จีนสมัยราชวงศ์ซ่ง (16) ซ่งเหนือกับเส้นทางสู่จักรวรรดิ (ต่อ)/เงาตะวันออก วรศักดิ์ มหัทธโนบล

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

เงาตะวันออก

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

 

จีนสมัยราชวงศ์ซ่ง (16)

ซ่งเหนือกับเส้นทางสู่จักรวรรดิ (ต่อ)

 

แต่ความล้มเหลวของการปฏิรูปจะส่งผลต่อเสถียรภาพของซ่งหรือไม่นั้น ย่อมเป็นประเด็นที่พึงแยกพิจารณาต่างหากออกไป เพราะปัญหาที่มากกว่าความล้มเหลวในการปฏิรูปยังมาจากปัญหาอื่นอีกด้วย และหนึ่งในปัญหาสำคัญก็คือ นโยบายที่มีต่อชนชาติอื่นที่เป็นภัยคุกคามของซ่ง

อย่างไรก็ตาม ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า แม้ซ่งจะล้มเหลวในการปฏิรูปไปอย่างน่าเสียดาย แต่ในอีกด้านหนึ่งซ่งก็ทำให้เห็นว่า ตนสามารถสร้างจักรวรรดิขึ้นมาใหม่ได้สำเร็จ แต่เป็นจักรวรรดิที่มีเสถียรภาพตั้งอยู่ท่ามกลางปัญหาภายในและภายนอกรุมเร้า

ปัญหาภายในมีที่มาจากการที่ซ่งล้มเหลวในการปฏิรูปดังได้กล่าวไปแล้ว ซึ่งต่อมาจะค่อยๆ บ่อนเซาะให้ซ่งอ่อนแอลง ในส่วนปัญหาภายนอกมีที่มาจากการเผชิญหน้ากับชนชาติอื่นที่คอยตั้งตนเป็นศัตรู และด้วยนโยบายต่อชนชาติอื่นที่แตกต่างไปจากยุคก่อนหน้านี้ จึงทำให้จักรวรรดิจีนยืนอยู่บนความเปราะบาง

แต่ที่น่าประหลาดใจคือ จีนกลับมองว่าความเปราะบางนี้เป็นเรื่องที่ดีที่สุดแล้วสำหรับจักรวรรดิ

 

เส้นทางการล่มสลายของซ่งเหนือ

ดังที่งานศึกษานี้ได้เกริ่นไว้ก่อนหน้านี้แล้วว่า ในยุคซ่งนี้มีชนชาติที่มิใช่จีนหลายชนชาติได้เติบโตขึ้นมาจนเข้มแข็ง และได้กลายมาเป็นศัตรูกับจีนจนทำให้จีนต้องสูญเสียทรัพยากรอย่างมากมายมหาศาล

เหตุดังนั้น ในขณะที่ซ่งดำเนินการปกครองภายในไปตามวิถีของตน ซึ่งอาจมีทั้งเรื่องดีหรือร้ายเกิดขึ้นเป็นธรรมดาของการเมืองนั้น ในอีกด้านหนึ่งซ่งก็ต้องหันมาแก้ไขปัญหาการศึกที่มีกับชนชาติอื่นไปด้วย

ส่วนผลจากการแก้ปัญหาดังกล่าวของซ่งจะจบลงด้วยดีหรือไม่อย่างไรนั้น

งานศึกษานี้จะได้กล่าวเป็นลำดับไป

 

ซ่งกับเหลียวและสันติภาพที่ยั่งยืน

แน่นอนว่า ชนชาติแรกที่พึงกล่าวถึงในฐานะภัยคุกคามของซ่งก็คือ คีตัน ที่ซึ่งหลังจากใช้เวลาอันยาวนานจนผงาดขึ้นเป็นจักรวรรดิได้ในราวกลางศตวรรษที่ 10 และตั้งตนเป็นราชวงศ์โดยเรียกขานว่า มหาราชวงศ์เหลียว (Great Lioa dynasty, ค.ศ.907-1125) แล้ว

