สลดโควิดคร่า ‘หมอแอ้ม’ ซิโนแวค 2 เข็มไม่ช่วย ผ่าปม ‘ไฟเซอร์’ อลวน ‘ชื่อผี-วีวีไอพี’ โผล่อื้อ/อาชญา ข่าวสด

อาลัยหมอแอ้ม

อาชญา ข่าวสด

 

สลดโควิดคร่า ‘หมอแอ้ม’

ซิโนแวค 2 เข็มไม่ช่วย

ผ่าปม ‘ไฟเซอร์’ อลวน

‘ชื่อผี-วีวีไอพี’ โผล่อื้อ

 

ยังเป็นภาวะวิกฤตรุนแรงอย่างไม่เคยมีมาก่อน สำหรับโรคระบาดโควิด-19 ที่มีผู้ติดเชื้อ และผู้เสียชีวิตเพิ่มสูงขึ้นทุกวัน

แม้รัฐบาลจะออกมาตรการล็อกดาวน์ หวังจะควบคุมโรค แต่ก็ไม่บรรเทาให้ผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตลดลงเลย โดยเฉพาะเมื่อเจอสายพันธุ์เดลต้าที่ติดเชื้อได้อย่างรวดเร็ว รุนแรง

เป็นสิ่งที่ยืนยันได้ว่าทางรอดเพียงทางเดียวจากวิกฤตโควิดครั้งนี้ ก็คือการระดมฉีดวัคซีนโควิดที่มีประสิทธิภาพ ดังที่นานาอารยประเทศดำเนินการไป

ถึงจะไม่รับประกัน 100 เปอร์เซ็นต์ว่าจะไม่ติดเชื้อ แต่ก็สามารถลดอาการหนัก และการเสียชีวิตได้

น่าเสียดายที่ประเทศไทยดำเนินการจัดหาวัคซีนที่มีคุณภาพล่าช้าเกินไป จนวัคซีนที่มีใช้ในประเทศถูกตั้งคำถามถึงประสิทธิภาพ

ดังเช่นที่เกิดความสูญเสีย อย่างกรณีแพทย์ที่โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช ที่แม้ฉีดวัคซีนซิโนแวคครบ 2 โดสแล้ว ก็ยังเสียชีวิตจากโควิด

จนมาถึงข้อกังขากับการบริหารจัดการวัคซีนคุณภาพสูง อย่างไฟเซอร์ที่รับบริจาคจากสหรัฐ ก็มีกรณีบุคลากรแพทย์ด่านหน้า ระบุถูกตัดสิทธิไม่ได้รับ รวมทั้งการสอดไส้ ยัดชื่อบุคคลในครอบครัวให้ได้รับ

สะท้อนให้เห็นความต้องการวัคซีนคุณภาพมีมากเพียงใด

จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องนำไปทบทวนแก้ปัญหา ไม่ให้เกิดความสูญเสียเช่นนี้อีก

สลดโควิดคร่า ‘หมอแอ้ม’

อาลัยหมอแอ้ม

เหตุสูญเสียบุคลากรทางการแพทย์จากโรคโควิดครั้งนี้ ปรากฏเป็นที่รับรู้ในสังคมเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม โดย พล.อ.ท.นพ.อนุตตร จิตตินันทน์ ประธานราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า “วันนี้ทราบข่าวการจากไปของ ‘หมอแอ้ม’ น.อ.หญิง พ.ญ.สรัญยา ฬาพานิช แล้วรู้สึกใจหายมากๆ ได้ทำงานกับน้องเรื่องการพัฒนาคุณภาพ โรงพยาบาลกองบิน 4 ตอนสมัยที่แอ้มเป็น ผอ.โรงพยาบาลกองบิน

