ในความป่วย-เยียวยา : บนขื่อคาแห่งสงคราม/อัญเจียแขฺมร์ อภิญญา ตะวันออก

อภิญญา ตะวันออก

อัญเจียแขฺมร์

อภิญญา ตะวันออก

 

ในความป่วย-เยียวยา

: บนขื่อคาแห่งสงคราม

 

ด้านหนึ่งก็รู้สึกใจหายในความโกลาหลของชาวอัฟกันที่สนามบินกรุงคาบูลในคืนแรกที่ทาลิบันยึดเมืองได้ ในวันที่ผู้มาเยือนถอนทัพและกำลังจะอำลา-เสรีภาพชั่วคราวอันลวงตา

พลันวันไซ่ง่อนแตกและภาพผู้คนแออัดหนีตายยัดทะนานกันขึ้นเฮลิคอปเตอร์ของสถานทูตอเมริกัน ก็กลับมา-รบกวนใจ

หรือนี่คือกลับมาของฝันร้ายในอดีต ตั้งแต่เมษายน ปี 1975 ที่เขมรแดงยึดพนมเปญได้

หรือเรายังอยู่ในความโกลาหลนั้น?

พลเรือนผู้แพ้พ่าย ประธานาธิบดีผู้นำที่หนีไป พร้อมกองกำลังของฝ่ายผู้มีชัย ราวกับเป็นพล็อตเรื่องเดียวกันกับครั้งหนึ่งที่เกิดขึ้นในสมัยเขมรสาธารณรัฐ (1970-1975) ที่ นายพลลอน นอล-ประธานาธิบดีเผ่นไปโฮโนลูลู, สหรัฐ พร้อมกับข่าวลือหนักว่าเขาหอบเงิน 1 ล้านเหรียญสหรัฐไปด้วย

ชะตากรรมที่ไม่ต่างกันนักสำหรับความเน่าเฟะในคอร์รัปชั่น และด้วยเหตุนั้น ประธานาธิบดีอัฟกานิสถานคนสุดท้าย นายอัชราฟ กานี ที่ไม่มีใครจดจำแต่ข่าวลือหนักคือการขนเงินถึง 4 คันรถตอนเผ่นออกนอกประเทศ

อย่างเดิมๆ ความฟอนเฟะคอร์รัปชั่นของกองทัพอัฟกันกับสมัยลอน นอลที่อเมริกันบริบาล มีสภาพอ่อนแอไม่ต่างกัน และเหตุนั้นในทันทีที่อเมริกันถอนตัว ทุกอย่างก็พัง

เชื่อไหม 5 ปีที่บีบคั้นทุกทิศทางจากกองทัพเขมรแดง และ 4 เท่าของเวลาในอัฟกานิสถาน ทุกอย่างคงเหมือนเดิมคือ สงครามกลางเมืองที่ไม่มีโอกาสชนะในประเทศอื่น

ดังนี้ เมื่อวลีทองของประธานาธิบดีสหรัฐกล่าวไว้ว่า เขาไม่เสียใจใดๆ “และมันถึงเวลาแล้วที่ชาวอัฟกันจะเรียนรู้ตัวเอง”

ให้ตายเถอะ ถ้าตอนนั้น วันที่พนมเปญล่ม-ไซ่ง่อนสลาย ผู้นำอเมริกันจะประกาศเช่นว่า และเปิดทางเจรจากับเขมรแดงแบบเดียวที่ทำกับทาลิบัน ใครจะรู้ว่าโฉมหน้าการเมืองของคณะกัมพูชาประชาธิปไตยจะเปลี่ยนแปลงไปเช่นใด?

โดยเฉพาะในพันธสัญญาที่ว่า “จะไม่ทำร้ายประชาชน” เขมรแดงก็คงไม่ตื่นกลัวว่าอเมริกาจะกลับมาโจมตีตนอีกครั้งและตลอด 3 ปี 8 เดือน 11 วันของนโยบาย “สุดโต่ง” ที่ทำลายพลเมืองชาติเดียวกัน (1975-1979)

ต่อความคล้ายคลึงและกรณีที่เกิดขึ้นแล้วอีกครั้งสำหรับทาลิบันและ “สุดโต่ง” โหดร้ายที่ฝังใจชาวอัฟกัน อเมริกันถอดบทเรียนอะไรบ้างจากกัมพูชาและเวียดนาม

หรือทาลิบันจะซ้ำรอย?

