มุกดา สุวรรณชาติ ใครๆ ก็ร้องหาความยุติธรรม ทั้งศาล…นายกฯ…ชาวบ้าน

มุกดา สุวรรณชาติ

ความความยุติธรรม หายไปไหน?

ในสภาพปกติธรรมดาของสังคม เราจะพบว่าชาวบ้านมักจะมาเรียกร้องความเป็นธรรมจากหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องกับปัญหาของตนเอง ถ้ารู้สึกว่ายังไม่ได้รับความเป็นธรรมหรือไม่พอใจ บางทีก็ต้องมาร้องเรียนถึงทำเนียบรัฐบาล ร้องต่อนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นผู้บริหารประเทศ

สุดท้าย ก็ต้องไปยุติที่ศาล เราจึงเรียกว่าศาลยุติธรรม คนทั่วไปจึงตั้งความหวังว่า เมื่อถึงศาล จะต้องยุติอย่างเป็นธรรม

และในช่วง 10 ปีหลังก็มีองค์กรอิสระขึ้นมาทำหน้าที่เกี่ยวกับด้านยุติธรรมขึ้นอีกหลายองค์กร เช่น ป.ป.ช, กกต, กสม. ฯลฯ แต่ดูเหมือนว่าเรื่องการไม่ได้รับความเป็นธรรมจะยิ่งมีมากขึ้น กระจายไปมากขึ้น เกิดขึ้นในทุกวงการ

และเราก็ได้เห็นนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ร้องขอความยุติธรรมหลังจากถูกรัฐประหาร 2549 นายกฯ สมัคร สุนทรเวช ร้องขอความยุติธรรมจากศาลในการพิจารณาคดีและโดนปลดจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเพราะสอนทำกับข้าวทางโทรทัศน์

พรรคการเมืองร้องขอความยุติธรรมธรรมกรณีที่ต้องถูกยุบพรรคทั้งที่คนส่วนใหญ่ภายในพรรคไม่ได้ทำความผิดอะไรเลย

นายกฯ ยิ่งลักษณ์ ก็ร้องขอความยุติธรรมในกรณีที่ถูกดำเนินคดีตามนโยบายจำนำข้าวและจะถูกยึดทรัพย์โดยที่คดียังไม่ได้ตัดสิน

จากนั้นเราก็เห็นองค์กรอิสระ เช่น กกต. และ กสม. ร้องขอความยุติธรรมธรรมในกรณีที่จะถูก set zero ให้ออกไปทั้งคณะกรรมการ

เหตุการณ์ล่าสุด ถือว่าถึงที่สุดของการร้องขอความยุติธรรมแล้ว เพราะประธานศาลอุทธรณ์ซึ่งมีตำแหน่งเกือบสูงสุด เป็นรองก็เพียงจากประธานศาลฎีกา ได้ร้องขอความยุติธรรม ตามปกติด้วยอำนาจหน้าที่และช่วงชั้นทางสังคมมีแต่ชาวบ้านต้องไปร้องขอความเป็นธรรมต่อศาลยุติธรรม

ถ้าวันนี้ทั้งศาล ซึ่งเป็นห่วงโซ่บนสุดของความยุติธรรม นายกฯ ซึ่งอยู่บนสุดของผู้บริหารประเทศ องค์กรอิสระซึ่งมีอำนาจหน้าที่ดูแลความถูกต้อง ต้องมาร้องขอความยุติธรรม

แล้วชาวบ้านธรรมดาจะไปร้องขอความยุติธรรมจากใคร?

 

กฎหมายต้องเป็นกฎหมาย…
หรือกฎหมายปรับปรุงแก้ไขได้
กฎหมายคือความยุติธรรมหรือ?