แอ้มเป็นหญิงแกร่ง อารมณ์ดี ตัดสินใจเด็ดขาด เป็นผู้นำที่ลูกน้องรัก สามารถนำทีมจนโรงพยาบาลกองบิน 4 ตาคลี เป็นโรงพยาบาลกองบินแห่งแรกที่ได้รับการรับรอง HA แอ้มอยู่โรงพยาบาลกองบินนานมาก เพิ่งกลับมาโรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดชไม่นานนี้เอง แอ้มน่าจะเป็นบุคลากรทางการแพทย์ของโรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดชคนแรกที่เสียชีวิตจากโควิด-19

แอ้มเป็นหมอรังสีรักษา แต่ก็มีความเสี่ยงกับการเป็นโควิด-19 เหมือนบุคลากรทางการแพทย์ที่ทำงานอยู่ทุกคน ขอให้น้องไปสู่สุคติในสัมปรายภพ และขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวของน้องด้วยครับ รู้สึกเลยว่าตอนนี้อันตรายของโควิด-19 ใกล้ตัวเข้ามาทุกขณะครับ”

โดยที่ นพ.สิทธิพงศ์ ฬาพานิช หรือหมอเตี๋ยว น้องชายหมอแอ้ม ระบุว่า นอกจากการสูญเสียผู้เป็นพี่สาวแล้ว โรคโควิด-19 ยังพรากชีวิตของคุณพ่อและคุณแม่ไปด้วยเช่นกัน ทำให้ครอบครัวเสียชีวิตจากโควิดแล้ว 3 ราย ระบุว่า พี่สาวตนที่แม้จะฉีดวัคซีนแล้ว แต่ก็ยังติดเชื้อเสียชีวิต ขณะที่แม่เสียชีวิตจากโควิดเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม พ่อเสียชีวิต 31 กรกฎาคม

พร้อมระบุอีกว่า ไม่อยากจะโทษวัคซีนใดๆ ว่าดีหรือไม่ดี เพราะหลายยี่ห้อฉีดครบก็มีเสียชีวิต แต่โดยหลักทางวิชาการที่ยอมรับในหลายๆ ประเทศทั่วโลกนั่น ชนิด mRNA หรือ subunit protien น่าจะเป็นคำตอบที่ดีในเบื้องต้น

แม้ว่าวัคซีนที่น่าจะครอบคลุมทุกเชื้อน่าจะเป็นล็อตของปีหน้า แต่จะรอแบบนั้นไม่ได้ เราต้องมีวัคซีนที่มาตรฐานจำนวนมากกว่าที่มีตอนนี้

พร้อมเสนอให้แก้กฎหมายในลักษณะที่ให้อำนาจเหมือนให้อำนาจสถาบันจุฬาภรณ์นำเข้าวัคซีนได้ โดยให้โรงพยาบาลเอกชน หรือองค์กรเอกชนนำเข้าได้ด้วย หากไม่มั่นใจก็ดำเนินการผ่านสมาคมโรงพยาบาลเอกชนได้

เท่าที่ทำได้ในทุกๆ ทาง ไม่ต้องอาศัยกฎเกณฑ์ผ่านหน่วยงานรัฐ อนุโลมให้ใช้ในสถานการณ์ที่คนไทยได้ฉีดวัคซีนเพียง 25 เปอร์เซ็นต์ เพื่อให้คนไทยได้วัคซีน “ที่มาตรฐาน” ที่จะพอป้องกันตัวเองได้ เชื่อว่าจะมีบริษัท หรือโรงพยาบาลมากมายยินดีติดต่อเอง และเราจะผ่านวิกฤตนี้ไปได้อย่างรวดเร็ว เพราะเราเสียเวลามามากเกินไปแล้ว วัคซีนมีมากดีกว่ามีไม่พอ

เป็นความเห็นย้ำชัดว่าทิ้งเวลาเนิ่นนานไปก็มีแต่ความสูญเสีย

ร.พ.ภูมิพลฯ วุ่นชื่อผีโผล่อื้อ

 