เหลียวแห่งคีตันก็หันมาทำศึกกับซ่ง เวลานั้นเหลียวมีจักรพรรดิองค์ที่หกคือ เหลียวเซิ่งจง (ครองราชย์ ค.ศ.982-1030)

ในยุคนี้เหลียวสามารถยึดครองดินแดนแมนจูเรียโดยมีชนชาติหนี่ว์เจินและทังกุตมาขึ้นต่อ และดินแดนของจีนอันเป็นที่ตั้งของเป่ยจิงและต้าถงในปัจจุบันเอาไว้ได้แล้ว จนใน ค.ศ.1004 ก็ถึงคราวที่ทัพอันเกรียงไกรของเหลียวจะบุกยึดจีน

ทัพเหลียวได้บุกโจมตีจีนจนสามารถประชิดเมืองสำคัญได้หลายเมือง

เมื่อเป็นเช่นนั้นจีนจึงได้มีการประชุมเหล่าเสนามาตย์เพื่อพิจารณาเรื่องทัพเหลียว แต่ผลจากการประชุมคือ

เหล่าเสนามาตย์ของจีนแตกเป็นสองฝ่าย

ฝ่ายหนึ่ง หวาดกลัวทัพเหลียวได้เสนอให้จักรพรรดิซ่งเจินจง (ครองราชย์ ค.ศ.997-1022) หนีลงใต้

อีกฝ่ายหนึ่ง เห็นว่าซ่งเจินจงควรนำทัพสู้ศึกด้วยพระองค์เองเพื่อสร้างขวัญและกำลังใจแก่เหล่าทหาร

แต่ความจริงที่เกิดขึ้นก็คือว่า ทัพเหลียวที่เป็นฝ่ายบุกโจมตีจีนได้ถลำลึกเข้าสู่เขตอำนาจของจีนแล้ว ซึ่งเป็นอันตรายต่อทหารของทัพเหลียวอย่างมาก

ส่วนทหารของทัพจีนก็เบื่อหน่ายสงครามที่ต่อเนื่องยาวนานด้วยเช่นกัน ทั้งเหลียวกับจีนจึงคิดถึงการเจรจาสันติภาพ หนทางการเจรจาจึงเกิดขึ้น

 

การเจรจาเริ่มขึ้นได้อย่างไรนับเป็นเรื่องที่มีความคลุมเครือ ด้วยข้อมูลของเหลียวจะอ้างว่าซ่งเป็นผู้ริเริ่มก่อน ส่วนข้อมูลของซ่งก็ระบุว่าเหลียวถือเป็นภาระของตน แต่ข้อเท็จจริงก็มีอยู่ว่า ซ่งมีความวิตกกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายในการศึกมายาวนานก่อนศึกครั้งนี้จะเริ่มเสียด้วยซ้ำ

ข้างฝ่ายเหลียวก็สูญเสียไปไม่น้อยตั้งแต่ที่เริ่มบุกจีน เช่น ในขณะที่ทัพเหลียวกำลังบุกทำลายล้างจีนอย่างรวดเร็วและรุนแรงอยู่นั้น ขุนศึกคนหนึ่งของเหลียวต้องลูกดอกจากมือฉมังหน้าไม้ของฝ่ายซ่งจนเสียชีวิต ดังนั้น แม้ทัพเหลียวจะยังคงพรักพร้อม แต่ก็มีความคิดที่จะเจรจาด้วยเช่นกัน

เมื่อข้อเท็จจริงเป็นดังที่ว่ามา การเจรจาที่เป็นเจตนารมณ์ของทั้งสองฝ่ายจึงไม่สู้จะยากเย็น โดยข้างเหลียวมีขุนศึกซ่งที่ถูกเหลียวจับกุมได้ระหว่างการศึกใน ค.ศ.1003 ชื่อ หวังจี้จง เป็นผู้เจรจา ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่า หลังจากถูกจับกุมแล้วหวังจี้จงก็ประพฤติตนจนเป็นที่ไว้ใจของราชสำนักเหลียว

