ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 27 สิงหาคม - 2 กันยายน 2564 |
---|---|
เผยแพร่ |
บทความพิเศษ
จักรกฤษณ์ สิริริน
เหตุผลที่โควิดกลับมาระบาดใหญ่ในเอเชีย
สถานการณ์แพร่ระบาดของ COVID-19 ในทวีปเอเชียห้วงเวลานี้ ทวีความรุนแรงกว่าเหตุการณ์ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันเมื่อปีที่แล้วเป็นอย่างมาก
ความน่ากังวลส่วนหนึ่งมาจากเชื้อ COVID-19 สายพันธุ์เดลต้า (เดิมคือสายพันธุ์อินเดีย) ได้กระจายตัวไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะในทวีปเอเชีย
สำนักข่าว AP รายงานว่า สถานการณ์ COVID-19 ในไทย และชาติเอเชียหลายแห่ง ถือเป็นเหตุการณ์ COVID-19 ระบาดใหญ่จริงๆ ครั้งแรกของประเทศเหล่านี้
AP บอกว่า ชาติที่กำลังเจอศึกหนักคล้ายกับไทย ประกอบด้วย เวียดนาม และไต้หวัน ทั้งๆ ที่ชาติเหล่านี้ต่างผ่านช่วง 1 ปีครึ่ง ซึ่ง COVID พิชิตโลกได้ดีระดับหนึ่ง
โดยเมื่อไม่นานมานี้ องค์การอนามัยโลก (WHO : World Health Organization) ได้ระบุว่า สายพันธุ์เดลต้านั้น แพร่ระบาดได้ง่ายที่สุดตั้งแต่มีการพบ COVID-19 มา
และองค์การอนามัยโลกได้เริ่มมีตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์เดลต้าอย่างเป็นทางการที่เพิ่มขึ้นในไทย บังกลาเทศ อินโดนีเซีย และมองโกเลีย อย่างชัดเจน
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มีข้อมูลซึ่งบ่งชี้ว่าเชื้อแพร่โดยเจ้าหน้าที่สายการบิน และผู้โดยสารที่เดินทางในหลายประเทศ ห้วงที่หลายชาติได้เริ่มผ่อนคลายมาตรการ
เนื่องจากอัตราการระบาดในช่วงปลายปี ค.ศ.2020 ที่เริ่มซาลงไปก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเดินทางภายในของแต่ละประเทศที่กลับมาคึกคักในตอนนั้น
ถ้ายังจำกันได้เมื่อปีกลาย หลายชาติในเอเชียเลือกใช้มาตรการ Lockdown เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของ COVID อย่างเข้มข้น หลายแห่งใช้แบบขั้นสูงสุด
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การสั่งปิดสถานที่ซึ่งอาจมีผู้คนเข้าร่วมหนาแน่น เช่น ห้างสรรพสินค้า และสถานที่สาธารณะ หรือการปิดน่านฟ้าไม่อนุญาตให้เดินทาง
ชาติที่ได้รับผลกระทบจากการปิดน่านฟ้าหนักที่สุดก็คือประเทศที่มีรายได้หลักจากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และอุตสาหกรรมภาคบริการที่เกี่ยวเนื่องทั้งหมด
ขณะเดียวกัน ประเทศที่พึ่งพาอุตสาหกรรมการผลิต อาจจะยังสามารถรักษาการขยายตัวทางเศรษฐกิจเอาไว้ได้ แต่ก็รักษาได้ไม่นานเพราะ COVID ที่รุนแรงมากขึ้น
ในห้วงเวลานี้ ที่รัฐบาลเอเชียหลายประเทศยังประสบปัญหาการไม่สามารถควบคุมการแพร่กระจายของเชื้อ COVID-19 ไม่ให้ระบาดในวงกว้างได้
