วิกฤตินิเวศ เมื่อภูมิอากาศแปรปรวน (จบ)/วิกฤติศตวรราที่21 อนุช อาภาภิรม

วิกฤติศตวรราที่21

อนุช อาภาภิรม

 

วิกฤตินิเวศ

เมื่อภูมิอากาศแปรปรวน (จบ)

 

การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ

กับการปรับตัวเชิงลึก

และสงครามใหญ่

 

ถึงขณะนี้กล่าวได้ว่า ภาวะโลกร้อนมีสัญญาณว่าได้ถึงจุดพลิกผันในหลายด้าน หมายความว่าความรุนแรงนี้จะเพิ่มขึ้นอย่างเร็ว และไม่อาจหวนกลับได้ในเวลาอันสั้น สัญญาณดังกล่าวได้แก่

ก) ภาวะโลกที่จะร้อนขึ้นทั้งบนผิวดิน และผืนน้ำที่ลึกลงไปถึง 2,000 เมตร เกิดคลื่นความร้อนบนแผ่นดิน เป็นข่าวไปทั้งในสหรัฐ ยุโรป ตะวันออกกลางและออสเตรเลีย ทั้งยังเกิดคลื่นความร้อนในทะเล มีส่วนทำให้ปะการังฟอกสี

ข) การละลายของน้ำแข็งที่เกาะกรีนแลนด์และทวีปแอนตาร์กติกา เป็นไปอย่างไม่หยุดยั้ง

ค) ภาวะน้ำทะเลขึ้นสูง จากการขยายตัวของน้ำเนื่องจากอุณหภูมิที่สูงขึ้น กับการละลายของน้ำแข็งที่กรีนแลนด์ และแอนตาร์กติกา เมืองใหญ่ชายฝั่งที่มีประชากรอยู่มากล้วนถูกคุกคามจากภัยน้ำทะเลขึ้นสูงนี้

ง) น้ำแข็งในทะเลอาร์กติกละลายอย่างเร็วจนคาดว่าไม่นานจะไม่มีน้ำแข็งในช่วงฤดูร้อน แสงแดดที่กระทบผิวน้ำจะดูดซับความร้อน เร่งให้อุณหภูมิบริเวณขั้วโลกเหนือเพิ่มขึ้นอีกมาก ทำให้กระแสลมวนขั้วโลกอ่อนกำลัง อากาศอุ่นทางใต้แผ่ขึ้นไปยังบริเวณไซบีเรีย เป็นต้น ส่งผลให้ชั้นดินเยือกแข็งละลาย ปล่อยก๊าซคาร์บอนและมีเทนออกมาสู่ชั้นบรรยากาศ

จ) ป่าฝนเขตร้อนโดยเฉพาะในลุ่มน้ำแอมะซอนที่ถือว่าเป็นปอดของโลก กำลังถูกทำลาย ทำให้พื้นที่ป่าบางส่วนเปลี่ยนไปสู่การเป็นทุ่งหญ้าสะวันนาที่แล้งกว่า

ไม่เป็นแหล่งดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์เหมือนเดิม

 

ในรายงานประเมินผลของ IPCC / Intergovernmental Panel on Climate Change (คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ) ฉบับล่าสุด ได้เตือนเป็นครั้งสุดท้ายแก่บรรดาผู้นำโลก ให้แก้ไขผลกระทบนี้อย่างรีบด่วนที่สุด

และย้ำอีกครั้งว่าการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศนี้เกิดจากการกระทำของมนุษย์

การเน้นย้ำนี้ไม่ได้ต้องการกล่าวหามนุษย์ ด้านหนึ่งเป็นข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์ อีกด้านหนึ่งเป็นการมองด้านดีว่า เมื่อมันเกิดจากการกระทำของมนุษย์ มนุษย์ผู้มีเหตุผลย่อมสามารถแก้ไขได้ด้วยตนเอง

ถ้าหากเกิดจากธรรมชาติ มนุษย์ทั้งหลายคงได้แต่อ้อนวอน ทำอะไรไม่ได้ แต่กรณีนี้อนาคตอยู่ในมือมนุษย์เอง