และแต่งตั้งเขาให้เป็นผู้ตรวจการการคลัง ทั้งยังให้เขาได้แต่งงานกับหญิงที่เป็นธิดาของอดีตที่ปรึกษาของอาเป่าจีอีกด้วย

และในขณะที่เป็นขุนศึกของซ่งนั้น หวังจี้จงไม่เพียงเป็นขุนศึกคนสำคัญเท่านั้น หากเขายังสนิทสนมกับซ่งเจินจงจนสามารถเข้าถึงราชฐานชั้นใน และรู้จักกับข้าราชบริพารของพระองค์อีกด้วย

 

การเจรจามีขึ้นที่เมืองฉันโจว ปัจจุบันคืออำเภอพู่หยังในมณฑลเหอหนัน หลังจากการเจรจาผ่านไปหลายวัน ทั้งสองก็ลงนามในข้อตกลงที่มีสาระสำคัญว่า ซ่งจักส่งผ้าไหม 200,000 พับ และเงิน 100,000 ตำลึงให้แก่เหลียวเพื่อ “บริจาคค่าใช้จ่ายทางการทหาร” (contribution to military expense)

การปักปันเขตแดนจักกระทำด้วยความระวัง ทั้งสองฝ่ายจักตอบโต้ต่อการฝ่าฝืนมาตรการชายแดนอย่างจริงจัง โดยจักมิให้กระทบต่อการเกษตรของแต่ละฝ่าย ทั้งสองฝ่ายจะให้ที่หลบภัยแก่ผู้หนีภัยอาชญากรเข้ามา

ป้อมปราการจะได้รับการซ่อมแซม แต่ห้ามมิให้สร้างป้อมปราการหรือขุดคลองตลอดแนวชายแดนขึ้นมาใหม่

ทั้งสองฝ่ายให้คำปฏิญาณว่าจะปฏิบัติตามข้อตกลงนี้อย่างเคร่งครัด หากฝ่ายใดฝ่าฝืนจะถูกลงทัณฑ์จากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ การไถหว่านจักเป็นไปด้วยความสัมพันธ์ฉันท์มิตรและเคารพซึ่งกันและกันอย่างซื่อสัตย์

สนธิสัญญานี้เรียกกันต่อมาว่า สนธิสัญญาฉันยวน (ฉันยวนจือเหมิง)

 

เห็นได้ชัดว่า การใช้คำว่า “บริจาคค่าใช้จ่ายทางการทหาร” แทนคำว่า “บรรณาการ” ในสนธิสัญญาฉบับนี้เป็นไปเพื่อรักษาเกียรติภูมิของซ่ง มากกว่าที่จะมีความหมายตามคำที่ว่า บรรณาการ

และหากพิจารณารายละเอียดอื่นๆ อย่างเช่น การที่ซ่งจักต้องเรียกเพื่อนบ้านที่อยู่ทางเหนือของตนว่า “มหารัฐคีตัน” (ต้าชี่ตันกว๋อ, Great Khitan State) หรือ “มหารัฐเหลียว” (ต้าเหลียวกว๋อ, Great Liao State) หรือการที่ราชวงศ์ทั้งสองเรียกกันและกันว่า “ราชสำนักใต้” และ “ราชสำนักเหนือ” แทนซ่งกับเหลียวตามลำดับเสมือนเป็นพี่น้องกันก็เป็นเรื่องที่ไม่มีอยู่จริง

หรือที่จักรพรรดิซ่งยกย่องราชชนนีของจักรพรรดิเหลียวเสมอด้วยปิตุจฉา (ป้า) และจักรพรรดิเหลียวเสมอด้วยอนุชาของจักรพรรดิซ่ง และจักรพรรดิซ่งเสมอด้วยเชษฐาของจักรพรรดิเหลียวนั้น ล้วนเป็นสิ่งที่จะนำพาให้ทั้งสองฝ่ายต้องปฏิบัติตามขนบจารีตที่ไม่รู้จบ

