จ๋าจ๊ะ วรรณคดี : เหยื่อ / ญาดา อารัมภีร

ญาดา อารัมภีร

 

 

เหยื่อ

 

เด็กไทยคุ้นกับเครื่องประดับมาแต่เยาว์วัย แม้นอนแบเบาะไม่รู้ความ ทองยังอร่ามทั้งตัว เสภาเรื่อง “ขุนช้างขุนแผน” เล่าถึงตอนที่พลายแก้วเกิด มีพิธีบายศรีสู่ขวัญเสริมสิริมงคล ญาติผู้ใหญ่แต่งกายทารกน้อยด้วยเครื่องประดับประดามี

 

“ให้หลานใส่เสมาปะวะหล่ำ                         กำไลทองคำงามเฉิดฉัน

บ้าหว่าทองผูกสองข้างแขนนั้น                     สายกุดั่นทั้งแท่งดังแกล้งทำ

เอวคาดสร้อยอ่อนซ้อนดอกลอย                   ฝังพลอยมรกตสีสดขำ

ผูกลูกพริกเทศด้วยทองคำ                          กำไลตีนนากเห็นหลากตา”

 

พลายแก้วมีเครื่องประดับห้อยคอรูปร่างอย่างใบเสมา (แบนๆ รูปทรงคล้ายใบโพธิ์) ผูกปะวะหล่ำ (รูปกลมๆ สลักเป็นลวดลาย) สวมกำไลและบ้าหว่าทองคำที่ข้อมือ มีสายสร้อยกุดั่น สร้อยอ่อนฝังมรกตสีเขียวสด คาดเอวด้วยลูกพริกเทศทองคำ (เครื่องประดับทำเป็นรูปคล้ายๆ เมล็ดพริก) ข้อเท้าสวมกำไลนาก (โลหะผสมทองคำ เงิน ทองแดง)

ถ้าพ่อ-แม่เป็นเศรษฐี ลูกก็คือ ‘ตู้ทองเคลื่อนที่’ มีมากใส่มาก ดังกรณีของขุนช้าง

 

“แล้วให้เอาเงินทองกรองใส่คอ                      กำไลมือล้นข้อทั้งสองข้าง

กำไลเงินใส่เท้าก้าวขากาง                          ปะวะหล่ำสองข้างแขนหลานยา

เอวคาดสร้อยอ่อนจำหลักทับ                       พริกเทศประดับกัลปังหา

ห้อยอยู่ต้องแต้งแกว่งไปมา                          ยิ้มหัวหาหาอ้าปากโจน”

 

เครื่องประดับดังกล่าวล้วนของดีมีราคา เมื่อภัยมาใกล้ตัวก็ต้องหาที่เก็บรักษา ดังจะเห็นได้จากบทละครรำเรื่อง “อิเหนา” ทันทีที่ชาวเมืองหมันหยา ‘แจ้งว่าโจรไพรใจหยาบช้า ยกมาปลายด่านเวียงไชย’ ต่างคนก็กลัวหัวหด ‘ต่างคนคิดจะหนีไม่มีสู้’ พวกที่สมบัติเยอะก็หาทางเก็บงำให้พ้นมือโจร

 

“บ้างยักย้ายเงินทองของฝัง                          มิดชิดปิดบังไม่บอกเพื่อน

หมายที่สำคัญไม่ฟั่นเฟือน                           กลบเกลื่อนเกลี่ยไกล่ไว้ใต้ดิน

บ้างแก้ปะวะหล่ำกำไล                             ที่แต่งใส่ลูกหลานออกเสียสิ้น”

 

ต่อให้ไม่มีเหตุเภทภัย เครื่องประดับก็เป็นอันตรายต่อเด็กอยู่ดี ในเสภาเรื่อง “ขุนช้างขุนแผน” นางวันทองต่อว่าขุนช้างเรื่องพลายงาม ลูกชายตัวน้อยที่หายไป

 

“เจ้าพาไปในป่าพนาลี                               แล้วก็มิพามาว่ากระไร”

 

ขุนช้างรีบปฏิเสธเป็นพัลวันและโบ้ยความผิดออกไปให้พ้นตัว

 

“เมื่อกลางวันยังเห็นเล่นไม้หึ่ง                      กับอ้ายอึ่งอีดูกลูกอีปิ

แล้วว่าเจ้าเล่าก็ช่างนั่งมึนมิ                         ว่าแล้วสิอย่าให้ลงไปดิน

ลูกปะหล่ำกำไลใส่ออกกบ                        ฉวยว่าพบคนร้ายอ้ายคอฝิ่น

มันจะทุบยุบยับเหมือนกับริ้น                    ง้างกำไลไปกินเสียแล้วกรรม”