ในเชิงปัจเจกแล้ว ความล่มสลายที่เราได้เห็นนั้นกลับยาวนานเหมือนโกหก และเชื่อไหม ผลพวงจากการถอนทัพกลับประเทศของอเมริกันจากเขมรถึงอัฟกานิสถานในห้วงเวลา 44 ปีนั้น สิ่งที่ตามมาราวกับจะเกี่ยวกัน

มันทำให้นึกถึงจดหมายของ ยูริ คูมาซาวะ สหายชาวญี่ปุ่นสมัยที่ฉันยังเป็นอาสาสมัครในรัตนคีรีกัมพูชา ตามโครงการช่วยเหลือชนกลุ่มน้อยการผ่าตัดและรักษาโรคดวงตาอันเปราะบางซึ่งเธอจะเดินทางไปจังหวัดต่างๆ

และอย่างสม่ำเสมอ เธอจะเขียนบรรยายความงามของชนบทในแต่ละเมืองบนภาพถ่ายที่ตัดแต่งเป็นโปสเตอร์ ในบางจังหวัดเช่นกระแจะนั้น ฉันยังเคยเดินทางตามรอยเธอไปยังโรงพยาบาลที่นั่น

แต่หลังจากนั้น ยูริ คูมาซาวะก็ไปโผล่ที่ติมอร์-เลสเต และต่อมาคืออัฟกานิสถาน จู่ๆ ฉันก็ได้จดหมายของเธอจากที่นั่นเมื่อสิบกว่าปีก่อนหลังจากทาลิบันพ่ายแพ้แก่กองทัพอเมริกัน สมัยที่ นายฮามิด การ์ไซ เป็นผู้นำ

ยูริเล่าถึงความยากลำบากในการทำงานโดยเฉพาะความเป็นผู้หญิงและข้อจำกัดในการทำงาน ซึ่งแน่ล่ะมันต่างจากกัมพูชาเป็นร้อยเท่า โดยเฉพาะไม่ว่าเวลาใด ข้างกายของเธอต้องมีสตรีอัฟกันเคียงข้างตลอดเวลา

ฉันไม่แน่ใจว่า โครงการที่นั่นของยูริคือนำความสดใสไปสู่ “ดวงตา” ชาวอัฟกันแบบเดียวกับชาวเขมรหรือไม่ การจัดหาหน่วยแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพดวงตาคนท้องถิ่นที่มักป่วยด้วยโรคบลูสกายหรือแสงสีฟ้าจาก “แดดจ้า” และทำให้ดวงตาของพวกเขามักฝ้าฟางเร็วกว่าวัยอันควร

พลัน ชีวิตที่น่าหดหู่ของชาวท้องถิ่นที่นั่นโดยเฉพาะสตรีก็กลับมาอีกครั้ง มันอยู่ในจดหมายฉบับนั้นของยูริ คูมาซาวะหรือตรงที่ไหนสักแห่ง ทันใดนั้น การรำลึกถึงบางอย่างอันเจ็บปวดของผู้หญิงญี่ปุ่นคนหนึ่งซึ่งดิ้นรนออกนอกประเทศเพื่อปลดแอกความเจ็บปวดจากหน้าที่การงานและการถูกเหยียดเพศ

โดยประเทศแรกที่เธอตั้งต้นค้นหาคือประเทศไทยก่อนจะไปลาว แต่ในที่สุดคูมาซาวะก็ได้งานสมใจที่กัมพูชาในราวปลายปี 1995

ดูเหมือนในช่วงเวลาแห่งดิ้นรนในพนมเปญ ฉันตอบจดหมายยูริน้อยมาก นอกจากรายละเอียดของการทำงานระหว่างประเทศที่ซับซ้อนและประสบการณ์ในเขมรช่างอบอุ่นและแสนหวานหากเทียบกับความกดดันที่เธอได้รับ ตั้งแต่มารดาของเธอที่สูญเสียการมองเห็น