ขณะที่ปัญหาวัคซีนโควิดในโรงพยาบาลภูมิพลฯ ยังไม่จบ เมื่อมีบุคลากรแพทย์ด่านหน้า ออกมาระบุว่าถูกตัดโควต้าการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ แถมส่งข้อมูลให้กับ นพ.ทศพร เสรีรักษ์ ว่ารายชื่อผู้ได้รับวัคซีนไฟเซอร์ของโรงพยาบาล ไม่ได้มีแค่บุคลากรด่านหน้า ทั้งที่ได้รับการจัดสรรวัคซีนไฟเซอร์มากว่า 1,600 โดส มากกว่าจำนวนบุคลากรทางการแพทย์ที่มีอยู่ 700-800 คน

โดยรายชื่อดังกล่าวพบว่ามีข้อพิรุธ ทั้งรายชื่อซ้ำ บางคนเป็นแพทย์ต่างจังหวัด ซึ่ง นพ.ทศพรระบุว่า รายชื่อที่ผิดปกติ จะทำให้สามารถสวมรอยเอาไปฉีดให้ใครก็ได้ ทราบข่าวมาว่าจัดฉีดให้วีวีไอพี แต่มีอาการแทรกซ้อน นอนโรงพยาบาลเอกชนใกล้ๆ กำลังพยายามตรวจสอบอยู่

ร้อนจนผู้ใหญ่ในโรงพยาบาลภูมิพลฯ ต้องนัดบุคลากรแพทย์เข้าไปหารือทำความเข้าใจโดยด่วน

ต่อมาวันที่ 16 สิงหาคม พล.อ.ท.ธนวิตต สกุลแสงประภา เจ้ากรมแพทย์ทหารอากาศ แถลงชี้แจงว่า ขออภัย และขอรับความผิดชอบในความบกพร่องทั้งหมดที่เกิดขึ้น ระหว่างผู้บริหารและบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า จนทำให้เกิดความไม่พอใจ ยืนยันและขอให้ความมั่นใจกับบุคลากรด่านหน้าของโรงพยาบาลว่าภายในสัปดาห์นี้จะได้รับวัคซีนไฟเซอร์เข็มที่สาม 100 เปอร์เซ็นต์ จากที่ได้รับการจัดสรรมาจากกรมควบคุมโรค 3,700 เข็ม เรามีบุคลากรอยู่ประมาณ 2,000 กว่าคน ส่วนวัคซีนที่เหลือจะนำไปฉีดให้กับบุคลากรด่านสองและด่านสามของโรงพยาบาลต่อไป

“เรื่องวัคซีนในฐานะที่เป็นผู้บังคับบัญชาต้องดูแลลูกน้อง หากลูกน้องยังไม่ได้รับก็เป็นไปไม่ได้ที่จะนำวัคซีนตรงนี้ไปฉีดให้กับกลุ่มวีไอพี ถ้ามีคนไปทำแบบนั้นก็คงโง่เต็มทน และไม่มีเหตุผลที่เราจะต้องไปให้วัคซีนคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง และที่ผ่านมาก็ไม่มีผู้ใหญ่ในกองทัพอากาศโทรศัพท์มาขอวัคซีนไฟเซอร์แต่อย่างใด ไม่อยากให้โยงเป็นเรื่องวัคซีนทางการเมือง เพื่อไปกระทบกับรัฐบาล จากนี้จะไปปรับปรุงเรื่องระบบและการสื่อสารภายในองค์กรของเราให้ดีขึ้น”

ด้าน พล.อ.ต.หญิงอิศรญา สุขเจริญ ผอ.โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช ระบุว่า รายชื่อที่ซ้ำซ้อนและหลุดออกไปทางโซเชียลมีเดียนั้นเป็นรายชื่อที่ยังไม่ได้รับการตรวจสอบ ยืนยันว่าไม่ได้คาดโทษกับบุคคลที่นำข้อมูลมาเปิดเผย ทั้งนี้ รายชื่อที่เกิดความซ้ำซ้อน เพราะมาจากการใช้ระบบกูเกิลฟอร์ม ซึ่งบุคลากรที่ลงทะเบียนทำอาจจะไม่แน่ใจว่าใส่ชื่อตนเองไปแล้วหรือไม่ ทำให้ใส่เพิ่มไปอีก

