ท่าอากาศยานต่างความคิด : การลุกขึ้นต่อสู้ของชาวนา กับแนวคิดนอกศาสนาเกิดใหม่

ชีวิตาในโลกใหม่ (32)

การไต่เต้าของช่างตัดเสื้อชาวดัตช์คนหนึ่งไปสู่กษัตริย์แห่งดินแดนนอกศาสนาที่เมืองมึนสเตอร์ในเยอรมนีนั้นไม่ได้เป็นไปแบบฉับพลัน

พวกนอกศาสนาเกิดใหม่หรือ Anabaptist นั้นเป็นผลผลิตส่วนหนึ่งจากการต่อต้านศาสนจักรครั้งใหญ่ภายใต้สงครามชื่อว่าสงครามชาวนาหรือกบฏชาวนา-The Peasant War ในช่วงปี 1524-1525 สิบปีก่อน

สงครามครั้งนั้นทิ้งรอยบาดแผลให้กับสามัญชนจำนวนมาก

เป็นบาดแผลที่รอการรื้อฟื้นและเยียวยา

และเป็นบาดแผลที่นำไปสู่การกวาดล้างพวก Anabaptist อีกครั้งที่เมืองมึนสเตอร์ในปี 1535

สงครามชาวนาเกิดขึ้นระหว่างกลุ่มชาวนาที่ถูกขูดรีดภาษีและต้องทำงานรับใช้เจ้าที่ดินอย่างไม่เป็นธรรม

หลังการปฏิรูปศาสนาของ มาร์ติน ลูเธอร์ บรรดาเจ้าผู้ครองนครต่างๆ ในเยอรมนีได้ประกาศตัดการส่งเงินทองไปยังศาสนจักรที่วาติกัน แต่กลับนำเงินทองเหล่านั้นมาแข่งขันกันสร้างอารามและวิหารในเยอรมนีแทน

พวกเขาประกาศถ้อยคำว่า “เงินตราของชาวเยอรมันเพื่อศาสนจักรของชาวเยอรมัน”

การเร่งหาเงินตราเช่นนี้ประกอบกับวิบัติภัยจากการเกษตรในช่วงดังกล่าวทำให้พวกชาวนาอดอยากและล้มตายเป็นจำนวนมาก

พวกเขาภายใต้ความเชื่อใหม่ว่ามนุษย์ทุกคนล้วนเป็นส่วนหนึ่งของพระเจ้าที่สามารถกำหนดชีวิตตนเองได้ตัดสินใจลุกขึ้นต่อสู้กับผู้มีอำนาจเหนือและบรรดาชนชั้นนำที่ยังคงยึดมั่น การต่อสู้ที่ว่านั้นกินเวลาเพียงสองปีและจำกัดอยู่เฉพาะทางตอนกลางและทางตอนใต้ของเยอรมนี หากแต่กลับมีชาวนาถูกสังหารไปกว่าแสนคนเลยทีเดียว

มีบุคคลหลายคนที่ข้องเกี่ยวในการลุกขึ้นสู้ครั้งนี้ แต่มีบุคคลเดียวที่เชื่อมโยงการต่อสู้ครั้งนี้เข้ากับความคิดหลักของพวก Anabaptist หรือผู้เกิดใหม่ครั้งที่สอง

บุคคลนั้นคือนักบวชหนุ่มนาม โทมัส มึนเซอร์

โทมัส มึนเซอร์-Thomas M?ntzer นั้นเกิดในช่วงปี 1490 (ก่อนการค้นพบโลกใหม่ของ คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส เป็นเวลาสองปี) ที่เมืองสตอลเบิร์ก ในแคว้นทูริงเกีย

ครอบครัวของเขาเป็นครอบครัวที่มีฐานะพอควรในเมืองสตอลเบิร์ก

เราพบชื่อของเขาเป็นครั้งแรกในฐานะนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยลิปซิก-University of Leipzig ในปี 1506 และหลังจากนั้นแม้จะไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าเขาจบการศึกษาที่นั่นหรือไม่ โทมัส มึนเซอร์ ก็ได้รับการยกย่องว่าเป็นบุคคลผู้เชี่ยวชาญในภาษาละติน กรีกและฮิบรู