และแม้ว่าอินเดียต้นตำรับเดลต้าจะผ่านจุดวิกฤตหนักสุดจากการระบาดของ COVID ระลอกล่าสุดไปแล้ว แต่หลายประเทศในเอเชียกำลังมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
เพื่อนบ้านรั้วติดกับอินเดียอย่างปากีสถาน เนปาล หรือศรีลังกามีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นสูงในเดือนพฤษภาคม 2021 เนปาลหนักหน่อยหลังจากยอดผู้ติดเชื้อพุ่งขึ้นสูงอย่างรวดเร็ว
ขณะเดียวกัน ตัวเลขผู้ติดเชื้อในอัฟกานิสถาน พุ่งขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์เมื่อเดือนมิถุนายน 2021 มีการระบุว่า 60% ของผู้ติดเชื้อในกรุงคาบูลมาจากสายพันธุ์เดลต้า
สถานการณ์ในฟิลิปปินส์ก็ดูจะไม่สู้ดีนัก เนื่องจากมีรายงานตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่อยู่ที่ประมาณ 5,000 คนต่อวัน หลังจากเกิดการระบาดระลอกใหม่ไม่นานมานี้
ขณะที่มาเลเซียก็มีรายงานสถิติตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวันกว่าหมื่นรายเมื่อปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา แม้ว่าจะใช้มาตรการอย่างเข้มงวดมาโดยตลอด
หากเราจะเปรียบเทียบกับนโยบายการป้องกันการแพร่ระบาด COVID-19 ในหมู่ประเทศพัฒนาแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาติตะวันตก นับจากเมื่อปีที่แล้ว (2020)
จะพบว่า รัฐบาลบางแห่งในเอเชีย เช่น ไทย เวียดนาม และไต้หวัน ที่ก่อนหน้านี้ ไม่ค่อยให้ความสำคัญกับการจัดหาวัคซีน และชุดตรวจ Rapid Test มากเท่าที่ควร
Our World in Data ชี้ว่า ปัจจุบัน ประชากรไทยที่ได้รับวัคซีนครบ 2 โดสแล้วนั้น มีเพียง 5 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ตัวเลขของเวียดนามนั้นอยู่ที่เพียง 1 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น
ขณะเดียวกัน ที่ไต้หวันนั้น ข้อมูลเมื่อต้นเดือนสิงหาคมระบุว่า การฉีดวัคซีนครบ 2 โดสให้ประชากรอยู่ที่ 0.5 เปอร์เซ็นต์ มีเพียง 20% เท่านั้นที่ได้รับวัคซีนเข็มแรก
จะเห็นได้ว่า การฉีดวัคซีนให้ประชาชนที่ล่าช้าอยู่ในประเทศเหล่านี้ ทำให้หลายฝ่ายกังวลกันว่า COVID สายพันธุ์เดลต้าที่กำลังระบาด จะทำให้สถานการณ์ยิ่งย่ำแย่
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากเราดูตัวอย่างจากสหราชอาณาจักร คืออังกฤษ ที่ได้ทำการฉีดวัคซีน COVID-19 ให้กับประชาชนไปแล้วเป็นสัดส่วนมากถึง 90 เปอร์เซ็นต์
ขณะเดียวกัน ก่อนหน้านี้ จนถึงปัจจุบัน ประชากรสหรัฐอเมริกาเกือบ 100% สามารถเข้ารับการฉีดวัคซีนอย่างง่ายดาย ได้จากร้านขายยาทั่วประเทศเลยทีเดียว
กรณีของอินโดนีเซียนั้น แม้จะได้รับมอบวัคซีนมาจากหลายแหล่ง แต่การฉีดวัคซีนครบ 2 โดสยังอยู่ที่ระดับ 6% สวนทางกับยอดผู้ติดเชื้อใหม่ทุบสถิติที่ 60,000 ราย