หลายคนสะใจกับการบังคับใช้กฎหมาย หรือบางคนไม่เคยสนใจกับปัญหานี้ เพราะไม่ได้เกิดปัญหากับพวกตน

แต่วันนี้ ผลกระทบได้กระจายกว้างออกมา และเมื่อเดือดร้อน คนส่วนใหญ่ก็ออกมาโวยวายเรียกร้องความเป็นธรรม และต่อสู้เพื่อยุติธรรม

ดูอย่างกฎหมายห้ามนั่งท้ายรถกระบะ กฎหมายที่ออกมาแบบไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง ก็ไม่สามารถบังคับใช้ได้

พ.ร.ก. แรงงานต่างด้าว…ก็ต้องมีการผ่อนปรน

กฎหมายการใช้ที่ดิน ส.ป.ก. ก็มี ม.44 ออกมายกเว้น ว่าให้ทำธุรกิจเกี่ยวกับพลังงานและเหมืองแร่ได้

แสดงว่าจริงๆ แล้วกฎหมายต้องปรับตามสถานการณ์ หรืออาจตามความต้องการของผู้ออกกฎหมาย

คำถามของสังคมวันนี้คือ ความยุติธรรมมีจริงหรือไม่?

นำมาใช้ได้หรือไม่ หรือเป็นเรื่องเลื่อนลอยคนสมมุติขึ้นมาเอง ถ้ามี มีมาตรฐานหรือไม่?

แต่ที่ดูจากสภาพสังคมที่เป็นจริงวันนี้ ข้อวิจารณ์ที่ว่าความเป็นธรรมหรือความยุติธรรมไม่มีมาตรฐาน น่าจะเป็นเรื่องที่เป็นจริงมากกว่า และคำพูดนี้กำลังรอการพิสูจน์

มีการเปรียบเทียบคดีต่างๆ เช่น คดีสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯ ซึ่งมีผู้เสียชีวิต 2 คน และการสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงในเดือนเมษายนและพฤษภาคม 2553 ซึ่งมีผู้เสียชีวิต 99 คน

หรือคดีที่มีผู้อยู่ในที่เกิดเหตุซึ่งเกิดการเผาหรือมีไฟไหม้สถานที่ราชการและถูกลงโทษให้จำคุก คดีที่มีผู้ใช้อาวุธสงครามยิงไปในที่สาธารณะแต่ก็ได้รับการยกฟ้องไปแล้ว

ถ้าไม่พูดถึงความถูกผิดของคดี แต่แค่สิทธิการประกันตัวชั่วคราวก็ไม่สามารถทำได้เสมอกัน

วันนี้ยังมีการเปรียบเทียบคดีต่างๆ ที่มองเห็นความไม่มาตรฐาน การไม่บังคับใช้กฎหมายอย่างเสมอภาคกัน

บางคดีผู้ต้องหาไม่ได้ถูกจับกุมคุมขัง หรือได้ประกัน แต่บางคดีติดคุกจนถูกตัดสินว่าไม่ผิด

บางคดีถูกยืดมานานหลายปีโดยยังไม่มีการสั่งฟ้อง บางคดีเรื่องดำเนินการอย่างรวดเร็วจนผิดปกติ

ถ้าจะยกตัวอย่างคดีต่างๆ ซึ่งทั้งตัดสินและยังไม่ตัดสินที่คนยังข้องใจต่อความยุติธรรมจะมีมากมายบรรยายไม่จบ

แต่ถ้ามองว่าความยุติธรรม ความเป็นธรรมเป็นสิ่งที่จับต้องได้หรือเป็นพลังงานที่ใช้ขับเคลื่อนทางสังคมได้ พลังงานเหล่านี้น่าจะถูกบางฝ่ายบางพวกสามารถเก็บสะสมและนำไปใช้แบบไม่ทั่วถึง ไม่เท่าเทียมกันในสังคม ผู้ที่มีความสามารถใช้พลังงานที่เกี่ยวข้องกับความเป็นธรรม ความยุติธรรมมีตั้งแต่เจ้าหน้าที่รัฐชั้นล่าง เจ้าหน้าที่ระดับกลาง ระดับบริหาร องค์กรที่เกี่ยวกับความยุติธรรม ทั้งตำรวจ อัยการ ศาล องค์กรอิสระ ชาวบ้านธรรมดามีโอกาสควบคุมปัจจัยที่เกี่ยวกับความยุติธรรมน้อยมาก

กฎหมายต้องร่างอย่างเป็นธรรมและสอดคล้องกับสภาพสังคม ต้องถูกใช้โดยผู้มีคุณธรรมจึงจะให้ความยุติธรรมแก่สังคมได้

 