แต่อัฟกานิสถานก็ยังเป็นแรงบันดาลใจและสร้างโอกาสแก่ยูริในบทพิสูจน์สำคัญอันจะพาเธอไปสู่ชีวิตงานที่ไม่มีวันจะเหมือนเดิม นั่นคือ การมีบทบาทนำในองค์กรความช่วยเหลือระหว่างประเทศดังที่เธอใฝ่ฝัน

แต่ที่พิเศษกว่านั้น ยูริ คูมาซาวะ ได้ปลดเปลื้องความหนักอึ้งจากชีวิตเหลือทนที่ผ่านมา จากญี่ปุ่นถึงกัมพูชาและถึงอัฟกานิสถาน

และการปลดปล่อยความเปราะบางในเชิงปัจเจกชนที่มีต่อประเทศที่ 3

 

ในต่างกรรมต่างวาระ บนคราบน้ำตาแห่งภารกิจ “11 กันยา” ที่อัฟกานิสถานตลอด 20 ปีแห่งทำลายล้าง ความโกลาหล หวาดระแวงที่แฝงด้วยการเยียวยา และท่ามกลางกองซากแห่งความผิดพลาดจากกรณีเขมรแดงในอดีต

ฉันกลับคิดว่า หากทาลิบันถอดบทเรียนจาก 20 ปีที่ผ่านมา ความหวังในทางปรองดองของอัฟกานิสถานคงมีวันกลับคืนมาสู่ความเป็นชาติและใครจะรู้ว่าอเมริกันเองก็แอบถอดบทเรียนนี้หลังจากที่ตนพลั้งไปในความเป็นศัตรูต่อผู้อื่นที่ยาวนานร่วม 2 ทศวรรษ

นับว่าเปล่าเปลืองอย่างมากสำหรับการเรียนรู้ศัตรูคนหนึ่ง

ตัวอย่าง 20 ปีหลังกรณีเขมรแดงและอีก 20 ปีต่อมาหลังการถ่ายผ่านกัมพูชา ใครเลยจะคิดว่าในแง่การเมืองแล้วทุกวันกัมพูชายังคง “เหินห่างจากความเป็นมิตร” ต่อสหรัฐอเมริกาและเมื่อย้อนมองอดีต นับเป็นการผลาญงบและเวลาที่เปล่าเปลือง

ไม่ต่างก่อนรัฐประหารประมุขแห่งรัฐสีหนุ จาก 1970-1993 และจนทุกวันนี้ กัมพูชายังคงยืนอยู่บนจุดเดิมคือเคียงข้างกับพรรรคคอมมิวนิสต์จีน

มากกว่าความเกรี้ยวกราดต่อบิน ลาเดนถึง 20 ปีที่ทำเนียบขาวผลาญเวลาไปกับการเรียนรู้ทาลิบัน อีกในทางปฏิบัติที่เคลื่อนผ่านอันต่างกัน แต่ใครจะรู้เล่าว่า นี่อาจจะเป็นจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ต่อคำมั่นสัญญาว่าด้วยแก้ไขอดีตและราคาที่ต้องจ่ายโดยมีชาวอัฟกันเป็นเดิมพัน

และทาลิบันรู้ดีว่า นี่คือทางเหลือรอดสุดท้ายสำหรับสลายความเกลียดชังจากชาวอัฟกันหรืออย่างน้อยคำสารภาพต่อสาธารณะในการจะแก้ไขข้อผิดพลาดช่างเป็นความหมายที่สำคัญ ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นในกัมพูชาหรือเวียดนาม

ด้วยในศัตรูสงครามนั้น ในทางหนึ่งมันคือการเยียวยาและแก้ไขความบอบช้ำ อย่างน้อยก็สิ้นสุดกันทีสงครามกลางเมืองประเทศนี้ที่ยาวนาน และไม่ว่ากรณีวินาศกรรม “11 กันยา” ได้สำเร็จการเยียวยาแล้วหรือไม่?

ถ้ายูริ คูมาซาวะต้องใช้เวลาทั้งชีวิตไปกับการเยียวยาตัวเองในแดนสงคราม จะแปลกอะไรที่รัฐบาลวอชิงตันจะผลาญยาวนานกว่า 2 ทศวรรษ

กว่าจะเห็นสัจธรรม