และเป็นผู้เชี่ยวชาญในพระคัมภีร์ไบเบิลแบบเดียวกับเหล่าผู้นำในการปฏิรูปศาสนายุคนั้น

ในช่วงปี 1517 มึนเซอร์ซึ่งตอนนั้นทำงานเป็นครูอยู่ในโรงเรียนแห่งหนึ่งได้รับข่าวคราวการปฏิรูปศาสนาของ มาร์ติน ลูเธอร์ และทำให้เขารู้สึกตื่นเต้นอย่างมาก

เขากระโจนเข้าสู่แนวทางการปฏิรูปศาสนาที่ว่านี้ด้วยการโจมตีวิถีการปฏิบัติของพวกนักบวชในนิกายฟรานซิสกัน ความเจ้ายศเจ้าอย่างของศาสนจักร และการสร้างเรื่องราวเกินจริงของเหล่านักบุญในศาสนา

กระนั้น มึนเซอร์เองก็หาได้สนใจในการเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการปฏิรูปที่ว่า

เขาแยกตนเองออกโดยอ้างว่าเขาเป็นนักคิดด้านศาสนาที่พึงใจในการทำงานอย่างโดดเดี่ยวมากกว่า

จนทำให้เขาต้องปะทะคารมกับ มาร์ติน ลูเธอร์ และ โยฮัน เอค-Johann Eck นักเทววิทยาคู่ใจคนหนึ่งของ มาร์ติน ลูเธอร์ ในปี 1519 ที่ลิปซิก

หลังจากนั้นมึนเซอร์หายไปเก็บตัวที่อารามแห่งหนึ่งในไวเซนเฟล ด้วยข้ออ้างว่าเขาต้องการศึกษางานวรรณคดีโบราณ

หากแต่หลังจากนั้นเขากลับทุ่มเทให้กับการศึกษาเรื่องราวลี้ลับในทางศาสนาจำนวนมาก และทำให้เขาหมกมุ่นอยู่กับสิ่งที่เรียกว่าเรื่องราวของวันสิ้นโลก หรือ Apocalyptic

เขาเกิดความคิดที่ว่าหน้าที่ของผู้นำศาสนานั้นคือการเตือนผู้คนให้เตรียมรับมือและพร้อมสำหรับการมาถึงของวันสิ้นโลก

ในปี 1521 เขาเดินทางไปถึงนครปราก (ในประเทศเชโกสโลวะเกียปัจจุบัน) เพื่อแสวงหาผู้สนับสนุนความเชื่อของเขา

ที่นั่นเขาจัดพิมพ์คำประกาศถึงการปฏิรูปศาสนาครั้งสุดท้ายเพื่อเตรียมตัวรับวันสิ้นโลก

การกระทำเช่นนั้นทำให้พวกนิกายลูเธอร์แลนด์ภายใต้การนำของ มาร์ติน ลูเธอร์ ออกมาต่อต้านเขาอย่างหนักเพราะเห็นว่ามึนเซอร์กำลังเป็นศัตรูกับศาสนจักรในฐานะคนนอกศาสนา ไม่ใช่ในฐานะผู้ปฏิรูปศาสนาอีกต่อไป

เพราะผู้ที่จะทำนายวันสิ้นโลกได้นั้นนอกจากองค์พระคริสต์แล้วที่เหลือล้วนเป็นแต่ปกาศกผู้ได้รับพระวาจาจากพระเจ้าโดยตรง

การอ้างวันสิ้นโลกของมึนเซอร์ในการเผยแผ่ศาสนาจึงนอกจากจะเป็นการผลักผู้คนกลับไปในความเชื่อแบบเก่าแล้วยังสร้างความหดหู่ให้กับผู้คนแทนการขยายอาณาจักรของผู้เข้าถึงพระเจ้าในฐานะคำสอนที่แท้จริงอีกด้วย