การเอียงทางกฎหมาย

อํานาจเกี่ยวกับความยุติธรรมและความเป็นธรรมเป็นพลังงานที่มองเห็นได้ เหมือนเปลวไฟ วัดได้ด้วยสายตา เหมือนตาชั่งโบราณถ้าหากไปลดข้างหนึ่ง หรือไปเพิ่มให้อีกข้างหนึ่ง และมันจะเกิดสิ่งที่เราเรียกว่า อาการเอียง แม้ชาวบ้านก็มองเห็น

การเอียงนี้ไม่ว่าจะเอียงเพื่องานใหญ่หรืองานเล็ก ถ้าปล่อยให้เอียงมากๆ ก็จะเกิดอาการได้ใจ มีการกระทำปฏิบัติการที่ลุกลามขยายออกไป สุดท้ายจะล้ม…พังกันหมด

กรณีศึกษาที่น่าสนใจ คือการเริ่มจาก…คดีจำนำข้าวของรัฐบาลนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ตามด้วย พ.ร.บ.ว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่รัฐ และล่าสุดคือ…ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ให้ กรธ. ประกอบการพิจารณาจัดทำกฎหมายลูก ซึ่งมีเนื้อหาสำคัญ

นอกจากให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตัดสินแล้ว ยังบัญญัติให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองยุติการปฏิบัติหน้าที่ทันที หากศาลรับฟ้อง

เมื่อศาลรับฟ้องแล้วห้ามไม่ให้ศาลอนุญาตให้ถอนฟ้อง

การไม่นับอายุความหากจำเลยหรือผู้ถูกกล่าวหาหลบหนีคดี

การอุทธรณ์คำพิพากษา ให้ดำเนินการได้ภายใน 30 วันนับแต่มีคำพิพากษา แต่จะอุทธรณ์ได้ต่อเมื่อจำเลยมาแสดงตนต่อเจ้าพนักงานของศาลเท่านั้น มิเช่นนั้นศาลจะไม่รับอุทธรณ์

เรื่องกฎหมายลูกนี้ยังถกเถียงกัน เช่น

…การใช้ศาลเดียวตัดสิน ไม่เหมาะสม เพราะการพิจารณาคดีโดยใช้ระบบไต่สวน โดยศาลเป็นผู้พิจารณากำหนดการไต่สวนพยานหลักฐาน ระยะเวลา และการซักถามพยาน โดยยึดสำนวนของ ป.ป.ช. เป็นหลัก ทำให้จำเลยสูญเสียสิทธิและโอกาสต่อสู้คดี ถ้าไม่เปิดโอกาสให้อุทธรณ์คดีได้ จึงเป็นการละเมิดต่อสิทธิของจำเลยในคดีอาญาอย่างชัดเจน

…กฎหมายนี้ควรรวมถึงข้าราชการประจำด้วย เพราะเรื่องทุจริตต้องแก้ทั้งระบบฝ่ายการเมือง ฝ่ายข้าราชการประจำ ฝ่ายองค์กรอิสระ ต้องทำให้เหมือนกัน

ซึ่งเรื่องนี้ก็มีผู้เสนอความเห็นว่าผู้ที่ทุจริตส่วนที่เป็นข้าราชการการเมืองมีจำนวนไม่มากนัก และการทุจริตนั้นจะมีข้าราชการประจำร่วมอยู่ด้วยทุกครั้ง และการทุจริตขนาดกลาง ขนาดย่อม บางทีราชการการเมืองก็ไม่ได้มีส่วนมาร่วมด้วย

ดังนั้น ถ้าจะออกกฎหมายให้มีผลต่อการควบคุมการทุจริตประพฤติมิชอบก็จะต้องครอบคลุมทั้งข้าราชการประจำและข้าราชการการเมือง

ฯลฯ

 

ดาบสองคม คืนสนองได้ทุกฝ่าย

เราจะเห็นคดีต่างๆ ในอนาคตโผล่ขึ้นมาจากอดีตอย่างมากมาย เมื่อไม่มีการกำหนดอายุความ ถึงยุคที่มีรัฐบาลที่โปร่งใส เมื่อมีผู้มาเรียกร้องความยุติธรรม ก็สามารถย้อนหลังไปในอดีต ทั้งการจัดซื้อจัดจ้างการก่อสร้างโครงการใหญ่ โครงการเล็ก การดำเนินการจับกุมฟ้องร้องของตำรวจ อัยการ การตัดสินคดีของศาลต่างๆ การดำเนินงานขององค์กรอิสระต่างๆ