ทุกวันนี้ ปัญหาหลักของอินโดนีเซีย และกลุ่มประเทศมุสลิมในเอเชียก็คือ ความเชื่อที่ว่า COVID-19 ไม่ได้มาตรฐาน HALAL และขัดต่อบัญญัติของศาสนาอิสลาม
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความเชื่อที่ร่ำลือกันต่อๆ มาว่า COVID-19 เป็นเพียงเรื่องโกหก ผนวกกับการที่ผู้ป่วยในประเทศเหล่านี้ พากันหลีกเลี่ยงไม่ยอมเข้าโรงพยาบาล
ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย หรือ ADB ได้ปรับลดคาดการณ์อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปีนี้ ลงมาที่ 4.0% จากระดับ 4.4%
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลในเอเชียหลายแห่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศไทยของเรา ได้ประกาศว่า ปริมาณวัคซีนในประเทศน่าจะเพิ่มมากขึ้นในช่วงหลังของปีนี้
ส่วนรัฐบาลเวียดนามประกาศว่าจะจัดหาฉีดวัคซีนให้ได้ 110 ล้านโดส ภายในเดือนธันวาคม ซึ่งยังต่ำกว่าเป้าหมาย 150 ล้านโดส สำหรับประชากร 75 เปอร์เซ็นต์
เช่นเดียวกับประธานาธิบดี ไช่ อิง เหวิน ของไต้หวัน ที่ประกาศตั้งเป้าเช่นกันว่าจะฉีดวัคซีนให้ได้ถึง 25 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งหมดภายในวันที่ 31 กรกฎาคมที่ผ่านมา
นอกจากนี้ ประชากรจำนวน 660 ล้านคนของอาเซียน ก็กำลังเผชิญกับสภาพชะงักงันทางเศรษฐกิจรอบใหม่จากการที่รัฐบาลสั่ง Lockdown เพื่อควบคุม COVID
ในปัจจุบัน ต้องยอมรับว่า จำนวนผู้ติดเชื้อ COVID-19 ในหลายประเทศทั่วเอเชีย ยังคงมีรายงานตัวเลขที่พุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ ทำสถิติ New High รายวันอย่างต่อเนื่อง
ขณะที่การเดินหน้าแจกจ่ายวัคซีนให้กับประชาชนยังคงล่าช้ากว่าที่คาดไว้มาก และรัฐบาลหลายแห่งเริ่มหมดหวังว่ากับการดำเนินมาตรการต่างๆ ในการป้องกัน COVID
นักวิเคราะห์ระบุว่า การที่ประเทศต่างๆ ในเอเชียยังไม่สามารถจัดหาวัคซีนได้รวดเร็วพอนั้น เป็นเพราะบริษัทเวชภัณฑ์จากโลกตะวันตกไม่สามารถผลิตได้ทัน
เพราะยังคงวุ่นวายอยู่กับจัดเตรียมสายพาน และวัตถุดิบให้ทันคำสั่งซื้อจากรัฐบาลอื่นๆ ทั่วโลก ที่ทั้งหมดแทบจะรุมสกรัมบริษัทผู้ผลิตวัคซีนที่มีเพียงไม่กี่เจ้า
ประกอบกับการทำงานของรัฐบาลในเอเชียที่ออกใบอนุญาตให้บริษัทวัคซีนอย่างล่าช้า และประชาชนในหลายประเทศมีความกังวลเกี่ยวกับผลข้างเคียงของวัคซีน
ทำให้หลายประเทศเริ่มหันไปขอรับบริจาควัคซีนจากมหาอำนาจต่างๆ ทั้งจีน ญี่ปุ่น และสหรัฐ เช่น เวียดนามที่กำลังรอรับวัคซีนจำนวน 1.8 ล้านโดสจากญี่ปุ่น
ระหว่างนี้ เวียดนามก็เดินหน้าเร่งให้มีการผลิตวัคซีนภายในประเทศโดยด่วนอยู่ ตามรายงานของเว็บไซต์ Vietnam Insider เมื่อเดือนกรกฎาคมปี 2021 ที่ผ่านมา
ทั้งหมดนี้ คือเหตุผลที่ COVID-19 กลับมาระบาดใหญ่ในเอเชียปีนี้นั่นเองครับ