 

ขุนช้างอ้างว่า ‘ลูกปะหล่ำ’ (ปะวะหล่ำ) และกำไลคงล่อตาล่อใจคนติดฝิ่นให้ทำร้ายพลายงามแล้วปลดเอาของไป อันที่จริงสถานการณ์ดังกล่าวมีทั่วไปในสมัยรัตนโกสินทร์ แม้เครื่องประดับจะเป็นตัวแทนความรักความใส่ใจของบุพการีญาติพี่น้อง บอกถึงสถานภาพฐานะของเด็ก แต่ก็ทำให้เด็กกลายเป็น ‘เหยื่อ’ ของความโลภ ถูกกระทำอย่างโหดเหี้ยมทารุณ หลายชีวิตดับสูญไม่มีโอกาสได้เติบโต

หนึ่งในจำนวนนั้นคือ ‘หนูเผือก’

 

“เมื่อปีชวดจัตวาศก อีกลายทาสหมื่นอาจบ้านบางตะนาวศรีแขวงเมืองนนทบุรี หักคอหนูเผือกอายุ 8 ขวบตาย ถอดเอาเสมาทองคำ 1 เอากำไลทองคำคู่ 1 เอากำไลเท้าเงินคู่ 1 ได้ตัวอีกลายมาแล้ว ให้ประหารชีวิตผ่าอกเสียที่ศาลเจ้าปากคลองบางขวาง” (ประชุมประกาศรัชกาลที่ 4)

เป็นประกาศฉบับที่ 279 ณ วันเสาร์ เดือน 7 ขึ้น 5 ค่ำ ปีขาลอัฐศก “ประกาศห้ามไม่ให้เอาเครื่องประดับทองเงินแต่งกายให้เด็ก ที่ยังไม่รู้จักหลีกหลบโจรผู้ร้าย” พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงชี้ให้เห็นธรรมเนียมบางอย่างที่ทำลายชีวิตลูก-หลานไทย

“เมืองไทยมีธรรมเนียมไม่ดีมาแต่โบราณ อาภัพกว่าเมืองอื่นๆ ทุกบ้านทุกเมืองอยู่อย่างหนึ่ง… ชาวเมืองไทยนี้ เมื่อเงินทองมีขึ้นไม่ได้ พอใจอยากอวดเขาว่ามั่งมี อดอวดไม่ได้ กำไลก้านบัวสอดสวมให้ลูกเล็กๆ ข้างละสิบบาทบ้าง สามตำลึงบ้าง แล้วทำกำไลเท้าให้ข้างละสามตำลึงสี่ตำลึง แล้วปล่อยให้เด็กไปเที่ยววิ่งอยู่หน้าบ้านหน้าเรือนกลางถนน ลงอาบน้ำในแม่น้ำลำคลองกลางวันกลางคืน แลไว้ใจแก่ทาสที่เป็นคนมีความทุกข์ยาก ซึ่งเป็นคนไม่ควรจะวางใจให้เลี้ยงดูแลพาไปข้างโน้นข้างนี้ เหมือนหนึ่งเอาปลาย่างไปมอบส่งให้แก่แมวไว้ หรือเอาน้ำอ้อยน้ำตาลไปล่อไว้ที่มด ย่อมเป็นที่มุ่งหมายปรารถนาของอ้ายอีเหล่านั้น ด้วยความประมาททั้งกลางคืนกลางวัน ก็เกิดเหตุคือทาสในเรือนที่เลี้ยงบุตรนั้นเอง พาบุตรนั้นไปบีบคอกดจมน้ำทำให้ตายเสีย”

นอกจากทาสในเรือน ผู้ก่อเหตุสะเทือนขวัญยังมี “คนบ้านใกล้เรือนเคียงชวนเอาไปแล้วฆ่าเสียบ้าง หรือทาสในเรือนที่คุ้นเคยกับเด็กส่งค่าตัวไปอยู่ที่อื่น ลอบลักพาเอาเด็กไปฆ่าเสียบ้าง ไม่รู้ว่าสักกี่สิบรายมาแล้ว คนก็ไม่เข็ด”

