อหน้าเก้าอี้ที่ว่างเปล่าซึ่งเป็นตัวแทนของหลิวในพิธีมอบรางวัลที่กรุงออสโล ประเทศนอร์เวย์

ใจความตอนหนึ่งระบุว่า แม้รัฐบาลจะยึดอิสรภาพไปจากตน แต่เขาก็หวังที่จะ “ตอบโต้ความเป็นปฏิปักษ์ของรัฐบาลด้วยความเป็นมิตรอย่างสูงสุด และขจัดความเกลียดชังด้วยความรัก”

หลิวเขียนถึง “หลิว เสีย” ภรรยาที่ถูกกักบริเวณที่บ้านพักด้วย โดยระบุว่า “แม้ผมจะถูกบดขยี้เป็นผุยผง ผมจะยังคงใช้เถ้าถ่านของผมโอบกอดคุณ”

“หลิว เสี่ยว ปอ” นับเป็นชาวจีนคนแรกที่ได้รับรางวัลโนเบลสันติภาพ และเป็น 1 ใน 3 คนที่ได้รับรางวัลระหว่างถูกคุมขัง และล่าสุดกลายเป็น 1 ใน 2 เจ้าของรางวัลโนเบลที่เสียชีวิตระหว่างถูกควบคุมตัว

 

หลิวถูกจับกุมเมื่อปี 2008 หลังร่วมร่างคำร้องที่เรียกขานกันว่า “มาตรา 08” คำร้องที่ถูกส่งแพร่กระจายในโลกออนไลน์เป็นวงกว้างเรียกร้องให้รัฐบาลปฏิรูปการเมืองใหม่

คำร้องซึ่งมีผู้ร่วมลงชื่อกว่า 10,000 คนเรียกร้องให้มีการ “คุ้มครองสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน” และ “ปฏิรูประบบการเมืองแบบพรรคเดียวของจีน” นอกจากนี้ “มาตรา 08” ยังเรียกร้องให้ยกเลิกการกำหนดให้ข้อหา “บ่อนทำลาย” เป็นคดีอาญา

“เราควรทำให้มีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น มีเสรีภาพสื่อ และเสรีภาพทางการศึกษา ด้วยการยืนยันให้แน่ใจว่าประชาชนจะได้รับการบอกกล่าวและสามารถใช้สิทธิในการตรวจสอบทางการเมืองได้” แถลงการณ์ของหลิวระบุ

และว่า “เราต้องยุติการมองคำพูดเป็นอาชญากรรม”

“หลิว เสี่ยว ปอ” เป็นที่รู้จักจากความพยายามในการเป็นตัวกลางเจรจาเพื่อให้นักศึกษาผู้ร่วมชุมนุมต่อต้านรัฐบาลใน “จัตุรัสเทียนอันเหมิน” หลายพันคน ออกจากพื้นที่ได้อย่างปลอดภัยระหว่างการสลายการชุมนุมของรัฐบาลในช่วงคืนวันที่ 3-4 มิถุนายน ปี 1989

“หลิว” ถูกจับกุมในทันทีหลังการสลายการชุมนุมที่กินเวลายาวนาน 6 สัปดาห์ลง ฐานมีส่วนร่วมชุมนุม

อย่างไรก็ตาม หลิวถูกปล่อยตัวโดยไม่ได้ถูกตั้งข้อกล่าวหาในปี 1991

 

ชายผู้มีอุดมการณ์อันร้อนแรงถูกจับกุมตัวอีกครั้งและต้องรับโทษ เข้ารับการศึกษาผ่านการใช้แรงงาน ในค่ายแรงงานระหว่างปี 1996-1999 ในข้อหาพยายามเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวนักศึกษาที่ถูกจำคุกจากการชุมนุม และต่อต้านคำตัดสินที่ระบุว่านักศึกษากลุ่มดังกล่าวเป็น “กบฏผู้ต่อต้านการปฏิวัติ”

“หลิว” ให้สัมภาษณ์ไว้เมื่อปี 2008 ไม่กี่วันก่อนหน้าที่จะถูกจับกุมครั้งล่าสุด พูดถึงการถูกจับตามองจากเจ้าหน้าที่ตำรวจในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

และระบุถึงประสบการณ์ชีวิตในค่ายแรงงานช่วงเวลา 3 ปีว่า “ที่ใดที่คุณสามารถเห็นระบบการศึกษาผ่านการใช้แรงงาน ที่นั้นก็คือที่ซึ่งมีความป่าเถื่อน…เสรีภาพของคุณหมดสิ้นไปในเวลาไม่กี่นาทีโดยไม่ต้องผ่านกระบวนการไต่สวนใดๆ”

“หลิว เสี่ยว ปอ” จบการศึกษาในระดับปริญญาเอกด้านวรรณกรรมจีน เคยเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัย “ปักกิ่งนอร์มอล” แต่ต้องถูกห้ามสอนเนื่องจากเขามีส่วนเกี่ยวข้องกับการชุมนุมที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน

ในฐานะผู้นำสมาชิกกลุ่มสมาคมนักเขียนอย่าง “อินดิเพนเดนซ์ไชนีสเพนเซ็นเตอร์” หลิวยังคงมีสัมพันธ์อันดีกับนักเขียนและปัญญาชนคนสำคัญของจีนหลายต่อหลายคน โดยก่อนหน้าถูกจับกุม “หลิว” ได้รับโอกาสให้เข้าร่วมกิจกรรมของบรรดานักเขียนอย่างอิสระเป็นส่วนใหญ่ แม้จะถูกจับตามองจากเจ้าหน้าที่อย่างต่อเนื่องก็ตาม

แม้หลิวจะถูกห้ามไม่ให้ตีพิมพ์ผลงานในประเทศจีน ทว่า งานของหลิวหลายชิ้นที่เกี่ยวข้องกับประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนก็ได้รับการเผยแพร่ในฮ่องกงและสำนักพิมพ์จีนในต่างประเทศด้วย ซึ่งงานเหล่านี้ก็ถูกนำมาใช้เป็นหลักฐานในการไต่สวนในข้อหาล่าสุดที่ส่งผลให้เขาต้องไร้อิสรภาพจนลมหายใจสุดท้าย

ข้อความในแถลงการณ์ เมื่อปี 2009 หลิวยังคงมองอย่างมีความหวังถึง “อนาคตที่เสรีของจีน เวลาที่ไม่มีใครสามารถหยุดยั้งการตั้งคำถามของมนุษย์ที่มีต่อเสรีภาพได้อีกต่อไป”

ทว่า นั่นยังไม่เกิดขึ้นจริงในเวลานี้