โทมัส มึนเซอร์ ไม่อาจต้านทานการต่อต้านนี้ได้ และเขาจำต้องจากปรากกลับไปที่เยอรมนี

ว่าไปแล้ว วิวาทะระหว่าง โทมัส มึนเซอร์ และพวกนิกายลูเธอร์แลนด์ก็หาได้เป็นไปแต่เพียงฝ่ายเดียวไม่

มึนเซอร์เองก็โจมตี มาร์ติน ลูเธอร์ ว่าเป็นนักบวชเคร่งคัมภีร์ที่สนใจแต่ในตัวบทของพระคัมภีร์จนละเลยสิ่งศักดิ์สิทธิ์อันเกิดจากการติดต่อกับพระเจ้าได้โดยตรง ซึ่งเขาเชื่อว่าเขาได้ประจักษ์ในสิ่งนั้นแล้ว

เขาถือว่า มาร์ติน ลูเธอร์ นั้นได้รู้จักเพียงคำสอน แต่หาได้เข้าถึงจิตวิญญาณของคำสอนนั้นไม่

และบรรดาผู้คนที่จะเข้าถึงจิตวิญญาณของพระเจ้าได้นั้นคือบุคคลที่เป็นคนสามัญธรรมดาอย่างชาวนาหรือกรรมกรมากกว่า

เพียงแต่ว่าพวกเขาถูกครอบงำโดยชนชั้นสูงว่าการเข้าถึงพระเจ้าจะเกิดขึ้นได้จากความรู้ในพระคัมภีร์ ซึ่งที่จริงแล้วจิตวิญญาณที่บริสุทธิ์ที่ไม่รู้อะไรมากมายของบุคคลสามัญต่างหากที่เหมาะสมแก่การเข้าถึงพระเจ้า

หนทางที่จะสร้างอาณาจักรใหม่ของพระเจ้าได้นั้นจึงต้องลุกขึ้นก่อการกบฏกับบรรดาผู้ยึดครองและครอบงำอำนาจในสังคมเหล่านั้น

และต้องทำให้สำเร็จอย่างเร่งด่วนก่อนที่วันสิ้นโลกจะมาถึง

ในปี 1522 มึนเซอร์กลับมาเยอรมนี เขาเดินทางมาถึงเมืองฮัล-ที่อยู่ในแคว้นแซกโซนี

การเทศนาของเขาในเมืองมีผู้ให้ความสนใจจำนวนมากรวมถึงนางชีคนหนึ่งที่มีนามว่า โอทิลี่ ฟอน เกอร์เซน-Ottilie von Gersen ซึ่งได้กลายเป็นภรรยาของเขาในภายหลัง (ทั้งคู่มีบุตรด้วยกันสองคน)

และเมื่อถึงปี 1523 มึนเซอร์ก็ได้งานทำเป็นคนสอนศาสนาในอารามออลล์สเตดต์-Allstedt ที่นั่นเขาได้รวบรวมคำสอนของตนเองขึ้นเป็นชิ้นเป็นอัน

งานเขียนชิ้นสำคัญของเขาที่นี่คือ “แรงบันดาลใจเพื่อการลุกขึ้นสู้-Motivation for Defense”

เขาได้เทศนางานเขียนชิ้นนี้ต่อสาธารณชนและพยายามกระตุ้นให้ผู้ครองแคว้นแซกโซนีเห็นด้วยกับการปลดปล่อยอำนาจศาสนจักรก่อนวันสิ้นโลก

ทว่า ผู้ปกครองแคว้นไม่เห็นด้วยกับเขา ทำให้เขาต้องแอบจัดตั้งกลุ่มผู้ภักดีกับพระเจ้าจนวาระสุดท้าย หรือ-the Eternal Covenant of God อย่างลับ

ผลของการกระทำนี้ทำให้เขาถูกขับออกจากแคว้นแซกโซนี

เขาก็เดินทางไปถึงเมืองเฮกอร์และเคตกอร์ อันเป็นศูนย์กลางการลุกขึ้นสู้ต่อชนชั้นปกครองของเหล่าชาวนาในปี 1524 และอยู่ที่นั่นจนสิ้นฤดูหนาว