มนุษย์มาถึงจุดนี้ได้อย่างไร

ก) การคาดการณ์ผิด คิดว่าอีกนานเช่นเป็นร้อยปี แต่กลับเกิดเร็วมาก

ข) เกิดจากการหน่วงเวลาของบรรษัทใหญ่ เช่น ด้านพลังงาน ก่อความสับสน การปฏิเสธการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศอย่างเป็นระบบ

ค) ความจำเป็นในการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล เพื่อการรักษาความเติบโตและมาตรฐานการครองชีพ

ง) หนทางแก้ไขที่ได้ผลน้อย

จ) การแข่งขันเพื่อครองความเป็นใหญ่ การเป็นผู้ใช้พลังงานสูง

จากสาเหตุของความเชื่องช้า ความจำเป็น และการแข่งขันดังกล่าว ทำให้วิกฤติภูมิอากาศรุนแรงอย่างที่เป็นอยู่ มีนักวิชาการจำนวนหนึ่งเห็นว่า การสกัดกั้นไม่ให้อุณหภูมิเฉลี่ยโลกสูงขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส หรืออย่างสูงไม่เกิน 1 องศาเซลเซียสตามความตกลงกัน เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ยาก

โลกกำลังเข้าสู่ภาวะใหม่ เรียกว่า “โลกร้อนระอุ” ที่อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกสูงกว่า 4 องศาเซลเซียส

 

หน่วยงานรับผิดชอบเรื่องโลกร้อนเองที่เป็นทางการ เริ่มยอมรับว่าประเด็นการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ น่าจะเน้นไปที่การลดทอนผลกระทบและการปรับตัว ซึ่งมีเรื่องที่สามารถกระทำได้มาก แทนที่จะเป็นเรื่องการปฏิบัติเพื่อให้เข้าถึงเป้าหมาย 1.5 หรือ 2 องศา ซึ่งทำอะไรไม่ได้มากนัก

เจม เบนเดล นักวิชาการด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนชาวอังกฤษ ได้นำเสนอแนวคิดเรื่อง “การปรับตัวเชิงลึก” (Deep Adaptation) ในปี 2018 กล่าวว่า มนุษย์ควรจะต้องปรับตัวให้เข้ากับการล่มสลายของสังคม ที่เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอีกไม่นานนัก เพราะหนทางแก้ทั้งหลายล้วนไม่ทันกาล

แนวคิดเรื่องการปรับตัวเชิงลึกนี้เป็นกรอบทางจริยธรรมหรือเชิงปรัชญา ประกอบด้วยยุทธศาสตร์สามขั้นคือ

ขั้นแรก “ความคงทน” โดยการยกระดับโครงสร้างพื้นฐาน ให้สามารถสู้กับการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ

ขั้นที่สอง “การปลดเปลื้อง” ได้แก่ การยอมสละทิ้งด้านของอารยธรรมที่ทำให้ความเสี่ยงทางภูมิอากาศเพิ่มขึ้น

ขั้นสุดท้าย “การรื้อฟื้นหรือปฏิสังขรณ์” เป็นการกลับไปสู่ค่านิยม วัฒนธรรมและการปฏิบัติเดิม ที่เอื้อต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน

ปรากฏว่า แนวคิดนี้ได้รับการตอบรับอย่างสูง (มีผู้วิจารณ์ไม่เห็นด้วยก็มาก) จนกระทั่งก่อรูปเป็นขบวนการเคลื่อนไหว มีการจัดตั้ง “สภาการปรับตัวเชิงลึก” จากนี้การเคลื่อนไหวจะเดินหน้าไปโดยตัวเอง

ในทางปฏิบัติ ได้เกิดการเคลื่อนไหวสร้างเมืองฉลาดและเมืองที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมขึ้นทั่วโลก ทั้งในโลกตะวันตก ญี่ปุ่น ไปจนถึงจีน

ในที่นี้จะยกตัวอย่าง 2 ประเทศ ได้แก่ สิงคโปร์และนิวซีแลนด์ ซึ่งปฏิบัติไปตามความเป็นไปได้และความเป็นจริงของตน

 