มาตรการคุ้มครองที่เป็นกฎหมายพิเศษหรือการนิรโทษกรรม หลายเรื่องจะถูกยกเลิก เพราะกฎหมายพิเศษเหล่านั้นจะต้องทำบนพื้นฐานของความถูกต้อง ถ้าใช้ความพิเศษต่างๆ ไปทำผิด ทำทุจริตย่อมต้องถูกยกเลิกการคุ้มครองเหล่านั้นได้ และเมื่อถึงเวลานั้นกฎหมายธรรมดาจะล้วงลูกลงไปดำเนินคดีกับผู้ทำความผิดต่างๆ

ผู้ที่อยู่ในวงราชการมานานมีความเห็นว่าถ้าจะนำเรื่องทุจริตย้อนหลังในทุกวงการสามารถทำได้เพราะในช่วงหลังที่มีการบันทึกเอกสารในรูปคอมพิวเตอร์ รายละเอียดของการดำเนินงานต่างๆ รายละเอียดผลการจับกุมการดำเนินคดีทุกขั้นตอนตั้งแต่ตำรวจ อัยการ จนถึงศาล มีบันทึกเกือบทุกเรื่อง ทุกขั้นตอน

ดังนั้น ถ้ามีผู้ร้องเรียนขึ้นมาในอนาคตให้ทบทวนหรือหาผู้กระทำผิดในอดีตย่อมจะเป็นการชำระสะสางความยุติธรรมที่หายไปในบางช่วงเวลา เป็นการทวงความยุติธรรมให้กลับคืนสู่ความสมดุล บางทีอาจจะมีการยึดทรัพย์คืนให้กับแผ่นดินอีกจำนวนมากมายมหาศาล

การพิจารณาคดีที่เกี่ยวกับนักการเมือง การทุจริตด้วยการใช้กฎหมายเดิมและมาตรการพิเศษต่างๆ บางคนเรียกว่าอภินิหารทางกฎหมายหรือกฎหมายใหม่ที่จะออกมาล้วนแล้วแต่เป็นดาบสองคมสามารถใช้เชือดเฉือนใครก็ได้ ดังนั้น ในอนาคตดาบนั้นจะคืนสนอง

 

การฉวยโอกาสเอียงเพื่อผลประโยชน์

การเอียงบางครั้งก็มิใช่เพื่อทำลายฝ่ายตรงข้ามหรือเพื่ออำนาจ แต่มีผู้ฉวยโอกาสจากสถานการณ์หาประโยชน์การเอียงแบบนี้เกิดขึ้นมาตลอด

การขายข้าวได้ราคาต่ำที่อ้างว่าข้าวเสื่อมคุณภาพต้องนำไปเป็นอาหารสัตว์หรือเป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรม แต่ขณะนี้มีคนมาฟ้องว่าข้าวนั้นเป็นข้าวดี สามารถขายได้ในราคาสูงกว่า

แบบนี้ก็แสดงว่ามีผู้ได้ประโยชน์จากการขายข้าวราคาต่ำ สามารถนำไปทำกำไรต่อได้

กรณีการดำเนินคดีโครงการรับจำนำข้าวตามนโยบายรัฐบาลนายกฯ ยิ่งลักษณ์ จะเป็นตัวอย่างที่ลงรายละเอียดให้เห็นซึ่งปัญหานโยบายการปฏิบัติการดำเนินคดีและการสู้คดี และจะเป็นตัวอย่างเป็นบรรทัดฐานเพื่อใช้ในการดำเนินคดีในอนาคตซึ่งจะมีขึ้นแน่นอนเพราะกฎหมายฉบับใหม่ได้กำหนดว่าไม่มีอายุความ

ดังนั้น คดีขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ขนาดเล็ก ไม่ว่าซื้อขายอะไรก็จะถูกนำขึ้นมาพิจารณาลงโทษได้ทั้งสิ้น

(ต่อฉบับหน้า)