เช่น ทูตของทั้งสองฝ่ายจักปฏิบัติต่อกันอย่างแตกต่างไปจากที่ปฏิบัติต่อทูตของรัฐอื่น หรือแต่ละรัฐจะไม่เรียกนามส่วนพระองค์ของจักรพรรดิของอีกรัฐหนึ่งที่สิ้นพระชนม์ไปแล้ว

หรือการที่ทูตของทั้งสองฝ่ายพึงแลกเปลี่ยนราชพิธีเฉลิมฉลองวันตรุษ วันประสูติของจักรพรรดิ วันสิ้นพระชนม์ของจักรพรรดิกับจักรพรรดินีของแต่ละฝ่าย และวันราชาภิเษก

ข้อปฏิบัติเหล่านี้แม้จะดูเสมือนหนึ่งทั้งสองฝ่ายมีความเสมอกันก็จริง แต่ลึกลงไปแล้วจะเห็นได้ว่า นโยบายดังกล่าวของซ่งมีความแตกต่างแทบจะสิ้นเชิงเมื่อเปรียบเทียบราชวงศ์ก่อนหน้านี้ คือเป็นนโยบายที่เน้นการรอมชอมมากกว่าการเผชิญหน้า

 

ด้วยนโยบายเช่นว่า สนธิสัญญาฉันยวนก็ทำให้ทั้งสองฝ่ายอยู่ร่วมกันอย่างสันตินานนับศตวรรษ ระหว่างห้วงเวลานี้มีการฝ่าฝืนข้อตกลงน้อยมาก และแม้จะเกิดวิกฤตขึ้นใน ค.ศ.1042 และ ค.ศ.1074-1076 แต่ก็ได้รับการแก้ไขด้วยดี ซึ่งถือเป็นข้อดีของสนธิสัญญาฉบับนี้

แต่กระนั้น นักประวัติศาสตร์กระแสหลักในจีนก็ยังคงเห็นว่า สนธิสัญญาฉันยวนถือเป็นความอัปยศของจีน ถึงแม้จะยอมรับว่ามันได้ทำให้เกิดสันติภาพขึ้นจริงก็ตามที ความรู้สึกนึกคิดเช่นนี้ส่วนหนึ่งย่อมแยกไม่ออกจากทัศนคติที่มักมองชนชาติอื่นในเชิงลบ

และทำให้นักประวัติศาสตร์กลุ่มนี้มองข้ามความเป็นจริงที่ซ่งเผชิญอยู่ ซึ่งแตกต่างไปจากที่ราชวงศ์ในยุคก่อนหน้านี้ได้เผชิญมา

ที่สำคัญ สิ่งที่ซ่ง “บริจาค” ให้แก่เหลียวคิดเป็นร้อยละ 1 หรือ 2 ของต้นทุนที่ใช้ในการทำศึก และมีมูลค่าไม่เกินร้อยละ 2 ของรายได้ทั้งหมดที่ซ่งเก็บได้จากภาษี โดยที่ภายหลังสนธิสัญญานี้มีผลบังคับใช้แล้ว ซ่งก็เปิดด่านการค้าชายแดนกับเหลียวรวมห้าจุด

การค้านี้ซ่งเป็นฝ่ายได้เปรียบอยู่ที่ประมาณ 800,000 พวงเงินต่อปี ซึ่งแบ่งเป็นการค้าภาครัฐราว 400,000-500,000 พวงเงิน ในแง่นี้จึงเท่ากับซ่งได้เงินที่ส่งให้เหลียวรายปีกลับคืนมาผ่านการค้านี้เอง

ข้อเท็จจริงนี้ทำให้เห็นว่า นโยบายรอมชอมของซ่งมีความสมเหตุสมผลอยู่ในตัว แม้จะขัดต่อความรู้สึกนึกคิดเดิมที่เห็นว่าตนเป็นผู้มีอารยธรรมสูงส่งเหนือชนชาติอื่น

แต่ก็เป็นนโยบายที่ซ่งได้ประโยชน์จริง