สิงคโปร์เป็นเกาะเล็กอยู่ในเส้นทางการค้าการเดินเรือ สิงคโปร์เป็นเป็นท่าเรือสำคัญของโลก โดยลักษณะทางภูมิศาสตร์ และการจัดระบบให้เป็นท่าเรือเปิดสำหรับประเทศต่างๆ ได้เข้ามาลงทุนหรือตั้งบริษัท

ในปัจจุบัน สิงคโปร์เป็นเมืองของโลก เป็นศูนย์กลางการค้า การลงทุน ระบบโลจิสติกส์ มีบทบาทสำคัญในกลุ่มอาเซียน

แม้จะมีขนาดเล็ก แต่มีเศรษฐกิจพัฒนาไปสูง รายได้ต่อหัวของประชากรเทียบเท่าได้กับของสหรัฐอเมริกา

นอกจากนั้น กำลังแสดงบทบาทนำในด้านอุตสาหกรมการท่องเที่ยวและด้านสิ่งแวดล้อม

ในรอบสิบกว่าปีมานี้ สิงคโปร์ได้ดำเนินการหลายประการโดยตัวเอง ที่ควรกล่าวถึงได้แก่

ก) การทำให้เป็นเมืองฉลาด สร้างโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิตอล เพื่อรองรับกิจกรรมอันหลากหลาย จัดอยู่ในกลุ่มความคงทนตามแนวคิดของการปรับตัวเชิงลึก โดยเฉพาะเมื่อเกิดการระบาดของโควิด-19 ที่เพิ่มความสำคัญของ โครงสร้างพื้นฐานทางดิจิตอล

ข) การนำป่าและพื้นที่การเกษตรเข้ามาสู่เมือง อาคารที่อยู่อาศัยเป็นต้น ออกแบบและปรับให้มีพื้นที่สีเขียวมากขึ้น ในปัจจุบันสามารถพบเห็นนากทะเลในกลางเมืองสิงคโปร์ได้ ในด้านความมั่งคงทางอาหาร ได้จัดทำการเกษตรแนวตั้ง เพาะปลูกพืชต่างๆ ในอาคาร จะลดการนำเข้าอาหารจากร้อยละ 90 เหลือร้อยละ 70

ค) การจัดการพื้นที่มีการถมทะเล การสร้างอ่างเก็บน้ำ เป็นต้น

 

นิวซีแลนด์เป็นเกาะห่างไกล อยู่ทางแปซิฟิกใต้ พื้นที่อุดมสมบูรณ์ เป็นประเทศที่โดดเด่นทางการเกษตร มีความมั่นคงทางอาหารสูง

นอกจากนี้ ยังมีความมั่นคงทางการเมืองและทางสังคม สามารถควบคุมการไหลบ่าของผู้อพยพลี้ภัยได้มาก

ด้วยความมั่นคงในด้านต่างๆ รวมทั้งการอยู่ห่างไกล และความสามารถในการป้องกันตนเองได้สูง อยู่ในกลุ่ม “ห้าตา” ประกอบด้วยสหรัฐ แคนาดา อังกฤษ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ จึงปรากฏข่าวอยู่เนืองๆ ว่านักการเงินการธนาคาร และบรรดาเศรษฐีทั้งหลาย พากันอพยพหรือมีบ้านเรือนในประเทศนี้เป็นจำนวนมาก

ในช่วงต้นเดือนสิงหาคม 2021 มีข่าวว่า ลาร์รี เพจ ซีอีโอผู้ร่วมก่อตั้งบรรษัทกูเกิล เป็นผู้ร่ำรวยที่สุดคนหนึ่งในโลก ได้สัญชาติเป็นชาวนิวซีแลนด์ มีการวิเคราะห์ว่าเป็นการเตรียมตัวอพยพลี้ภัยไปอยู่ที่นั่น

จัดเป็นการลงคะแนนเสียงอย่างหนึ่งของบรรดาเศรษฐี ในการเลือกการตั้งถิ่นฐานในพื้นที่ปลอดภัย

อย่างไรก็ตาม วิกฤตินิเวศที่สามารถส่งผลกระเทือนร้ายแรงยิ่งอีกอย่างหนึ่งได้แก่ การก่อสงครามใหญ่ ซึ่งเมื่อเกิดขึ้นแล้ว ไม่ว่าจะอยู่ที่ใดก็ฟื้นตัวได้ยาก