เป็นคำชี้แจงท่ามกลางการจับตาจากประชาชนอย่างใกล้ชิด

มีอีกยักยอกวัคซีนให้เครือญาติ

ไม่เพียงแต่ที่โรงพยาบาลภูมิพลฯ ที่ถูกจับตามอง แต่ยังมีกรณีอีกหลายโรงพยาบาลที่ถูกสงสัยว่ามีการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ไปให้บุคคลวีไอพี หรือคนที่ไม่ใช่บุคลากรด่านหน้า ซึ่งก็เกิดขึ้นจริง โดยที่โรงพยาบาลนบพิตำ เกิดกรณีที่ พญ.กฤตยาณี พูลเพียร อายุ 27 ปี แพทย์ประจำโรงพยาบาลนบพิตำ จ.นครศรีธรรมราช ให้กับแม่และพี่สาว จนถูกวิจารณ์อย่างกว้างขวาง

ต่อมา พญ.กฤตยาณีเปิดใจชี้แจงกรณีดังกล่าว ระบุว่า โรงพยาบาลนบพิตำฉีดวัคซีนไฟเซอร์ให้บุคลากรด่านหน้า 66 คน ซึ่งหลังจากฉีดแล้ว ตนก็ถามทีมฉีดวัคซีนว่ามีวัคซีนก้นขวดเหลือไหม เมื่อทราบว่ามีก็อยากเอาไปให้แม่และพี่สาวฉีดด้วย

จึงพาแม่และพี่สาวมาที่จุดฉีด สุดท้ายพี่สาวได้ฉีด แต่แม่ไม่ได้ฉีดเพราะ ผอ.โรงพยาบาลสั่งระงับไว้ก่อน

ยืนยันว่าไม่ได้แย่งวัคซีนจากบุคลากรด่านหน้า ที่ทำไปก็เพราะความกตัญญู เพราะหมอเลิกงานก็กลับไปนอนกับแม่ กับพี่สาว อยากให้เขาปลอดภัย เพราะเราทำงานสุ่มเสี่ยงเป็นด่านหน้ามาตลอด

หลังเกิดเหตุตัดสินใจลาออก แต่ก็มาคิดใหม่ว่าถูกต้องหรือไม่ เพราะโรงพยาบาลนบพิตำเป็นโรงพยาบาลเล็ก แพทย์มีน้อย จึงกลับมาขอใบลาออกคืน และขอต่อสู้เพื่อคนนบพิตำต่อไป

ส่วนที่โรงพยาบาลเฉลิมพระเกียรติ อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.นครราชสีมา ก็เกิดกรณีเช่นเดียวกัน โดยมีบุคคลที่ไม่ใช่บุคลากรด่านหน้าถึง 3 คน ซึ่งมีภรรยาของ ผอ.โรงพยาบาลเฉลิมพระเกียรติเอง 1 ราย และสามีของหัวหน้ากลุ่มเภสัชกรรมและคุ้มครองผู้บริโภค และลูกจ้างร้านยาของตัวเอง

ซึ่งผลการสอบสวนก็ยืนยันชัดเจนว่ามีการกระทำที่ผิดหลักเกณฑ์จริง และเสนอข้อเท็จจริงให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดพิจารณาแล้วว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป

ทุกกรณีก็ต้องถูกดำเนินคดีตามความผิด แม้ในความเป็นจริงจะเข้าใจได้ว่าในภาวะวิกฤตเช่นนี้ แต่ละบุคคลก็ย่อมรักครอบครัวและอยากให้ได้สิ่งที่ดีที่สุด แม้จะผิดระเบียบข้อบังคับ

ซึ่งจะไม่เกิดเรื่องเหล่านี้เลย หากมีวัคซีนที่มีคุณภาพดีและปริมาณเพียงพอให้กับคนไทยทั้งประเทศ

เป็นบทเรียนที่ผู้รับผิดชอบควรแก้ไขในทันที