ที่นั่นเขาได้เรียนรู้การจัดตั้งกองทัพและการใช้อาวุธในการต่อสู้

ประสบการณ์ที่ว่านี้ทำให้เขาย้อนกลับมายังเมืองมูนเฮาสเซ่น ที่เขาเคยพำนักและเป็นศูนย์กลางของกองทัพชาวนาในแถบภาคกลางของเยอรมนี

การลุกขึ้นกบฏในแถบนั้นได้ผลดีอย่างมาก พวกชาวนาสามารถเผาทำลายบ้านเรือนของเจ้าที่ดินเพื่อปลดปล่อยตนเองออกจากการเป็นทาสที่ดินได้สำเร็จ

อีกทั้งยังโค่นชนชั้นสูงในสภาเมืองได้หมดสิ้นและเข้าปกครองตนเอง

โทมัส มึนเซอร์ ในตอนนั้นได้เปลี่ยนตนเองจากนักบวชและผู้ปฏิรูปศาสนาไปเป็นนักรบที่มีกองทัพส่วนตนในที่สุด ทว่า เขาไม่ได้มองว่าการกระทำดังกล่าวเป็นเรื่องผิดจากคำสอนของพระเจ้า

เขาเชื่อว่าสามัญชนสามารถเข้าถึงพระเจ้าได้ในแบบฉบับส่วนตน เพียงแต่พวกเขาไม่สามารถถ่ายทอดมันออกมาได้จับใจเท่าเทียมพวกนักบวชเท่านั้นเอง

หลังพวกชาวนามีชัยเหนือผู้ปกครอง มึนเซอร์ได้เร่งสร้างคำสอนที่มุ่งตรงไปเฉพาะพวกเขาให้เข้าใจถึงสังคมแบบใหม่ที่ไม่มีชนชั้นปกครองอีกต่อไป

คำสอนของเขาเชื่อมโยงพ่อค้า ชาวนา และสามัญชนต่างๆ ไว้ในอาณาจักรใหม่ของพระเจ้าที่ทุกคนได้รับการปลดปล่อยจากบาป อันได้แก่การขูดรีดของชนชั้นปกครอง

ทว่า ชัยชนะที่ว่าของสงครามชาวนาไม่ได้อยู่คงนาน กองกำลังของชนชั้นนำที่เปี่ยมไปด้วยอาวุธยุทโธปกรณ์ที่เหนือกว่าภายใต้การนำของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ห้า-Charles V ผู้ทรงอิทธิพลในยุโรปเริ่มตีโต้กลับและสังหารชาวนาไปนับแสนคน

มึนเซอร์และกองทัพของเขาหลบหนีไปจนถึงเมืองแฟรงเก้นเฮาเซ่นพร้อมไพร่พลอีกหกพันคน

แต่กองกำลังของเขาต้านทานพวกทหารของฝ่ายตรงข้ามได้ไม่ถึงสิบนาที ชาวนานับหกพันคนถูกสังหารจนหมดสิ้น

มึนเซอร์หนีไปหลบซ่อนอยู่ในบ้านหลังหนึ่ง แต่เอกสารที่เขาพกอยู่ในตัวทำให้เขาถูกจับได้ในที่สุด

และหลังจากการทรมานให้รับสารภาพได้เพียงไม่กี่วันเขาก็ถูกประหารชีวิตลงในวันที่ 27 พฤษภาคม ปี 1525

การต่อสู้ของ โทมัส มึนเซอร์ และเหล่ากบฏชาวนานั้นจับใจนักประวัติศาสตร์ในศตวรรษที่สิบเก้าคนหนึ่งอย่างมาก

เฟรเดอริก เองเกงส์-Frederick Engels ได้เขียนหนังสือขึ้นเล่มหนึ่งในปี 1850 ชื่อว่า สงครามชาวนาในเยอรมนี-The Peasant War in Germany

และหนังสือเล่มนี้เองที่เป็นหนึ่งในหนังสือที่มีอิทธิพลต่อรากฐานความคิดด้านการต่อสู้ทางชนชั้นต่อสานุศิษย์ของเขาผู้มีนามว่า คาร์ล มาร์กซ์-Karl Marx