มีตัวอย่างเด็กตายเพราะเครื่องประดับให้เห็นอยู่บ่อยๆ แต่ผู้คนสมัยนั้นหาได้ใส่ใจไม่ ตรงกันข้าม

“ยิ่งมีเงินทองขึ้นก็ยิ่งเอาของแต่งเด็กล่อผู้ร้ายหนักเข้า ทุกวันนี้คนก็เล่นเบี้ยเสียโปมาก ผู้ร้ายชุกชุม จนมีความเรื่องที่มีผู้จับเอาเด็กไปกดน้ำบีบคอหักคอฆ่าเสีย ไม่ว่างเดือนเว้นปีเลย”

รัชกาลที่ 4 ทรงแนะนำด้วยความห่วงใยเด็กๆ ที่ตกเป็น ‘เหยื่อ’ เพราะทัศนคติผิดๆ ของผู้ใหญ่

“ตั้งแต่นี้ไปขอเตือนสติมาแก่ท่านทั้งหลายทั้งปวง ผู้มีบุตรหลานของตนหรือขอบุตรหลานท่านผู้อื่นมาเลี้ยงไว้ ขอให้เลิกการแต่งสวมสอดของเครื่องเงินทองไว้กับเด็กๆ นั้นเสียเป็นอันขาดทีเดียว เพราะเป็นเหยื่อล่อผู้ร้าย เป็นเหตุให้เด็กต้องตายเนืองๆ”

บทลงโทษผู้ร้ายมีทั้ง ‘ลงพระราชอาญาเฆี่ยนแล้วให้ประหารชีวิต’ และ ‘รับพระราชอาญาจำไว้ ณ คุก’ โดยเฉพาะยังทรงกำหนดบทลงโทษผู้เป็นต้นเหตุให้เกิดภัยแก่เหยื่อบริสุทธิ์ไว้ด้วยว่า

“ก็ที่บิดา-มารดาแลญาติลุงป้าน้าอาแลใครๆ แต่งบุตรแต่งหลานด้วยเครื่องทองเครื่องเงินแล้ว มีความประมาทปล่อยให้เด็กเที่ยวอยู่ตามลำพัง ไม่มีผู้ระวังรักษานั้น จะว่าไม่มีความผิดนั้นไม่ได้ จะต้องปรับไหมแก่บิดามารดาแลพี่ป้าน้าลุง แลใครๆ ที่ตกแต่งให้เด็กนั้นตามพระราชบัญญัติ”

นั่นคือใครก็ตามแต่งตัวเด็กด้วยเครื่องประดับต้องจ่ายค่าปรับให้หลวง

 

ยิ่งไปกว่านั้น ประกาศฉบับที่ 282 ณ วันอาทิตย์ เดือน 4 แรม 11 ค่ำ ปีขาลอัฐศก “ประกาศห้ามไม่ให้แต่งตัวเด็กด้วยเครื่องทองเงินแล้วปล่อยไปเที่ยวโดยลำพัง” ยังครอบคลุมไปถึงผู้พบเด็ก ผู้ปกครองและตัวเด็กโดยตรง

“ถ้าใครๆ พบปะเด็กที่มีเครื่องทองเครื่องเงินติดตัวไม่มีผู้รักษาแล้ว ให้จับตัวเด็กนั้นมาส่งต่อนายอำเภอกรมพระนครบาล…ให้กรมปรับไหมผู้เจ้าของแต่งตัวเด็กให้ใช้ค่าถ่ายแก่ผู้จับเท่าราคาของนั้น ถ้าไม่มีใครจับกันดังประกาศนี้ ในหลวงจะแต่งให้คนหลวงออกเที่ยวจับ ถ้าคนหลวงจับตัวเด็กเช่นดังว่านั้นได้มาแล้ว บิดามารดาหรือญาติพี่น้องผู้เจ้าของเด็กนั้นติดตามมาทันในวันนั้นก็จะให้เสียค่าถ่ายของให้แก่ผู้จับเท่าราคาของ แล้วจะให้ปล่อยตัวเด็กมอบไป ถ้าไม่มีผู้ใดติดตามมาว่ากล่าวแล้ว จะให้ยึดเอาตัวไว้เป็นไพร่หลวง เด็กผู้ชายให้หัดโขน เด็กผู้หญิงให้เป็นละครหลวงอย่างเลว เพราะเห็นว่ามีประโยชน์ดีกว่าให้อ้ายผู้ร้ายลักพาไปฆ่าเสีย”

อยากอวดรวยเลยซวยตามๆ กัน